ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน ดูเหมือนคำว่า “เส้นทางสายไหม” จะถูกหยิบมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อมากกว่าในอดีตที่ “เส้นทางสายไหม” เป็นตำนานเล่าขาน และเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์
แต่หลังจากปี ค.ศ.2013 ที่ “จีน” ได้ประกาศยุทธศาสตร์ One Belt One Road หรือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” บางครั้งก็เรียกว่า “สายแถบและเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) หรือ “เส้นทางสายไหมใหม่”
โดยในปี ค.ศ.2015 มีการต่อยอด BRI เป็นโครงการ “เส้นทางสายไหม Digital” ในมิติทาง Digital ก่อนที่ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” จะแยก “เส้นทางสายไหม Digital” ออกจาก BRI ในปี ค.ศ.2017
แม้ BRI จะเป็น “ร่มใหญ่” ของ “เส้นทางสายไหม Digital” แต่ “เส้นทางสายไหม Digital” ก็อยู่ในฐานะฟันเฟืองใหญ่ ที่ช่วยหนุนเสริมการเติบโตของ “ธุรกิจ e-Commerce จีน” และ BRI อย่างมีนัยสำคัญ
ผ่านมาจนถึงปี ค.ศ.2023 ที่ต้องถือว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN เป็น “ตลาดส่งออก” ที่ “ใหญ่ที่สุด” ของ “จีน” ด้วยมูลค่า 3.68 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 18 ล้านล้านบาท
รองลงมา คือ “สหภาพยุโรป” 3.52 หรือประมาณ 17.6 ล้านล้านบาท, “สหรัฐอเมริกา” 3.51 หรือประมาณ 17.5 ล้านล้านบาท และ “ฮ่องกง” 1.9 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 9.5 ล้านล้านบาท
โดยสินค้า 5 กลุ่มหลักของ “จีน” ที่ส่งออกมายัง 4 ปลายทางเป้าหมายคือ ASEAN ยุโรป อเมริกา และฮ่องกง ประกอบด้วย เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 30% เครื่องจักรกล และชิ้นส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 17% พลาสติก 4.17% ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ 4.09% เฟอร์นิเจอร์ 3.32%
เส้นทางสายไหม Digital ตั้งอยู่บนแรงขับเคลื่อน 2 ประการ
หนึ่ง คือ การส่งบริษัทเทคโนโลยีจีนไปสำรวจตลาดนอกประเทศ
และสอง คือ การมองเห็นช่องว่างทาง Digital ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเอื้อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ Digital ได้
ที่ผ่านมา “รัฐบาลจีน” ใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบาย “เส้นทางสายไหม Digital” ใน ASEAN โดยแบ่งเป็น 5 ประเภทการลงทุนหลัก ประกอบด้วย การสื่อสารโทรคมนาคม เครือข่าย 5 G ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech และ e-Commerce
โดยมีบรรษัทเอกชนข้ามชาติขนาดใหญ่ร่วมขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น Huawei Alibaba และ ZTE ที่ต้องถือว่า ทั้งสามองค์กรเป็นผู้เล่นหลักใน ASEAN ขณะนี้
ซึ่งในระหว่างปี ค.ศ.2017 ถึงปี ค.ศ.2020 ทุกประเทศใน ASEAN ได้รับเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “เส้นทางสายไหม Digital” จาก “จีน” ทั้งสิ้น รวมทั้งหมด 176 โครงการ
ในจำนวนนี้ “ไทย” มีส่วนร่วมกับ “เส้นทางสายไหม Digital” จำนวนทั้งสิ้น 22 โครงการด้วยกัน
ล่าสุด มีการลงนามร่างความตกลงข้อริเริ่มระหว่าง ASEAN กับ “จีน” โดย “รัฐบาลจีน” มุ่งหวังเสริมสร้างความร่วมมือด้าน e-Commerce หรือ “การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” โดยทางการ “จีน” ระบุว่า เป็นความร่วมมือที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม และธุรกิจ e-Commerce ให้ตั้งอยู่บน “ผลลัพธ์แบบ Win-Win Situation”
ทุกวันนี้ มีการประเมินกันว่า e-Commerce ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ที่สุดใน ASEAN คือ Shopee บริษัท e-Commerce สัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งมีตัวเลขผู้สมัครสมาชิก Website ของ Shopee มากถึงเกือบ 500 ล้านคน
เรียงลำดับจำนวนลูกค้า Shopee ใน 5 ประเทศใน ASEAN ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย
ตามมาติดๆ คือแชมป์เก่า Lazada ซึ่งหล่นมาอยู่อันดับ 2 หลังจากอยู่ที่ 1 มานานติดต่อกันหลายปี โดยปัจจุบัน Lazada มียอดสมาชิก Website เพียงเกือบ 100 ล้านคน แม้ว่าจะเป็น e-Commerce ภายใต้ Platform ใหญ่ของบริษัทแม่ คือ Alibaba จาก “จีน”
และแม้ว่าล่าสุด Alibaba จะอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 845 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อให้ Lazada สามารถแข่งขันกับ Shopee ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อมากกว่านี้
