ระเบียบ อลเวงของ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัว ส.ว. 2567

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ยิ่ง ส.ว.ชุดปัจจุบันใกล้หมดวาระเท่าไหร่ก็ดูเหมือนว่าข่าวสารการเลือกสรร ส.ว.ชุดใหม่ก็ยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดหลังจากที่เกิดการรณรงค์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบการสรรหา ส.ว. 2567 ขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จู่ๆ กกต.ก็ออกประกาศฉบับหนึ่งขึ้นมาแบบสายฟ้าแลบ โดยให้มีผลในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมานับจากออกประกาศนั้น

ประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567” ประกาศ ณ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567 ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 เมษายน 2567

เนื้อความมีทั้งหมด 3 หมวด ประกอบไปด้วยหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 วิธีการแนะนำตัว หมวด 3 ข้อห้ามในการแนะนำตัว ซึ่งหลังจากประกาศออกมาไม่นานก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบบางข้อที่สร้างความงุนงงให้กับผู้คนจนน่าปวดหัว

 

ยกตัวอย่างเช่น หมวดที่ 2 ข้อ 7 และ 8 คือ

“ข้อ 7 การใช้เอกสารแนะนำตัวของผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารขนาดไม่เกิน เอ 4 (ขนาด 210 มิลลิเมตร x 297 มิลลิเมตร) สามารถระบุข้อความเกี่ยกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานกับกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกินสองหน้า” และ “การแจกเอกสารแนะนำตัวตามวรรคหนึ่ง จะกระทำ ณ สถานที่เลือกไม่ได้”

ส่วนข้อ 8 ระบุไว้ว่า “ข้อ 8 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น”

จะเห็นได้ว่าการจำกัดการแนะนำตัวของผู้สมัครนั้นสร้างปัญหาอย่างยิ่งในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังไม่สามารถทำได้จริงด้วยซ้ำ

เพราะขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดรับสมัครเลย แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้สมัคร ใครไม่ใช่ผู้สมัคร สถานะของผู้สมัครจะแน่ชัดได้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการรับสมัครผ่านพ้นไปแล้ว

ดังนั้น ระเบียบข้อ 7 และ 8 จึงดูไม่สมเหตุสมผลเลยและดึงดูดทัวร์ให้หลั่งไหลลงมาได้อย่างรวดเร็ว

 

ที่น่าปวดเศียรเวียนเกล้าที่สุดอยู่ในหมวด 3 ข้อห้ามในการแนะนำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 11 ที่ระบุว่า “นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้”

(1) กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(2) ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

(3) แจกเอกสารแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ

(4) แนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

(5) แนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(6) จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

พออ่านระเบียบมาถึงตรงนี้ อยากรู้จริงๆ ว่ามีใครไม่มึนงงบ้าง ในเมื่อการเลือกสรร ส.ว.ครั้งนี้ผู้สมัครต้องเข้ามาในนามของกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม แม้บางกลุ่มจะไม่ใช่กลุ่มอาชีพจริงๆ อย่างเช่น กลุ่มสตรี, กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ ชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น, และกลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มอาชีพจริงๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากระเบียบนี้ก็คือกลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน และกลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง บันเทิง และกีฬา

ทั้งสองกลุ่มอาชีพนี้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ทั้งๆ ที่เขาเข้ามาตามลักษณะเฉพาะทางวิชาชีพอยู่แล้ว การไประบุว่า “ห้ามใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว” จึงเป็นข้อห้ามที่คลุมเครือ

ยากที่จะชี้ชัดไปได้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหนในการวินิจฉัยระหว่าง “การใช้ความสามารถหรือใช้วิชาชีพดังกล่าว” กับ “ไม่ได้ใช้ความสามารถและวิชาชีพดังกล่าว”

ในระหว่างการแนะนำของผู้สมัครนั้น ผู้ที่มาจากสายวิชาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ฯลฯ ก็ย่อมมีเทคนิควิธีการ ลีลา บุคลิกภาพ และทักษะที่ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้จากการทำงานในสายวิชาชีพนั้นมาจนกลายเป็นบุคลิกติดตัวไปแล้ว

ครั้นจะบ่งชี้ว่าตรงไหนเป็นการใช้ความสามารถทางวิชาชีพที่เอื้อหรือไม่เอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัวจึงไม่อาจทำได้

หรือต่อให้พยายามทำก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนเป็นมาตรฐาน การที่พิธีกรคนหนึ่งจะแนะนำตัวด้วยบุคลิกภาพอย่างพิธีกรมืออาชีพจะกลายเป็นการทำผิดระเบียบไปอย่างนั้นหรือ

ข้อห้ามนี้ดูไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย และไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติด้วย

 

เมื่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ออกมาเป็นเช่นนี้ ก็ชวนให้น่าสงสัยว่า กกต.ต้องการอะไรกันแน่?

ไม่ว่าใครที่อ่านข้อห้ามต่างๆ ในระเบียบนี้ก็คงตั้งคำถามไม่มากก็น้อยว่ากฎระเบียบนี้เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือตรงกันข้าม?

ระเบียบนี้ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นหรือน้อยลง?

ระเบียบนี้จะเพิ่มความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้กับการเลือกหรือว่าจะทำให้ลดลงกันแน่?

แล้วระเบียบนี้ช่วยสนับสนุนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของทั้งประชาชนและผู้สมัครหรือว่าลิดรอน?

ซึ่งคำตอบทั้งหลายคงอยู่ในใจของประชาชนทุกคนอยู่แล้วเมื่ออ่านระเบียบนี้จบ

 

ในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฎความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ทันที ตัวอย่างเช่น กลุ่มของอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้แก่ น.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล นายไพรโรจน์ บุญศิริคำชัย นายถนัด ธรรมแก้ว นายศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ และนายนิติพงศ์ สำราญคง ซึ่งเป็นผู้ประสงค์ลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้ได้ยื่นฟ้อง กกต. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และประธาน กกต. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้สั่งเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 และขอให้ศาลไต่สวนเป็นการฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราว

ตามข่าว “พนัส นำทีมร้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว ส.ว. ขอเปิดไต่สวนฉุกเฉินด่วน” โดยยกเหตุผลหลักว่าเป็นการ “จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกินกว่าเหตุ” ทางลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4552290

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มอื่นหรือบุคคลอื่นด้วย เช่น นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างเหตุผลถึงประเด็นเรื่อง (1) การขาดการมีส่วนร่วม (2) ขาดความเป็นตัวแทน และ (3) กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของ 2 กลุ่มอาชีพ ตามข่าว “บก.ประชาไท ร้องศาลปกครอง ขอเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือก ส.ว” ทางลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4550684

แม้ ส.ว.ชุดเก่ายังไม่ทันได้พ้นวาระไป และขณะนี้กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ชุดใหม่ก็ยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง

แต่ดูเหมือนว่ายิ่งนานวันเท่าไหร่ เวทีค้นฟ้าคว้า ส.ว.2567 ก็ยิ่งทวีความอลเวงเข้าไปเข้าทุกที และตราบใดที่เรื่องราวทั้งหลายยังดำเนินต่อเนื่องไปเช่นนี้ ก็คงไม่มีใครคาดเดาตอนจบของเรื่องนี้ได้แน่ชัด