ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
เดือนเมษายนปีนี้ พื้นที่ของประเทศไทยเจอกับอากาศร้อนจัดอุณหภูมิทะลุทะลวงทำลายสถิติเก่าๆ มากถึง 38 แห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
แต่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอยู่ 2 แห่ง คือ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทำสถิติใหม่อุณหภูมิสูงสุด 43.6 องศาเซลเซียส
ส่วน อ.เถิน จ.ลำปาง กระฉูดที่ 44.2 องศาเซลเซียส ทุบสถิติเดิม 43.5 องศาเซลเซียส เมื่อ 73 ปีก่อน
อากาศร้อนจัดในฤดูร้อนของปีนี้ กำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ปลายเดือนพฤษภาคม ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแต่ฝนทิ้งช่วง หลายพื้นที่อาจเกิดปัญหาแล้งซ้ำซาก ชาวนาชาวไร่ต้องเตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำระหว่างนี้ถึงมิถุนายน จากนั้นฝนจะตกหนักในเดือนกันยายน-ตุลาคม
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ปีนี้ประเทศไทยร้อนและแล้งหนัก แนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส เป็นไปตามค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกในขณะนี้
การที่ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างนี้แสดงว่า ความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ล้มเหลว และกิจกรรมของชาวโลกยังเป็นเช่นเดิมๆ ใช้น้ำมัน ก๊าซกันอย่างมโหฬาร แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปลายศตวรรษนี้จะเพิ่มขึ้น ราว 2.4-2.7 องศาเซลเซียส
ฉะนั้น เด็กไทยที่เกิดวันนี้และมีชีวิตยีนยาวกว่า 73 ปี มีความเป็นไปได้ว่าต้องอยู่ภายใต้ภาวะโลกเดือด ที่อุณหภูมิร้อนสุดสุด ฤดูร้อนเดือนเมษายนอาจพุ่งทะลุเกิน 50 องศาเซลเซียส
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เล็งอนาคตประเทศไทยจะต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 6 สาขา
1. สาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นมิติการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติจากน้ำ
2. สาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
3. สาขาการท่องเที่ยว ในมิติการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยว
4. สาขาสาธารณสุข ในมิติระบบสาธารณสุขที่สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
5. สาขาการจัดการทรัพยากร ในมิติการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
และ 6. สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ในมิติของประชาชน ชุมชนและเมือง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผู้คนทั้งโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนชั้นบรรยากาศโลกแปรปรวนทำปฏิกิริยารุนแรงนำไปสู่ภาวะโลกเดือด ทั้งแล้งจัด ร้อนสุดขีด และเกิดพายุกระหน่ำ
นักวิทยาศาสตร์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่า โลกเดือดเป็นอย่างไรและส่งผลอะไรกับนครดูไบ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในตะวันออกกลาง ปกติมีฝนตกน้อยมาก เฉลี่ยวัดปริมาณน้ำฝนได้ราว 140-200 มิลลิเมตร (ม.ม.) ต่อปี เฉพาะนครดูไบนั้น วัดได้ 97 ม.ม. และเดือนเมษายนมีน้ำฝนเพียง 8 ม.ม.เท่านั้น
แต่มาวันที่ 15 เมษายนปีนี้ ฝนตกหนักมาก ภายใน 24 ชั่วโมงวัดปริมาณน้ำฝนได้มากถึง 250 ม.ม. เป็นปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบ 75 ปีของนครดูไบ
ฝนเทกระหน่ำจนสนามบินดูไบที่การจราจรทางอากาศแน่นหนาที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกต้องหยุดบริการ ยกเลิกเที่ยวบินนับร้อยไฟลต์ กลายเป็นความโกลาหลอลหม่าน และมีผู้เสียชีวิตเพราะพายุฝนถึง 4 คน เป็นข่าวที่ชาวยูเออีช็อกไปตามๆ กัน
คำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้ชัดว่า ทำไมปริมาณน้ำฝนที่ตกในนครดูไบวันนั้นจึงมีมากผิดปกติ?
หรือเป็นเพราะอากาศที่แล้งจัดร้อนจัดเกิดความชื้นในชั้นบรรยากาศโลก ผนวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญจึงทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ย้ำเตือนว่า ถ้าทุกประเทศยังไม่ช่วยกันควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน โลกใบนี้จะเป็นโลกเดือดที่มีทั้งร้อนแล้ง ฝนตกหนัก และชาวโลกต้องเผชิญชะตากรรมอย่างหนักหนาสาหัส รุนแรงกว่าขณะนี้หลายเท่าตัว
วกไปดูข่าวฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ที่ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ของชาวเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เป็นผลมาจากอากาศร้อนจัดแล้งจัดและชาวบ้านรุมกันเผาป่า เผาไร่รอเวลาเพาะปลูกพืชในหน้าฝน
วงจรฝุ่นพิษจึงวนเป็นวัฏจักรเลวร้ายทุกปีแม้รัฐบาลทุกยุคพยายามแก้แต่ไม่สำเร็จ ปัญหาลุกลามบานปลายเรื้อรัง
ฝุ่นพิษไม่เพียงทำให้การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ทรุดลง ภาพลักษณ์ตกต่ำเพราะคุณภาพอากาศของเชียงใหม่เลวร้ายที่สุดในโลก แต่ยังทำให้สุขภาพย่ำแย่
ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น นั่นคือ การสูญเสียคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อันเป็นผลมาจากมะเร็งปอดถึง 4 คน
ในเฟซบุ๊กของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนแสดงความไว้อาลัยกับครอบครัวของศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด ทั้งที่เป็นผู้ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ตรวจสุขภาพทุกปี กินอาหารคลีน เล่นโยคะ วิ่งและปั่นจักรยาน
คุณจิตรกร สามีอาจารย์ระวิวรรณให้สัมภาษณ์กับสื่อบีบีซีว่า ได้รับข่าวร้ายของภรรยาเมื่อปี 2566 ซึ่งมีอาการไอเป็นเลือด แพทย์วินิจฉัยพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอด ระยะ 4 ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่
การจากไปของอาจารย์ระวิวรรณนั้น คุณจิตรกรให้บีบีซีถ่ายทอดเรื่องราวเพราะต้องการให้สังคมและรัฐบาลตระหนักว่าภัยของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มันใกล้ตัวเรามากแค่ไหน และอย่ารอช้าในการแก้ปัญหา
“ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวใครอีกเพราะมันทารุณ การต้องมาตายเพราะฝุ่นพิษ มันเหมือนการตายที่ไร้ค่า” คุณจิตรกรบอกกับบีบีซี
เฟซบุ๊กของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา ไล่ลำดับปีและชื่อคณาจารย์อีก 3 คนที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
มีนาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กันยายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาจารย์มงคล ริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จักพีเอ็ม 2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ธันวาคม 2566 นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สําหรับอาจารย์ภาณุวรรณ และคุณหมอกฤตไทนั้น ผมเคยนำเรื่องราวของอาจารย์ทั้งสองมาเผยแพร่ในคอลัมน์นี้
อาจารย์ภาณุวรรณ เป็นผู้เชี่ยวชาญผึ้งระดับเป็นนักวิจัยดีเด่น เสียชีวิตจากมะเร็งปอดท่ามกลางความแปลกใจของผู้ใกล้ชิดเพราะอายุยังน้อย ไม่สูบบุหรี่ แต่อยู่ในเชียงใหม่ซึ่งมีปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นเวลานาน
หลังป่วยอาจารย์ภาณุวรรณพยายามต่อสู้ผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายอากาศสะอาดและอนุญาตให้เผยแพร่อาการป่วยเป็นบทเรียนแก่คนอื่นๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้และป้องกันตนเองจากโรคมะเร็ง
ส่วนคุณหมอกฤตไท วัย 29 ปี ป่วยเป็นมะเร็งปอดชนิดที่มียีนกลายพันธุ์หลังเจอฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ตั้งเพจชื่อ “สู้ดิวะ” บอกเล่าเรื่องราวอาการป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนปัญหาฝุ่นของภาคเหนือที่เกินมาตรฐาน
“ประเทศเราติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกติดต่อกันมาหลายปี ทำไมเราถึงยังไม่เห็นความชัดเจนในการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอากาศ หรือความชัดเจนในการพยายามหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือปัญหารถติด มันมีหลายสาเหตุแหละครับที่ทำให้มีปัญหาฝุ่น”
“แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจนและลงลึกถึงสาเหตุพีเอ็ม 2.5 หลักๆ ในประเทศไทยว่าตกลงอะไรคือสาเหตุหรือแหล่งกำเนิดหลักของพีเอ็ม 2.5 ในประเทศไทยแต่ละภาคส่วนกันแน่ มันต้องมีการวิเคราะห์และไปแตะสิ่งที่เป็นรากฐานของปัญหาของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างแท้จริงสิ บ้านเราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืนสักที จริงไหมครับ?”
ความเห็นของคุณหมอในบางตอนของเพจ “สู้ดิวะ”
เป็นคำถามนัยยะเดียวกันที่ปรากฏในเฟซบุ๊กอาจารย์พิชญ์อาภา
“ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไรจึงจะแก้ปัญหา การเผาและพีเอ็ม 2.5” •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022