การต่อสู้ของคนเสื้อแดง กับอนาคตประชาธิปไตย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันรำลึก 14 ปีเหตุการณ์หฤโหดเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งจัดโดยคณะประชาชนเรียกร้องความยุติธรรม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

มีการรำลึกถึงเหตุการณ์และผลพวงของการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์นั้นอย่างที่ไม่อาจลืมเลือนได้ โดยเฉพาะคนที่ผ่านประสบการณ์อันหนักและรุนแรงนั้น

มองย้อนกลับไปผมยังจำได้ถึงความตื่นเต้นระคนประหลาดใจเมื่อเห็นขบวนคนจำนวนมากจากอีสานและภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเดินทางมุ่งหน้ามายังกรุงเทพฯ เริ่มในวันที่ 13 มีนาคม 2553 ในกรุงเทพฯ มีการรวมพลที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หลักสี่ เมื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เคลื่อนพลเข้ามาถึง ได้ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ

เต็นท์ผู้ชุมนุมยาวเหยียดจากสี่แยกคอกวัวไปถึงถนนราชดำเนินนอก จนถึงลานพระบรมรูปทรงม้าและวัดเบญจมบพิตรฯ

 

มูลเหตุของการเคลื่อนขบวนคนเสื้อแดง มีที่มาอันหลากหลาย ทั้งปัจจัยระยะใกล้และไกล ทั้งเป็นการเมืองและเศรษฐกิจสังคม

ทั้งหมดสังเคราะห์กันอย่างวิภาษวิธีเป็นมูลเหตุทางการเมืองของการเคลื่อนขบวน

ก่อนหน้านี้มีการประท้วงการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่กระทำภายใน “ค่ายทหาร” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชนหมดสภาพไป เป็นการใช้อำนาจองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยฝ่ายอำนาจนิยมอีกครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความสำนึกทางการเมืองให้แก่ประชาชนผู้ตื่นตัวที่เรียกต่อมาว่าคนเสื้อแดง

ปัจจัยหลังนี้มีที่มายาวไกลอย่างน้อยนับแต่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของมวลชน “เสื้อเหลือง” หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจุดกระแสของ “การเมืองมวลชน” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540

การปะทุขึ้นและขยายตัวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “เสื้อเหลือง” เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหลายชนชั้นและอัตลักษณ์ที่รณรงค์ร่วมกันภายใต้อุดมการณ์การเมืองหนึ่งเดียว (“เราสู้เพื่อในหลวง”) ที่ต่อต้านศัตรูหนึ่งเดียวในระดับชาติ (“ระบอบทักษิณ เลือกตั้งธิปไตย เผด็จการโดยเสียงข้างมาก”)

ในที่สุดนำไปสู่การเคลื่อนไหวและเติบใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “เสื้อแดง” ต่อมา

ซึ่งก็พัฒนาอุดมการณ์การเมืองเอกลักษณ์ของตนขึ้นมาเช่นกัน เช่น “คืนอำนาจให้ประชาชน” และ “ประชาธิปไตยที่คนเท่าเทียมกัน”

ประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติไทยนับแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมาเป็น “การเดินทางออก” ไปจากเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางของการปกครองและบริหารจัดการไปยังทุกพื้นที่ในพระราชอาณาจักร ลักษณะมักเป็นการเดินทางแบบวันเวย์หรือทางเดี่ยวไม่ให้มีการเดินทางสวนหรือทูเวย์เข้ามาในกรุงได้

ทั้งนี้เพราะกระบวนการและจุดหมายในการปฏิรูปประเทศนั้นเริ่มมาจากความต้องการของศูนย์กลางและโลกสมัยใหม่ เครื่องมือกลไกและเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากส่วนกลาง ซึ่งนำเข้ามาจากแบบแผนการปฏิบัติของตะวันตกเป็นหลัก

เหนืออื่นใดมันเป็น “ความทันสมัย” และ “สมัยใหม่” เป็นอารยธรรมโลกที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

ทำให้โครงสร้างกำกับการปฏิรูปเป็นแบบรวมศูนย์และไม่ประนีประนอม อาศัยความเหนือกว่าทั้งทางวัตถุและทางความคิดในการบีบบังคับให้ทุกส่วนรอบนอกต้องยอมรับ

ด้วยลักษณะของการบีบบังคับดังกล่าว จึงเห็นได้ไม่ยากว่าย่อมนำไปสู่การต่อต้านและหาทางหลบเลี่ยงไม่ต้องการถูกปฏิรูปของคนรอบนอกเท่าที่จะทำได้

