ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“มาตรวัดที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ไม่ใช่การบ่งบอกว่าเขายืนที่ไหนในเวลาของความสุขสบายและความสะดวก แต่เขายืนตรงไหนในเวลาของความท้าทายและความขัดแย้งต่างหาก”
ดร. มาร์ติน ลูเธอร์คิง, จูเนียร์
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “นิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา” และยังได้จัดสนทนาในประเด็นดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมรายการคือ สุธรรม แสงประทุม, สุรชาติ บำรุงสุข, รัศมี เผ่าเหลืองทอง และดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ดังนั้น บทความต่อไปนี้จึงเป็นเสมือน “บทเสริม” จากการสนทนาที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว ผู้เขียนและคุณสุธรรม ในฐานะ “จำเลยคดี 6 ตุลาฯ” ขอขอบคุณหอภาพยนตร์ที่จัดกิจกรรมดังกล่าว
และขอขอบคุณผู้ร่วมสนทนาทั้งสองท่านในการนี้ด้วย
การเมืองหลังการฆ่าหมู่
สําหรับผู้สนใจโดยทั่วไปแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงระยะเวลาจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงจุดสุดท้ายที่นำไปสู่การ “สังหารหมู่” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มักจะเป็นจุดสนใจหลัก แต่หากพิจารณาเพิ่มเติมจากความสนใจดังกล่าว เราอาจจะพบว่าปัญหาและการต่อสู้ทางการเมืองหลังจากความสำเร็จในการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาฯ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ และขณะเดียวกันก็มีเงื่อนปมที่ยังถูกซ่อนไว้ใน “มุมมืด” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เท่าๆ กับที่ก็ทิ้งมรดกการเมืองชุดใหญ่ไว้กับการเมืองไทยในเวลาต่อมาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างตัวแบบใหม่ที่ทฤษฎีการเมืองเปรียบเทียบเรียกว่า “ระบบไฮบริด” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการดำรงอยู่ของระบบเสรีนิยมและระบบอำนาจนิยม ซึ่งก็คือการกำเนิดของ “รัฐบาลเกรียงศักดิ์” (พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) หลังจากรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 นั่นเอง และถูกถือว่าเป็นตัวแบบของ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ของไทย
อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในหลังจากรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่ากองทัพไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่คิด ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเผด็จการพลเรือนก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาดหวัง
ซึ่งว่าที่จริงแล้วแม้หลักฐานจะไม่ปรากฏชัดเจน แต่ก็พออนุมานจากข้อมูลแวดล้อมได้ว่า รัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นไปในลักษณะของการ “ชิงเวลา” โดยคาดหวังว่าการเปิดเกมรุกด้วยการตัดสินใจประกาศการยึดอำนาจจะทำให้พวกเขาได้เปรียบไปโดยปริยาย เพราะอยู่ในฐานะของการเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐได้ในเบื้องต้น
กล่าวคือ แข่งขันกันว่าใครจะยึดอำนาจได้ก่อน
แน่นอนว่ารัฐประหารครั้งนี้ต้องการกระบวนการสร้างความชอบธรรม ชนชั้นนำและผู้นำทหารสายอนุรักษนิยมในขณะนั้นตระหนักดีว่า ผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ทำให้ฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนขยายตัวกว้างขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าการขยายฐานเช่นนี้ส่วนหนึ่งจะผ่านการประท้วงบนท้องถนนของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมก็ตาม
แต่หากยอมรับว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือการเปิดประตูสังคมไทยให้กระแสเสรีนิยมไหลบ่าเข้ามาจนมีอาการ “ท่วมท้น” แล้ว ปรากฏการณ์ของการประท้วงในทุกขั้นของสังคมก็คือ การบ่งบอกถึงอาการที่เป็นผลสะท้อนของการที่ต้องอยู่ใน “สังคมปิด” ของระบบอำนาจนิยมของรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนาน การประท้วงจึงแพร่ระบาดจนกลายเป็นรูปแบบหลักของการต่อสู้ของประชาชนที่มีปัญหาไปโดยปริยาย ซึ่งก็ทำให้ผู้คนโดยทั่วไปในสังคมรู้สึกว่าประชาธิปไตยคือ “ความวุ่นวาย” เพราะเกิดการประท้วงไปทั่วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย
และเมื่อกระแสเสรีนิยมถูกทับซ้อนเข้ามาพร้อมกระแสสังคมนิยมด้วยแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึงขยายจากความวุ่นวายไปสู่ “ความกลัว” และทั้งยังถูกสำทับจากการล้มลงของ “โดมิโนอินโดจีน” ทั้งสามประเทศ ซึ่งก็ทำให้ความกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาหัวขบวนของปีกอนุรักษนิยมทั้งหลายมีความกังวลอย่างมากว่า รัฐไทยอาจจะกลายเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ในภูมิภาคได้ไม่ยากนัก
เพราะในด้านหนึ่งก็เห็นการขยายตัวของสงครามในชนบท
และในอีกด้านหนึ่งก็เห็นการเติบโตของขบวนการทางสังคมที่เป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ ในเมือง
สงครามสกปรก!
