ก้าวให้ไกล กว่าวาทกรรมตระบัดสัตย์

คำ ผกา

รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศผ่านไป 7 เดือนแล้ว งบประมาณแผ่นดินผ่านไปแล้ว

แต่น่าประหลาดใจที่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลระดับ “อินฟลูฯ” ยังละเมอคำว่า “ตระบัดสัตย์” อยู่

ทั้งๆ ที่ควรจะยอมรับว่ารัฐบาลนี้ตั้งขึ้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ

หรือพูดง่ายๆ ว่า มันไม่ “ถูกใจ” แต่มัน “ถูกต้อง”

และในความไม่ถูกใจนี้ควรตั้งหลักถามตัวเองดีๆ ว่า อยากให้ประชาธิปไตยชนะ หรืออยากให้พรรคก้าวไกลชนะกันแน่?

ถ้าอยากให้ประชาธิปไตยชนะ สิ่งที่ควรมองไปข้างหน้าคือ ทำอย่างไรให้สถาบันพรรคการเมืองเข้มแข็ง

ทำอย่างไรให้สภาผู้แทนราษฎรเข้มแข็ง

ทำอย่างไรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับการถูกตรวจสอบที่วางอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมือง

เพื่อสกัดไม่ให้อำนาจนอกระบบมา disrupt การเมืองไทยให้ประชาธิปไตยสะดุด รอการเลือกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกภายในสามปีครึ่งข้างหน้าที่

ฉันอยากจะย้ำเตือนให้พรรคก้าวไกล และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลว่า “ขยับให้ดีๆ มีแต่ได้เปรียบ”

 

ความได้เปรียบของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือ

หนึ่ง คุณจะได้คะแนนสงสารเห็นใจมหาศาลจากการที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

สอง โดยธรรมชาติของโหวตเตอร์ ต่อให้รัฐบาลทำงานดีแค่ไหน เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งคนย่อมอยากลองของใหม่ อยากให้โอกาสผู้เล่นหน้าใหม่ๆ หากพวกเขามีความมั่นใจว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมันต่อเนื่อง

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ว่ามันจะมีการเลือกตั้งทุกๆ สี่ปีแน่ ประชาชนจะไม่กลัวการลองของใหม่สักครั้ง และนี่คือโอกาสของพรรคใหม่ๆ ที่จะได้เป็นรัฐบาล

ฉันถึงย้ำกับทุกๆ คนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าถ้ารักพรรคก้าวไกลจริง ต้องมาร่วมด้วยช่วยกันประคองประชาธิปไตยและระบบเลือกตั้งโดยภาพรวมให้มันไปต่อได้

สาม ยากที่รัฐบาลผสมหลายพรรคจะทำงานเข้าตาประชาชน เช่น โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีที่จำต้องเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคมี การสร้างสมดุลระหว่างฝีมือในการทำงานกับความลงตัวที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับทำงานเก่งหรือไม่เก่ง

ไม่นับว่ากลไกในระบบราชการที่ถูกวางเอาไว้ในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะฉะนั้น ภายในสี่ปีนี้ ฝ่ายค้านมีโอกาสทำคะแนนขึ้น และรัฐบาลมีแต่เสมอตัวและติดลบ

 

ด้วยสามปัจจัยนี้ ฉันมองไม่เห็นความจำเป็นอะไรเลยที่พรรคก้าวไกล อินฟลูฯ ของพรรคก้าวไกล และผู้สนับสนุนของพรรคก้าวไกลต้องเดินเกมการเมืองแบบ “ทำลายล้าง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายล้าง กลุ่มคน และพรรคการเมืองที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามยังต้องผนึกกำลังกันเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง (มากกว่าการสร้างพรรคก้าวไกลให้เข้มแข็งแค่พรรคเดียวและพรรคอื่นเป็นเ-ียเป็นโฮ่งไปหมด)

