สุรชาติ บำรุงสุข 40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม : ชีวิตของทหารกบฏ!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน  1  2  3  4  5

“คณะรัฐประหารเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่ต้น… ผู้ร่วมก่อการรัฐประหารจะถูกกดดันทางอารมณ์ความรู้สึกตลอดระยะเวลาที่เริ่มคิดแผนรัฐประหาร…เมื่อพวกเขาเปิดเกม เขาจะกระทำความผิดพลาดในแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้ จุดใดที่พลาดเพียงเล็กน้อย มีโอกาสกลายสภาพเป็นดังโดมิโนที่จะล้มตัวอื่นๆ ให้ระเนระนาดไปด้วย…”

พันโทรณชัย ศรีสุวรนันท์

ยุทธการยึดเมือง (2529)

หลังจากพลเอกฉลาดถูกพาตัวออกไปจากแดนพิเศษแล้ว ความผิดปกติก็ตามมาในเวลาไม่นานนัก พวกเราได้รับคำสั่งให้กลับขึ้นห้องขังเร็วกว่าปกติ ซึ่งพอจะเดาได้ว่า “มีอะไรเกิดขึ้นอีกแล้ว!” เป็นแต่เพียงไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเรื่องอะไร พวกเราเองก็ไม่มีโอกาสรู้เลยว่าพลเอกฉลาดถูกประหารชีวิตไปแล้ว

แล้วความผิดปกติก็เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงใกล้ค่ำของวันที่ 21 เมษายน 2520 พวกเราได้ยินเสียงคนอยู่หน้าประตูเหล็กของแดน เพียงอึดใจเดียวประตูเหล็กบานดังกล่าวก็ถูกเปิดออก มีชาย 4 นายเดินมาอย่างอิดโรย และหนึ่งในนั้นดูท่าทางสะบักสะบอมด้วย พวกเขามาพร้อมกับเสื่อและผ้าห่ม ตามมาด้วยผู้คุมอีกหลายนาย

พวกเขาทั้ง 4 ถูกพาขึ้นไปยังชั้น 2 ที่เคยเป็นที่อยู่ของพลเอกฉลาด ถึงจุดนี้แล้วพวกเราก็พอจะคาดได้ว่าทั้ง 4 คนที่ถูกนำตัวเข้ามาขังรวมกับพวกเราในแดนพิเศษ น่าจะเป็นกลุ่มนายทหารจากกรณี 26 มีนาฯ อย่างแน่นอน

แต่คำถามที่เกิดขึ้นในใจในขณะนั้นก็คือ แล้วทำไมลุงหลาดยังไม่กลับเข้าแดน เพราะเวลาเริ่มค่ำแล้ว และเป็นกฎที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าจะไม่มีนักโทษออกมาเดินในช่วงเวลาเช่นนี้เป็นอันขาด…

เรามีอาคันตุกะใหม่มาเพิ่มสี่คน แต่อีกหนึ่งหายไปไหนเล่า

ถ้าจะบอกว่าลุงได้รับอิสรภาพออกไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

คำตัดสินประหารชีวิต!

การประหารชีวิตพลเอกฉลาดได้กลายเป็นปัญหาในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงเวลาต่อมานายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เขียนถึงการตัดสินใจในเรื่องนี้ ตามที่ปรากฏในบันทึกของพลตรีสนั่นว่า

“คณะรัฐมนตรีของผม (นายกฯ ธานินทร์) กับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินร่วมประชุมปรึกษากันอย่างเต็มคณะ ผมให้ความเห็นต่อที่ประชุมร่วมว่า แม้จะเป็นเวลาไม่ปกติและคณะรัฐมนตรีร่วมกับคณะปฏิรูปมีอำนาจพิจารณาคดีนี้เองได้ แต่ก็ควรจะนำเรื่องขึ้นศาล เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ… จึงไม่ควรใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 21 อย่างพร่ำเพรื่อ มาตรานี้ควรสงวนไว้ใช้ในกรณีที่ไม่อาจใช้มาตรการปกติเท่านั้น”

