ดร.ดุลยภาค ฉายภูมิรัฐศาสตร์ ‘รัฐกะเหรี่ยง’ ‘พญามังกร’ เลาะเลื้อย ‘พญาอินทรี’ กระพือปีก

This handout from the Karen National Union (KNU) Photo by Handout / KAREN NATIONAL UNION (KNU) / AFP

หมายเหตุ “รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช” รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการ “The Politics” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ถึงสถานการณ์การสู้รบล่าสุดในประเทศเมียนมา

โดยหนึ่งในประเด็นที่สนทนากัน คือ การวิเคราะห์สภาพภูมิรัฐศาสตร์ของ “รัฐกะเหรี่ยง” ที่อยู่ติดกับชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย ว่ามีอิทธิพลของชาติมหาอำนาจดำรงอยู่จริงหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน? นอกจากนั้น นักวิชาการผู้นี้ยังมีข้อเสนอเรื่องนโยบายทางทูตถึงรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” อีกด้วย

: มีบางส่วนวิเคราะห์ว่า “เคเอ็นยู” ได้รับแรงหนุนจากสหรัฐอมริกา จึงสามารถยืนระยะสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาได้ เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่?

ถ้าในมุมผม เรื่องข้อมูล (ณ ปัจจุบัน) ก็ต้องตรวจสอบกันไป แต่ว่าถ้าเราย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น มันมีเชื้อมูลอยู่แล้ว เพราะ “พลังปฏิวัติ” ของเคเอ็นยูในยุคสงครามเย็น ทหารพม่าก็ยกข้อมูลมาโจมตีบ่อยๆ ว่า ซีไอเอเข้ามาช่วย สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วย รวมถึงไทยด้วย ในสมัยนั้น

มันก็น่าคิดเหมือนกัน ถ้าในรัฐฉานเหนือ อิทธิพลจีนเข้มข้น แต่ในพม่าภาคตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐกะเหรี่ยง เริ่มมีเงาของ “พญาอินทรี” เข้ามาแผ่ปกคลุม เพราะฉะนั้น จะมี “มังกร” อยู่บางส่วนของภูมิรัฐศาสตร์พม่า แล้วก็มีพญาอินทรีเริ่มจะกระพือปีกมากขึ้น

แต่สนามเมียวดีตรงลุ่มน้ำเมย มันซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะในขณะที่เรากำลังจะพูดว่าเคเอ็นยูได้รับแรงสนับสนุนจากพญาอินทรี ใช่ไหมครับ แล้วสหรัฐอเมริกาก็น่าจะเป็น “โรลโมเดล” (ต้นแบบ) ให้กับเรื่องระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐในพม่าได้

แต่อย่าลืมว่ามันมี “ทุนจีนสีเทา” อยู่ที่ลุ่มน้ำเมย อยู่ที่ชเวโกะโก อยู่แถวเมียวดีด้วยเหมือนกัน แล้วตัวกองกำลัง (กะเหรี่ยง) บีจีเอฟของ “ชิตตู่” (พ.อ.หม่อง ชิตตู่) ก็มีสายสัมพันธ์ในการค้าการลงทุนกับทางทุนจีนด้วย

เหมือนกับว่าถ้าเปรียบเปรยนะครับ พญามังกรเองก็ฉลาดที่จะเลาะเลื้อย คือพญามังกรวันนี้ไม่ได้คุมลุ่มน้ำโขง หรือชายแดนไทยในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ผ่านอำนาจของจีนและว้าแดงในเรื่องของการลงทุนเพียงอย่างเดียว

แต่เมกะโปรเจ็กต์ที่ทุนจีนเข้ามาร่วม มันเจาะลงไปถึงลุ่มน้ำสาละวินทางภาคตะวันตกของประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวินในรัฐกะยา แล้วก็ชเวโกะโกที่ไม่ไกลจากแม่สอด-เมียวดี เพราะฉะนั้น ทุนจีนมาปิดกั้นชายแดนทั้งหมดเลย ทั้งเหนือและทางตะวันตกของไทย

ถ้าอเมริกาจะขยับชิงรัฐกะเหรี่ยง ให้อเมริกามีบทบาทแต่เจ้าเดียว ก็อาจจะ “ไม่หมู” สำหรับอเมริกา เพราะมันมีทุนจีนไหลไปอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงก่อนหน้านั้นด้วย

 

: แต่อีกด้าน ก็มีคำอธิบายว่ากะเหรี่ยงเคเอ็นยูมีความเข้มแข็ง มีประวัติศาตร์การต่อสู้ของตัวเองมายาวนาน จึงอาจมีประสิทธิภาพในการสู้รบกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกา?