การคิดต่อต้านและประท้วงหรือขัดขืนก็ทำในพื้นที่ ไม่มีกลุ่มใดคิดจะยกกำลังเข้ามาโจมตีถึงเมืองหลวง เพราะทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดทางกำลังและความสามารถ

แต่ที่ไม่คิดถึงขนาดนั้นเพราะคนรอบนอกยังไม่มีอุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองที่รองรับและสร้างความชอบธรรมให้แก่การปฏิบัติเชิงรุกตอบโต้ได้

สถานการณ์จึงยุติลงด้วยการเป็นแค่เพียง “กบฏ” หรือก่อความไม่สงบเท่านั้นเอง ไม่ว่ากบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญอีสานและกบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองในภาคใต้

เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ชาติไทยต่อปฏิกิริยาของหัวเมืองและประเทศราชจึงมีเพียงเท่านี้

ถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของขบวนการคนเสื้อแดงโดยเฉพาะในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีลักษณะที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติโดยโดยเฉพาะในมิติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับประชาชนในรอบนอก ที่แสดงถึงการตอบโต้เชิงรุกมากขึ้นของราษฎรจนถึงการต่อสู้ของประชาชนเองในรูปแบบต่างๆ ทั้งสันติและรุนแรง

ถ้าหากว่าเรามองย้อนกลับไป เราเริ่มหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นขั้นแรก เราก็คงต้องยึดถือเอาการเปลี่ยนแปลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาระบอบอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนเป็นครั้งแรก

จากนั้นมา การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะไปบรรลุจุดหมายของประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ ผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 90 ปี มีทั้งผลสำเร็จและล้มเหลว อันเป็นผลมาจากความแตกแยกและขัดแย้งกันภายในแกนนำคณะราษฎรเอง

ที่ปรากฏชัดเจนคือระหว่างสายพลเรือนภายใต้ปรีดี พนมยงค์ กับสายทหารภายใต้จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ไม่ว่ารายละเอียดของปัญหาภายในคณะราษฎรเป็นอย่างไร ข้อน่าคิดอันหนึ่งคืออำนาจรัฐฝ่ายปรีดีที่มีลักษณะเสรีนิยมมุ่งสร้างสัมพันธภาพและการทำงานการเมือร่วมกับผู้นำรอบนอกเช่นอีสาน (เตียง ศิริขันธ์ และทองอินทร์ ภูริพัฒน์) และปัตตานี (ฮัจญีสุหรง และเจริญ สืบแสง)

ในขณะที่อำนาจรัฐฝ่ายพิบูลกลับใช้วิธีการฆาตกรรมทางการเมืองต่อแกนนำรอบนอกเหล่านี้ ระบอบประชาธิปไตยไทยจึงอ่อนแอเพราะขาดพื้นฐานของมวลชนรอบนอก

และยิ่งทำให้อำนาจรัฐส่วนกลางก็อ่อนแอลงไปด้วยจากการเปิดโอกาสให้กองทัพแสดงบทบาทนำในการรักษาและชี้นำรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

เพราะฉะนั้น การมาชุมนุมกันเพื่อมารำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงวันนี้ ทำให้มองเห็นลักษณะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการยกฐานะและความหมายของระบบประชาธิปไตย ในมิติของการเติมเต็มเนื้อหาของประชาธิปไตยที่มาจากการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของของประชาชน

ดังที่แสดงออกในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงปี 2553 เป็นครั้งแรกในหลายปีที่มวลประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกศูนย์กลาง คนที่เรียกว่าอยู่ในหัวเมืองชนบท นอกเมืองหลวงจำนวนมากตัดสินใจเคลื่อนขบวนเข้ามาเพื่อทำการประท้วงเรียกร้องสิทธิทางการเมืองอันสมบูรณ์ของพวกเขากันเอง

ไม่ใช่ร้องขอให้ตัวแทน ไม่ใช่ร้องขอให้ผู้มีอำนาจหรือผู้มีบารมีมาช่วยหาหรือสร้างประชาธิปไตยให้

แต่เป็นการต่อสู้ของพวกเขากันเองเป็นครั้งแรก

เพื่อทำให้การมองการเคลื่อนขบวน “เข้ามา” ของคนเสื้อแดงจากอีสานมีความหมาย จำเป็นต้องมองกลับไปยังประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติไทยระยะแรกในปลายและต้นศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนจากระบอบเดิมที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” นั้น