ผมเชื่อว่าคำบอกเล่าของนายกฯ ธานินทร์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีคนรับรู้มากเท่าใดนัก และยังได้เล่าต่ออีกว่า “มีบางท่านในคณะปฏิรูปฯ บอกว่าไม่ได้ ต้องใช้มาตรา 21” ซึ่งก็นำไปสู่การตัดสินใจใช้มาตรานี้ในการประหารชีวิตพลเอกฉลาด และกลายเป็นปมปัญหาการเมืองในเวลาต่อมา

ข้อมูลจากคำบอกเล่าของท่านนายกฯ ธานินทร์น่าสนใจอย่างมากถึงเหตุผลของนายทหารระดับสูงในคณะปฏิรูปฯ ว่า ต้องใช้มาตรานี้เพราะ “ประการแรก ผู้ต้องหาฝ่ายกบฏกำลังจะแหกที่คุมขัง เขามีอิทธิพลมาก และอีกประการหนึ่งฝ่ายกบฏจะจับตัวบุคคลสำคัญไปเป็นตัวประกันเพื่อให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหา…”

ถ้าจะถามความเห็นแล้ว ก็คงตอบได้ชัดว่ากลุ่มทหารในขณะนั้น กำลังสร้าง “ภาพลวงตา” ให้กับนายกฯ และแม้ปีกรัฐบาลจะเห็นค้าน แต่ก็ไม่มีทางชนะ

ดังที่นายกฯ ธานินทร์กล่าวว่า “รัฐมนตรีของฝ่ายผมมีเพียง 16 นาย” ในขณะที่นายทหารในคณะปฏิรูปฯ มีจำนวน 24 นาย และมีอีก 2 นายที่เป็นรัฐมนตรีด้วย ถ้านับเรียงคือ 16 ต่อ 26 อันทำให้คดีนี้ไม่ถูกส่งไปให้ศาลพิจารณา

ในขณะที่อธิบดีศาลอาญาในขณะนั้นเชื่อว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือน แต่กลุ่มทหารกลับตอบว่า “ช้าไป…” เพราะเป้าหมายหลักคือจะต้องกำจัดพลเอกฉลาดออกไปจากเวทีการเมืองให้ได้

ดูจากเหตุผลที่ผู้นำทหารต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรา 21 ตัดสินประหารชีวิตนั้น เป็นเพราะต้องการ “ปิดปาก” พลเอกฉลาดใช่หรือไม่

เพราะเป็นที่รับรู้กันภายในวงของทหารว่า มีผู้นำทหารหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างน้อยคำสัญญาที่ไม่เป็นจริงของผู้นำทหารที่กรุงเทพฯ ที่จะเคลื่อนกำลังออกมาสนับสนุน ก็คือคำบอกเล่าโดยตรงที่ระบุถึงการเข้าร่วมของผู้นำทหารกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่ง

แต่ดูเหมือนพลเอกฉลาดจะเชื่อมั่นว่า ถึงจะยอมแพ้แล้ว แต่ในฐานะผู้นำทหารด้วยกันแล้ว ก็คงจะไม่หันกลับมาเล่นงานด้วยการ “ฆ่า” กันเอง เพราะอย่างน้อยก็รู้จักและเติบโตกันขึ้นมาด้วยกันในกองทัพบก ซึ่งลุงหลาดเองในช่วงที่อยู่ในแดนพิเศษก็เคยพูดถึงชื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนให้ฟัง

แต่ผมขณะนั้นก็ยังเด็ก จึงได้แต่ฟัง และรู้สึกว่าเป็นเรื่องภายในของผู้นำกองทัพ แต่ก็มีความรู้สึกว่าเขาคงจะไม่เล่นกันถึง “ตาย” คงคิดเองเล่นๆ ว่า ลุงหลาดคงได้อยู่กับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ ไปอีกพอสมควร