ความกลัวเช่นนี้จะยุติได้ด้วยการนำเอาความ “สงบเรียบร้อย” กลับมาสู่สังคมไทย (หรือในความหมายของการเอา “law and order” กลับคืนมา) ซึ่งความพยายามในการสร้างความสงบเรียบร้อยดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำสงครามทั้งในเมืองและในชนบทคู่ขนานกันไป และสงครามในเมืองนั้นว่าที่จริงแล้วก็คือการ “ปราบปรามฝ่ายซ้าย” หรือจัดการกับผู้เห็นต่างจากรัฐบาล
ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์ของการต่อสู้ในสังคมอเมริกันที่รัฐบาลทหารใช้อำนาจเผด็จการจัดการกับ “ฝ่ายตรงข้าม” อย่างรุนแรง หรือเรียกด้วยสำนวนของการเมืองอาร์เจนตินาก็คือ ฝ่ายรัฐทำ “สงครามสกปรก” (Dirty War) จัดการกับผู้เห็นต่าง จนกลายเป็นปมปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดการ “กวาดล้าง” ขนาดใหญ่ของรัฐบาลทหาร
การเมืองไทยหลังจากตุลาคม 2516 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการล้มลงของโดมิโนทั้งสามในอินโดจีนแล้ว “สงครามสกปรก” ในไทยก็ดำเนินไปด้วยความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับไปพิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นจากกลางปี 2518 ต่อเข้าปี 2519 คำถามหลักประการเดียวก็คือ ชนชั้นนำและผู้นำทหารปีกขวาจะตัดสินใจยึดอำนาจเมื่อใด อีกทั้งยิ่งระยะเวลาทอดนานขึ้น ประกอบกับการเตรียมถอนฐานทัพสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศตามนโยบายที่รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ประกาศไว้ต่อรัฐสภา ที่จะให้สหรัฐเตรียมตัวปิดฐานทัพในไทยในกรอบระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 มีนาคม 2519 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า “กระแสขวาจัด” ที่มีบรรดาผู้นำทหาร “สายเหยี่ยว” เป็นกำลังหลักนั้น ทวีความรุนแรงมากขึ้น…
รัฐประหารจะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเมืองไทยเสียแล้ว
อีกทั้งยังเห็นได้ชัดจากการสร้างสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่ล้วนต้องการนำพาปัญหาไปจบที่ความรุนแรง เช่น ความพยายามที่จะพา จอมพลประภาส จารุเสถียร กลับไทย จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งสำคัญชุดหนึ่งในขณะนั้น และขณะเดียวกันเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นดังการทดสอบพลังของขบวนการนักศึกษา-ประชาชนว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แม้เหตุการณ์นี้จะจบลงด้วยการที่รัฐบาลตัดสินใจขอให้จอมพลประภาสกลับออกไปจากประเทศไทย
