ผู้ชนะที่เมียวดี! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์การสู้รบที่เมียวดีในช่วงสงกรานต์นั้น ถูกมองว่าเป็น “จุดพลิกผัน” ของสงครามกลางเมืองเมียนมา เพราะการเปลี่ยนอำนาจการควบคุมเมียวดีจากรัฐบาลกลางเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นการสูญเสียเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดการประเมินว่า การสูญเสียเมียวดี อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “การถดถอยทางยุทธศาสตร์” ของกองทัพรัฐบาลอย่างชัดเจนนับตั้งแต่การเปิด “ยุทธการ 1027” ที่เกิดในเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา

แต่สถานการณ์ที่เกิดในเวลาต่อมาดูจะเป็นการ “หักมุมสงคราม” อย่างคาดไม่ถึง … เนื่องจากในวันสงกรานต์ที่ 13 เมษายน นั้น ข่าวต่างๆ ที่นำเสนอมีทิศทางที่ไม่แตกต่างกันมากนักว่า เมืองเมียวดีตกอยู่ในความควบคุมของกองกำลังของชาวกะเหรี่ยง และภาพที่สื่อสารออกสู่เวทีสากลในวันที่ 14 เมษายน จึงมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างมากคือ การชักธงกะเหรี่ยงเหนือค่ายทหารของรัฐบาลกลางที่เมียวดี พร้อมกับปลดธงเมียนมาลงจากเสาธงของค่าย

สัญลักษณ์เช่นนี้ในทางการเมืองคือ การบ่งบอกถึงการเปลี่ยนอำนาจรัฐในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังตามมาด้วยข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังดำเนินการผลักดันให้กองทัพของรัฐบาลกลางออกไปจากพื้นที่ตลอดแนวลำน้ำสาละวิน

แต่คำถามที่ตามมาทันที 2 ประการหลังวันที่ 14 เมษายน ที่มีการชักธงกะเหรี่ยงที่เมียวดีได้แก่ 1) กองทัพเมียนมาจะเปิดสงครามใหญ่เพื่อชิงเมืองเมียวดีคืนหรือไม่ และ 2) การรุกกลับเพื่อยึดเมียวดีคืน จะดำเนินการอย่างไร

ที่ต้องตั้งถามคำถาม 2 ประการนี้ เป็นเพราะทุกฝ่ายทราบดีว่า กองทัพของรัฐบาลกลางนั้น อยู่ในสภาวะที่น่าจะเป็นฝ่ายรับในสนามรบ เพราะฝ่ายรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำในหลายพื้นที่การรบ และหน่วยทหารในหลายจุดตัดสินใจยอมแพ้ต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อีกทั้ง ยังเกิดปัญหาทหารหนีทัพเป็นจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้นำทหารเมียนมายังคงความมุ่งมั่นในการทำสงครามไม่เปลี่ยนแปลง และกองทัพของฝ่ายรัฐยังคงมีกำลังพลและอาวุธเหลือมากพอที่จะทำการรบต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความได้เปรียบของกำลังทางอากาศ ในการทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายที่ต้องการได้ โดยฝ่ายต่อต้านไม่มีศักยภาพในการตอบโต้

ดังนั้น หลังวันที่ 14 เมษายน จึงมีรายงานข่าวถึง ความพยายามที่จะเปิดการรุกกลับด้วยการใช้กำลังรบทางบก และตามมาด้วยรายงานถึงการระเบิดสะพาน การซุ่มโจมตี ตลอดรวมถึงความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งการเคลื่อนกำลังของฝ่ายรัฐบาล แต่ในอีกด้าน หลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากว่า กองทัพฝ่ายรัฐบาลอาจจะเปิดการโจมตีทางอากาศต่อเมียวดี ซึ่งถ้าหากเป็นจริงแล้ว ย่อมจะสร้างความเสียหายอย่างมากแน่นอน

