บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา’35 (ตอน8)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7
โดย “มือเก่า”

“มติชน” 9 พฤษภาคม 2535

หัวข้อ นาทีต่อนาทีวิกฤตเชิงสะพานผ่านฟ้า

21.20 น. พล.ต.จำลอง ประกาศให้เปิดทาง โดยให้เวลา 15 นาที หากยังไม่เปิด ก็ไม่รับรองว่าจะคุมม็อบได้

พล.ต.จำลอง ขึ้นประกาศบนหลังคารถว่า ตนมีทางออก ให้ พล.อ.สุจินดา 2 ทาง คือ ถ้าหากไม่ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ตนจะชุมนุมกันอยู่ที่นี่ หรือจะให้ตนนำประชาชนลุยไปข้างหน้า

22.40 น. พล.ต.จำลอง ขึ้นกล่าวกับประชาชนว่า “พี่ธนู พี่ณรงค์ รู้ไหมว่า ที่ไหนมีทางแยกมากที่สุดในกรุงเทพฯ” จากนั้น พล.ต.จำลอง ตะโกนเสียงดังว่า “ตอบ-คือผ่านฟ้า” พรุ่งนี้พี่ต้องตกเป็นจำเลย พี่ทำให้เกิดปัญหาจราจรที่นี่ ขอถามหน่อยจะเอาอะไรมาสลายเราได้…ขณะนี้พวกเรามีทางเลือก คือ 1.นอนค้างที่นี่ 2.ลุยเลย

สงสัย “ผ่านฟ้า” คงจะมีความสำคัญกับท่าน (มือเก่า)

“ข่าวสด” 10 พฤษภาคม 2535

หัวข้อ มหา-ฉลาด-ครูประทีป วิ่งวุ่นคุมม็อบ

ประมาณ 00.40 น. อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นักร้องขวัญใจวัยรุ่นชื่อดัง และ พ.อ.ชินวุธ สุนทรสิมะ เลขาธิการพรรคพลังธรรม ขึ้นปราศรัยท่ามกลางประชาชนที่ถนนราชดำเนิน ว่า พล.ต.จำลอง นั้นเปรียบเสมือนพันท้ายนรสิงห์ ที่รักษาวาจาสัตย์ด้วยการอดข้าว แต่ในระหว่างการปราศรัยนั้น เนื่องจากสถานที่คับแคบ และด้วยความมืด พ.อ.ชินวุธ จึงสะดุดลำโพงล้มลง

วิญญาณ ท่านพันท้ายนรสิงห์ คงมีจริง (มือเก่า)

“มติชน” 10 พฤษภาคม 2535

 

เวลา 06.05 น. พล.ต.จำลอง เขียนเป็นคำสัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์คงจะจบวันนี้ เพราะคนมากมาย รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น พล.อ.สุจินดา จะลาออก ไม่มีมาก่อนที่ประชาชนยึดถนนราชดำเนิน การจราจรจะเป็นอัมพาตทั้งกรุงวันนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเหตุผลอะไรถึงย้ายออกจากสนามหลวง พล.ต.จำลอง เขียนว่า “ที่ย้าย เพราะถ้าอยู่ในสนามหลวงตลอดเวลา ประชาชนจะเซ็ง วันหนึ่งๆ ฟังปราศรัยก็จะล้าไปเอง ต้องแสดงพลังโดยการเดิน มิฉะนั้น การต่อสู้ไม่มีอะไรคืบหน้า…”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จนถึงวันนี้ เป็นผู้นำในการชุมนุมโดยสิ้นเชิงแล้วใช่ไหม พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ใช่ครับ การนำอยู่ที่ผมโดยสิ้นเชิง เพราะ

1. เมื่อ 7 พฤษภาคม หน้ารัฐสภา ผมทนดูไม่ได้ ที่ประชาชนแออัดยัดเยียด ไม่มีที่ยืน ผมเสนอกรรมการให้ย้าย เขาโลเล ผมต้องยื่นคำขาด กรรมการไม่ย้ายไม่เป็นไร ผมนำประชาชนไปเอง คณะกรรมการอยู่ไม่ได้ ต้องตามผมไป