แต่ในที่สุดก็กลับมาใหม่ด้วยการพา จอมพลถนอม กิตติขจร กลับในรูปของ “การบวชพระ” การตัดสินใจพาสองจอมพลกลับบ้านในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก
มีคำถามจนถึงปัจจุบันว่าใครหรือกลุ่มใดเป็นคนคิดแผนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้…
น่าเสียดายว่าจนถึงปัจจุบันข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็ไม่เป็นที่กระจ่างชัด
แต่ทั้งหมดมีเรื่องราวของการ “ชิงไหวชิงพริบ” ในหมู่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารในขณะนั้นอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้
ดังนั้น รัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาฯ จึงเป็นความสำเร็จของผู้นำทหารกลุ่มหนึ่งและเป็นความผิดหวังของผู้นำทหารอีกกลุ่มหนึ่ง (หรืออาจจะมากกว่า 1 กลุ่ม !) และไม่ว่าใครจะสมหวังหรือผิดหวัง สงครามสกปรกที่สุดท้ายได้อาศัยการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเครื่องมือในการ “ปิดเกม”
และกลายเป็นข้ออ้างอย่างดีเพื่อเปิดโอกาสให้มีการใช้รัฐประหารเป็นหนทางของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
สงครามภายในของทหาร
การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษา-ประชาชนในเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อาจจะเป็นเหมือนการถูกปิดเกม เพราะการกวาดล้างที่เกิดขึ้น แต่เกมในกองทัพดูจะเป็นไปในอีกทิศทางหนึ่ง รัฐประหาร 6 ตุลาฯ กลับเป็นดังการ “เปิดเกม” ในกองทัพอีกแบบหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดของความขัดแย้งชุดนี้ก็กำลังจะสูญสิ้นไปพร้อมกับการเสียชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมดไปกับการเสียชีวิตของผู้นำทหารระดับสูงหลายนายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว…
น่าเสียดายว่าหลายท่านจากไปโดยไม่ทิ้งบันทึกความทรงจำในเรื่องเหล่านี้ไว้สำหรับการศึกษาในทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด ข้อมูลหลายส่วนจึงอยู่ในรูปแบบของคำบอกเล่ามากกว่าบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร
อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกของผู้นำทหารปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในกรณีของรัฐประหารที่ล้มเหลวในวันที่ 26 มีนาคม 2520 แม้หลายฝ่ายจะพอรับรู้ว่ามีปัญหาความขัดแย้งในกองทัพ และมีปัญหาระหว่างผู้นำทหารกับผู้นำรัฐบาล แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ความพยายามในการรัฐประหารจะเกิดขึ้นในวันดังกล่าว (คิดเล่นๆ วันนั้นเป็น “วันเกิดจุฬาฯ” พอดีครับ!)
