ความฝันของนักล่ายีน 2/3 (ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 38)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

ความฝันของนักล่ายีน 2/3

(ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 38)

 

ทีมวิจัยชั้นนำของโลกอย่างน้อยสี่ทีมจาก Hospital of Sick Children (Toronto), St. Mary’s Hospital (London), University of Utah, และ Collaborative Research Inc. มุ่งหน้าจะค้นพบยีนก่อโรค C.F. เป็นเจ้าแรกโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคของ Botstein

การจะใช้เทคนิคนี้ให้ได้ผลต้องการทั้งข้อมูลพันธุกรรมของครอบครัวที่มีผู้ป่วย C.F. และ “probe” หรือชิ้นดีเอ็นเอสายสั้นๆ สำหรับระบุตำแหน่ง marker ต่างๆ บนจีโนม

Hospital of Sick Children แห่งเมือง Toronto ประเทศแคนาดาเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับผู้ป่วย C.F. ทีมวิจัยของ Lap-Chee Tsui และ Manuel Buchwald จากสถาบันแห่งนี้จึงนำหน้าทีมอื่นๆ ไปก่อนด้วยฐานข้อมูลครอบครัวผู้ป่วย C.F. ถึง 50 ครอบครัว

ทีมวิจัยจาก St. Mary’s Hospital แห่ง London นำโดย Robert Williamson เคยใช้เทคนิคของ Botstein มาก่อนในการค้นหายีนก่อโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Duchenne muscular dystrophy, DMD) จากนั้นก็ค่อยขยับขยายมาหายีนก่อโรค C.F. ด้วย และเริ่มเดินทางไปทั่วอังกฤษเพื่อรวมรวบข้อมูลครอบครัวผู้ป่วย C.F.

ส่วนทีมของ Ray White จาก University of Utah และทีมของ Helen Donis-Keller จาก Collaborative Research Inc เน้นมองภาพใหญ่ จะสร้างแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของ marker ทั่วทั้งจีโนมมนุษย์ ตามแนวคิดของ Botstein เพื่อให้เราสามารถค้นหายีนก่อโรคใดๆ รวมทั้งยีน C.F. ได้ง่ายขึ้นในอนาคต ทีมวิจัยพัฒนา probe ชุดใหญ่สำหรับติดตามศึกษา marker ต่างๆ เหล่านี้

ส่วนบริษัทไบโอเทค Collaborative Research Inc. ซึ่งน่าจะมีคลัง probe ที่ใหญ่กว่าของ White เสียอีกเก็บข้อมูลเป็นความลับขั้นสุดสำหรับปฏิบัติการล่ายีนของตัวเอง มุ่งเป้าจะเอาข้อมูลแผนที่ marker มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโรคพันธุกรรมทั้ง C.F. และโรคอื่นๆ

ทางบริษัทลงทุนกับงานนี้ไปแล้ว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Cr. ณฤภรณ์ โสดา

ตั้งแต่ช่วงปี 1983 ทีมของ White บริการส่ง probe ให้นักวิจัยทั่วโลกเอาไปใช้หายีนต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ มีหลายทีมที่เอาไปหายีนก่อโรค C.F. แต่ก็ยังไม่มีใครเจอ marker ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ชัดๆ

ปลายปี 1984 ทีม Collaborative ติดต่อหาทีม Toronto ยื่นข้อเสนอสุดพิเศษ : ทางบริษัทจะส่ง probe ที่มีให้กับทีม Toronto แลกกับเซลล์เพาะเลี้ยงจากยีนผู้ป่วยและฐานข้อมูลครอบครัว ช่วยกันทำแผนที่หายีน C.F. ให้เจอ การค้นพบให้ถือเป็นผลงานร่วมกัน แต่ Collaborative จะได้สิทธิเป็นเอกชนเจ้าแรกในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานนี้

