ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (11)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

คิวแรก พระยาฤทธิฯ

หลังจากจบข้อกล่าวหาแล้ว หลวงพิบูลสงครามก็ยื่นข้อเสนอต่อพระยาฤทธิอัคเนย์ว่า

“ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ต้องหาเช่นนี้ ทางตำรวจเขาเห็นสมควรจะฟ้องศาล แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่ ในที่ประชุมของผู้ก่อการจึงเห็นสมควรที่ท่านจะพิจารณาเป็น 2 ประการคือ 1.ลาออกจากราชการแล้วเดินทางไปอยู่นอกประเทศเสีย 2.ยอมให้ศาลพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่พนักงานอัยการศาลพิเศษเป็นโจทก์ฟ้องกล่าวหา”

“แล้วในที่ประชุมตกลงกันว่าอย่างไ ?” พระยาฤทธิฯ ถามขึ้นเมื่อหลวงพิบูลฯ ได้พูดจบลง

“ที่ประชุมลงมติเห็นพ้องกันเช่นนี้” หลวงพิบูลฯ ตอบ “คือหมายความว่ามีทางให้เลือกสองทางดังกล่าวแล้ว”

หลวงพิบูลสงครามถามต่อไปในที่ประชุมคณะผู้ก่อการซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นประธานว่า จะให้การหรือมีข้อชี้แจงอย่างไร พระยาฤทธิฯ ตอบว่า

“จะมีประโยชน์อะไรที่ข้าพเจ้าจะให้การอีก ในเมื่อที่ประชุมได้พิจารณาลงมติกันแล้วว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ผิด ก่อนที่พวกท่านจะได้ไต่สวนหรือสอบสวนข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นพวกก่อการมาด้วยกัน” จากนั้นได้ถามว่าจะฟ้องในศาลไหน หลวงพิบูลตอบว่าเป็นศาลพิเศษ

พระยาฤทธิฯ จึงตอบว่า “เมื่อจะเอาตัวข้าพเจ้าไปเป็นจำเลยในศาลพิเศษ ข้าพเจ้าไม่สมัครใจที่จะต่อสู้ในคดีที่ต้องหานี้ ข้าพเจ้ายอมที่จะฟังคำแนะนำของท่านคือลาออกแล้วเดินทางไปนอกประเทศ”

การประชุมจึงเป็นอันยุติลง แต่ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป พระยาฤทธิอัคเนย์ได้กล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้ายต่อที่ประชุมของหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญในวันนั้นว่า

“ข้าพเจ้าจะจากไปแล้ว ก็ใคร่จะขอฝากข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า ในเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้ เจ้าคุณพหลฯ จะต้องรับผิดชอบในวันหนึ่งข้างหน้า”

พระยาฤทธิอัคเนย์ได้เล่าให้ เสทื้อน ศุภโสภณ ฟังต่อไปว่า เมื่อการประชุมได้สิ้นสุดลงแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้กล่าวต่อท่านว่า “ตราบใดที่หลวงอดุลฯ ยังเป็นอธิบดีกรมตำรวจอยู่ เจ้าคุณก็เห็นจะไม่มีทางกลับเข้ามาได้”

พระยาฤทธิอัคเนย์ได้ถามถึงอนาคตของบุตรชายคือ นายเสรี เอมะศิริ ซึ่งกำลังศึกษาวิชาสัตวศาสตร์อยู่ที่สหรัฐอเมริกาด้วยทุนของทางราชการว่าจะถูกเรียกตัวกลับหรือไม่ เนื่องจากบิดาโดนข้อหากบฏ ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน และให้คำมั่นว่าจะดูแลครอบครัวของพระยาฤทธิอัคเนย์ให้ด้วยเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยาฤทธิอัคเนย์เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว นายเสรีก็ถูกเรียกตัวกลับก่อนที่จะเรียนจบ

1 ตุลาคม 2481 พระยาฤทธิอัคเนย์เดินทางจากสยามทางรถไฟไปยังเมืองปีนังพร้อมกับหลานชายคนหนึ่ง และต่อมาอีกเดือนเศษ คุณหญิงผู้ภรรยาพร้อมด้วยมารดาของท่านจึงเดินทางไปสมทบ

 

คิวที่สอง พระประศาสน์ฯ

ไม่นับพระยาพหลพลพยุเสนา “สี่ทหารเสือ” บัดนี้จึงเหลือเพียง พระประศาสน์พิทยายุทธ หลังจากพระยาฤทธิอัคเนย์ถูกบีบบังคับให้เดินทางจากสยามทางรถไฟไปยังปีนังเมื่อ 1 ตุลาคม 2481

8 ตุลาคม 2481 พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ถูกย้ายไปสำรองราชการกองบังคับการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

12 พฤศจิกายน 2481 หลังการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลวงพิบูลสงครามเพิ่มความดุเดือดมากขึ้นไปอีก

7 ธันวาคม 2481 มีคำสั่งให้พระประศาสน์พิทยายุทธไปเป็นอัครราชทูตพิเศษมีอำนาจเต็มประจำประเทศเยอรมนี

16 ธันวาคม 2481 หลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี วันเดียวกับที่พระประศาสน์พิทยายุทธและครอบครัวเดินทางอย่างฉุกละหุกจากสยามไปรับหน้าที่อัครราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศเยอรมนีหลังได้รับคำสั่งเพียง 9 วัน

 