2. การทำงานใหญ่อย่างนี้ ต้องอาศัยกำลังใจ และประสบการณ์ ดูไปแล้วผมเหมาะกว่าใคร

3. คนที่มาชุมนุม เป็นเพราะรักผม สงสารผม เมื่อผมพูด เขาก็เชื่อ จะนำใคร ต้องได้รับศรัทธาผู้นำ

4. ผลพิสูจน์ว่า ผมนำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อคืนนี้ (8 พฤษภาคม) เหตุการณ์เกิดซ้ำ ผมนำประชาชนออกมา กรรมการหลายคนค้าน ประชาชนจากสนามหลวงตามผมมาเกือบหมด กรรมการยังต้องยกเวทีตามมา

5. ผู้สนใจทางการเมือง มาบอกผมเมื่อ 3-4 วันที่แล้วว่า ถ้าให้คณะกรรมการนำ ผมคงไปไม่รอดแน่ เพราะใจเขาไม่แข็งพอ ประชาชนไม่รู้จัก และไม่มีประสบกากรณ์

 

หลักฐานชัดเจน ว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประท้วงครั้งนี้
ผมคงไปไม่รอดแน่ แปลว่า อะไรหนอ
กลัวตาย หรือ กลัวแพ้ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 109-111

9 พฤษภาคม — ตอนสายๆ มีผู้มาเสนอผมว่า ผมควรเลิกอดอาหาร เพราะเหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น ผมจะนั่งเฉยๆ นอนเฉยๆ พร้อมกับปิดปากเงียบต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

เพื่อให้เกิดความแน่ใจเพิ่มขึ้น ผมเดินไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขณะนั้นมีประชาชนรวมตัวกันอยู่ประมาณ 800 คน ผมขอให้ช่วยออกเสียง…ประเด็นที่ว่า ใครเห็นว่าผมควรจะหยุดการอดอาหารได้แล้ว ยกมือกันทุกคน

ผ่านไปสองชั่วโมง มีผู้มารวมกันเพิ่มเป็นประมาณ 3,000 คน ผมก็ถามประชามติอีกครั้ง ผลออกมาเหมือนเดิม…ผมจึงตัดสินใจยุติการอดข้าว ซึ่งได้อดมาเกือบ 5 วัน ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ เหตุการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

แผนอดข้าว ที่คิดว่าจะได้ผลรวดเร็ว ก็ไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนเป็นวิธียึดถนน ก็ไม่ได้ผลอีก รัฐบาลช่างอดช่างทนเสียจริง ไม่ยอมใช้กำลังเข้าสลายฝูงชน เลยไม่เกิดความรุนแรง ดังนั้น ที่ว่าเหตุการณ์เปลี่ยน น่าจะคือชัยชนะ เดิมยังมีความหวัง กลับกลายเป็นไม่เห็นทางชนะ อดไปก็ตายเปล่า ต้องเปลี่ยนแผน (มือเก่า)

“มติชน” 10 พฤษภาคม 2535

หัวข้อ ตามประชามติ “เลิกอด”

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า มีคนมาเสนอว่า เหตุการณ์ขณะนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รัฐบาลบีบคั้นให้ตนเร่ร่อนไปมา มีการใช้กำลัง และมีพฤติการณ์ที่จะสลายพวกเรา โดยใช้กำลังเข้าคุกคาม การอดอาหารทำไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลทำผิดข้อตกลงมาโดยตลอด ดังนั้น ผมจึงขอมติประชาชน ซึ่งมีอยู่ 2 นัยคือ

1. อดอาหารต่อไปจนตาย

2. สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว กินอาหารแล้วออกมาสู้ต่อ

เมื่อ พล.ต.จำลอง เอ่ยมติข้อที่ 1 ประชาชนต่างเงียบกริบ พล.ต.จำลอง จึงถามประชามติข้อ 2 ว่ากินอาหารแล้วออกมาสู้กับมัน ปรากฏว่า ประชาชนพากันปรบมือเสียงดังสนั่น
จากนั้น พล.ต.จำลอง มุดเข้าไปกินผลไม้ ในรถปิกอัพแวน (ช่างภาพจะขอถ่ายรูปก็ไม่ยอม) ใช้เวลาอยู่ในรถตั้งแต่ 08.00-09.20 น.

