ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
การตายคาคุกของ “บุ้ง ทะลุวัง” ขณะอดอาหารเพื่อประท้วงคดี 112 ซึ่งบุ้งถูกจับขังตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม จุดประกายให้สังคมไทยกลับมาพูดถึงปัญหา 112 อย่างกว้างขวาง เพราะไม่ว่าจะในสังคมไหน การตายคาคุกเป็นเรื่องผิดปกติที่น่าสะเทือนใจ ยิ่งกว่านั้นคือบุ้งอดอาหารและน้ำมาแล้ว 109 วันจนเธอตายไปจริงๆ
บุ้งเป็นคนไทยคนแรกที่อดข้าวในคุกจนตาย ความตายของบุ้งจึงเป็นความตายภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่อยุติธรรม
ยิ่งไปกว่านั้นคือบุ้งเป็นคนรุ่นใหม่คนแรกที่ตายเพราะต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งจะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่และสังคมเห็นปัญหาของกฎหมาย 112 ยิ่งกว่าที่ผ่านมา
การเลือกตั้งปี 2566 จบด้วยชัยชนะของพรรคที่ชูการแก้กฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งปิดฉากด้วยพรรคที่ชนะเลือกตั้งถูกชิงโอกาสจัดตั้งรัฐบาลโดย ส.ว., พรรคเพื่อไทย และพรรคฝ่ายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศไม่แก้และไม่สนใจเหยื่อ 112
ตัวกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการแย่งอำนาจประชาชนโดยตรง
ทันทีที่บุ้งตายเพราะอดข้าวในคุกเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของเหยื่อคดี 112 คนรุ่นใหม่ก็จะมีความทรงจำว่าคนรุ่นพวกเขาอยู่ในประเทศที่ความตายคือทางเดียวที่เหยื่อคดี 112 จะได้พูดถึงสิทธิประกันตัว และแม้เหยื่อคดี 112 จะอดข้าวจนตายคาคุกไปก็ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
เป็นอันว่าประเทศนี้กฎหมาย 112 ทำให้ประชาชนไม่ได้รัฐบาลจากพรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง และมีคนตายเพราะเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของคนที่โดนคดี 112
ขณะที่คนโดนคดีอื่นๆ หรืออดีตนายกฯ ซึ่งมีสถานะเป็น “นักโทษระหว่างพักโทษ” กลับใช้ชีวิตสุขสบายแบบไม่ต้องเรียกร้องอะไรเลย
คนจำนวนมากชอบพูดว่าไม่มีอุดมการณ์ไหนคู่ควรให้คนตาย
ความตายของบุ้งทำให้คนเป็นล้านฉุกคิดว่าแล้วทำไมถึงมีคนรุ่นใหม่ศพแรกที่ตายเพราะคดี 112 เกิดขึ้นในประเทศนี้
และสมควรหรือที่จะมีคนตายเพื่อให้ประเทศจรรโลงไว้ซึ่งกฎหมายแบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
ในแง่นี้ ความตายของบุ้งเป็นก้อนอิฐอีกแผ่นที่ปูทางสังคมไทยสู่จุดที่ไม่มีวันหวนกลับมาได้ กระบวนการนี้เป็น “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว” ที่ยืดเยื้อตั้งแต่รัฐประหารโดยอ้างเรื่องพระราชอำนาจ, การปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553, พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหาร 2557, ม็อบราษฎร และการสกัดไม่ให้ก้าวไกลตั้งรัฐบาล
บุ้งเขียนพินัยกรรมไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่าเธออดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงทางการเมือง ข้อเรียกร้องของเธอเรียบง่ายและตรงไปตรงมา 3 ข้อ คือ นักโทษคดี 112 และคดีการเมืองควรได้สิทธิประกันตัว, ผู้เห็นต่างทางการเมืองไม่ควรติดคุก และไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง UN