น้ำใจหลวงประดิษฐ์ฯ

“บันทึกชีวิต…พระประศาสน์พิทยายุทธ” ของ พ.อ. (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ บุตรเขยพระประศาสน์พิทยายุทธ เล่าเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ดังนี้

“สว่าง รตะพันธุ์ คนขับรถประจำตัวคุณป๋า (พระประศาสน์พิทยายุทธ/บัญชร) มานมนานได้เล่าเรื่องให้ฟังว่า วันหนึ่งมีคนแปลกหน้ามาขอพบคุณป๋า เมื่อเขานำเข้าไปพบแล้วได้สังเกตเห็นว่า เขาผู้นั้นมิใช่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับคุณป๋า และยังได้เห็นคนผู้นั้นล้วงกระเป๋าหยิบกล่องไม้ขีดไฟออกมายื่นให้ท่านอย่างระมัดระวังไม่ให้ผู้อื่นเห็น เมื่อแขกแปลกหน้ากลับไปแล้ว เข้าใจคุณป๋าคงจะได้เปิดกล่องไม้ขีดไฟนั้น ซึ่งมีแต่สำลีกับกระดาษชิ้นเล็กๆ อยู่ชิ้นเดียว

เมื่อครั้งที่ได้ฟังสว่างเล่าเรื่องกล่องไม้ขีดไฟเป็นครั้งแรก ก็ไม่ได้ปักใจเชื่อในทันทีว่าเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อมาคิดถึงอุปนิสัยของสว่างที่รู้จักกันอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานานปีก็ตระหนักว่า สว่างเป็นคนพูดน้อย จะคุยจะเล่าเรื่องอะไรให้ฟังก็ล้วนแต่เป็นเรื่องจริงเสมอมา

ในที่สุดก็ยอมรับว่า เรื่องกล่องไม้ขีดไฟนี้ต้องเป็นเรื่องจริงที่สว่างไม่ได้ปั้นเท็จขึ้นมา เหตุผลก็คือ ในระหว่างที่ทำการค้นคว้าหาหลักฐานมาประกอบการเขียนประวัติของคุณป๋าอยู่นั้น ได้พบความจริงยืนยันมาจากนงพงา (บุตรสาวคนที่ 3/บัญชร) ว่า กล่องไม้ขีดไฟที่มีผู้แอบมามอบให้คุณป๋านั้นเป็นกล่องไม้ขีดไฟเงินฝังพลอยไพลิน 1 เม็ด และยังคงเป็นสมบัติที่หวงแหนของนงพงาอยู่จนบัดนี้”

“คุณป๋าเป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น สุขุม ปกติก็เป็นคนเงียบขรึมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว กว่าจะพอเดาออกว่ากระดาษชิ้นเล็กในกล่องไม้ขีดไฟที่มีผู้แอบมอบให้นั้นมีข้อความลึกซึ้งเพียงใด ก็ต้องใช้เวลาสังเกตรวบรวมการปฏิบัติที่ ‘ผิดปกติ’ ของคุณป๋า อาทิ การรีบเก็บข้าวของที่จำเป็นไว้ส่วนหนึ่ง บอกขายทรัพย์สินหลายชิ้นโดยไม่จำเป็น ฯลฯ

และในตอนท้ายๆ ก็มองเห็นชัดได้ว่ากำลังเตรียมตัวเพื่อเดินทางกันทั้งครอบครัว ที่น่าประหลาดผิดสังเกตก็คือยังคงวางตนอย่างปกติเหมือนกับว่าไม่มีอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อใกล้กำหนดเพียง 2-3 วันถึงได้รู้ความจริงว่า จะเป็นการย้ายครอบครัวไปประเทศเยอรมนีแบบจะยึดเป็นเรือนตาย ไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลย”

“จึงพอสันนิษฐานเอาได้ว่า เบื้องหลังของกล่องไม้ขีดไฟนั้น ผู้ส่งมาให้ต้องเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนร่วมน้ำสาบานคนหนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คงจะได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณป๋า ในเมื่อได้เกิดขึ้นมาแล้วกับพระยาทรงสุรเดชและพระยาฤทธิอัคเนย์”

พระยาฤทธิอัคเนย์เดินทางลี้ภัยไปมลายูเป็นท่านแรก ตามมาด้วยพระประศาสน์พิทยายุทธ และอีกไม่นาน ต้นปี พ.ศ.2482 ถัดมาพระยาทรงสุรเดชถูกบีบบังคับให้ต้องเดินทางลี้ภัยในลักษณะเดียวกันไปกัมพูชา รวมทั้งการกวาดล้างจับกุมปรปักษ์ทางการเมืองของหลวงพิบูลสงครามอย่างขนานใหญ่ จนนำไปสู่การจัดตั้ง “ศาลพิเศษ” ในต้นปี 2482 ที่ลงท้ายด้วยการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 18 คน อันเป็นรอยด่างของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยมาจนบัดนี้

จึงนับเป็นโชคของพระประศาสน์พิทยายุทธที่หลุดพ้นออกมาได้ด้วยน้ำใจ “มิตรแท้” หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งปรากฏหลักฐานในเวลาต่อมาว่า การเข้ารับตำแหน่งอัครราชทูตที่เบอร์ลินในครั้งนี้มาจากการสนับสนุนของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั่นเอง

“คิวเชือด” ต่อไปคือ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งขณะนั้นกำลังคุม “โรงเรียนรบ” ที่เชียงใหม่