ทำไมต้องประหาร

แต่สัญญาณที่ทำให้ความหวังเช่นนี้ดูจะไม่เป็นจริงนัก ก็คือ การตัดสินประหารชีวิตนักโทษในคดีค้ายาเสพติดด้วยมาตรา 21 ด้วยการยิงเป้า ซึ่งผู้คุมผู้ดูแลพวกเราเองก็อดหวั่นใจไม่ได้ เพราะเป็นประสบการณ์ของพวกเขาว่า ถ้ามีการยิงเป้ารายแรกแล้ว ก็อาจจะมีรายต่อไป

ส่วนหนึ่งพวกเราเองก็ใจไม่ดีเหมือนกันว่า รายที่สองจะเป็นผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาฯ หรือไม่

แต่รายที่สองกลับเป็นกรณีพลเอกฉลาดซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดไว้ เพราะอย่างน้อยก็เชื่อกันว่าผู้นำทหารจะไม่ฆ่ากันเอง

แต่ดูจากข้อเขียนของนายกฯ ธานินทร์ที่ปรากฏในบันทึกของพลตรีสนั่นแล้ว ความคิดเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ เหตุผลที่ผู้นำทหารบอกแก่นายกฯ ธานินทร์ว่า “ผู้ต้องหาฝ่ายกบฏกำลังจะแหกที่คุมขัง” ก็ดูจะเป็นการสร้างเรื่องลวงอย่างมาก เพราะตลอดระยะเวลา 21 วันที่พวกเราเห็นพลเอกฉลาดนั้น นึกไม่ออกเลยว่าจะ “แหกคุก” ออกไปได้อย่างไร

คงต้องไม่ลืมว่าพลเอกฉลาดและพวกเราอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็น “แดนพิเศษ” และในทางภูมิศาสตร์แล้วเป็นพื้นที่ที่อยู่ใจกลางบางขวาง จะต้องฝ่าออกไปไม่รู้กี่ด่านจึงจะออกประตูไปได้

อย่าว่าอะไรเลย แค่ความคิดที่จะออกจากแดนเราไปแดนอื่นก็ยังเป็นไปไม่ได้… เลิกคิดและจินตนาการแบบในภาพยนตร์ได้เลย ยกเว้นจะมีภาพในความคิดแบบภาพยนตร์ดังในอดีตเรื่อง “The Great Escape” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “แหกค่ายมฤตยู” ที่เชลยศึกสัมพันธมิตรพยายามแหกค่ายคุมขังของนาซีออกไปให้ได้

แต่ภาพยนตร์กับชีวิตจริงนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมไม่เคยคิดเลยว่าใครจะแหกคุกบางขวางออกไปได้

การกล่าวเช่นนี้จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการหลอกรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ดูจะไม่มีทางเลือกมากนัก

ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีกองกำลังมาจับตัว “บุคคลสำคัญ” เพื่อต่อรองให้ปล่อยนักโทษในคุก ก็เป็นตัวแบบของผู้ก่อการร้ายสากลในขณะนั้น ซึ่งประสบการณ์ในไทยไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด และหน่วยกำลังเมื่อวางอาวุธและถูกส่งกลับที่ตั้งที่กาญจนบุรีแล้ว ก็แทบจะเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในขณะนั้นทั้งสองนายและนายทหารอีกส่วนก็ถูกจับกุมคุมขังอยู่

จึงเป็นดังการหลอกนายกฯ ธานินทร์อีกประเด็นหนึ่งไม่แตกต่างกับวาทกรรมแบบ “แหกค่ายมฤตยู” เว้นแต่เรื่องทั้งหมดนี้คือการปิดปากพลเอกฉลาด และขณะเดียวกันก็ยืมมือรัฐบาลใช้มาตรา 21 ขจัดนายทหารที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองให้หลุดออกไปจากเวทีการแข่งขันอย่างถาวร โดยไม่มีโอกาสหวนกลับมาเปิดเผยข้อมูล

หรือจะกลับเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองได้อีกตลอดไป (และตลอดกาล)

ผู้มาใหม่ทั้งสี่

ระหว่างที่พลเอกฉลาดถูกคุมขังอยู่ในแดนพิเศษนั้น หนึ่งในความกังวลใหญ่ก็คือชะตากรรมของบุตรชายและคณะผู้ก่อการที่กำลังจะเดินทางไปไต้หวันด้วยกัน

