40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (5) 21 วันสุดท้ายแห่งชีวิต!! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน  1  2  3  4 

“ทหารเรากินข้าวกระทะเดียวกันมา จะหักหลังกันไม่ได้ ฆ่ากันก็ไม่ได้”

คำกล่าวของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

กับ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ ในวันควบคุมตัวผู้นำการรัฐประหาร

26 มีนาคม 2520 ไปขึ้นเครื่องบินเพื่อลี้ภัยไปไต้หวัน

ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง (2545)

ชีวิตของผู้แพ้ในทางการเมืองเจ็บปวดเสมอ สำหรับนักการเมืองในระบบเลือกตั้งแล้ว ความเจ็บปวดอาจจะหมายถึงการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในความเป็นนักการเมืองของบุคคลผู้นั้นไม่มากก็น้อย

แต่สำหรับนักรัฐประหารแล้ว ความเจ็บปวดนี้มาจากความพ่ายแพ้ต่อความพยายามในการยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง

พันโทรณชัย ศรีสุวรนันท์ อดีตผู้บังคับหน่วยรถถังของกลุ่มยังเติร์ก กล่าวเปรียบเทียบไว้ได้อย่างชัดเจนที่สุดว่า “ความพ่ายแพ้ของฝ่ายปฏิวัติหมายถึงชีวิต แต่รัฐบาลนั้นอาจจะเพียงแค่เสียอำนาจ”

และแน่นอนว่าคำกล่าวเช่นนี้ถูกพิสูจน์ด้วยชะตากรรมของผู้นำทหารในกรณี 26 มีนาฯ

ดังได้กล่าวแล้วว่า คณะผู้ก่อการของการรัฐประหารในวันที่ 26 มีนาคม 2520 นั้น พวกเขาถูกตัดสินด้วยการใช้มาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญปี 2519 ซึ่งมาตรานี้ก็คือมาตรา 17 ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจอย่างเต็มที่กับนายกรัฐมนตรี การใช้ “อำนาจพิเศษ” ในการตัดสินคดีนี้ คิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการปิดคดีให้ได้อย่างรวดเร็ว

และขณะเดียวกันก็เป็นดังการ “ป้องปราม” ไม่ให้เกิดการคิดที่จะทำรัฐประหารอีก

หรืออีกนัยหนึ่ง การใช้มาตรา 21 จัดการก็เพื่อ “ขู่” ให้เกิดความกลัว

อาคันตุกะใหม่แห่งบางขวาง

หลังเกิดการจับกุมในขณะที่คณะผู้ก่อการ 26 มีนาฯ เตรียมเดินทางออกนอกประเทศแล้ว พลเอกฉลาดถูกส่งเข้ามาคุมขังใน “แดนพิเศษ” เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ในขณะที่ผู้นำทหารอีก 4 นายยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่ “ตึกดิน” หรือเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 1

ซึ่งสำหรับในแดนพิเศษนั้น มีพวกเราที่เป็น “ผู้ต้องขัง” ที่ถูกจับจากกรณี 6 ตุลาคม 2519 ได้ใช้ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว

และถ้ากลุ่มนักศึกษาพวกเราเป็นนักโทษการเมืองรุ่นแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว กลุ่มของพลเอกฉลาดก็เป็นนักโทษการเมืองรุ่นที่ 2 ที่ได้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ใน “มหาวิทยาลัยชีวิต” แห่งนี้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจสำหรับกรณีนี้ก็คือ รัฐบาลจับเอาผู้นำทหารที่พ่ายแพ้จากการรัฐประหารมาขังรวมกับผู้นำนักศึกษาที่ถูกตีตราว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” และถูกจับกุมจากการล้อมปราบ จนทั้งสองกลุ่มกลายเป็น “นักโทษการเมือง” ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในมหาวิทยาลัยชีวิตแห่งบางขวาง

ไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่าพื้นที่แห่งนี้เป็น “ดินแดนของกบฏ” ซึ่งแม้อำนาจรัฐจะควบคุมตัวพวกเราไว้ แต่โดยความรู้สึกนึกคิดแล้ว พวกเราทั้งสองกลุ่มมีท่าทีชัดเจนที่ไม่รับอำนาจรัฐ และก็อยู่ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งรัฐบาลจะถูกโค่นล้ม แล้วพวกเราก็คงจะได้รับอิสรภาพออกจากคุก…

ความฝันของนักโทษการเมืองทุกยุคทุกสมัยดูจะไม่มีอะไรเกินจากนี้ รอข่าวการล้มรัฐบาล

หากย้อนกลับไปสักนิดผมจำได้ดีว่าตอนพวกเรานักโทษ 6 ตุลาฯ ใช้ชีวิตอยู่ในแดนพิเศษนั้น เช้าวันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ผู้คุมบอกกับเราว่าเกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว ดังได้กล่าวแล้วว่าในช่วงต้นนั้น ฝ่ายยึดอำนาจดูจะเป็นผู้ที่กุมความได้เปรียบไว้ในมือ จนพวกเราทุกคนดีใจอย่างมากเพราะเชื่อว่ารัฐบาลธานินทร์ถูกโค่นแล้ว และก็อดแอบหวังในใจนิดๆ ไม่ได้ว่า ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เราอาจจะมีโอกาสออกจากคุก…

