ยกระดับขึ้นทีละขั้น ไม่หยุด แล้วสงครามจะหยุดตรงไหน!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ยกระดับขึ้นทีละขั้น ไม่หยุด

แล้วสงครามจะหยุดตรงไหน!

 

“สร้างสันติภาพเป็นเรื่องที่ยากกว่าสร้างสงคราม”

Colin S. Gray

 

สิ่งที่นักยุทธศาสตร์มีความกังวลมากที่สุดในสถานการณ์สงครามหรือความขัดแย้งใดๆ ก็ตาม คือ สภาวะที่สงครามและ/หรือความขัดแย้งนั้น ถูกขยายขอบเขตออกไป หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า “การยกระดับ” (escalation) ของปัญหา

การยกระดับของสงคราม/ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1) รัฐคู่สงครามตัดสินใจด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับความขัดแย้ง ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากการตอบโต้การโจมตีที่เกิดขึ้น คือเป็น “deliberate escalation” และอาจเป็นไปในลักษณะของการตอบโต้กันไปมา ซึ่งจะทำให้สงครามขยายตัวได้ง่าย และอาจนำไปสู่การเกิดของสงครามใหญ่ 2) การยกระดับเกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่เหตุเกิดจากความตั้งใจ คือเป็น “accidental escalation” อันเป็นผลจากการตีความสถานการณ์ที่ผิดพลาด ความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ผิดพลาด หรือการคำนวณสถานการณ์ที่ผิดพลาด ความผิดพลาดเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้กำหนดนโยบายของรัฐตัดสินใจผิดพลาดทั้งสิ้น และนำไปสู่การขยายสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ จึงมักมีข้อเสนอโดยตรงคู่สงครามให้ “ลดระดับ” ความขัดแย้ง (de-escalation) ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด เพราะความหวาดระแวงของรัฐคู่พิพาท แม้จะมีความพยายามที่จะสร้าง “กลไกในการลดความขัดแย้ง” (deconfliction mechanism) แต่ถ้ารัฐฝ่ายหนึ่งได้ตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นแล้ว ที่จะตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายที่กระทำต่อตน (ด้วยการโจมตีทางทหาร) ภาวะเช่นนี้ทำให้การที่จะลดทอนความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และอาจทำให้การป้องกันการขยายตัวของสงครามทำได้ยากด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นที่จะตอบโต้กัน

ดังนั้น หากพิจารณาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางหลังการโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 แล้ว หลายฝ่ายค่อนข้างกังวลอย่างมากถึงการยกระดับความขัดแย้ง เพราะการยกระดับความขัดแย้งไปเรื่อยๆ แล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “สงครามตะวันออกกลาง” อันมีนัยหมายถึงสภาวะของความขัดแย้งที่ขยายตัว จนกลายเป็น “สงครามภูมิภาค” (regional war) ที่มีลักษณะของการรบใหญ่ในภูมิภาคนี้

อันทำให้เกิดความกังวลตามมาว่า ถ้าเกิดของสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางจริงแล้ว สงครามนี้จะอยู่ในสภาพที่ควบคุมได้เพียงใด และจะปะทุตามมาจนกลายเป็นสงครามใหญ่ของโลกด้วยหรือไม่

 

สงครามเดินหน้าไม่หยุด!

หากพิจารณาสถานการณ์ความมั่นคงในตะวันออกกลางในปัจจุบันแล้ว เราคงต้องยอมรับถึงความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เกิดเหตุการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และตามมาด้วยการตอบโต้ทางทหารขนาดใหญ่ของอิสราเอล ด้วยการเปิดการโจมตีในพื้นที่กาซา ซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ และมีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ผลของปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือน โดยเฉพาะการเสียชีวิตของเด็ก จนต้องยอมรับว่าสงครามกาซาทำให้เกิด “วิกฤตมนุษยธรรม” ที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลก คู่ขนานกับวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดในยูเครน และในซูดานในปัจจุบัน

สงครามในกาซายังนำไปสู่ความเกี่ยวพันกับปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮูตีในทะเลแดง และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ทางภาคใต้ของเลบานอน (โดยนัยทางภูมิศาสตร์คือภาคเหนือของอิสราเอล) แต่ทุกคนดูจะมีความหวังว่า สงครามจะไม่ “ยกระดับ” โดยจะไม่ขยายตัวเกินกว่านี้ เพราะหากสงครามยกระดับมากขึ้นแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันว่าสงครามจะขยายตัวกลายเป็น “สงครามตะวันออกกลาง” หรือไม่