เห็นได้ชัดว่าข้อเรียกร้องของบุ้งเป็นเรื่องพื้นฐานจนไม่ควรที่ใครต้องเรียกร้องเลย ทันทีที่บุ้งอดอาหารและอดน้ำเพื่อเรียกร้องสองเรื่องนี้ บุ้งได้เอาชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อให้โลกเห็นความผิดปกติของสังคมไทยในคดี 112 จนเหยื่อที่ติดคุกอย่างบุ้งต้องใช้ความตายพูดเรื่องที่สังคมอื่นไม่ต้องเสียเวลาพูดกัน
การตายคาคุกของบุ้งเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจมีนักโทษการเมืองคนอื่นตายตามบุ้งไป เพราะขณะที่บุ้งอดอาหารและน้ำในคุกจนตายด้วยคดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน “ตะวัน” ก็อดเพราะคดี “ขบวนเสด็จ” ที่ยังไม่ได้ตัดสินอีก
ทุกวินาทีที่บุ้งและคนแบบนี้อยู่ในคุกจึงเป็นการถูกปล้นอิสรภาพที่ยังไม่มีคำพิพากษาผิดเลย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตายของ “บุ้ง ทะลุวัง” ทำให้คนเห็นปัญหาความอยุติธรรมของกฎหมายอาญา ม.112 และกระบวนการยุติธรรม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าอำนาจขององค์กรกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายอาญา ม.112 ทำให้คนที่เห็นปัญหานี้จำนวนไม่น้อยตัดสินใจหุบปากเงียบเมื่อเห็นปัญหานี้ทันที
ขณะที่คนตาสว่างบางส่วนเลือกจะเงียบเมื่อเห็นอันตรายของการพูดเรื่องนี้ต่อไป พิธีกรโทรทัศน์บางช่องก็เกรี้ยวกราดว่าบุ้งตายเพราะไม่ยอมกินอะไรเอง จากนั้นก็ด่าทอว่าคนผิดคือคนที่ไม่ไปบอกให้บุ้งกินข้าวและเลิกประท้วง นัยยะของคำพูดนี้คือรัฐกับกระบวนการยุติธรรมไม่ผิดเพราะไม่ได้สั่งให้บุ้งอดตาย
สำหรับคนที่คิดแบบนี้ บุ้งตายเพราะอดข้าวจนตาย คนผิดคือบุ้งและคนที่ไม่บอกให้บุ้งเลิกอด วิธีคิดนี้มองว่าบุ้งคือ “เหยื่อ” ที่อดข้าวอดน้ำเพราะหลงผิดและถูกยุโดย “ผู้ใหญ่” จนไม่มีทางเห็นว่าการอดอาหารของบุ้งคือ “ปฏิบัติการทางการเมืองแบบสันติวิธี” ซึ่งบุ้งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ในเรื่องเล่าของพิธีกร, สถานีโทรทัศน์บางแห่ง และผู้สนับสนุนพรรคแกนนำรัฐบาล บุ้งและคนแบบบุ้งคือ “เด็ก” ที่เป็น “เหยื่อ” จากการยุยงปลุกปั่นของ “ผู้ใหญ่”
ขณะที่ในโลกของบุ้งและคนที่คิดแบบบุ้ง พวกเขาคือ “ผู้ใหญ่” ที่เป็น “ผู้กระทำการทางการเมือง” เพื่อต้องการผลักดันความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม
หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และคุณจตุพร พรหมพันธุ์ เคยบอกผมว่าคุกเปรียบได้กับ “สุสานคนเป็น” เพราะนักโทษในคุกโดยปกติแล้วไม่เหลืออะไรนอกจากผ้าห่ม 3 ผืนไว้หนุนหัวและปูนอน ทันทีที่บุ้งอดอาหารประท้วงจึงแสดงให้เห็นว่าบุ้งจงใจใช้สิ่งมีค่าที่สุดที่บุ้งมีหลงเหลือในคุกคือ “ชีวิต” เป็นเครื่องมือต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง
บุ้งจงใจอดอาหารจนตายถึงขั้นทำหนังสือไม่รับการรักษา, ไม่รับสารอาหาร และทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้หยก
การอดอาหารของบุ้งเป็น “ปฏิบัติการสันติวิธี” ที่จงใจ “สื่อสารทางการเมือง” ให้คนเห็นว่าอะไรทำให้บุ้งและคนแบบบุ้งตัดสินใจเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา
ต้องยอมรับความจริงว่าบุ้งและคนแบบบุ้งอย่างตะวัน, ทนายอานนท์, เก็ท ฯลฯ ติดคุกช่วงที่การต่อสู้ของประชาชนอยู่ในภาวะ “กระแสต่ำ” ถึงขั้นแทบไม่มีใครสนใจการชุมนุมหรือประท้วงของประชาชนหรือชาวบ้านกลุ่มต่างๆ มานานแล้ว แม้แต่สื่อหรือนักวิชาการที่ควรสนใจเรื่องนี้ก็ลดความสนใจลงด้วยเช่นกัน
