‘ราก’ แห่ง ‘หมากพลู’ ที่วันนี้ ‘ไม่เหลือ’ ให้เห็น | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

สุดสัปดาห์หลังสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมมีนัดหมายกับเครือญาติเพื่อไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร ตามประเพณีของไทยเรา งานทำบุญเลี้ยงพระอย่างนี้เป็นโอกาสให้ผมได้นึกย้อนไปถึงเรื่องราวสมัยผมเป็นเด็ก ว่าได้เคยทำอะไรในยุคนั้นบ้าง และมาถึงตอนนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง

ในยุคสมัยนั้น การเลี้ยงพระสงกรานต์ของครอบครัวเราจัดที่บ้านคุณยายครับ เพราะอัฐิของคุณตาเก็บรักษาไว้ที่บ้านเรือนของเรา คุณยายจึงเป็นผู้บัญชาการในเรื่องการทำบุญเลี้ยงพระประจำปี และข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือขนาดของบ้านเรือนสมัยนั้นก็พอเลี้ยงพระได้

เพราะคุณยายไม่ได้อยู่คอนโดฯ ฮา!

ห้องที่จัดเป็นห้องพิธีสงฆ์ แม้ไม่ได้ใหญ่โตเป็นท้องพระโรงหรือห้องโถงบ้านเศรษฐี แต่ก็พอจัดวางโต๊ะหมู่บูชาขนาดเล็กและปูผ้าขาววางอาสนะสงฆ์จำนวนเก้ารูปได้ลงตัว จัดแบบนี้แล้วเหลือที่ให้คนนั่งได้เพียงไม่กี่คน ส่วนจำนวนคนที่เหลือนอกนั้นก็นั่งหลามไหลออกไปนอกห้องซึ่งเปิดประตูทะลุถึงกัน

อาจจะแลเห็นพระไม่ครบเก้ารูปแต่ได้ยินเสียงพระสวดมนต์แน่ครับ

 

ครั้นถึงเวลาวันงาน ครอบครัวของเราต้องส่งรถไปรับพระจากวัดมาที่บ้าน และถึงแม้ท่านจะใส่รองเท้าสะอาดสอ้านมาแล้วเพียงใดก็ตาม เราก็ต้องเตรียมถังน้ำและขันน้ำไว้พร้อมสำหรับตักน้ำรดเท้าของท่าน นัยว่าเป็นการทำความสะอาดและเป็นการแสดงความเคารพนบนอบด้วยอีกสถานะหนึ่ง

หน้าที่นี้บางปีผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการ เวลานั้นรู้สึกว่าตัวเองมีความรับผิดชอบขึ้นมาอย่างไรก็ไม่รู้ รู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ให้ทำหน้าที่สำคัญ ประมาณว่าได้เป็นนนทกหรืออะไรทำนองนั้น เพียงแต่พระท่านไม่ได้เขกหัวหรือถอนผมของผมแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามผมสังเกตได้ว่าท่านมักจะมองดูกิริยาที่เราตักน้ำราดรดเท้าของท่านด้วยความเมตตา

นี่เห็นจะเป็นบันไดขั้นแรกที่ผมได้สนิทสนมและได้รับความเมตตาจากพระภิกษุทั้งหลาย ทำให้ผมรู้สึกว่าระยะห่างระหว่างพระกับผมไม่ไกลกันเลย ขนาดตักน้ำล้างเท้าพระก็เคยทำมาแล้วนี่นา

 

ลืมเล่าไปว่า นอกจากภัตตาหารที่ต้องเตรียมไว้ถวายเลี้ยงเพลแล้ว การต้อนรับเมื่อพระมาถึงเรือนชานของเราและเข้านั่งประจำอาสนะในยุคสมัยนั้น ยังต้องมีสิ่งของที่จะเอาไว้เป็นประจำอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือพานหมากพลูบุหรี่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครเขาทำกันเสียแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่าคนไทยเราในสมัยก่อนเคี้ยวหมากเป็นประจำ หมากนั้นเคี้ยวคู่กันกับใบพลูซึ่งป้ายปูนสีแดงแล้วม้วนหรือจีบเป็นหางยาว เมื่อผมเป็นเด็กยังได้เคยเห็นผู้ใหญ่ท่านเคี้ยวหมากและมีการจีบพลูให้เห็นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เวลามีงานเลี้ยงพระ เราจึงต้องมีพานใส่หมากพลูและบุหรี่ เป็นของประเคนถวายปรนนิบัติพระเมื่อแรกที่ท่านมาถึงบริเวณงาน ในพานนั้นต้องมีกลักไม้ขีดด้วย เพื่อความสวยงามยังมีการดึงก้านไม้ขีดออกมาเรียงเป็นลำดับสูงต่ำคาไว้ที่กลักไม้ขีดและสะดวกต่อการใช้งานด้วย

