สว.2567 | ธนาธร : วิเคราะห์โอกาสและจุดเริ่มต้นสำคัญแก้ปัญหาการเมือง ประชาชนต้องลงสนาม ‘ขอคนพร้อมเสียสละ’

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็น 1 ใน 4 นักวิเคราะห์ ในแคมเปญ ‘มติชน : สว.ชุดใหม่ Thailand-Select’ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชนทีวี’ ในประเด็นมุมมองต่อการเลือก สว.2567

นายธนาธร กล่าวว่า นี่คือโอกาสและจุดเริ่มต้นสำคัญของประเทศไทย ที่จะแก้ปมที่เป็นปัญหาทางการเมืองที่พันกันอยู่ ตนได้เดินทางไปรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการเลือกตั้ง ส.ว. ในหลายจังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งที่รู้สึกตกใจ คือ ประชาชนส่วนมากยังไม่รู้ว่ามีการเลือกตั้ง ส.ว. หรือต่อให้รู้แล้วก็ไม่เข้าใจว่าการมี ส.ว. นั้นสำคัญอย่างไรกับชีวิตพวกเขา และมีความสำคัญอย่างไรกับการพัฒนาทิศทางการเมืองไทย จึงมองว่าการตื่นตัวของประชาชนไทยในการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้น้อยเหลือเกิน ดังนั้นคิดว่าคงเป็นหน้าที่ของพวกเราจะต้องช่วยกันให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการมี ส.ว. คือการแก้ปมทางการเมืองที่พันกันอยู่

“ปมในที่นี้ คือความขัดแย้งทางการเมือง ความสองมาตรฐาน การหมดศรัทธาของประชาชนกับการเมืองแบบรัฐสภา ซึ่งถ้าหากไม่มี ส.ว. ที่เป็นจุดเริ่มต้น ก็จะไม่มีกลไกการแก้ปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น หากอยากให้คนไทยปรองดองสมานฉันท์กัน ต้องเริ่มที่การคืนยุติธรรมให้กับการเมืองไทย แต่จะทำแบบนี้ได้ ต้องเริ่มที่องค์กรอิสระต่างผ่านการเลือก ส.ว. ซึ่งการเลือก ส.ว. จะเป็นโอกาสการนำความปกติกลับมาสู่สังคมไทยและจะทำให้การเมืองและสภาเดินหน้าทำงานไปอย่างราบรื่นและเกิดการทำงานร่วมกัน” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวต่อไปว่า คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว. ที่ตนอยากเห็นคือ

“อย่างที่ 1. ผู้สมัครจะต้องมีเงินจำนวน 2,500 บาทสำหรับการจ่ายค่าสมัคร
2. ขอคนที่พร้อมเสียสละจริงๆที่จะลงสมัครพร้อมจัดสรรเวลาไปวันเลือก ส.ว. วันจริง และถ้าหากผู้สมัครเข้ารอบอำเภอ ก็จะต้องไปคัดเลือกรอบจังหวัด และรอบประเทศอีกด้วย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดในการเดินทางค่อนข้างมาก ซึ่งไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีคูหามาตั้งในเขตใกล้บ้านนั่นเอง
เรากำลังเรียกร้องกับประชาชนมากเหลือเกินที่บอกให้ทุกคนไปลงสมัคร ส.ว. แต่คิดกลับกัน ถ้าใครที่มีอายุเกิน 40 ปี มีคุณสมบัติลงสมัคร ส.ว. ได้ และมีศักยภาพที่จะจ่าย 2,500 บาทได้ จะไม่ลองสักหน่อยหรือ ในการลงทุนสำหรับอนาคตประเทศ” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวต่อว่า ถ้าเราร่วมไม้ร่วมมือกันที่จะผลักดัน ให้คนมีความรู้ความสามารถจริงๆเข้าไปเป็น ส.ว. ได้ เราอยากจะเห็นหมอที่มีคุณภาพจริงๆ เก่งจริงๆ เข้าไปเป็น ส.ว. ไหม เราอยากเห็นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ไปเป็น ส.ว. ไหม เราอยากเห็นครูที่ดีไปเป็น ส.ว. ไหม ถ้าเราอยาก มันไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากการลงมือทำ ทางเลือกที่เหลืออยู่ คือ คนที่มีศักยภาพต้องลงมือทำ ดังนั้นก็คือหัวใจของคนรณรงค์อย่างพวกเรา เราอยากให้คนเห็นความสำคัญของการเลือก ส.ว. ในครั้งนี้
ขอเชิญชวนคนที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม มีจิตใจที่รักประชาธิปไตย อยากจะเห็นการเมืองไทยพัฒนาไปข้างหน้า ไปลงสมัคร ส.ว. กัน ยิ่งคนสมัครมาจากองค์กรอิสระมากเท่าไหร่ก็จะมีโอกาสที่เราจะได้ ส.ว.ชุดใหม่ที่มีคุณภาพมากเท่านั้น

