มือปราบหูดำ ผ่าไส้ในองค์กรตำรวจ อ่านศึกโจ๊ก-ต่อ จบอย่างไร?

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือมือปราบหูดำ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มองปัญหาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า เวลาตำรวจมีเรื่อง การแต่งตั้งหรือทำอะไรก็แล้วแต่ แย่งกันอยู่ 2 อย่าง คือ

1. แย่งความมีอำนาจหน้าที่ เช่น การเป็น ผบ.ตร. / รอง ผบ.ตร. / ผบช. ต้องเป็นนั่น ต้องคุมนี่อะไรต่างๆ

2. แย่งเรื่องผลประโยชน์ ที่ขัดกันทุกวันนี้ ก็คือเรื่องผลประโยชน์ เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องการกระทำที่ไม่ชอบทั้งหมด

ฉะนั้น พอเป็นอย่างนี้แล้วถึงได้มีการวิ่งเต้นโยกย้าย โดยการใช้เงินซื้อขายตำแหน่ง

เมื่อซื้อขายได้คุณก็ต้องได้ตำแหน่งดีๆ และสิ่งที่ตามมาก็คือ คุณก็ต้องไปรีดไถกับประชาชน

ซึ่งถ้าจะย้อนจุดเริ่มต้นจริงๆ ที่มาของการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง มาจากยุคหนึ่งที่นักการเมืองเข้ามามีบทบาทแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงตำรวจ

ถ้าย้อนไปคือตั้งแต่สมัยก่อนเป็นกรมตำรวจ ไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ ผบ.ตร.มีเอกภาพ

ตอนหลังพอเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการเขียนกฎหมายทำให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง มายุ่งในการแต่งตั้งมากขึ้น โดยมีนักการเมือง ส.ส.พาไปพบผู้มีอำนาจ อ้างเรื่องการดูแลพื้นที่อะไรทำนองนี้

บางยุคนักการเมืองกับ ตร.มีแบ่งกันแบบคนละครึ่ง สมมุติแต่งตั้งโยกย้าย 1,000 คน นักการเมืองขอแล้ว 500 ซึ่งไอ้พวกที่วิ่งเต้นเนี่ย ถ้าให้พูดตรงๆ คือมึงโตมาโดยที่ไม่ได้ผ่านงาน

ผมพูดเสมอว่า “ตำรวจสมัยนี้” มันเหมือนบ่มแก๊ส ก็คือสีสวยแต่ไม่อร่อย ไม่หอมเลย เพราะไม่เคยทำงาน ไม่เหมือนการบ่มจากธรรมชาติ ตำรวจเวลาจะทำอะไรต้องมีผลงาน เอางานเข้าสู้ถึงจะได้

ยุคผมต้องเอางานเข้าแลก เดี๋ยวนี้คุณทำไปดิ ทำให้ตายห่า พอจะแต่งตั้งไม่รู้หมูหมากาไก่มาเอาตำแหน่งคุณไป คุณก็ขึ้นไม่ได้ พอขึ้นไม่ได้คุณก็ไม่อยากทำงาน

พอไม่อยากทำงานผลกระทบก็ไปตกกับประชาชน

: โฟกัสศึกบิ๊กต่อ vs บิ๊กโจ๊ก อย่างไร

คุณต้องสู้ตามกฎหมาย ผมว่าเหนื่อยทั้งคู่

แต่ที่เหนื่อยกว่าตอนนี้ก็คือรองสุรเชษฐ์เพราะโดนให้ออกราชการไปแล้ว

ส่วนคดีก็จะมาสู้กัน อีกคนหนึ่งก็ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษก็ยังสอบสวนอยู่

ถ้ามันมีความผิดคล้ายกันเหมือนกันก็จะต้องโดนเหมือนๆ กัน

มันก็เหนื่อยเหมือนกัน

 

: บางคนมองว่า “บิ๊กโจ๊ก” กลับมาได้อีกในอนาคต

คือกูรูพวกนี้ที่ออกมาวิเคราะห์อะไรกันมากมายตามรายการต่างๆ ถ้าเกิดคุณเข้าข้างกัน โดยที่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อิงกับกฎหมายเลยก็ไม่ใช่ เวลาผมให้สัมภาษณ์ ให้ความเห็น ผมเอากฎหมายมาประกอบการพูดหมด แล้วผมไม่มีอะไรกับทั้งคู่

ยกตัวอย่างเช่น การกระทำความผิดแบบนี้จะต้องถูกกรรมการสอบสวนร้ายแรง การถูกตั้งคณะกรรมการ แบบนี้คือต้องให้ออกไว้ก่อน ถ้าเป็นความผิดจริงก็ไล่ออก กฎหมายมันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าคุณไม่ผิด บอกถ้าขาวจั๊วะคุณก็กลับมาได้อีก ถ้าผิดเล็กน้อยคุณก็ลงโทษเล็กน้อย ฉะนั้น สิ่งที่คุณถูกกล่าวหา คุณต้องไปแก้ตัวตรงจุดนี้

มันมีคำอยู่คำหนึ่ง “อย่าฆ่าน้อง อย่าฟ้องนาย อย่าขายเพื่อน” คำนี้เป็นอมตะ ที่ทุกวันนี้ยังใช้การได้อยู่