มีแต่ท่านนำพาประชาชนเร่ร่อนเอง โดยท่านอ้างว่า แก้เซ็ง รัฐบาลใช้กำลัง และมีพฤติกรรมที่จะสลายผู้ชุมนุมเมื่อไหร่ และอย่างไร การคุกคาม ก็มีแต่ท่านใช้พลังมวลชนคุกคามทางการให้เปิดทาง และมีแต่ท่านผิดข้อตกลงที่จะชุมนุมอยู่ในสนามหลวงในการชุมนุมวันที่ 17 (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 86

อดอาหารแบบเคร่งอย่างนี้ ยากมาก แม้ผมจะกินข้าวมื้อเดียวติดต่อมา 13 ปีแล้วก็ตาม พออดได้ 2 วัน ก็รู้สึกอ่อนเพลีย บางครั้งรู้สึกหวิวๆ ตาลาย เวลาเดินไปรถสุขาต้องค่อยๆ ย่าง เกรงว่าจะล้มตึง

“มติชน” 8 พฤษภาคม 2535

พล.ต.จำลอง ได้เดินทางไปเข้าที่พัก ซึ่งเป็นเต็นท์ริมสนามหลวง ริมฝั่งตรงข้ามกระทรวงยุติธรรม ซึ่งห่างจากเวที 800 เมตร โดยมีหน่วยคุ้มกันแน่นหนา ระหว่างเดินมีคนปรบมือให้เสียงดัง พล.ต.จำลอง มีสีหน้ายิ้มแย้ม

“ร่วมกันสู้” หน้า 110

เพื่อให้เกิดความแน่ใจเพิ่มขึ้น ผมเดินไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะนั้นมีประชาชนรวมกันอยู่…

แปลก อดได้ 2 วัน ต้องค่อยๆ ย่าง เกรงล้มตึง อดได้ 3-4 วัน เดินปร๋อ 800 เมตร (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 111

…ผมได้ขอให้ผู้ร่วมงาน พิมพ์ใบปลิวแจก ชี้แจงถึงเหตุผลในการยุติการอดอาหาร โดยลงท้ายในใบปลิวว่า “ขณะนี้ ฝ่ายตรงข้ามกำลังบิดเบือน การยุติการอดอาหารของผมว่า ผมไม่รักษาคำพูด ละทิ้งอุดมการณ์เพื่อชักจูงให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา จะได้เลิกชุมนุม ซึ่งเป็นความเท็จ ผมจึงต้องเรียนให้ทราบ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด”

ถ้าทางการยังไม่ทันออกข่าว แต่ท่านร้อนตัวกล่าวหาทางการไว้ก่อน มิกลายเป็น ท่านเป็นฝ่ายกล่าวเท็จหรือ (มือเก่า)

“ร่วมกันสู้” หน้า 113

เวลาประมาณ 10 นาฬิกา สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ประกาศว่า ผมได้เลิกอดข้าวแล้ว…

แล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ว่า “ท่านไม่รักษาสัจจะ” (มือเก่า)

“แนวหน้า” 10 พฤษภาคม 2535 หน้า 18 หัวข้อ “เปลี่ยนยุทธวิธี”

–โทรทัศน์ของกองทัพ แสดงความยินดี และแจ้งเพียงสั้นๆ ว่า “พล.ต.จำลอง ได้เลิกอดอาหาร และเริ่มรับประทานอาหารแล้ว”

“ข่าวสด” 10 พฤษภาคม 2535 หัวข้อ ทีวีโหมข่าว “มหา” กินข้าว

ประมาณ 10.10 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ได้ออกประกาศ แสดงความยินดีที่ พล.ต.จำลอง เลิกอดข้าว ว่าเมื่อเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ประกาศยุติการอดอาหาร และเริ่มการรับประทานอาหารแล้ว จึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีประการหนึ่ง…หวังว่า การยุติการอดอาหารของ พล.ต.จำลอง ครั้งนี้นั้น จะเป็นนิมิตหมายอันดี ก่อให้เกิดการใช้เหตุผลอย่างถูกต้อง โดยยึดถือการประนีประนอม และสันติวิธี อันเป็นคุณลักษณะของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธต่อไป

สื่อรายงานตรงกัน ว่าข่าวของทางการ ไม่มีการกล่าวหา ซ้ำเติม ผู้เลิกอดอาหาร (มือเก่า)