หลายๆ ฝ่ายในเวทีโลกตระหนักดีว่า หากความขัดแย้งชุดนี้ขยายตัวจนกลายเป็นสงครามในระดับภูมิภาคดังเช่นที่เคยเกิดแล้วในปี 1967 และ 1973 แล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจโลกเพิ่งอยู่ในภาวะที่เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากถูกกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์สงครามซ้ำอีก ดังเช่นผลลบจากสถานการณ์สงครามยูเครน และหากตามด้วยสงครามตะวันออกกลางด้วยแล้ว ก็อาจสร้างความชะงักงันทางเศรษฐกิจในระดับโลกได้อย่างมาก

อีกทั้งทุกคนตระหนักดีว่าการขยายตัวของสงครามในตะวันออกกลาง เป็น “สงครามใหญ่” นั้น จะส่งผลโดยตรงให้เกิด “วิกฤตพลังงานโลก” และอาจส่งผลให้เกิด “วิกฤตเศรษฐกิจโลก” ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงไม่มีใครต้องการเห็นการขยายตัวของสงคราม ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤต 2 ชุดนี้ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งสงครามจะถูกทับซ้อนด้วยปัญหาการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่อีกด้วย อันทำให้สงครามตะวันออกกลางเป็นเช่น “สงครามตัวแทน” ดังเช่นในยุคสงครามเย็น

 

ฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อสงครามยังไม่ขยายตัวออกจากพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรงในกาซา หรืออย่างน้อยอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ความขัดแย้งจำกัดอยู่เฉพาะในส่วนของกาซา แม้จะมีปัญหาพาดโยงไปกับการโจมตีในเลบานอนภาคใต้และในทะเลแดงก็ตาม แต่อาจต้องถือว่ายังเป็นเรื่องดี เพราะสงครามยังไม่ขยายไปมากเกินกว่าที่จะควบคุมได้ และยังไม่มีสถานะเป็น “สงครามภูมิภาค”

ขณะเดียวกันในอีกด้าน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซาอย่างมากในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่โจมตีพลเรือนอย่างไม่จำแนก ดังที่กล่าวแล้วว่าสงครามของอิสราเอลในกาซาได้สร้าง “วิกฤตมนุษยธรรม” ชุดใหญ่ และทำให้เกิดแรงต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในหลายประเทศทั่วโลก อันทำให้ภาพลักษณ์ของอิสราเอลติดลบอย่างมาก… ปฏิบัติการในกาซาไม่ช่วยทำให้อิสราเอลชนะใจคนในเวทีโลกเท่าใดนัก

ภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า แม้โลกจะแสดง “ความเห็นใจ” ต่ออิสราเอลที่ถูกโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 แต่ความเห็นใจที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้อนุญาตให้อิสราเอลใช้อำนาจทางทหารโจมตีกาซาอย่างเกินเลย จนทำให้เกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังเช่นที่ปรากฏเป็นภาพข่าวในปัจจุบัน จนคาดเดาได้ยากว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์จะดำรงอยู่อย่างไรในอนาคต เท่าๆ กับที่ความหวังของ “ทฤษฎี 2 รัฐ” (The Two-State Solution) จะยังคงเป็นจริงเพียงใดในอนาคต

 

การตอบโต้ของอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความชุลมุนของสงครามในกาซา สิ่งที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ การตัดสินใจของอิสราเอลในการโจมตีสถานกุงสุลของอิหร่านในซีเรียในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งไม่ว่าอิสราเอลจะคิดอย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้สงคราม “ยกระดับ” ขึ้นทันที เนื่องจากปฏิบัติการนี้สังหารนายทหารระดับสูงของอิหร่านถึง 2 นาย ซึ่งการโจมตีครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่อิสราเอลถูกวิจารณ์อย่างมาก เพราะเป็นการโจมตีสถานทูต ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สถานทูตไม่ใช่เป้าหมายทางทหารด้วยสถานะทางการทูต อีกทั้งมีสถานะเป็นดังดินแดนของรัฐนั้น อันทำให้การโจมตีสถานทูตมีนัยเท่ากับการโจมตีประเทศนั้นๆ ด้วย

การโจมตีในวันที่ 1 เมษายน จึงเป็นเสมือนกับการ “ข้ามเส้นแดง” ที่อิสราเอลไม่เคยปฏิบัติการทางทหารในลักษณะเช่นนี้มาก่อน เพราะเป็นดังการโจมตีโดยตรงต่ออิหร่าน ซึ่งการโจมตีแต่เดิมอาจจะเป็นเป้าหมายในลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น ที่ตั้งของฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ที่ไม่มีนัยโดยตรงต่อการโจมตีเป้าหมายที่เป็นอิหร่าน และการกระทำเช่นนั้นไม่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน เพราะเป็นการโจมตีเป้าหมายในอีกระดับหนึ่ง

การโจมตีของอิสราเอลเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการคาดคะเนอย่างมากว่า อิหร่านจะตอบโต้กลับแบบใด ซึ่งคาดกันในเบื้องต้นว่า การตอบโต้ต่ออิสราเอลอาจจะเป็นในรูปแบบเดิมคือ “การก่อการร้าย” ดังจะเห็นได้ว่าหลังการโจมตีดังกล่าวแล้ว รัฐในยุโรปดูจะยกระดับมาตรการเตรียมรับมือกับการก่อการร้าย

แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือ อิหร่านตัดสินใจโจมตีอิสราเอลด้วยโดรน อาวุธปล่อย (จรวด) และขีปนาวุธ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ลูก ซึ่งเป็นดังการ “ข้ามเส้นแดง” ของอิหร่าน เป็นการยกระดับสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นการโจมตีต่อเป้าหมายในดินแดนของอิสราเอลโดยตรง ซึ่งอิหร่านไม่เคยปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้มาก่อน แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอิสราเอลจะอยู่ในระดับต่ำมาก เพราะอาวุธที่ใช้การโจมตีดังกล่าวถูกทำลายเกือบทั้งหมดก่อนถึงเป้าหมายในอิสราเอล แต่ก็เป็นดังสัญญาณในทางทหารว่า อิหร่านสามารถเปิดการโจมตีอิสราเอลได้

ในอีกด้าน ก็น่าคิดต่อว่า ถ้าในวันนั้นระบบป้องกันของสหรัฐไม่ช่วยแล้ว อิสราเอลจะได้รับความเสียหายเพียงใด

 

โลกบนเส้นด้ายบางๆ!

กระนั้นผลจากการโจมตีของอิหร่านในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา จึงเสมือนกับการพาอนาคตของตะวันออกกลางแขวนไว้บนเส้นด้ายบางๆ ทีไม่มีใครคาดเดาได้ว่า นับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น… วันนี้ ไม่มีใครอยากเห็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้การเมืองโลกไร้เสถียรภาพทันที

แม้จะมีสัญญาณบวกให้เห็นอยู่บ้างคือ อิหร่านประกาศยุติปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว เพราะถือว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการในการโจมตีตอบโต้อิสราเอลแล้ว ขณะเดียวกันอิสราเอลประกาศว่าจะมีการตอบโต้อิหร่าน แต่ก็ยังไม่ลงมือจริง และไม่มีใครคาดเดาได้ว่า สุดท้ายแล้ว อิสราเอลจะตอบโต้แบบใด ทั้งไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสงครามจากนี้ไปจะยกระดับขึ้นอีกเพียงใด ซึ่งการยกระดับเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อปัญหาเสถียรภาพและความมั่นคงทั้งในเวทีโลกและเวทีตะวันออกกลางแต่อย่างใด

 

บริบทไทย

สถานการณ์ในตะวันออกกลางนับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ยกระดับขึ้นทีละขั้นๆ จนกลายเป็นความน่ากังวลใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันสงครามในยูเครนก็ไม่มีสัญญาณของสันติภาพแต่อย่างใด หรือเป็นอย่างที่เรามักจะกล่าวล้อเล่นกันว่า “นกพิราบแห่งสันติภาพถูกยิงตายกลางสนามรบไปแล้ว!” ดังนั้น ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน จึงไม่แปลกอะไรที่คนจะกลัว “สงครามโลกครั้งที่ 3” และสิ่งที่ยืนยันถึงความกลัวดังกล่าวได้ดีที่สุด คือการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย

สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือ เห็นเจ้าของร้านทองที่เยาวราชให้สัมภาษณ์รายการข่าวทีวี และพูดถึงสถานการณ์ความตึงเครียดอิสราเอล-อิหร่าน… การเมืองโลกวันนี้เข้าใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด เจ้าของร้านทองและผู้ซื้อทองในไทยกำลังถูกสถานการณ์โลกบังคับให้ต้องเรียนรู้การมีสินทรัพย์ในยามที่มีความเสี่ยงในเวทีระหว่างประเทศเช่นปัจจุบัน

และยิ่งสถานการณ์ความขัดแย้งในเวทีโลก “ยกระดับ” มากขึ้นเท่าใด ราคาทองคำจะเป็นดัชนีที่ชัดเจนของความกลัวในเรื่องนี้ด้วย!