เมื่อถามว่า คิดว่ากระแสประชาธิปไตยมันจะมีโอกาสส่งผลมาถึงสนามการเลือกตั้ง ส.ว. หรือไม่?

นายธนาธร ตอบว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องเข้าใจถึงกฎกติกาของการเลือก ส.ว. ก่อน อย่างแรก ประชาชนชาวไทย 67 ล้านคน ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิเลือก ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสเข้าไปเล่นเกมนี้ ประชาชนไทย 67 ล้านคน คุณสมบัติของผู้สมัครหลักตัดเฉพาะชาวไทยที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปถึงจะมีสิทธิ์ลงสมัคร และผู้ลงสมัครเท่านั้นถึงมีสิทธิ์เลือก ดังนั้นถือว่า ตัดคนไปครึ่งประเทศ ผู้สมัครอายุ 40 ปี ที่เป็นข้าราชการก็ลงสมัครไม่ได้อีก ดังนั้นคนสมัครเล่นจริงๆ ก็จะเหลือน้อยลง และต้องมีศักยภาพพร้อมจ่าย 2,500 บาทที่จะจ่ายค่าสมัคร ดังนั้นคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้น้อยมาก จึงไม่รู้สึกถึงการส่งต่อพลังประชาธิปไตยที่ฮึกเหิม ที่มาจาก 2566 ไปจนถึงการเลือก ส.ว. รอบนี้

แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวซึ่งอาจจะประเมินผิดก็ได้ แต่จนถึงวันนี้ตนเชื่อว่า ยังมีคนไทยอีกจำนวนมาก ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการเลือกตั้ง ส.ว. และต่อให้รู้ ก็ไม่รู้สึกว่า ตัวเองจะมีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไรหรือมันเกี่ยวข้องกับตนเองได้อย่างไร รู้สึกว่ากระบวนการมันยากลำบาก ไม่รู้ว่าจะไปลงทุนลงแรงกับมันได้อย่างไร

“นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่า การเลือกตั้ง ส.ว.นั้นเกี่ยวข้องกับอนาคตการพัฒนาเมืองไทยและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งถ้าการเมืองไทยไม่ดี ประชาธิปไตยไม่ดี ก็ไม่ต้องพูดถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตอื่นๆ ” นายธนาธร กล่าว

เมื่อถามว่า การเลือก ส.ส. ก็ยังมีช่องทางการทุจริตการเลือกตั้ง มองว่าเลือก ส.ว. ในครั้งนี้มีโอกาสในลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ ?

นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญมากที่ทำไมประชาชนถึงควรเข้าไปลงสมัคร เพราะการเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ ประชาชนคนธรรมดาเข้าไปสังเกตการณ์ไม่ได้ ไม่เหมือนการนับคะแนนในหีบเลือกตั้งของ ส.ส. คนที่อยู่ด้านในก็ไม่สามารถนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะให้เกิดความผิดปกติของการเลือกตั้งเยอะแยะเลย ซึ่งส่งผลมหาศาลต่อการเลือกตั้ง

“ยกตัวอย่าง ถ้าคนที่อยากชนะ 1 วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ รู้ก่อนว่าจะจับไขว้อาชีพอะไร กับอาชีพอะไร ถ้ารู้ก่อนว่า สาย ก. จะเอาข้าราชการสายไขว้กับชาวนา ไขว้กับกับอุตสาหกรรม ไขว้กับกลุ่มสตรี หรือไขว้กับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ หากรู้ก่อนว่า การไขว้เป็นเช่นนี้จะจัดตัวลงได้เลย ดังนั้นเรื่องการจับฉลากว่าสายไหนไข้วกับสายไหน ถ้าใครรู้ก่อนล็อกได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด

ยกตัวอย่างที่ 2 ถ้าโผหลุดออกมาก่อน วันปิดสมัคร หากนายอำเภอ จังหวัดนี้ไปคายออกมาให้กับคนใกล้ชิด หรือคนที่ไปจ่ายตังค์ให้นายอำเภอ จนคนมาสมัครแล้ว 2 วัน มีครูมาสมัครแล้ว 8 คน มีชาวสวน 20 คน หมอ 4 คน ยังไม่มีศิลปินมาสมัครเลย หากใครเห็นโผนี้ก่อนวันปิดรับสมัคร 2-3 วัน คุณก็ชนะเลย เพราะคุณรู้ว่าจะเอาคนไปถมในอาชีพไหน เรื่องเช่นนี้มีโอกาสผิดปกติเยอะแยะมากมายเลย และคิดว่าคนที่ไปลงสมัคร สามารถไปปกป้องสิทธิเหล่านี้ให้กับประชาชนทั้งประเทศได้ เพราะไม่มีใครไปร่วมกับกระบวนการได้ยกเว้นคนที่สมัคร” นายธนาธรกล่าว

เมื่อถามว่า ถ้ามองในมุมกระบวนการประชาธิปไตย คนเหล่านี้ที่จะเข้าไป ซึ่งมีส่วนน้อยมาก แปลว่าคนเหล่านี้เป็นผู้เสียสละมากๆ ?

นายธนาธร ตอบว่า ถูกต้อง คุณต้องเสีย 1 วันไปสมัคร คุณต้องเสียเงินจำนวน 2,500 บาทไปสมัคร คุณต้องเสียวันในระดับอำเภอ เราต้องเรียกร้องเยอะมากจริงๆ อย่างที่ 1 คุณอาจจะลงเพื่ออยากเป็นจริงๆ หากมีคุณสมบัติในอาชีพร่วมพัฒนาประเทศ

อย่างที่ 2 เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ เป็นก็ดี ไม่เป็นก็ดี

และอย่างที่ 3 ฉันไม่ได้อยากเป็น ส.ว. แน่นอน แต่ฉันลงในอาชีพนักอุตสาหกรรม ที่ฉันเป็นอยู่ในอาชีพนี้ เพื่อลงคะแนนให้นักอุตสาหกรรมที่ดีกว่า ที่เก่งกว่า

“ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนมีคุณค่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้นต่อระบบการเลือกตั้ง”นายธนาธร กล่าว

เมื่อถามว่า โจทย์ใหญ่คือการแก้รัฐธรรมนูญ รองลงมาคือแก้องค์กรอิสระ ตัวเลขอย่างน้อยที่ประเมินกันไว้ 70 คน ตัวเลขมีความสำคัญอย่างไร?

นายธนาธร กล่าวว่า เราอยากเห็น ส.ว.ที่ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดระบอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างน้อย 70 คน ส.ว. รอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มี 250 คน และ ส.ว.ที่กำลังจะเลือกกันในปี 2567 มีทั้งหมด 200 คน เหตุผลที่ต่างกันคือ รอบปัจจุบัน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อถมสภาล่างในเวลาที่โหวตกัน ในรอบใหม่ 200 คน ถูกปรับลงเพราะไม่มีอำนาจในการเลือกนากยกรัฐมนตรีแล้ว

ส.ว. 200 คน หรือ 1 ใน 3 โดยประมาณ 67 คน แต่เราต้องมี 70 คน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จริงๆ ตัวเลขแปรผันไปมากกว่านี้อีก ในอนาคตหากมีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาในรัฐสภาแล้ว หากเสียงไม่เยอะพอ มันจะลดทอนความเข้มข้นของเนื้อหาที่ก้าวหน้า เนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