Probe ชุดแรกมาถึง Toronto เดือนสิงหาคมปี 1985 ภายในไม่ถึงเดือนหลังจากนั้นทีมวิจัยเจอ marker แรกสัมพันธ์กับการสืบทอดโรค C.F. ในครอบครัวผู้ป่วยอย่างชัดเจน คาดกันว่า marker นี้ยังอยู่ห่างจากยีนจริงไปถึง 15 ล้านเบสไกลเกินกว่าจะเอามาใช้ตรวจโรคหรือโคลนยีนได้ แต่กระนั้นก็ยังถือว่าใกล้ที่สุดที่เคยมีการค้นพบมา

ข้อมูลสำคัญที่ยังขาดไปคือยีน C.F. และ marker ตัวนี้อยู่บนโครโมโซมคู่ไหนกันแน่

ทีม Collaborative แจ้งกับทีม Toronto ว่าจะจัดการเรื่องนี้ร่วมกับอีกทีมวิจัยจากฝรั่งเศส ให้ฝั่ง Toronto รอผลเฉยๆ ยังไม่ต้องทำเอง

สี่ทีมวิจัยชั้นนำที่แข่งกันล่ายีนตัวการก่อโรค C.F.
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

ปกติการทดสอบว่า marker อยู่บนโครโมโซมไหนไม่น่าจะใช้เวลาเกินสัปดาห์ แต่ทีม Toronto รอไปแล้วหลายสัปดาห์ก็ยังเงียบ

ฝั่ง Collaborative บอกว่า “อาจจะ” อยู่บนโครโมโซมที่ 7 แต่ผลยังไม่ชัด ขอทดสอบเพิ่มเติมอีกหน่อย

Toronto เริ่มสงสัยว่า Collaborative น่าจะจงใจปิดบังข้อมูลไว้

ทีม Toronto เริ่มประสาทเสีย นี่คืออาจจะเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตนักวิจัยของพวกเขาแต่กลับต้องนั่งรอเฉยๆ

หัวหน้าทีม Toronto ตัดสินใจให้ลูกทีมลงมือทดสอบเอง และได้ผลชัดเจนว่า marker และยีน C.F. อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 7

พอแจ้งกลับไปแทนที่ Collaborative จะดีใจฉลองกันก็กลับโวยวายว่า Toronto ผิดสัญญา

ทีม Toronto กับทีม Collaborative ตกลงตีพิมพ์การค้นพบในวารสารวิชาการและนำเสนอในการประชุมวิชาการของสมาคมพันธุศาสตร์มนุษย์ของอเมริกาในเดือนตุลาคมนั้น

ปัญหาคือทั้งสองทีมยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะนำเสนอข้อมูลอะไรบ้าง

ทีม Toronto จะนำเสนอทั้งหมดรวมทั้งเรื่องที่ marker และยีน C.F.อยู่บนโครโมโซมที่ 7 ด้วย

ขณะที่ฝั่ง Collaborative ยืนยันยังบอกไม่ได้เพราะว่าเรายังไม่ชัวร์ขนาดนั้นเรื่องโครโมโซม

ทีม Collaborative ร่วมมือกับทีม Toronto
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Lap-Chee Tsui หัวหน้าทีม Toronto เคยให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าเขาเชื่อว่า Collaborative ตั้งใจปิดข้อมูลนี้ไว้ เมื่อเรารู้ว่ายีน Marker และยีน C.F. อยู่บนโครโมโซมไหน งานส่วนที่เหลือในการระบุตำแหน่งยีนน่าจะง่ายขึ้นเยอะ แต่นั่นก็แปลว่าทีมวิจัยคู่แข่งรายอื่นๆ อาจจะใช้ข้อมูลนี้แซงหน้าหายีนเจอก่อน

แต่แม้จะพยายามปิดเต็มที่ข้อมูลก็รั่วอยู่ดี Tsui เล่าว่าที่งานประชุมวิชาการพวกนักวิจัยลือกันให้แซดเรื่องยีน C.F. บนโครโมโซมที่ 7 แต่ไม่มีใครคุยเรื่องนี้ต่อหน้าทีมเขา “มันเป็นบรรยากาศที่น่าอึดอัดมาก”

หลังการนำเสนอของ Tsui คำถามแรกที่ได้จากผู้ฟังคือ “marker และยีนอยู่บนโครโมโซมไหน?”