ผมว่าน่าจะต้องมีอเมริกา เพราะอย่างนี้นะครับ เคเอ็นยูก็อ่อนแอลงไปมาก เพิ่งจะมาดูว่าเข้มแข็งเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เองตามหน้าข่าว

แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับการเรืองอำนาจของเคเอ็นยูสมัย “นายพลโบเมียะ” ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่ค่ายมาเนอปลอว์ มันยังมีความแตกต่างกัน สมัยนั้นเรืองอำนาจมากกว่านี้ แล้วลือกันว่าได้รับการสนับสนุนในยุทธศาสตร์สงครามเย็นจากตะวันตกคือสหรัฐอเมริกาด้วย เคเอ็นยูแข็งแกร่งมาจากตรงจุดนั้น

แล้วผู้นำของเคเอ็นยูจะเป็นกะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งรับอิทธิพลทางศาสนาคริสต์ ส่วนหนึ่งก็มาจากมิชชันนารีอเมริกัน เรื่องความแข็งแกร่งของภาคประชาสังคมในสังคมกะเหรี่ยง มันมาจากการช่วยเหลือจากเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมของทางตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกาด้วย

แล้วระบบการเมืองของกะเหรี่ยงมี “คองเกรส” ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองที่สะท้อนภาวะประชาธิปไตยมากหน่อย ประเทศที่มีคองเกรสก็คือสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะเป็นต้นแบบที่สำคัญ

ผมจะค่อนข้างให้น้ำหนักเหมือนกันว่า ถ้าเคเอ็นยูอยากจะคุมแค่เมียวดี รวมถึงเขตกองพลที่แบ่งออกเป็นหมายเลขต่างๆ ถ้าจะคุมอยู่แค่นั้นก็อาจจะพึ่งตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะชนะทหารพม่าให้มากขึ้น แล้วอาจจะเอาโครงการ “มหารัฐกอทูเล” ขึ้นมา

หมายถึงสมัยก่อน นักปฏิวัติ “ซอบาอูจี” เมื่อปี 1947 เขาพูดถึงการตั้งประเทศ “กะเหรี่ยงที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งมันจะต้องทำการปฏิวัติชิงดินแดน ดินแดนของ “กอทูเล” จริงๆ แล้วมันคุมเขตใจกลางของประเทศพม่าบางส่วนด้วย เช่น ตองอูในลุ่มน้ำสะโตง หรือพะโค แล้วคุมมอญด้วยที่มะละแหม่ง ถ้าจะเดินทัพไปถึงขนาดนั้นได้ มันจะต้องมีปัจจัยเสริมเข้าช่วย

เพราะฉะนั้น ยังมีโครงการอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางทหารก็ดี การสนับสนุนการจัดการปกครองในระดับท้องถิ่นที่อิงอยู่กับเรื่องประชาธิปไตยก็ดี หรือการพัฒนาสาธารณสุข เรื่องของมนุษยธรรม-โครงสร้างพื้นฐานในรัฐกะเหรี่ยง จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือไม่มากก็น้อยจากสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว

ผมคิดว่าจะตัดสหรัฐอเมริกาออกไม่ได้ในระบบการเมือง-การเคลื่อนไหวของกะเหรี่ยง

 

ข้อเสนอถึงรัฐบาล การทูต ‘4 ลู่ 2 แกน’

สี่ลู่หมายถึงแทร็กที่ไทยจะเข้าไปติดต่อพัวพันกับตัวแสดงต่างๆ มีอยู่ 4 แทร็ก ต้องเคลื่อนไหวไปตามแต่ละแทร็กให้มันถ้วนทั่ว

แทร็กหนึ่ง ก็คือ ถ้าเป็นพื้นที่ใจกลางของประเทศพม่า เราต้องให้ความสำคัญกับกองทัพพม่าเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ แม้กองทัพพม่าจะมีสัญญาณเพลี่ยงพล้ำ เพราะฉะนั้น การติดต่อทางการระหว่างกรุงเทพฯ กับเนปิดอว์ อาจจะยังดำรงอยู่