“ยกตัวอย่าง หากมี ส.ว. ที่มีอนุรักษนิยมมาก เขาก็จะบอกว่า มาตรานี้ให้แก้แบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ยกมือผ่านให้ มาตรานี้ ส.ว. ขอให้ตัดออกนะ ไม่เช่นนั้น ส.ว.จะไม่ยกผ่านให้ ดังนั้น ส.ว. ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมรวมตัวกันได้อย่างเข้มข้ม การแก้รัฐธรรมนูญจะถูกลดทอนอำนาจลง ต่อให้ผ่านก็จริง ต่อให้ลดทอนความก้าวหน้าลง จากการออกมากดดัน ออกมายื่นเงื่อนไขในการยกมือให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน สิ่งต่างๆ เหล่านิ้ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาการเมืองไทยทั้งสิ้น”นายธนาธร กล่าว

เมื่อถามว่า เราเริ่มเห็นการส่งสัญญาณการขัดรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้คนเรียกร้องมาสมัคร ส.ว. หรือไม่ ?

นายธนาธร กล่าวว่า บทบาทที่ตนเองทำอยู่ในขณะนี้ เป็นบทบาทของ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือการณรงค์ให้เข้าใจว่า ส.ว. มีความสำคัญอย่างไร ทำไมประชาชนควรจะลงสมัคร ส.ว. ตื่นตัวเรื่องนี้กันไหม ควรจะเป็นบทบาทของ กกต. หากรัฐทำหน้าที่รณรงค์เรื่องเช่นนี้ ตนก็ไม่จะเป็นต้องมานั่งทำความเข้าใจกับประชาชน ว่า ส.ว. สำคัญอย่างไร

“เรารณงค์ด้วยความเชื่อจริงๆ หากประชาชน ตื่นตัวทางการเมือง และมีส่วนร่วมมากกว่านี้ จะนำไปสู่สุขภาพการเลือก ส.ว. นำไปสู่ ส.ว. ที่มีคุณภาพฝาก พ่อแม่-พี่น้อง ดูถึงคุณภาพของ ส.ว. ชุดนี้ หากประชาชนไม่มีส่วนร่วมจะเกิดอะไรขึ้น อย่างเช่น ส.ว.ชุดปัจจุบัน ประชาชนพอใจไหม”นายธนาธร กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า การคัดเลือก ส.ว. ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ใกล้เคียง ที่สุดแล้วของฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ ในโจทย์ที่เรามีอยู่?

นายธนาธร กล่าวว่า เป็นโอกาสครั้งสำคัญ แต่ไม่ใช่โอกาสครั้งสุดท้ายแน่ๆ การผลักดันประชาธิปไตยยังเป็นโอกาสที่ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง และอีกหลายปีเป็นหมุดหมายที่สำคัญแน่ๆ เวลาเราพูดถึงเรื่องเช่นนี้ อาจจะไม่เข้าใจว่า พลวัต คือการก้าวหน้าของการเมืองไทย มีเดินไปข้างหน้า และมีเดินไปข้างหลัง

“ในรัฐธรรมนูญ 2540 บอกให้มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการต่อสู้ทางความคิดกันมาอย่างยาวนานว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้งไม่ได้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้ว ชนะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิด ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยวันนั้นใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ทำให้วันนั้นมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เข้ามาเป็น ส.ว. ได้ การรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 รัฐประหาร 2557 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2560 2 ฉบับนี้ ดึงสังคมไทยกลับไปให้ล่าหลัง กว่าจะสู้การเลือกตั้ง ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของ ส.ว. ที่มาจากประชาชนได้ ใช้เวลานานมาก เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง ถูกดึงกลับไปเลือกตั้งแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวต่อว่า สิ่งนี้เขาเรียกว่าความล้าหลัง สิ่งนี้เข้าเรียกว่าความถดถอย ดังนั้นหากเราไม่ปกป้อง วาระก้าวหน้าต่างๆ จะทำให้ถูกถดถอยได้ ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์แน่นอน ว่าหน้าตาของ ส.ว 2567 จะออกมาเป็นอย่างไร การโหวต การลงคะแนน ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการโหวต การแต่งตั้งองค์กรอิสระ การโหวตกฎหมายสำคัญระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจ รับร่าง หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

“การโหวตของพวกเขา 200 คนในอนาคต 5 ปีข้างหน้า ที่พวกเขาดำรงตำแหน่ง ส.ว. อยู่เกี่ยวข้องสำคัญของอนาคตของประเทศ อนาคตของลูกหลานเราอย่างแน่นอน”นายธนาธรทิ้งท้าย