คำถามง่ายๆ ที่อินฟลูฯ พรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลต้องถามตัวเองให้มากคือ วันนี้หากตั้งอกตั้งใจทำลายพรรคเพื่อไทยด้วยความเกลียดชัง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ 300 เสียง และได้ ส.ว.ล็อตใหม่ ที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลทั้งหมด จนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และตั้งรัฐบาลได้ โดยอาจจะมีพรรคพันธมิตร อย่างเป็นธรรม และพรรคกลางๆ อย่างชาติไทยพัฒนา

หรือ ณ วันนั้นก็สามารถร่วมกับพรรคภูมิใจไทยได้แล้ว เพราะก้าวไกลไม่ต้องแบกภาระเรื่อง 112 แล้ว เนื่องจากอ้างได้ว่ามีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าห้ามยุ่งเรื่องนี้ ปลดล็อกอันนี้ไปได้ก็รวมกับภูมิใจไทยได้

หากเชื่อเช่นนั้น และทำได้จริง ฉันก็อนุโมทนา เพราะสำหรับประชาชนที่มองเป้าหมายเรื่องความต่อเนื่องของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล ฉันก็แฮปปี้หมด

แต่หากพรรคก้าวไกลยังรักษาระดับ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้มากที่สุด 200 คน ท่ามกลางการยกตนข่มท่าน พรรคฉันดีกว่าใคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเมืองที่นั่งหยุมหัวพรรคเพื่อไทยทุกวัน สิ่งที่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลจะใช้เป็นไม้ตายคือ หากพรรคเพื่อไทยไม่มาอยู่กับก้าวไกล ไปอยู่กับคนอื่น ก็เป็นคนชั่ว เป็นคนตระบัดสัตย์??

 

กลับมาที่วาทกรรม “ตระบัดสัตย์”

คำว่า ตระบัดสัตย์ เท่าที่ฉันได้รู้ มันเป็นสำนวนที่ใช้กันในหมวดหมู่ของหนังจีนกำลังภายใน หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ ออกไปทางลิเกๆ สัมพันธ์กับสำนวน “กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”

สะท้อนการทำงานของจิตไร้สำนึกที่ก่อรูปมาจากการทำงานเชิงวัฒนธรรม วรรณกรรม และ popular culture แบบไทยๆ ว่าลึกๆ แล้วทุกคนเชื่อว่า การตั้งมั่นใจสัจวาจาเป็นคุณสมบัติของ “ผู้ปกครองที่ดี = กษัตริย์ หรือวรรณะกษัตริย์”

สอดคล้องกับอีกสำนวนหนึ่งที่แพร่หลายใน “วรรณกรรมสาธารณ์” ที่ชาวบ้านร้านถิ่นชอบอ่านนั่นคือ “ไม่มีสัจจะในหมูโจร” หรือที่ ส.ส.บางคนของอนาคตใหม่และก้าวไกลชอบใช้กันคือ “งาช้างไม่งอกออกจากปากสุนัข”

ที่ฉันได้ยินทีไรก็กรอกตามองบนทุกที เพราะมันสะท้อนโลกทัศน์ที่อนุรักษนิยมมากๆ

นั่นคือมีลำดับชั้นต่ำสูงระหว่าง ช้าง = พาหนะของพระราชา และ สุนัข = เดียรัจฉานชั้นต่ำ

คำว่า “ตระบัดสัตย์” ด้วยตัวของมันเองจึงผูกพันกับแนวคิด ระบบคุณค่า แบบศักดินา แบบระบบวรรณะอินเดีย ที่เชื่อว่าคุณสมบัติบางอย่างเป็นของบางวรรณะ และได้มาโดยชาติกำเนิด ซึ่งขัดแย้งกับโลกทัศน์แบบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

ใช่ – ฉันกำลังจะบอกว่า การตระบัดสัตย์ของนักการเมืองและพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย โลกจะแตก เขาพระสุเมรุจะถล่ม พระอินทร์จะกริ้ว ปลาอานนท์จะขยับ แล้วอาเพศจะเกิดทั้งเมือง แผ่นดินจะไหว น้ำจะท่วมโลก – ไม่ใช่!