แต่แล้วสงครามกลับหักมุมอย่างคาดไม่ถึง … ไม่เพียงการรบใหญ่ใน “ศึกชิงเมียวดี” จะไม่เกิดเท่านั้น หากกำลังของฝ่ายกะเหรี่ยงบางส่วนที่เคยทำงานร่วมกับกองทัพรัฐบาลมาก่อน และเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กลับเป็นหน่วยที่พาทหารรัฐบาลที่ถูกปิดล้อมที่สะพานมิตรภาพ 2 กลับไปประจำการในที่ตั้งเดิมของกองพัน 275 พร้อมทั้งปลดธงชาติกะเหรี่ยงลงจากเสา และชักธงเมียนมาของฝ่ายรัฐบาลขึ้นสู่เสาแทน

ถ้าการชักธงกะเหรี่ยงเหนือเมืองเมียวดีเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเช่นไร การชักธงเมียนมากลับขึ้นสู่เสาอีกครั้งก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเช่นนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ คำตอบว่า “สงครามพลิกกลับ” ในอีกแบบ

คำถามที่ตามมาอย่างสำคัญคือ ใครคือ “ผู้เจรจา” ที่ทำให้เมืองเมียวดีกลับสู่ “สถานะเดิม” เสมือนเป็นการหยุดยั้งสงครามที่กำลังคืบเข้าสู่พื้นที่ของเมียวดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะยังมีการรบและการทิ้งระเบิดในพื้นที่รอบนอกของเมียวดีอยู่ก็ตาม

หรือว่า การพาเมียวดีกลับสู่สถานะเดิมเช่นนี้ คือ การประนีประนอมผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเห็นในสงคราม เนื่องจากเมืองเมียวดีนอกจากจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แล้ว เมืองมีความสำคัญอีกประการคือ เมืองเป็น “แหล่งทุนสีเทา” ที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งในระดับโลก ที่เกี่ยวข้องทั้งกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนัน อาชญากรรมออนไลน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊งหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กล่าวคือ “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจากจีน” ได้ใช้พื้นที่ของเมียวดีเป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีการหลอกลวงคนจากหลายชาติเข้าไปทำงาน แต่ไม่สามารถกลับออกมาได้ ประกอบกับในปัจจุบัน พวกเขาได้ย้ายฐานจากทางด้านกัมพูชามาตั้งหลักที่เมียวดีฝั่งตรงข้ามแม่สอด

ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่เกิดการสู้รบในพื้นที่ทางด้านเมียวดีนั้น สถานที่ที่เป็นแหล่งอาชญากรรมดังกล่าวไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยสงครามแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ เค. เค. พาร์ค (K K Park) และชเวโก๊กโก ก็ตาม ซึ่งสำหรับ “กลุ่มสีเทา” แล้ว สถานะเดิมของเมียวดีเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการประกอบกิจกรรมของพวกเขา เพราะสถานที่ดังกล่าวคือ แหล่งผลประโยชน์และแหล่งเงินมหาศาล ซึ่งมีผู้รับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องอยู่ในภาคส่วนต่างๆ จนอาจต้องยอมรับว่า กลุ่มสีเทาไม่ได้มีแต่กรณีของกลุ่มอาชญากรรมจีนเท่านั้น

ฉะนั้นในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มนี้มี 4 ส่วนที่สำคัญคือ “จีนเทา-พม่าเทา-ไทยเทา-กะเหรี่ยงเทา” ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สงครามที่เมียวดีไม่อาจเดินหน้าต่อได้ … ถ้าถามว่าใครคือผู้ชนะศึกเมียวดีแล้ว คำตอบที่ตรงไปตรงมาคือ “ชัยชนะของ 4 เทา” ที่หากินและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสงครามจะต้องไม่กระทบกับผลประโยชน์ของพวกเขา หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า กิจกรรมของพวกเขาไม่มีนัยอะไรกับต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแต่อย่างใดทั้งสิ้น และทั้งยังทำลายภาพลักษณ์ของขบวนประชาธิปไตยกะเหรี่ยงอย่างมากด้วย

สภาวะเช่นนี้ ทำให้สงครามกลางเมืองเมียนมามีความซับซ้อนอย่างยิ่ง โจทย์สันติภาพเมียนมาจึงมีความท้าทายจาก “ทุนเทา” เป็นปัญหาสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้งยังท้าทายต่อรัฐไทยในอีกทางหนึ่งด้วย!