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

ลุงหลาดได้เคยปรารภกับผมว่าเป็นห่วงเพราะไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง เนื่องจากถูกจับแยกออกจากกันตั้งแต่การควบคุมตัวที่ดอนเมือง ผมเชื่อว่าในความเป็นปุถุชนนั้น ห่วงใหญ่ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นความห่วงใยที่พ่อมีต่อลูก และยิ่งในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ด้วยแล้ว ความห่วงใยคงยิ่งทวีมากขึ้น

และผมเชื่อว่าสำหรับพันตรีอัศวินแล้ว ความห่วงใยเช่นนี้ก็คงไม่แตกต่างกัน เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าชะตากรรมของพ่อจะเป็นอย่างไร

ว่าที่จริง พวกเราชาว 6 ตุลาฯ ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น… ไม่รู้เลยว่าลุงหลาดถูกประหารชีวิตไปแล้ว

การตื่นนอนในเช้าวันที่ 22 เมษายน 2520 จึงออกจะเป็นอะไรที่แปลกๆ อยู่บ้าง เพราะแต่เดิมมีแต่พวกเรา ตื่นมาก็ส่งเสียงพูดคุยและทักทายกัน แต่มาวันนี้กลับมีผู้มาใหม่อีก 4 ท่าน และก็เป็นนายทหารด้วย

ซึ่งหากพวกเราถูกตีตราว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” และพวกทหารถูกตีตราว่าเป็น “ฝ่ายขวา” แล้ว ก็ดูจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งที่ต่อไปนี้จะต้องมาใช้ชีวิตในที่คุมขังร่วมกัน โดยไม่รู้เลยว่าเวลาของอิสรภาพจะหวนกลับคืนมาเมื่อใด

ผู้มาใหม่ทั้ง 4 ได้แก่ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ พันตรีบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พันตรีวิสิษฐ์ คงประดิษฐ์ และ พันตรีอัศวิน หิรัญศิริ และเช้าวันนั้นทางเรือนจำได้อนุญาตให้เฉพาะพันตรีอัศวินแต่เพียงผู้เดียวที่ไปเคารพศพของพลเอกฉลาด ทางพันโทสนั่นก็ขออนุญาตออกไปด้วย แต่ไม่ได้รับอนุญาต…

ภาพของพันตรีอัศวินที่กลับเข้ามาในแดนวันนั้นห่อเหี่ยวอย่างมาก เพราะเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนที่เป็นลูก และเป็นการสูญเสียแบบที่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย พวกเราเองก็อดเสียใจไปด้วยไม่ได้

เสียงบ่นของลุงหลาดกับผมเรื่องการ “ถูกหักหลัง” บ่งบอกถึงปัญหานี้อย่างดี

พวกเราในฐานะนักศึกษารุ่นแรกของวิทยาลัยบางขวางจึงเริ่มทำความรู้จักและคุ้นเคยกับนักศึกษารุ่นที่สองที่เพิ่งมาถึง พวกเราเองก็ตกใจไม่น้อยที่รับรู้ว่าลุงหลาดถูกตัดสินประหารชีวิต และรับรู้ว่าพวกนายทหารทั้ง 4 ก็ถูกตัดสินด้วยมาตรา 21 ให้จำคุก 20 ปี

สภาพเช่นนี้เริ่มส่งสัญญาณถึงทั้งผมและพวกพี่ๆ ว่าคงได้อยู่ด้วยกันอีกนาน แล้วพวกเราทั้งหมดก็เริ่มปรับตัวเข้าหากัน เพราะไม่เพียงแต่จะไม่คุ้นเคยกันเท่านั้น หากแต่ดูเหมือนจะยืนคนละมุมกันในทางการเมืองด้วย