คำว่า “ตระบัดสัตย์” มันก็คือ ภาวะไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้กับประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนสามารถลงโทษพรรคการเมืองนั้นด้วยการไม่มอบคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หรือประชาชนอาจจะบอกว่า “ฉันเข้าใจว่ามีเงื่อนไขบางอย่างทำให้เธอไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้แล้ว หากเธอชดเชยฉันด้วยผลงานอื่นๆ ที่น่าประทับใจ ฉันก็จะเลือกเธออีก”

เห็นไหมว่า เขาพระสุเมรุพังลงมาเพียงเพราะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ทำตามที่สัญญาเอาไว้ตอนหาเสียง

มันไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น

และหากมันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ประชาชนนี่แหละจะลงโทษนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นเอง

แต่ถ้าพรรคคู่แข่งเอาเรื่องนี้มาตีฟู สร้างความเกลียดชังจนเกินกว่าเหตุ กระแสมันก็ตีกลับ แทนที่ประชาชนจะลงโทษ ประชาชนจำนวนหนึ่งก็มองว่า “สงสารว่ะ รำคาญอีพรรคคู่แข่ง” ไอ้ที่คิดว่าจะลงโทษก็เลยต้องมายกโทษให้แทน

ถามว่า พรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์เรื่องอะไร?

 

หนึ่ง พรรคเพื่อไทยทำแคมเปญแลนด์สไลด์มาโดยตลอด ต้องการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ตัดปัญหาไปสังฆกรรมกับพรรคที่เคยเป็นพรรคนั่งร้านให้ประยุทธ์

ที่สำคัญถ้าแลนด์สไลด์คือ ปิดสวิตช์ ส.ว.ไปเลย ส่วนอยากร่วมกับพรรคก้าวไกลไหมฉันไม่รู้

เพราะฉะนั้น หากย้อนไปดูดีเบต สัมภาษณ์ ปราศรัย จะเห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยอมพูดว่าจะจับมือ หรือไม่จับมือกับ “ลุง” แต่บอกว่าให้ “คณิตศาสตร์” เป็นตัวบอก

สอง พรรคเพื่อไทยออกมาพูดว่าจะไม่จับมือกับลุง เพราะช่วงท้ายๆ แคมเปญถูกกดดันอย่างหนักในขณะที่ก้าวไกลเสนอ “มีลุงไม่มีเรา” ซึ่งส่วนตัว ฉันเห็นว่านี่คือก้าวที่พลาดสุดสุดของเพื่อไทย แต่ก็นั่นแหละ รู้อะไรไม่สู้รู้งี้ ไม่มีความจำเป็นต้องมาพูดว่าใครพลาด คนวิ่งหน้างาน คนทำงาน กับนักวิจารณ์ที่ฉลาดหลังเหตุการณ์เสมอ

สาม ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ กระแสพรรคก้าวไกลมาแรงจริง พรรคก้าวไกลได้ 151 เสียง พรรคเพื่อไทยได้ 141 เสียง

ในสถานการณ์ปกติ พรรคเพื่อไทยต้องตั้งรัฐบาลแข่ง แต่ด้วยเงื่อนไขที่มี ส.ว. พรรคเพื่อไทยจึงต้องแสดงสปิริตร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล และมอบให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล ที่แปลว่า พรรคก้าวไกลมีหน้าที่หาเสียงมาเติมให้ได้ 376 เสียงขึ้น ซึ่งขาดแค่ 84 เสียง

สิ่งที่พรรคก้าวไกลพึงทำคือ เดินไปกราบเท้าพรรคภูมิใจไทยขอให้มาร่วมรัฐฐาล เพราะพึ่งพาเสียงจากผู้แทนราษฎรด้วยกันง่ายกว่าไปขอเสียง ส.ว.

แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลทำคือด่าพรรคภูมิใจไทยทุกวัน ดูถูก เหยียดหยามเขาทุกวัน และ ณ วันนั้นออกจะโอ๋เอ๋กับ ส.ว. (ทั้งๆ ที่ ส.ว.ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ทำไมถึงคิดว่า rely on ส.ว.ได้มากกว่า??) โอ่ว่ามี ส.ว.จะมาโหวตให้เป็นร้อย

พรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหา มี 141 เสียงโหวตให้ครบ 141 เสียง สองรอบ ไม่ขาดแม้แต่เสียงเดียว

ถามว่า ตระบัดสัตย์ตรงไหน? ใครตอบคำถามนี้ของฉันได้บ้าง?