บุ้งและคนแบบบุ้งเชื่อว่าการอดข้าวอดน้ำในคุกคือ “การสื่อสารทางการเมือง” ประเด็นคือบุ้งรู้แน่นอนว่าการอดตอนนี้มีโอกาสจะไม่ได้รับความสนใจจากใครเลยแน่ๆ แต่ก็ยังเดินหน้าอดโดยปฏิเสธรับการรักษาและสายอาหารจนเห็นได้ชัดว่าบุ้งต้องการให้ “ความตาย” ของตัวเองปลุกให้คนในสังคมตาสว่างขึ้นมา
พูดให้เห็นภาพยิ่งขึ้น นอกจากบุ้งจะอดในสถานการณ์ที่สังคมไม่สนใจการต่อสู้ทางการเมืองเลย บุ้งและคนแบบบุ้งยังอดท่ามกลางการโจมตีและการด้อยค่าของสื่อและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าบุ้งเกาะเด็กกิน, รับงานการเมือง, อารมณ์รุนแรง ฯลฯ
บุ้งและคนแบบบุ้งอดข้าวในสถานการณ์ที่สื่อและคนบางกลุ่มในสังคมฆ่าบุ้งทางการเมืองด้วยการสร้างวาทกรรมต่างๆ จนเสียงของบุ้งไม่มีใครฟัง สถานีโทรทัศน์บางแห่งถึงกับให้พิธีกรโจมตีบุ้งเรื่อง Child Grooming หรือการเกาะเด็กกินโดยไม่มีมูลและไม่พูดถึงประเด็นที่บุ้งต่อสู้ด้วยวิธีอดอาหารเลย
พินัยกรรมของบุ้งที่ยกทรัพย์สินทุกอย่างให้หยกคือหลักฐานว่าสื่อและคนจำนวนมากโกหกเรื่องบุ้งทั้งเพ ยิ่งหากรู้ว่าบุ้งเป็นลูกผู้พิพากษาที่เก่งเรื่องสอนพิเศษจนเป็นครูสอนเด็กๆ ที่ไปม็อบจนตาสว่างเพราะเด็ก จากนั้นจึงอาสาดูแลเด็กที่พ่อแม่ตัดขาดหลังไปม็อบปี 2563 ก็จะเห็นว่าบุ้งไม่ได้เป็นแบบที่ถูกกล่าวหาเลย
ก่อนที่บุ้งจะตายจริงๆ บุ้งได้ถูกฆ่าทางการเมืองไปแล้วตั้งแต่ก่อนเข้าคุก แต่ความแน่วแน่จนเหลือเชื่อของบุ้งคือบุ้งตัดสินใจทำปฏิบัติการแบบนี้เพราะยังเชื่อว่าจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
ความตายของบุ้งเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนความรู้สึกคนจำนวนมากแน่ๆ
แต่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าความตายของบุ้งอาจเป็นอีกข่าวใหญ่ที่เงียบหายไปเพราะคนจำนวนมากไม่รู้จะพูดถึงมันต่ออย่างไรดี เช่นเดียวกับการเผชิญเหตุการณ์ที่คนอื่นๆ ใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในสังคม
มีคนเยอะแยะที่สละชีวิตเพื่อคุยกับสังคมด้วยวิธีและวิถีต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคุณสืบ นาคะเสถียร กับเรื่องสิ่งแวดล้อม, ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ กับการต้านรัฐประหาร 2549, คุณธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ กับการต้านรัฐบาลโกงปี 2533 และผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ กับความอยุติธรรมในกระบวนการศาลปี 2563 ที่ผ่านไป
คนไทยโชคร้ายที่ถูกปลูกฝังว่าสิ่งที่คนไทยควรตายคือเรื่องบางเรื่อง คนที่เติบโตในกะลาแบบนี้จึงยากที่จะคิดได้ว่ามีคนเยอะแยะพร้อมตายเพื่อประชาธิปไตย, ความเสมอภาค, ความยุติธรรม ฯลฯ และไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะเข้าใจคนแบบบุ้งหรือแบบคนที่เอ่ยชื่อมาได้เลย
ข้อดีของสังคมไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาคือการ “ตาสว่าง” ที่ขยายตัวขึ้นทั้งในแง่คุณภาพและในเชิงปริมาณ การเสียชีวิตของบุ้งคงไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้รวดเร็วนัก แต่จะทำให้อาการ “ตาสว่าง” กลายเป็น “ตาสว่างกว่า” ที่ในที่สุดสังคมไทยก็จะเดินหน้าสู่ความเปลี่ยนแปลงในไม่ช้าก็เร็ว
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือประวัติศาสตร์ที่อำนาจเคลื่อนจากคนส่วนน้อยไปสู่คนส่วนมาก ความเร็วในการเคลื่อนตัวนี้ไม่เท่ากัน
แต่ไม่มีสังคมไหนที่จะผูกขาดอำนาจไว้ที่คนส่วนน้อยจนคนส่วนใหญ่ต้องตายเพื่ออยู่ใต้อุ้งเท้าของคนส่วนน้อยตลอดกาล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022