ชีวิตในแดนพิเศษนั้น ถ้าไม่คิดถึงสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญคือ “อิสรภาพ” แล้ว ชีวิตนักโทษการเมืองก็ดำเนินไปตามเข็มเวลา เช้าตื่นรับประทานอาหารเช้า สิบเอ็ดโมงเตรียมรับประทานอาหารกลางวัน บ่ายสองโมงเยี่ยมญาติ บ่ายสามโมงอาบน้ำ บ่ายสี่โมง “ขึ้นขัง” (หมายถึงต้องกลับเข้าห้องขังในเวลาสี่โมงเย็น)… เวลานอนในคุกจึงยาวนานมาก เพราะผู้คุมจะเปิดประตูห้องขังราวเจ็ดโมงเช้า

ชีวิตในสภาพเช่นนี้จึงต้องการการปรับตัวเป็นอย่างมาก

ผู้คุมเมื่อสนิทกันแล้วเคยเล่าเป็นประสบการณ์ว่า ชีวิตในคุกลำบากที่สุดในช่วง 3-6 เดือนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เดือนแรก แต่ถ้าสามารถปรับตัวและผ่านพ้นไปก็จะเริ่มชินกับการที่ต้องใช้ชีวิตในที่คุมขัง ซึ่งมีพื้นที่จำกัดได้

แต่ถ้าปรับไม่ได้แล้ว ก็อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตได้ไม่ยากนัก

ทั้งพวกเราที่เป็นผู้นำนักศึกษาและผู้นำทหารได้เริ่มค่อยๆ ปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกัน และหลังจากใช้มาตรา 21 ตัดสินแล้วก็ทำให้คณะผู้ก่อการที่ถูกคุมขังไว้ในเรือนจำอื่นๆ ได้ถูกส่งมายังบางขวาง ซึ่งเป็นเรือนจำ “มหันตโทษ” คือเป็นที่คุมขังบรรดาคดีที่ต้องโทษสูง และขณะเดียวกันคดีนี้ก็เป็นคดีการเมือง บรรดานายทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เกี่ยวข้องจึงถูกส่งมายังแดนพิเศษ

นับจากนี้ไป แดนพิเศษเริ่มจะคึกคักอย่างมาก ซึ่งแต่เดิมมีแต่พวกเราไม่กี่คนจากคดี 6 ตุลาฯ

แต่จากนี้ นอกจากผู้นำทหารทั้ง 4 ที่เข้ามาก่อนแล้ว ยังมีผู้มาเยือนใหม่อีกหลายท่านที่เข้ามาสมทบ ได้แก่ คุณพิชัย วาศนาส่ง ซึ่งพวกเรายกย่องและเรียกว่า “อาจารย์” หรือบางทีลับหลังก็แอบเรียกว่า “ซือแป๋” แบบในหนังจีน

พวกเราซึ่งเคยเห็นอาจารย์แต่ในสื่อ คราวได้มาพบตัวจริงเสียงจริง ที่ต้องใช้คำว่า “เสียงจริง” ก็เพราะอาจารย์พิชัยโฆษณาเสื้อเชิ้ตยี่ห้อหนึ่งด้วยน้ำเสียงที่เฉียบขาด ฟังแล้วจำได้ทันทีว่า “เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ” (คนรุ่นนั้นคงจำกันได้นะครับ!)

นอกจากนี้ ก็มีบรรดานายทหารจาก พล.ร.9 ที่เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นร้อยเอกสุพจน์… ร้อยเอกบรรพต… ร้อยเอกสวรรค์… และจากส่วนกลางคือร้อยเอกณัฐวุฒิ… อีกทั้งยังมีตำรวจได้แก่ พันตำรวจโทมาโนช… ร้อยตำรวจเอกเดชา… ร้อยตำรวจเอกจีรวัฒน์…

สภาพเช่นนี้ทำให้เห็นชัดว่านักศึกษารุ่นที่ 2 ของวิทยาลัยบางขวางมีจำนวนมากกว่ารุ่นแรกมาก

ดังได้กล่าวแล้วว่าถ้าไม่คิดถึงเรื่องอิสรภาพแล้ว ชีวิตในวิทยาลัยบางขวางก็มีเรื่องสนุกๆ ให้ต้องหวนรำลึกได้หลายเรื่อง