 

เมื่อหาเสียงไม่ได้แล้ว “ส่งไม้ต่อให้เพื่อไทย” โจทย์ของเพื่อไทยคือ ตั้งรัฐบาลให้ได้ ในเงื่อนไขว่า นายกฯ ต้องมาจากแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย

และโปรดระลึกว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีหน้าที่ต้อง “แบก” พรรคก้าวไกล ไม่ได้ติดค้างหนี้บุญคุณอะไรกัน เมื่อเจรจาแล้ว ทุกพรรคบอกว่า จะเอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย แต่ข้อแม้คือต้องไม่มีก้าวไกล

ถามว่า ถ้าคุณเป็นพรรคเพื่อไทย เงื่อนไขนี้เอาไหม?

ได้เป็นรัฐบาล เป็นแกนนำ และได้ตำแหน่งนายกฯ ด้วย!!!

ถามว่าตระบัดสัตย์ไหม? สำหรับฉัน “ไม่” เพราะนายกฯ ไม่ได้ชื่อประยุทธ์ ไม่ได้ชื่อประวิตร ไม่มีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา และประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีด้วยซ้ำ แถมเพื่อไทยยังได้จัดโผ ครม.

ถ้าเพื่อไทยไม่มาทางนี้โหวตเตอร์ 10.9 ล้านเสียงจะไปประท้วงหน้าพรรคแน่ๆ ว่า “หล่อกินไม่ได้” เผลอๆ โหวตเตอร์จำนวนไม่น้อยโล่งอกที่ไม่ต้องร่วมงานกับพรรคก้าวไกล

นี่เป็นความจริงพื้นๆ ที่ฉันคิดว่าพวกเราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับมัน

 

ถามว่าพรรคเพื่อไทยเจอ crisis เรื่องความชอบธรรม ไหม?

Yes and No ทุกอย่างมีราคาต้องจ่าย เจอวิกฤตความชอบธรรมก็ต้องชดเชยด้วยการทำงานให้หนักกว่าเดิม พิสูจน์ตัวเองกับประชาชน

เขาพระสุเมรุไม่ล่ม แผ่นดินไม่อาเพศ เพียงเพราะไม่รักษาคำพูด เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นเรื่องของพลวัต เป็นเรื่องของการต่อรองเพื่อให้ win-win แล้วเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่นั่งกอดคำสัญญาจนตัวตาย เพื่อนตาย พ่อแม่ตาย แล้วได้อนุสาวรีย์ว่า “รักษาคำพูด” แต่ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลยหลังจากนั้น

สิ่งที่ฉันโกรธ ไม่ใช่โกรธจากคำว่าตระบัดสัตย์

แต่โมโหความงี่เง่าคับแคบที่สาละวนกับการใช้วาทกรรมมาโจมตีพรรคการเมืองด้วยกันเอง แทนที่จะมองว่านี่คือคู่แข่งด้วย และก็คือพันธมิตรร่วมสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไปด้วยกันในระยะยาว

 

ถามตัวเองดีๆ ว่า อยากเห็นประชาธิปไตยชนะ หรือแค่อยากเห็นเพื่อไทยแพ้เพราะโรคทักษิณโฟเบียมันหลอนไม่จบ

เพราะถ้าอยากเห็นประชาธิปไตยชนะ พวกเราจะชนะไปด้วยกันทั้งหมดนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนหรือเชียร์พรรคไหน เพราคำว่าประชาธิปไตยแปลว่า ความแตกต่างหลากหลายที่อยู่ร่วมกันแต่ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน และไม่มีใครผูกขาดความดี จริยธรรม และสัจจะความจริงอยู่ฝ่ายเดียว

ประชาธิปไตยคือความเป็นมนุษย์ขี้เหม็น ดีๆ ชั่วๆ ไม่สมบูรณ์แบบ และกระบวนการลองผิดลองถูกไปตลอดกาล

ถามตัวเองดีๆ ว่าเชื่อในประชาธิปไตยหรือเชื่อในเผด็จการ “ความดีงามสูงส่ง”