ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (12)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

คู่แข่งหลวงพิบูลฯ

หลังหลวงพิบูลสงครามนำพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 แล้วผ่อนปรนให้พระยาทรงสุรเดชกลับเข้ารับราชการใหม่เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนรบที่เชียงใหม่

จากนั้นหลวงพิบูลสงครามก็เติบใหญ่บนเส้นทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเปล่งรัศมีแห่งบารมีเจิดจ้าขึ้นตามลำดับ

นามของพระยาทรงสุรเดชที่เงียบหายไประยะหนึ่งกลับได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกครั้งคราในฐานะตัวเก็งสำคัญคนหนึ่งที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 27 กรกฎาคม 2480 จากกรณีที่ดินของพระคลังข้างที่ทำให้ต้องมีการเสาะหาตัวนายกรัฐมนตรีใหม่

หนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับ 31 กรกฎาคม 2480 กล่าวถึงเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า

“ส่วนทางคณะรัฐบาล ก่อนอื่นจะต้องได้ผู้ทรงความสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วจึงคัดเลือกคณะรัฐมนตรีต่อไป เวลานี้เป็นที่เข้าใจกันอยู่หลายทาง กล่าวตามเสียงมหาชนว่าจะได้แก่ 1.พระยาพหลพลพยุหเสนา 2.พระยาทรงสุรเดช 3.หลวงพิบูลสงคราม 4.หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

เมื่อพิจารณาเหตุผลอย่างกว้างๆ สำหรับพระยาพหลฯ ท่านปรารถนาอย่างแรงกล้าอยู่แล้วที่จะฟอกตัวให้บริสุทธิ์สะอาด เพราะฉะนั้น บางทีท่านจะปฏิเสธแข็งแรงไม่ยอมรับตำแหน่งแม้จะมีการวิงวอนขอร้องกันสักเพียงใด แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ราชการสำคัญอีกหลายอย่าง ท่านคงไม่ปฏิเสธเสียด้วยพร้อมกัน”

“ทางพระยาทรงสุรเดช สมาชิกสภา ส่วนมากกำลังใฝ่ฝันถึง นับแต่ได้มีการลาออกของรัฐมนตรีทั้งคณะแล้ว ทางรัฐบาลก็ได้เริ่มมาติดต่อขอรับความตกลงให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และดูเหมือนทางเจ้าคุณทรงฯ ก็ได้ตอบความตกลงรับตำแหน่งแก่รัฐบาลแล้ว”

“สำหรับหลวงพิบูลสงคราม หากจะพลาดไปจากตำแหน่งนายกฯ ตามที่มหาชนส่วนมากคาดกัน ก็ต้องเป็นเพราะท่านผู้นี้ไม่ยินดีรับตำแหน่งในขณะนี้เท่านั้น”

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นอีกผู้หนึ่งที่คาดว่าควรแก่ตำแหน่งนายกฯ เพราะท่านผู้นี้เป็นบุคคลสำคัญผู้ร่วมเสียสละชีวิตเพื่อชาติมาแล้ว”

 

ขณะที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ก็ลงข่าวเกี่ยวกับพระยาทรงสุรเดชจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลายครั้งเช่นกัน ดังเช่นฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2480

“การสอบสวนของเราซึ่งได้กระทำทั้งภายในอย่างใกล้ชิด คือจากผู้เคยอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีที่ลาออกไปแล้ว และภายนอกอันได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 โดยการหยั่งความรู้สึกที่แสดงออกมาทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝงอยู่ได้ความต้องกันในบุคคลสองคน ซึ่งทั้งนี้หมายความว่า ถ้าเจ้าคุณพหลฯ จะไม่ยอมรับเป็นนายกฯ อย่างแน่นอนแล้ว บุคคลที่อยู่ในความต้องการที่กล่าวนี้คือ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้ทำหน้าที่เสนาธิการของคณะราษฎร ซึ่งมีเจ้าคุณพหลฯ เป็นแม่ทัพครั้งก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รองลงมาก็คือ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม”

เสทื้อน ศุภโสภณ บันทึกไว้ใน “ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช” เกี่ยวกับท่าทีของหลวงพิบูลสงครามว่าได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อ 5 สิงหาคม 2480 ไว้ดังนี้

“เวลานี้เป็นเวลาอยู่ในสมัยบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ และข้าพเจ้าเองถือมั่นอยู่เสมอว่า พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าผู้นำของข้าพเจ้ามาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จวบจนกาลบัดนี้ ฉะนั้น ถ้าเป็นผู้กตัญญูต่อหัวหน้าของตนก็ต้องหวังจะได้ผู้ใหญ่ของข้าพเจ้าคือ พ.อ.พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่จนตลอดชีวิต ข้าพเจ้ามีหน้าที่จะต้องช่วยท่านเพื่อให้ท่านนำประเทศที่รักให้เจริญยิ่งขึ้นไปตามปรารถนาอันดี แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมา และข้าพเจ้ายอมตายกับท่านทุกโอกาสและทุกเวลา ไม่เลือกว่าจะอยู่ในฐานะและเหตุการณ์ใดๆ”

แปลว่า หลวงพิบูลฯ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ และสนับสนุนให้พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ จนตลอดชีวิต สเทื้อน ศุภโสภณ ฟันธงปิดท้าย

 

ใกล้แตกหัก

“เสทื้อน ศุภโสภณ” บันทึกไว้ใน “ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช” เกี่ยวกับเหตุการณ์ในสภาดังนี้