แม้หลังวันที่ 6 ตุลาฯ แล้วจะมีข่าวลือเรื่อง “รัฐประหารซ้อน” เกิดขึ้นเป็นประจำก็ตาม แต่แล้วเช้ามืดของวันดังกล่าว กำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 19 กองพลทหารราบที่ 9 กาญจนบุรี ก็เคลื่อนเข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ
รัฐประหารครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเงื่อนไขของปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน และการขาดการเคลื่อนกำลังสนับสนุนจากกองทัพภาคที่ 1 ในกรุงเทพฯ และในวันที่ 21 เมษายน 2520 พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ก็ถูกคำสั่งมาตรา 21 ประหารชีวิต ผลเช่นนี้กลับยิ่งทำให้กองทัพแตกแยกมากขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลก็ดูจะทรุดลง แม้ว่าในช่วงเวลาของความพยายามที่จะล้มรัฐบาลนั้น กองทัพประกาศจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลก็ตาม แต่ทุกคนที่ติดตามการเมืองก็พอเดาได้ว่า หลังจากนี้ก็คือการ “นับถอยหลัง” รอฟังประกาศการยึดอำนาจอีกครั้ง
และคำถามต่อมาก็คือ ใครจะเป็นผู้นำการรัฐประหารหลังจากการเสียชีวิตของ พล.อ.ฉลาดแล้ว หรือจะยอมทนอยู่กับความผิดพลาดของรัฐบาลต่อไป
นอกจากนี้ “สัญญาณอันตราย” ปรากฏชัดเมื่อกลุ่ม “ทหารหนุ่ม” หรือบรรดา “ยังเติร์ก” ที่เป็นกลุ่มทหารระดับกลางที่คุมกำลังหลักในกองทัพบกขณะนั้นไม่ได้มีท่าทีที่นิยมชมชอบรัฐบาลแต่อย่างใด และยังได้แสดงท่าทีไม่รับรัฐบาลในหลายๆ ครั้ง
แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะนายทหารกลุ่มนี้ด้านหนึ่งเป็นสายกำลังโดยตรง และทั้งยังมีส่วนในการพา “รัฐบาลธานินทร์” ให้ขึ้นสู่อำนาจในปี 2519 อีกด้วย
ความขัดแย้งกลางสงครามปฏิวัติ
การปราบใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการพลเรือน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายขวาจัด เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าเป็น “คำตอบที่ผิดพลาด” ของการเมืองไทย…
รัฐบาลขวาจัดและนโยบายขวาจัดดูจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลายเป็น “ปัจจัยบวก” สำหรับการโฆษณาทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และยิ่งเดินหน้าด้วยนโยบายขวาจัดมากเท่าใด ดูเหมือนว่า พคท. ก็ยิ่งได้รับแรงสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น
สงครามในชนบทหลังจากการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 กลับยิ่งขยายตัวมากขึ้น จนนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศเริ่มเฝ้ามองด้วยความกังวลว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “สงครามกลางเมือง” และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว สงครามชุดนี้ก็น่าจะจบลงด้วยการล้มของ “โดมิโนกรุงเทพฯ” อย่างแน่นอน
ผู้นำทหารบางส่วนที่อาจจะมีส่วนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็เริ่มตระหนักถึงความผิดพลาดของนโยบายขวาจัด และขณะเดียวกันก็เริ่มคิดถึงการพาประเทศออกจาก “สถานการณ์สงคราม” สภาพเช่นนี้พอจะทำให้สามารถแบ่งผู้นำทหารในขณะนั้นออกเป็น 2 สายคือ สายเหยี่ยวและสายพิราบ
แน่นอนว่าสำหรับสายเหยี่ยวแล้ว พวกเขาต้องการเดินหน้าผลักดันนโยบายขวาจัดและยุทธศาสตร์ของการต่อสู้สงครามคอมมิวนิสต์ด้วยมาตรการ “การทหารนำการเมือง” ซึ่งสำหรับชนชั้นนำและผู้นำทหารสายนี้ ความชัดเจนทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีคือ “ปราบ” และเชื่อว่าการปราบปรามเป็นหนทางของชัยชนะ
สำหรับนายทหารสายพิราบหรืออาจเรียกเป็น “สายปฏิรูป” ในกองทัพนั้น พวกเขาต้องการปรับยุทธศาสตร์และนโยบายความมั่นคง หากสรุปโดยรวมก็คือ พวกเขาต้องการใช้ยุทธศาสตร์ใหม่คือ “การเมืองนำการทหาร” แต่จะทำเช่นนี้ได้ไม่ใช่เพียงจะต้องเปลี่ยนรัฐบาลที่มีทัศนะคับแคบเท่านั้น หากยังจะต้องกล้าตัดสินใจด้วยการประกาศนโยบายใหม่ และทั้งยังจะต้องกล้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่ด้วย
ถ้าเช่นนั้นจะเลือกประเด็นใดสำหรับการแสดงออก ถ้าไม่ใช่การตัดสินใจประกาศนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาฯ ทั้งหมด!