แทร็กสอง คือ อาณาบริเวณชายแดน เช่น แม่สอด-เมียวดี ไทยต้องปรับแล้ว เทน้ำหนักมาทางเคเอ็นยูกับฝ่ายต่อต้านมากขึ้น แต่ก็ยังทิ้งทหารพม่าออกไปจากสมการความสัมพันธ์ไม่ได้ เพราะทหารพม่าน่าจะเอาคืนในเร็วๆ นี้ แต่ว่าต้องเปลี่ยน จากสมัยก่อนที่เทให้ทหารพม่าอย่างเดียว กลายเป็นเปิดแพลตฟอร์มให้กลุ่มอื่นๆ มากขึ้น

แทร็กสาม ต้องจัดวางความสัมพันธ์กับจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐมหาอำนาจภายนอก รวมถึงองค์กรโลกบาลคือสหประชาชาติอย่างเหมาะเจาะลงตัว เพราะสี่กลุ่มนี้น่าจะเข้ามาพัวพันกับสถานการณ์ในพม่ามากขึ้น

ข้อสุดท้ายเป็นแทร็กในอาเซียน ให้เราจับกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียน เขาอาจจะต้องการทรัพยากรด้านการทูตจากไทยในการติดต่อกับกลุ่มติดอาวุธในพม่า ไทยกับลาวจะต้องไปด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ก็อย่าทิ้งรัฐบาลจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) ที่หนุนฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเสียงเขาดังและเป็นประธานอาเซียนมาก่อน และอย่าทิ้งรัฐบาลมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ เพราะปีหน้า มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน ปีถัดไปจะเป็นฟิลิปปินส์

อีกสองแกนเป็นการมองแบบภูมิรัฐศาสตร์ให้ไทยได้ประโยชน์

แกนแรก คือแกนใน หมายถึงแผ่นดินที่เป็นแผนที่ด้ามขวานของประเทศไทย เราก็ใส่กำลังป้องกันชายแดน เอาเอฟ-16 ขึ้นบิน อย่าให้มีฝูงรบจากที่อื่นบินเข้ามาละเมิดอธิปไตย

เรื่องเส้นเขตแดนก็ต้องดู ในบางพื้นที่ ทหารพม่าหายไป ว้าแดงมาแทน เคเอ็นยูมาแทน พวกนี้เขามีมโนทัศน์การจัดการเส้นเขตแดนอย่างไร? เราก็ต้องดีลกับเขาโดยตรง

แกนสุดท้าย คือแกนนอก ผมอยากให้ชนชั้นนำ-รัฐบาลไทย มองไปข้างหน้า ด้วยการมองออกไปนอกแผนที่ประเทศไทย เพื่อไปสร้างเขตอิทธิพลเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อจะสกัดปัญหาไม่ให้ไหลเข้ามาบ้านเรา แล้วเราตั้งรับอย่างเดียว

ถ้าเรามองในพม่าก็เช่นสามเหลี่ยมทองคำในพื้นที่รัฐฉาน มาวันนี้ พญามังกรพันธุ์ว้าแดง ปัญหายาเสพติดอื้อเลย ถ้าเราตั้งรับอย่างเดียว ผมว่าไม่ไหว เราอาจจะต้องรุกออกไป เช่น ริเริ่มวงประชุมการทูตในเขตสามเหลี่ยมทองคำเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด แล้วพัฒนาพื้นที่ ดึงจีนกับว้าเข้ามา ดึงกองกำลังอื่นๆ เข้ามา ดึง สปป.ลาว เข้ามา

แต่ถ้าไม่สามารถระงับปัญหาตรงนี้ได้ บางทีก็ต้องเข้า แทร็กสาม ดึงอินเดีย ดึงสหรัฐอเมริกา หรือมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาถ่วงดุล ในพื้นที่ปัญหาที่ว้าแดงเรืองอำนาจมากเกินไป

ตรงนี้ เราขยับไปข้างหน้าและมองออกไปข้างนอกเสียหน่อย เพื่อยับยั้งปัญหาล่วงหน้า แล้วสถาปนาเขตอิทธิพลในฐานะ “มหาอำนาจระดับกลาง” บ้าง เพราะทุกวันนี้ จีนทำเจ้าเดียว เราก็ร่วมมือกับจีน มีความสัมพันธ์กับจีน

แต่ถ้าให้จีนคุมชายแดนไทยกับพม่าทั้งหมด ผมว่าเราในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและมีอำนาจในบางมิติ เราควรขยับบ้าง