จะเห็นได้ว่า ในระดับโลกแล้ว แม้ Alibaba ของ “จีน” จะมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับ Shopee ทว่า สำหรับ ASEAN แล้ว Shopee ของ “สิงคโปร์” บุกตะลุยไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่า Alibaba เจ้าของ Lazada อย่างไม่เห็นฝุ่น

เมื่อขยายในแนวลึกได้ล่าช้า “เส้นทางสายไหม Digital” จึงขยับไปในแนวราบ
นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของ “ตลาดค้าส่งออนไลน์” ยักษ์ใหญ่ yiwugo.com ซี่งเป็น Website อย่างเป็นทางการของ “ตลาดค้าส่งสินค้าโภคภัณฑ์” ที่ได้รับการประเมินว่า “มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” ที่รู้จักกันว่า “ตลาดเมืองอี้อู”
ตัวอย่างสินค้า ฮอตฮิตแห่งยุค คือ “กางเกงลายช้าง” ที่วางขายในตลาดนัดทั่วประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ราคาส่งตัวละ 8 หยวน หรือ 40 บาท (ต้องซื้ออย่างน้อย 1,000 ตัวขึ้นไป) เพื่อนำมาวางขายหน้าร้าน ติดป้ายราคาตัวละ 180 บาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ไม่เพียง “กางเกงลายช้าง” แต่ “ตลาดเมืองอี้อู” เปิดให้สั่งจอง “เสื้อสงกรานต์ลายดอก” สินค้ายอดฮิตประจำเทศกาล
ในช่วงที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีในวงการแฟชั่นค้าส่ง ว่าพ่อค้าแม่ขายในตลาดนัดทั่วประเทศไทย ได้ต่างพากันนำเข้าสินค้าจาก “จีน” ไม่ว่าจะเป็น “กางเกงลายช้าง” และ “เสื้อสงกรานต์ลายดอก” เพราะมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่าโรงงานในประเทศ
สำหรับเหตุผลที่สินค้าจีนราคาถูก ทะลักเข้ามาในไทย หรือใน ASEAN หลายประเทศ เป็นเพราะจีนมีแรงงานมากกว่า และเป็นประเทศใหญ่ จึงมีศักยภาพในการผลิตด้วยราคาที่ถูกกว่า
ดังนั้น การส่งออกสินค้าของ “จีน” ที่ใช้ประโยชน์จากช่องทาง e-Commerce ขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น การเกิดขึ้นของ “ตลาดเมืองอี้อู” ไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะกับ “จีน” แต่เป็นประโยชน์ทั้ง Supply Chain
เนื่องจากมูลค่าสินค้าในห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply Chain สินค้าประเภทหนึ่ง ปัจจุบัน อยู่ใน “จีน” เพียง 1 ใน 3 หรือราว 33% เท่านั้น
โดยส่วนที่เหลือ เป็น Supply Chain ร่วมกันระหว่างประเทศผู้ร่วมผลิตอื่น รวมถึงประเทศใน ASEAN และประเทศปลายทางที่ขายสินค้านั้นๆ เช่น ไทย
ปัจจุบัน “ตลาดเมืองอี้อู” มิได้รับ Order เพียง “กางเกงลายช้าง” หรือ “เสื้อสงกรานต์ลายดอก” แต่เพียงเท่านั้น เพราะ “ตลาดเมืองอี้อู” ยังมีสินค้าอีกหลายประเภท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Website อย่างเป็นทางการของ “ตลาดเมืองอี้อู” คือ yiwugo.com ได้ระบุว่า อี้ “ตลาดเมืองอี้อู” มีสินค้าที่แตกต่างกันวางขายมากกว่า 5 ล้านประเภท
ข้อมูลจากสถิติของเทศบาลเมืองอี้อู ที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ปี ค.ศ.2024 ที่ผ่านมา ระบุว่า “ตลาดเมืองอี้อู” มีร้านค้าเป็นสมาชิกมากกว่า 1 ล้านแห่ง
เมื่อสำรวจสารสนเทศพื้นฐานของรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลเจ้อเจียง ก็พบว่า “เมืองอี้อู” มีพื้นที่ 1,100 ตารางกิโลเมตร ในอดีตเป็นเมืองเกษตรกรรม และปศุสัตว์ สินค้าเด่นคือขนไก่ น้ำตาลอ้อย และเครื่องจักสาน
ปัจจุบัน “อี้อู” เป็นเมืองที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ค้าส่งสินค้าระหว่าง “จีน” กับนานาชาติ นอกจาก “ตลาดเมืองอี้อู” ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ระดับศูนย์กลางจังหวัด ยังมีตลาดย่อยอีกมากมายใน “อี้อู”
ไม่ว่าจะเป็น ตลาดค้าเครื่องแต่งกายหวงหยวน ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 420,000 ตารางเมตร มีเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนมากถึง 1,400 ล้านหยวน หรือประมาณราว 7,200 ล้านบาท เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2011
“เมืองอี้อู” หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “เมืองแห่งการค้านานาชาติอี้อู” ตั้งอยู่ใน “มลฑลเจ้อเจียง” ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของ “ประเทศจีน”
“อี้อู” มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP (Gross Domestic Product) ในปี ค.ศ.2023 ทะลุ 28,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท
คิดเป็น 10% ของตัวเลขการส่งออกทั้งปี ค.ศ.2023 ของไทย ซึ่งอยู่ที่ 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022