ผู้วิเศษเด็ก : เรื่องที่สังคมต้องระวังและไตร่ตรอง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ช่วงนี้มีประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องเด็กที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนา คือกรณี “น้องไนซ์ นิรมิตเทวาจุติ” อายุแปดขวบ ซึ่งมีกลุ่มคนเชื่อว่าน้องไนซ์เป็น “องค์เพชรภัทรนาคานาคราช” ผู้บรรลุธรรมในชั้นอนาคามีลงมาเกิด โดยได้รับพุทธบัญชา และมีเทคนิคพิเศษที่เรียกว่าการ “เชื่อมจิต” จากอาจารย์น้องไนซ์ไปยังสาวกโดยตรง มีผู้ติดตามและไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปเป็นอันมาก

พอเกิดเหตุเช่นนี้จึงมีผู้วิจารณ์ ไม่ว่าจากฝั่งพระและฆราวาสทั้งในแง่ตัวคำสอน เช่นที่บอกว่าเป็นอนาคามีแล้วนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจะไม่กลับลงมาเกิดอีกแล้ว หรือการเชื่อมจิตว่า ไม่มีในหลักคำสอนของพุทธศาสนา เป็นต้น

อันที่จริงที่เป็นเหตุดราม่าก็เพราะน้องไนซ์มิได้ถูกพูดถึงในแง่อาจารย์สอนธรรมธรรมดาๆ แต่ยังมีมิติของความเป็น “ผู้วิเศษ” เช่น เรื่องการเชื่อมจิต ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรมเพียงแค่เอานิ้วมือไปแตะที่หน้าผากเท่านั้น รวมทั้งเรื่องเล่าที่ฝั่งคุณแม่ของน้องเล่าถึงนิมิตต่างๆ ที่น้องจะเกิดมา

ทั้งยังมีภาพที่ดูขัดกับขนบวัฒนธรรมไทยๆ เช่น ภาพผู้ใหญ่ก้มกราบเด็ก ภาพน้องไนซ์เอาน้ำราดหัวผู้มาขอพร หรือเล่นสนุกโดยใช้เท้าเหยียบลงบนตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น รวมถึงลักษณะวิธีพูดที่ชวนให้สงสัยว่ากำลังถูกผู้ปกครองชี้นำอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าน้องไนซ์อาจแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสมเองไปบ้าง

ผู้ที่เข้ามาโต้แย้งอย่างเผ็ดร้อนก็มีคุณแพรรี่หรืออดีตพระมหาไพรวัลย์ ซึ่งวางตนเองในฐานะผู้พิทักษ์คำสอนที่ถูกต้องของพุทธศาสนา และทำให้เรื่องนี้ยิ่งขยายวงไปสู่สื่อที่กว้างขึ้น

 

พอเกิดมีกรณีน้องไนซ์ อีกฝั่งพากันยกเด็กอีกคนที่มีบุคลิกท่าทีตรงกันข้าม คือ “น้องใบบุญ” อายุหกขวบ มาเป็นตัวอย่างแย้ง

น้องใบบุญมีชื่อเสียงจากติ๊กต็อกด้วยความเป็นเด็กที่พูดถึงธรรมมะ แสดงความอยากบวชเพื่อเข้าถึงนิพพาน มีบุคลิกนิ่งสงบ อ่อนน้อม

ยิ่งเมื่อพาน้องไปสัมภาษณ์ในรายการดังถึงประเด็นผู้วิเศษและการให้ผู้ใหญ่กราบไหว้ น้องใบบุญก็ปฏิเสธทั้งหมด ยิ่งขับเน้นความตรงกันข้ามกันกับเด็กอีกคนมากขึ้น

เรื่องความถูกต้องของคำสอนทางศาสนาและความเชื่อนั้น ผมแสดงจุดยืนไว้หลายครั้งแล้วว่าเป็นสิทธิที่จะเชื่อ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และก็เป็นสิทธิที่จะโต้แย้งเช่นเดียวกันโดยไม่มีอำนาจเหนือกว่าไม่ว่าจากรัฐหรือองค์กรใดเข้าไปจัดการ

กระนั้นเรื่องนี้ก็ซับซ้อนกว่านั้น เพราะมีประเด็นเรื่อง “เด็ก” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

กรณีข้างต้น ถ้าพูดตรงๆ ผมเห็นว่าเป็นความ “ประสาทแดก” (ขออนุญาตใช้คำนี้นะครับ เพราะไม่เห็นว่าคำไหนจะตรงกว่านี้แล้ว) ของผู้ใหญ่ ที่ไปจับเอาเด็กสองคนมาให้เป็นคู่เทียบคู่ขัดแย้งกันภายใต้ของความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่ควรทำโดยแท้