การฆ่าลูกน้องเพื่อให้ตัวคุณยืนเด่น ลูกน้องยอมรับคุณไม่ได้ แม้คุณอยู่ได้ก็อยู่ไม่นาน

ฟ้องนาย คุณมีเรื่องกับนายบางครั้งศาลอาจจะชนะ แต่สังคมมองคุณใช้ไม่ได้ ถูกมองว่าอกตัญญู ขายเพื่อน ก็มีเพื่อนเวลาทำอะไรก็ร่วมกัน แต่เวลามีอะไรขายก็ไปขายในที่แจ้ง

ที่ประชาชนเขาหมดศรัทธา เป็นเพราะ “คน” ถ้าคุณเป็นผู้นำองค์กรคุณไม่อยู่ในร่องรอย ตำรวจสมัยก่อน พวกเราเป็นตำรวจอาชีพ แต่สมัยนี้มันเป็นอาชีพตำรวจ คือการเป็นตำรวจอาชีพของเราต้องมีจิตวิญญาณ มีจรรยาบรรณ ในศีลธรรม ถามว่าพวกเรามือสะอาดไหม ก็ไม่ใช่ มันก็เทามั่ง แต่พวกเรารู้จักพอ รู้จักคุณธรรมจริยธรรม มันจึงไม่เกิดเรื่อง แต่สมัยนี้ไม่ใช่ มันเป็นอาชีพตำรวจที่หาประโยชน์

อย่างกรณีเอกสารที่มีการปล่อยให้หลุด มันมีผลอะไรต่อใครบ้าง คุณที่ปล่อย (ไม่รู้ว่าใคร) ก็เสียเครดิตไปแล้ว คนไม่อยากสนิทด้วยแล้ว ไม่ไว้ใจ หายไปหมด แล้วต่อไปใครจะมาช่วยเหลืออะไรคุณ เพราะถ้าเกิดพูดอะไรคุณอาจจะทำอะไรในอนาคตก็ได้

สำหรับอนาคตบิ๊กโจ๊ก ผมมองว่าเหนื่อย แต่ต้องสู้กันไป เช่น คดีอาญาคุณไปที่ไหนมั่งคุณยังไม่รู้เลยแล้ว หากถ้าเกิดมีเงินมีทองผิดปกติคุณจะไปเกี่ยวข้องกันแจ้งบัญชีเท็จกับ ป.ป.ช หรือเส้นทางการเงินไปเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินหรือเปล่า คือมันจะไปเกี่ยวเยอะอีกหลายขั้นตอน แม้ว่าอายุราชการจะเหลือมาก แต่ตอนนี้เอาตัวรอดก่อน ให้ชนะคดีก่อน

แล้วที่บอกว่าแมวเก้าชีวิต ผมย้อนไปถึงยุค พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ตอนนั้นใครก็มองว่าเตรียมได้เป็น ผบ.ตร.แน่นอน สุดท้ายก็ไม่ได้ การที่ได้เป็น ผบ.ตร. มันมีทั้งวาสนา และกฎระเบียบ คณะกรรมการ

สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตคือ “บิ๊กต่อ” ตั้งแต่เกิดเรื่อง เขาเงียบที่สุด ความเงียบแปลว่าคือการปฏิเสธก็ได้ ซึ่งอันนี้เป็นคุณมากกว่า คือฉลาดเลย ไม่มีอะไรหลุดจากปากเขา

 

: ถ้าจะปฏิรูปตำรวจจริงๆ ยาก?

เวลาพูดถึงเรื่องปฏิรูป ผมมองว่าองค์กรมันไม่ได้เสียหาย แต่ทุกวันนี้เหตุการณ์ต่างๆ มันมาจากคน คนมันทำให้องค์กรเสีย คุณจะเลือกคนที่ดีได้ คุณจะเอาคนมาเป็นตำรวจที่ดีได้ คุณต้องไปดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่ของเขา ถ้าคุณอยากให้มีตำรวจที่ดี แต่คุณยังปล่อยให้เขายากจน ให้เขาทุกข์ลำบาก พวกเขาก็หาช่องทางเพื่อกระทำความผิด

แล้วเวลาปฏิรูปคน ก็ต้องไปดูการแต่งตั้ง คุณก็แต่งตั้งด้วยความยุติธรรม คัดคนที่มีความรู้ความสามารถ

 

: การตัดวงจรอุบาทว์ใน ตร.ทำอย่างไร

เป็นปัญหาเรื่อง “คน” ผมว่าจะดีไม่ดีอยู่ที่ผู้นำองค์กร และนายกรัฐมนตรีเพราะเป็นผู้ดูแลนโยบาย

สำนวนที่บอกว่าหัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก ขึ้นอยู่ที่เครื่องจักร 2 อันนี้หมุนๆ ระดับล่างๆ เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ก็ต้องหมุนติ้วๆๆ ตาม

ฟันเฟืองใหญ่หมุนเร็วเท่าไหร่ เฟืองเล็กก็ต้องหมุนเร็วเท่านั้น

ก็ต้องไปอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาว่าจะวางตัว จะทำตัวยังไง

ชมคลิป