“ในการประชุมสภานัดแรกเพื่อการซาวเสียงหาตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไปนั้น (ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าต้องเป็นบ่ายวันที่ 4 สิงหาคม 2480) ได้มีผู้เสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมสำหรับดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ต่อที่ประชุมรวม 4 คนด้วยกันคือ 1.พระยาพหลพลพยุหเสนา 2.พระยาทรงสุรเดช 3.หลวงพิบูลสงคราม 4.หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ครั้นเมื่อถึงเวลาลงคะแนนลับผ่านไปแล้ว ผลก็ปรากฏออกมาต่อที่ประชุมว่าคะแนนของพระยาทรงฯ นำลิ่ว พระยาพหลฯ มาที่สอง หลวงพิบูลฯ มาอันดับสาม ซึ่งคะแนนหลวงพิบูลฯ นั้นได้น้อยมาก จนเกือบจะกล่าวว่าไม่ได้เลย

เมื่อเรื่องเป็นดังนี้ เล่ากันว่าหลวงพิบูลฯ ฮึดฮัดมาก พระยาพหลฯ เองก็ไม่พอใจ การประชุมในวันนั้น จึงลงเอยกันอย่างรวดเร็ว และเป็นที่น่าสังเกตว่าในการประชุมสภาวันนั้น สมาชิกประเภท 2 ซึ่งเป็นสมาชิกประเภท ‘ฝักถั่ว’ ของรัฐบาลสมัยนั้น ได้ไปประชุมกันน้อยมาก เป็นอันว่าบัดนี้พระยาทรงฯ กำลังจะได้เป็นนายกฯ จริงๆ แล้ว

แน่นอนเหลือเกิน หากขืนปล่อยให้การได้เป็นไปดังนี้แล้ว ย่อมหมายถึงจุดดับของหลวงพิบูลฯ และสมุนของเขาเป็นแน่แท้ วิมานที่ฝันสร้างไว้จะต้องพังทลายลง การเมืองของเมืองไทยจะต้องเปลี่ยนโฉมหน้า กลับหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งทั้งนี้หลวงพิบูลฯ จะยอมเสียมิได้ ดังนั้น พอสภาเปิดประชุมในบ่าย 15.30 น.วันรุ่งขึ้น (5 สิงหาคม 2480) เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดใหม่ได้กระทำพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งใหม่เสร็จสิ้นลงแล้ว ประธานสภาก็สั่งให้สมาชิกที่เข้าประชุมได้มีการซาวเสียงหาตัวผู้ที่เหมาะสมสำหรับจะเป็นนายกฯ กันใหม่อีกเป็นคำรบสอง

ทั้งนี้ ข้ออ้างก็คือให้ถือว่าการซาวเสียงในวันก่อนนั้น เป็นแต่เพียงทาบทามดูเท่านั้น คราวนี้เอาจริงกันล่ะ อนึ่ง ในการประชุมคราวก่อนนั้น ตัวพระยาทรงฯ เองก็มิได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย จึงต้องลงคะแนนกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

 

“บางท่านได้เล่าว่า หลวงพิบูลฯ เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการอย่างสำคัญในการกีดกันพระยาทรงฯ คราวนั้น

เมื่อการลงคะแนนครั้งที่ 2 ได้ผ่านไปแล้ว ก็ปรากฏว่าครั้งนี้ประธานสภาได้หอบเอาหีบบัตรลงคะแนนนั้นไปนับเสียเองคนเดียว ไม่ยอมให้ใครอื่นเข้าไปยุ่งยากด้วย เสร็จแล้วก็ประกาศตูมออกมาว่า พระยาพหลฯ ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประชุมนัดสำคัญครั้งหลังนี้ ได้มีสมาชิกสภาเข้าประชุมกันหนาแน่นกว่าวันก่อนมาก และจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นนั้นก็คือสมาชิกประเภทที่สอง ‘ฝักถั่ว’ ในยุคนั้นนั่นเอง ซึ่งยกขบวนกันมามากมายเป็นพิเศษ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ดังที่ น.ส.พ. ‘ประชาชาติ’ ได้ลงข่าวไว้นั่นเอง เป็นอันว่าหลวงพิบูลฯ พ้นเคราะห์คราวนั้นไปได้อย่างหวุดหวิด”

“บันทึกความจำ” ของดำริห์ ปัทมะศิริ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า “ในขณะที่จะเลือกรัฐบาลใหม่นั้น เขากล่าวให้เลือกพระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรี สภาได้เลือกพระยาทรงสุรเดชเข้าให้จริงๆ มีการเอะอะกันในสภา ทำให้ต้องเลือกใหม่ ได้พระยาพหลฯ กลับมาเพื่อความสงบ”

“ชีวิตแห่งการกบฏ 2 ครั้ง” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ ก็กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้จากคำบอกเล่าของพระสิทธิเรืองเดชพลว่าท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่อยากให้พระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเชื่อในความสุจริตใจของพระยาทรงฯ ว่าจะจัดการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยตามความมุ่งหมายเดิม”

ฉะนั้น เมื่อพระยาพหลฯ ลาออก พระสิทธิฯ ซึ่งเวลานั้นเป็นสมาชิกประเภท 2 จึงได้พยายามชักชวนสมาชิกอื่นๆ ให้เสนอชื่อพระยาทรงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่าพระยาทรงฯ ได้คะแนนมากกว่าหลวงพิบูลฯ มากมาย ครั้นทราบผลของการลงคะแนนดังนี้แล้ว หลวงพิบูลฯ จึงมาชี้แจงว่าการลงคะแนนครั้งนั้นเป็นการทดลองฟังเสียงของสมาชิกสภาเท่านั้น และได้เชิญให้พระยาพหลฯ กลับมาเป็นนายกฯ ต่อไป”

อนึ่ง พระสิทธิเรืองเดชพลจะเป็น 1 ใน 18 ผู้ถูกประหารชีวิตตามคำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ.2482 เมื่อหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาอีกไม่นานต่อมา…