และยังมีบางประเด็นที่ผมเห็นว่าสังคมควรเอาใจใส่และไตร่ตรองยิ่งกว่านี้อีก ซึ่งจะได้อภิปรายต่อไป

กรณี “ผู้วิเศษเด็ก” นี้ไม่ใช่กรณีแรกนะครับ ถ้าเอากรณีในเมืองไทยที่ดังหน่อย ย้อนไปในอดีตครูบาบุญชุ่มเองก็เคยเป็นผู้วิเศษเด็กเช่นกัน จนได้รับฉายา “เณรน้อยต๋นบุญ” หรือ “เณรน้อยหมอยาคน” ที่เชื่อว่ามีอิทธิปาฏิหาริย์สามารถรักษาโรคภัยให้ผู้คนได้ แม้เหรียญรูปสามเณรของท่านเป็นที่นิยมมากในวงการพระเครื่อง

ยังมีกรณีสองฝาแฝดก๊อดอาร์มี่ ผู้นำกะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษเช่นกันจนสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงเมื่อมีอายุเพียงสิบปี และเป็นทีรู้จักจากกรณีพากำลังเข้าบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี

ยังไม่นับกรณีย่อยๆ อีกมากมาย

 

หากมองไปนอกเมืองไทย ผู้วิเศษเด็กที่โด่งดังและยังดำรงอยู่ คือกุมารีแห่งเนปาลที่ถือว่าเป็นเทพกันยาผู้มอบพรแด่ราชสำนัก

แม้เมื่อไม่มีราชวงศ์เนปาลแล้ว ทางการยังคงต้องการกุมารี ทั้งในแง่พรแห่งรัฐบาลและในแง่สิ่งสำคัญทางวัฒนธรรม และกรณี “ตุลกุ” (Tulku) หรือการกลับชาติมาเกิดใหม่ของคุรุทางจิตวิญญาณในทิเบต หรือพระอาจารย์ระดับสูง

กรณีแรกนั้น เขาจะใช้เด็กหญิงจากบางตระกูลที่ถูกเลือก เชื่อกันว่าเธอเป็นกุมารีหรือเทพกันยาในร่างมนุษย์ และจะถูกเคารพกราบไหว้ไปจนกว่าจะมีประจำเดือนจึงจะหมดจากภาวะกุมารี จากนั้นเธอจะไม่ได้รับการกราบไหว้อีกต่อไป

กุมารีหลายคนมีชีวิตที่ยากลำบากเพราะไม่ได้รับการศึกษาตั้งแต่เยาวัย หรือเมื่อพ้นสภาพก็ไม่มีคนกล้าที่จะแต่งงานด้วย เป็นกรณีศึกษาที่นักสิทธิเด็กวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่ที่ยังดำรงอยู่นอกเหนือจากเรื่องความเชื่อของคนท้องถิ่น ก็เป็นเรื่องสินค้าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวนั่นแหละครับ

ยูทูบเบอร์และสื่อไทยยังนิยมตามรอยกุมารี เพราะว่ามันไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่มัน “แปลก” ด้วยนี่แหละ

 

การที่ผู้ใหญ่กราบไหว้เด็กนี่ราวกับเป็นอะไรที่ขัดกับค่านิยมของเราสุดสุดไปเลย ดูเหมือนเราจะสอนให้คนไหว้กันด้วย วัยวุฒิเป็นหลัก รองมาคือคุณวุฒิ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นสังคมที่กราบไหว้อะไรก็ได้ง่ายมาก ขอให้มีคุณวิเศษไว้ก่อน

ความย้อนแยงกลายเป็นลักษณะเด่นของสังคมไทยที่ไม่อาจก้าวไปสู่สังคมที่คิดแบบวิทยาศาสตร์/สมัยใหม่ หรือติดจมอยู่กับอนุรักษนิยม/ความเชื่อไปทั้งหมด เพราะเรานั้น “ก้ำกึ่ง” เสียทุกเรื่องครับ เป็นช่วงเวลาที่คนสองช่วงวัยที่ถือค่านิยม ความคิด ความเชื่อต่างกันดำรงอยู่ไปพร้อมๆ กัน

มองในแง่ดีคือเป็นช่วงเวลาใกล้เปลี่ยนผ่าน แต่เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไรและโดยปราศจากความรุนแรงหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ

กรณีของตุลกุ ซึ่งหมายถึง “นิรมาณกาย” อันเป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนา “ของทิเบต” โดยเฉพาะ แม้ว่าพุทธศาสนาจะเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แต่ในอินเดียและในที่อื่นๆ ไม่เคยมีธรรมเนียมหรือความเชื่อว่าครูบาอาจารย์ที่บรรลุธรรมในระดับสูงจะสามารถกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งเพื่อทำภารกิจต่อไป

คุรุท่านนั้นจะถูกสรรหาตั้งแต่ยังเป็นเด็กด้วยวิธีการเฉพาะ และเมื่อค้นพบแล้ว จะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างสูง มีสถานภาพเหนือเด็กทั่วๆ ไป และมักถูกพรากจากพ่อแม่เพื่อนำไปศึกษาเล่าเรียนในอาราม

บางท่านเป็นเพียงเจ้าอาวาสในวัดเล็กๆ บางท่านเป็นถึงประมุขนิกายซึ่งมีอำนาจมากทั้งทางโลกทางธรรม จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมือง-ศาสนาที่ร้อนแรงอย่างยิ่ง

เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะและในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมนี้ไปสู่โลกตะวันตก

ไว้ผมจะเล่าให้ฟังยาวๆ ครับ

 

กลับมาที่เรื่องน้องสองคนในบ้านเรา แม้ว่าน้องใบบุญจะมิได้อ้างตนเองว่าเป็นผู้วิเศษทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือโดยคนใกล้ชิด แต่การเป็นผู้วิเศษนั้นไม่จำเป็นต้องอ้างก่อนถึงจะเป็นได้ หากมีคุณลักษณะบางอย่างโดยเฉพาะคุณลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง ย่อมจะถูกมองว่าเป็นผู้วิเศษโดยสังคมได้ไม่ยาก เช่น เป็นเด็กแต่สนใจธรรม เป็นเด็กแต่รู้ธรรมระดับสูงโดยไม่มีคนสอน อันนี้ก็พอจะเริ่มมีความ “วิเศษ” ขึ้นมาแม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม

ผมเจออีกเคสที่น่าเป็นห่วง คือเด็กที่เป็น “คนทรง” อย่างจีนครับ ทราบกันว่าคนทรงอย่างจีนนั้นจะต้องแสดงอิทธิฤทธิ์โดยการทำสิ่งหวาดเสียวต่างๆ เช่น ลุยไฟ ปีนบันไดมีด ใช้เหล็กแหลมแทงร่างกายหรือลุยกระเบื้อง อันนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องผลทางจิตวิทยาแต่ยังเป็นเรื่องสวัสดิภาพและอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย

กระนั้น ไม่ว่าจะแบบไหน จะโลดโพนโจนทะยานแบบน้องไนซ์หรือจะเรียบๆ เย็นๆ อย่างน้องใบบุญ เด็กต้องได้รับการปกป้อง มีสิทธิที่จะเติบโตโดยไม่ถูกรบกวน มีชีวิตอย่างเด็ก ซึ่งเรียกร้องการมี “ความเป็นส่วนตัว” ตามสมควร

ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่หรือครูบาอาจารย์จะต้องไม่เอาเด็กไปสร้าง “คอนเทนต์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงกว้าง แม้ว่าคอนเทนต์นั้นจะเป็นเรื่องธรรมะธัมโมหรือดีงาม เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเด็กยังปราศจากวิจารณญาณ ถึงพ่อแม่จะอ้างว่าได้ขออนุญาตเขาแล้วก็ตาม

 

เมื่อเราจับเด็กโยนลงไปในโลกออนไลน์กับผู้คนมากมายที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตา โลกออนไลน์นั้นเร็วและไร้ความปรานี เด็กอาจกลายเป็นประเด็นขัดแย้ง มีผู้แสดงความเห็นที่หลากหลายทั้งดีและไม่ดีหรือถึงขั้นเลวร้าย เราจึงควรปกป้องเขาจากการเผชิญสิ่งเหล่านั้น

ยิ่งหากเอาไปเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างกันบนสื่อก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก

อีกประการหนึ่ง เราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่ทิ้งไว้เป็น “ดิจิทัลฟรุตปรินต์” จะทำให้เขารู้สึกอย่างไร กระทบต่อตัวตนของเขาที่เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ เพราะเมื่อโตเขาก็อาจไม่อยากเป็นสิ่งที่เคยเป็นตอนเด็กก็ได้ หรือถึงขั้นอับอาย

ดังนั้น เรื่องนี้จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องและสังคมระวังไหว คือรวดเร็วในการตอบสนอง

และไตร่ตรองให้ดีครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง