สำรวจสถานการณ์ ‘เด็กไทย’ ‘หลุดระบบ-ออกกลางคัน’ ทะลุ 1 ล้าน สู่เป้าหมาย ZERO Dropout!!

สำรวจสถานการณ์ ‘เด็กไทย’

‘หลุดระบบ-ออกกลางคัน’ ทะลุ 1 ล้าน

สู่เป้าหมาย ZERO Dropout!!

 

ดูเหมือนปัญหาเด็กออกกลางคัน หรือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี โดยข้อมูลปี 2566 มีตัวเลขเด็กออกกลางคันสะสมทะลุ 1 ล้านรายไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา สู่การกำหนดเป้าหมาย ZERO Dropout ของประเทศ และนำเสนอในงาน Equity Forum 2023 “ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ” พบข้อมูลตัวเลขสำคัญดังนี้

จำนวนนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ 1.8 ล้านคน ในปีการศึกษา 2566 ที่มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา โดย กสศ.และ 6 หน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาสนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ 1.2 ล้านคน ในระดับการศึกษาอนุบาล 1 ถึงชั้น ม.3

นักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 2,803 บาท ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากรัฐบาล จำนวน 1 ล้านคน

ประชากรวัยแรงงานในปัจจุบัน 20 ล้านคน ในจำนวนนี้ 74% หรือ 14.5 ล้านคน จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น หรือต่ำกว่า และตกอยู่ในวงจรความยากจน

ขณะที่ 22% ของรายได้ คือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ครอบครัวของเด็กยากจนต้องแบกรับ หรือสูงกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพียง 6% ของรายได้เท่านั้น

ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ จากการที่นักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ หลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 33,547 คน ในช่วงชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมทั้ง การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) จำนวน 409 ล้านบาทต่อปี

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.5% และเวลาที่ประเทศไทยจะหลุดจากปัญหากับดักรายได้ปานกลางอยู่ที่ 30 ปี

โดยองค์การยูเนสโกประเมินว่า หากบรรลุเป้าหมาย ZERO Dropout ได้สำเร็จตาม SDG4 ประเทศไทยจะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้น 3%!!

 

นอกจากนี้ ข้อมูลของกองทุน กสศ.ยังระบุว่า ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 จำนวน 168,307 คน

พอปีการศึกษา 2563 มีเยาวชนที่ไม่พบการศึกษาต่อในระบบการศึกษา และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เดิม สาเหตุหลักคือความยากจน และความห่างไกลของสถานศึกษาระดับมัธยมปลาย หรือเทียบเท่า จำนวน 33,547 คน หรือ 20%, นักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ ที่ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กศน.หรือเทียบเท่า จำนวน 134,760 คน หรือ 80%

และ 5% ของนักเรียนยากจนพิเศษ ที่ศึกษาต่อระดับมัธยมปลาย/ปวช.ที่ยอมกู้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัดที่ยากจนที่สุด สาเหตุหลักของการไม่กู้ คือไม่ต้องการเป็นหนี้ สมัครไม่ทันตามกำหนดเวลา และไม่ทราบว่ากู้ กยศ.เรียนมัธยมปลายได้

ขณะที่ปีการศึกษา 2566 จำนวนของนักเรียนที่ยากจน และยากจนพิเศษ ซึ่งศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาผ่านระบบทีแคส ปี 2566 ลดลงจากทีแคส ปี 2565 จำนวน 21,921 คน หรือ 12.46% มีนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ เพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้น ที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

ซึ่งต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 3 เท่า!!

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.ระบุว่า ขณะนี้มีข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับตัวเลขเด็กออกกลางคัน ตั้งแต่อายุ 3-18 ปี จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 มีเด็กออกกลางคัน 238,707 คน ปี 2565 มีเด็กออกกลางคัน 1 แสนคน และปี 2566 มีเด็กออกกลางคันสะสม 1,0205,514 คน

ซึ่งข้อมูลตัวเลขนี้ตรวจสอบจากหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กสศ.

ข้อมูลนี้ สะท้อนให้เห็นว่าหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีคนยากจนเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขคนที่ยากจนพิเศษเพิ่มเป็น 1.34 ล้านคน จากเดิม 9.9 แสนคน สาเหตุที่ทำให้เด็กออกกลางคัน 70% มาจากความยากจน ไม่มีรายได้ รองลงมา ระบบการศึกษาที่แพ้คัดออก มีการแข่งขัน เด็กเรียนไม่ดีโดนคัดออก เด็กที่มีปัญหาสังคม เช่น ตั้งครรภ์ ติดยาเสพติด มีปัญหาเรื่องความรุนแรง เป็นต้น นอกจากนี้ ระบบการศึกษาในปัจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ยิ่งเรียนสูงยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ขณะที่รายได้ และหนี้สินของคนยากจน เข้าไม่ถึงนโยบายแก้หนี้ของรัฐบาล

ที่สำคัญที่สุด ครอบครัว และตัวเด็ก เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องแหล่งเงินทุนของรัฐ

ปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้เด็กที่อยู่ในระดับอนุบาล 3 ขึ้นชั้น ป.1 หลุดระบบ 1-4% ส่วนชั้น ป.6 ขึ้นชั้น ม.1 หลุดระบบ 19% ส่วนชั้น ม.3 ขึ้นชั้น ม.4 หลุดจากระบบ 54% เมื่อถึงอุดมศึกษา จะเหลือเด็กอยู่ในระบบไม่ถึง 10%

ซึ่งรัฐบาลก็เห็นประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโครงการตามน้องกลับมาเรียนระยะที่ 2 ส่วนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ที่ในอดีตเคยมีระเบียบไม่ให้เด็กต่ำกว่า 12 ปีเรียน ขณะนี้ยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนครั้งใหญ่ โดยจัด 1 โรงเรียน 3 ระบบ ให้โรงเรียนเปิดสอนได้ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย จึงเห็นหลายโรงเรียนเริ่มจัดการเรียนการสอนตามสภาพปัญหา เพื่อเอื้อให้เด็กเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

พร้อมทั้งเสนอแนะว่าการศึกษาภาคบังคับที่ให้เด็กเรียนจบชั้น ม.3 ไม่เพียงพอแล้ว รัฐบาลจะต้องให้เด็กไปต่อถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ดังนั้น ต้องทุ่มงบประมาณ และเปลี่ยนการศึกษาภาคบังคับใหม่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าถ้าจบ ปวส. เด็กจะมีทักษะพาตัวเองและครอบครัวหลุดจากความยากจนข้ามรุ่นได้

ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เด็กได้ไปต่อระดับมัธยมปลาย หรืออาชีวศึกษา!!

 

ล่าสุด นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร. เด้งรับข้อมูลของกองทุน กสศ.ทันที โดยจะประสานเข้าพบ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ เพื่อหารือว่า สกร.กับ กสศ.มีโครงการใดบ้างที่จะช่วยกันจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มเปราะบาง และเด็กยากจนที่หลุดจากระบบการศึกษา ที่ กสศ.มีข้อมูลอยู่ เพราะ สกร.มีครูกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเข้าถึงเด็กได้โดยตรง และมีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย

เพียงแต่ สกร.มี “ข้อจำกัด” เรื่องงบประมาณ ขณะที่ กสศ.มีงบประมาณช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบาง ยากจน และเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หาก สกร.ได้รับการสนับสนุนงบฯ จาก กสศ.เพื่อดำเนินโครงการงานที่เป็นภารกิจที่ สกร.ต้องขับเคลื่อน จะทำให้การดูแลเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่หน่วยงานอื่นเข้าไม่ถึง ทำได้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งอธิบดี สกร.ยังมองว่า การดูแลเยาวชนกลุ่มเปราะบาง สอดคล้องกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน และผู้ปกครอง ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. บวกกับ สกร.กำลังพัฒนาระบบการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเรียนจบจากที่ไหน

ดังนั้น ถ้า กสศ.กับ สกร.ร่วมมือกันในการดูแลเยาวชนกลุ่มเปราะบาง เท่ากับ “เพิ่มทางเลือก” และ “สร้างโอกาส” ให้เด็กเข้าถึง “การศึกษา” และไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้!! •

 

| การศึกษา