หมากพลูเป็นของที่มีความสำคัญและอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาช้านาน การนำพานหมากพลูไปมอบให้กับผู้ใหญ่จึงเป็นความหมายของการแสดงความนอบน้อม และอาจหมายความไปไกลถึงการฝากตัวเป็นลูกหลานหรือลูกศิษย์ด้วย

เรายังเห็นร่องรอยของประเพณีได้จากธรรมเนียมการที่ฝ่ายชายยกขันหมากไปมอบให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เพื่อสู่ขอหมั้นหมายหรือสู่ขอในพิธีแต่งงาน เป็นต้น

 

แม้กระทั่งในสมัยที่ผมเป็นเด็กและได้พบเห็นประเพณีเลี้ยงพระในบ้านเรือนดังที่เล่ามาข้างต้น ผมจำเป็นต้องกล่าวว่าเป็นยุคปลายสมัยที่คนไทยเรากินหมากกินพลูแล้ว

การถดถอยหรือลดลงของวิถีชีวิตเรื่องนี้น่าจะเนื่องมาจากการรับวัฒนธรรมตะวันตกในราวสมัยรัชกาลที่ห้าเป็นข้อสำคัญ เพราะเราเริ่มคบค้าสมาคมกับฝรั่งชาติตะวันตกทั้งหลาย เมื่อเขาเดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยและเห็นคนไทยฟันดำปิ๊ดปี๋ เขาคงสงสัยบ้างล่ะว่าเกิดอะไรขึ้นกับฟันของเรา กว่าจะอธิบายกันได้ความว่าเกิดขึ้นเพราะเรากินหมากกินพลูนี้ก็เหนื่อยโขอยู่

พูดฝรั่งทีไรเหนื่อยทุกทีครับ

อีกประการหนึ่ง แต่งแหม่มแต่งฝรั่งแล้วแต่หน้าขาวฟันดำมันก็ไม่ไปด้วยกัน จริงไหมครับ

จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือผ่านตามาแล้วหลายครั้งว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2440 พระองค์ท่านต้องทรงขัดพระทนต์ขาว เจ้านายและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จก็ต้องพลอยขัดพระทนต์หรือขัดฟันให้ขาวตามพระราชนิยมด้วย

เป็นอันว่าตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วธรรมเนียมหรือความนิยมกินหมากกินพลูก็เริ่มลดลง

 

มาซ้ำหนักอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านมีนโยบายสร้าง “วัธนธัม” แบบใหม่ขึ้นโดยยกเลิกเรื่องราวที่ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องพ้นสมัย และต้องปรับวิถีชีวิตของเราให้เข้ากับแบบแผนของโลกตามทัศนะของท่าน

เพราะฉะนั้น ผู้หญิงผู้ชายจึงต้องสวมหมวก และต้องทำอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง รวมทั้งเลิกกินหมากด้วย

ในยุคสมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หมากและพลูกลายเป็นของต้องห้ามสำหรับสังคมไทย สวนหมากกับสวนพลูจึงค่อยเลือนหายไปทีละเล็กทีละน้อย

เหลือแต่ชื่อซอยสวนพลูไว้ให้เป็นหลักฐานเตือนใจเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี จะสังเกตเห็นได้ว่าความนิยมกินหมากกินพลูนี้ก็ยังไม่ได้ห่างหายไปโดยสิ้นเชิง แม้จนมาถึงยุคสมัยที่ผมเป็นเด็ก ผมก็ยังได้เห็นผู้ใหญ่ที่มีอายุมากพอสมควรกินหมากอยู่ เชี่ยนหมากหน้าตาเป็นอย่างไร เต้าปูนเป็นอย่างไร วิธีจีบพลูให้หางยาวสวยงามทำอย่างไร ผมยังได้ทันเห็นกับตาของตัวเอง

เดี๋ยวนี้ไม่เหลืออะไรให้เห็นเลยครับ

ถ้าอยากจะดูซองพลู ก็ต้องไปแถวริเวอร์ซิตี้โน่นเพราะมีขายอยู่ในฐานะเป็นของเก่าราคาแพง

 

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมการกินหมากนี้ ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติอาจกล่าวได้ว่าสาบสูญไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีร่องรอยให้พบเห็นได้ในแบบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของเรา

ยกตัวอย่างเช่น ในเวลามีงานพระราชพิธีของหลวง โต๊ะเคียงที่วางอยู่ด้านข้างพระราชอาสน์ เจ้าพนักงานจะทอดพานพระศรี คือพานที่มีหมากและพลูเสวยไว้เป็นประจำ “เผื่อ” ว่าต้องพระราชประสงค์จะเรียกเสวย

ดังนั้น ในพานพระศรีหรือบางทีก็เรียกว่าพานพระขันหมากนี้ จึงต้องมีหมากและพลูของจริงอยู่ ไม่ใช่ทอดวางไว้แต่พานเฉยๆ

ความรู้ในเรื่องของการจีบพลูและฝานหมาก จึงยังมีการสืบทอดอยู่ในระหว่างผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ร่องรอยที่เหลือตกค้างอีกอย่างหนึ่งคือ พนมหมากหรือพานขันหมากจำลองขนาดยักษ์ที่วางประดับอยู่ตามมุมไพทีคือส่วนที่เป็นบริเวณยกพื้นด้านข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว โดยรอบปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑปและพระศรีรัตนเจดีย์

เคยสังเกตไหมครับว่ามีสิ่งก่อสร้างขนาดโตพอสมควร ดูโดยรวมแล้วเป็นพานสองชั้น บนพานมีกรวยสีเขียววางอยู่ สิ่งนี้แหละครับคือแบบขยายของพนมหมาก ซึ่งเป็นเครื่องบูชาสักการะอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ

และการสร้างพนมหมากในบริเวณนี้ มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และผมเข้าใจว่าความตั้งใจแต่แรกคือการถวายเป็นพุทธบูชา

ที่เราเห็นด้วยตาว่าเป็นกรวยสีเขียวนั้น แท้ที่จริงคือพลูที่จีบหางยาวแล้วจับรวมกันเข้า มีพวงมาลัยรัดเป็นข้อเป็นจังหวะเพื่อความสวยงามจากล่างขึ้นบน ลักษณะถึงมองดูคล้ายกรวยที่ทำจากใบตอง แต่แท้ที่จริงเป็นคนละเรื่องเลยครับ

ข้อนี้ก็น่าเห็นใจที่คนรุ่นปัจจุบันจะไม่เข้าใจเสียแล้วว่าพนมหมากคืออะไร เพราะเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตประจำวันเสียเหลือเกิน ผมเข้าใจว่ายังมีการทำพนมหมากอยู่บ้าง ในเวลามีงานใหญ่งานสำคัญเช่นงานลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งยังมีผู้รักษาประเพณีนี่อยู่ และอีกที่หนึ่งซึ่งจะเห็นพนมหมากได้ คือการจัดพนมหมากเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาสักการะชุดใหญ่ที่เรียกว่าเครื่องนมัสการบูชายิ่งสำหรับงานเทศน์มหาชาติ

ซึ่งทั้งสองเรื่องหรือสองงานนี้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นเสียแล้วเช่นกัน

 

นี่เลยวันผู้สูงอายุมาได้ไม่กี่วัน มาถึงวันนี้ผมสวมบทบาทผู้สูงอายุแบบเต็มเหนี่ยวเลยจริงไหมครับ คนแก่จะมีอะไรที่ให้ความสุขกับชีวิตมากไปกว่าการเล่าความหลังให้ลูกหลานฟังอีกเล่า

ผู้ใหญ่นั้นเห็นอะไรมามากและยังทรงจำได้ ส่วนเด็กยังไม่เห็นอะไรอีกมาก เขาจึงมองไปในอนาคตด้วยความหวังมากกว่าการมองย้อนอดีต

เรื่องแบบนี้ไม่มีใครผิดใครถูก

ผมเองก็ไม่ได้กินหมากครับ แต่การเข้าใจว่าสมัยก่อนเป็นอย่างไร กว่าจะมาถึงสมัยนี้ที่คนเลิกกินหมากแล้ว เราต้องผ่านพบอะไรมาบ้าง และยังเหลือร่องรอยอะไรให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของปู่ย่าตายายบ้าง ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะต้นไม้จะเติบโตได้ก็ต้องมีราก ลำต้นถึงจะเติบโตได้อย่างมั่นคง

แต่การเอารากกลับขึ้นมาเป็นลำต้นก็เป็นของประหลาดอยู่เหมือนกัน เพราะรากไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ต้นไม้ที่มีแต่ราก ไม่มีต้น ไม่มีใบ ไม่มีดอกจะอยู่ได้อย่างไร

สรุปว่า รากและลำต้นต่างคนต่างทำหน้าที่ และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ต้นไม้จึงจะรอดชีวิต