จริงๆ เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปประเทศเป็นการใหญ่ และที่สำคัญคือการรวมศูนย์อำนาจการปกครองเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการลดทอนอิทธิพลอำนาจการปกครองของท้องถิ่นของหัวเมืองชั้นนอกได้แก่ อีสาน ภาคเหนือ จนถึงภาคใต้ ปัตตานีทั้งหมด จนเกิดการต่อต้านจากหัวเมืองทั้งประเทศ เกิดกบฏต่างๆ ดังได้กล่าวแล้ว

กล่าวเฉพาะในภาคอีสานมีกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ.2444-2445 โดยมีผู้ตั้งตัวเป็น “ผู้มีบุญ” ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13 จังหวัด คือ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12 คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน

ทางราชการส่วนกลางอธิบายปรากฏการณ์ของการกบฏว่ามาจากความรู้เท่าไม่ถึงการหรือความหลงผิดของชาวบ้านที่ยังหลงเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ลัทธิผี จนถึงความโลภอยากได้เงินทองตามที่มีการบอกเล่าผ่านหนังสือพยากรณ์ที่ทำส่งต่อๆ กันจนเป็น “จดหมายลูกโซ่” และที่ได้ผลยิ่งคือหมอลำที่เที่ยวลำคำพญาว่าจะเกิดอาเพศและภัยพิบัติ

ทั้งหมดนี้กระทำโดยคนที่ตั้งตัวเป็น “องค์” และผู้วิเศษ ที่ชี้นำให้ราษฎรทำตาม

 

ต่อมูลเหตุของการกบฏนั้น ดร.เตช บุนนาค นักประวัติศาสตร์ไทยผู้มีชื่อเสียงรู้จักกันดีและเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยการปกครองระบบเทศาภิบาลอย่างลึกซึ้งได้อธิบายแตกต่างไปจากฉบับทางการ

โดยกล่าวว่า “การที่เราจะทึกทักเอาว่าผู้มีบุญคือราษฎรที่โง่เขลาเบาปัญญาขึ้นมาอย่างกะทันหันจึงดูจะเป็นเหตุเป็นผลไม่เพียงพอ ย่อมจะต้องนำปัจจัยต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณาด้วย จึงจะสามารถสรรหาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้” (เตช บุนนาค, 2566, หน้า 14)

ผลสะเทือนจากปัจจัยต่างประเทศ การเข้ามามีอำนาจเหนือสองฝั่งโขงของฝรั่งเศสทำให้คนมองเห็นด้านลบและอำนาจอ่อนแอกว่าของสยามเมื่อเทียบกับฝรั่งเศส ข้าราชการไทยไร้อำนาจแม้ในการเก็บภาษี ข่าวลือกันว่า “ผู้มีบุญจะมาแต่ตะวันออก เจ้าเก่าหมดอำนาจ ศาสนาก็สิ้นแล้ว”

ส่วนภายในประเทศการเปลี่ยนเจ้าเมืองและส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาควบคุมและปกครองทำให้เกิดความต้านตึงระหว่างราษฎรกับรัฐบาล ยิ่งส่วนกลางส่งคนมาเก็บภาษีต่างๆ โดยตรง ยิ่งทำให้ขุนนางท้องถิ่นลงไปถึงราษฎรไม่พอใจยิ่งขึ้น เพราะผลประโยชน์ที่เคยได้รับลดลงมากและชาวบ้านลำบากมากขึ้น

แต่ที่ทำให้เหตุการณ์สุกงอมไปสู่จลาจลได้ มาจากการมีราษฎรจำนวนมากสนับสนุนอยู่ด้วย เชื่อว่าแรงกระเพื่อมสุดท้ายนี้มาจากปัญหาการกดขี่เอาเปรียบทางเศรษฐกิจโดยกรมการต่างเมืองและตุลาการที่ตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งหมดนี้ทำให้ปัญหาหลักนั้นมีลักษณะที่มี “การกำหนดอย่างล้นเหลือ” (overdetermination) นั่นคือมีความขัดแย้งหลายข้อที่อธิบายปัญหานี้ได้ กระทั่งอันเดียวก็เพียงพอต่อการอธิบายได้แล้ว

บรรณานุกรม

เตช บุนนาค (2566), ขบถ ร.ศ.121 Rebillions in 1902 พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์