Helen Donis-Keller รีบตอบว่า “เรากำลังหาคำตอบนั้นอยู่” Donnis-Keller ยืนยันภายหลังว่าในขณะนั้นเรายังไม่สามารถสรุปได้จริงๆ เรื่องโครโมโซม

ส่วน Tsui มองว่านี่คือการจงใจปิดบังชัดๆ ใครๆ ในวงการก็รู้ว่าคือโครโมโซมที่ 7

ปลายเดือนพฤศจิกายน 1985 งานวิจัยสามชิ้นถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature รายงานการระบุตำแหน่งยีน C.F. บนโครโมโซมที่ 7 ผลงานของทีมวิจัยจาก University of Utah, St.Mary’s Hospital และจาก Toronto-Collaborative

ทีม Collaborative และ Toronto เจอ marker ของยีน C.F. แต่พยายามปิดบังเรื่องโครโมโซม
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

ทีม Utah ยอมรับว่าได้ยินข่าวลือเรื่องโครโมโซมที่ 7 มาหลายสัปดาห์ก่อนงานประชุมวิชาการเดือนตุลาคม และได้ให้ลูกทีมเปลี่ยนมาโฟกัสการค้นหายีนบนโครโมโซมนี้

ทีมวิจัยค้นพบ marker ตัวใหม่ชื่อ met ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้าระบุว่าเป็นยีนก่อมะเร็ง (oncogene) ยีนตัวนี้ถ่ายทอดไปพร้อมกับการเกิดโรค C.F. ในครอบครัวผู้ป่วยอย่างเหนียวแน่น ประมาณกันว่า met น่าจะอยู่ห่างจากยีน C.F. ราวๆ 1 ล้านเบส ใกล้กว่า marker ของทีม Toronto-Collaborative สิบกว่าเท่า

ทีม St.Mary ปฏิเสธว่าข่าวลือไม่ได้มีผลต่อแผนการทำงานที่มีอยู่เดิมแล้ว ทีมวิจัยรายงาน marker อีกตัวชื่อว่า j3.11 ซึ่งอยู่ห่างจากยีน C.F. ออกไปไม่ถึง 1 ล้านเบส

ผู้ประเมินของวารสารตั้งข้อสังเกตว่าทั้งทีม Utah และ St.Mary ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องค้นหายีน C.F. บนโครโมโซมที่ 7 แม้ว่าการปรับทิศทางงานวิจัยจากข่าวลือจะไม่ได้ผิดกฎอะไร แต่ก็ถือว่าเสียมารยาทในวงการวิชาการที่ไม่ได้ให้เครดิตแหล่งที่มาข้อมูล

ทีม Collaborative ตอนแรกรีๆ รอๆ อยู่เพราะ marker ที่เจอยังอยู่ไกลเกินใช้ประโยชน์

ฝั่ง Toronto เมื่อได้รับแจ้งข่าววงไหนว่าทีม Utah และ St.Mary จะตีพิมพ์แล้วก็เดือดจัด รีบโทร.ไปโวยวายกับทีม Collaborative ให้รีบจัดการก่อนโดนตัดหน้า

Donis-Keller หัวหน้าทีม Collaborative ไปกดดันบรรณาธิการวารสาร Nature ให้ตีพิมพ์งานของ Toronto-Collaborative ด้วยเหตุผลว่างานของทีม Utah และ St.Mary ใช้ข้อมูลเรื่องโครโมโซมที่ 7 ของตน Donis-Keller ปั่นงานวิจัยเขียนเสร็จส่งในสองวัน และได้ตอบรับตีพิมพ์วันรุ่งขึ้น