อย่าแปลกใจนักที่พวกเราจะกลายเป็นพวก “แอบเชียร์” รัฐประหาร 26 มีนาฯ อยู่ในใจ อย่างน้อยก็มีเป้าหมายร่วมกันคือล้มรัฐบาลธานินทร์ให้ได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็เป็นเพียงแค่ “กองเชียร์ในคุก” ซึ่งไม่ได้มีน้ำยาอะไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอก

แต่แล้วพอเข้าช่วงบ่ายๆ สถานการณ์ดูจะเปลี่ยนไปอย่างมาก ฝ่ายรัฐประหารเป็นรอง และสภาวะเช่นนี้มีมากขึ้นจนต้องยอมวางอาวุธเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

ความหวังของพวกเราที่จะเห็นรัฐบาลล้มลงนั้นปิดฉากลงง่ายๆ ในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก

แต่ที่คาดไม่ถึงก็คือในอีกไม่กี่วันถัดมา เริ่มมีการเตรียมพื้นที่ในแดนพิเศษของพวกเรา ซึ่งในขณะนั้นก็นึกไม่ออกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

แล้วความผิดปกติก็เกิดขึ้นในช่วงบ่ายๆ ของวันหนึ่ง พวกเราได้รับคำสั่งให้ “ขึ้นขัง” เร็วกว่าปกติ เรารู้แต่ว่าเป็นอะไรที่ผิดปกติ แต่ก็ไม่มีจินตนาการอะไรที่จะตอบความสงสัยที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ จนกระทั่งเสียงประตูเหล็กด้านหน้าของแดนพิเศษถูกเปิดออก

ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลายคนอื้ออึงอยู่ พวกเราจึงได้แต่มองผ่านช่องว่างเล็กๆ ของบานประตูห้องขัง แม้เราจะไม่รู้จักพลเอกฉลาดมาก่อน แต่จากภาพที่มองเห็นก็เดาได้ไม่ยากนักว่า ชายในชุดซาฟารีตัดผมเกรียนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พลเอกฉลาด หิรัญศิริ…

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

แดนพิเศษได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะใหม่แล้ว ไม่ใช่ผู้นำนักศึกษาเด็กๆ แบบพวกเรา

หากแต่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของกองทัพบกไทย

ผมนึกไม่ถึงเลยว่าหลังจากนักศึกษาเป็นนักโทษการเมืองรุ่นแรกแล้ว จะมีนายทหารระดับสูงเป็นนักโทษรุ่นต่อมา

 

วันเวลาแห่งความเจ็บปวด

พวกเราที่เป็นนักโทษ 6 ตุลาฯ อยู่ในชั้นล่างของอาคาร ผู้คุมพาพลเอกฉลาดขึ้นไปอยู่ชั้นบน แล้วหลังจากนั้นเราก็ได้ยินเสียงกุญแจห้องขังปิดล็อก เจ้าหน้าที่จึงค่อยๆ ทยอยออกไปจากแดนเรา พร้อมกับเสียงปิดประตูเหล็กด้านหน้าดังขึ้น ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่าชีวิตในแดนพิเศษกลับสู่ภาวะปกติ เป็นแต่เพียงมี “ผู้มาเยือน” เพิ่มอีกหนึ่งท่านในแดนของเรา

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราออกจากห้องขังตามปกติเพื่อจัดการธุระส่วนตัว และจัดการเตรียมอาหารเช้า ผมซึ่งมีหน้าที่ต้องคอยจัดการดูแลเรื่องอาหารของพวกเรา จึงถูกส่งขึ้นไปชั้นบน

ผู้คุมแดนเราซึ่งหนึ่งในนั้นเคยเป็นผู้คุมในกรณีของ อุทัย พิมพ์ใจชน และคณะ พอจะเข้าใจเรื่องนักโทษการเมือง ได้อนุญาตให้ผมขึ้นไปชั้นบนเพื่อไปชวนพลเอกฉลาดลงมารับประทานอาหารเช้า ทั้งที่มีคำสั่งห้ามพลเอกฉลาดพบและพูดคุยกับใครทุกคน

นี่จึงเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างผมกับพลเอกฉลาด… อาหารเช้าวันแรกดูจะเป็นอะไรที่ไม่น่าอภิรมย์ใจเท่าใดนัก ซึ่งก็คงเดาได้ไม่ยากว่าท่านคงไม่มีแก่ใจที่จะรับประทานมื้อเช้าแรกในบางขวาง

เพราะสถานที่นี้คือ “เรือนจำมหันตโทษ” ไม่ใช่ห้องอาหารหรูที่ไหน

ในความเป็นนักโทษการเมืองนั้น พวกเราจะได้รับอนุญาตให้ออกไปพบญาติที่มาเยี่ยมได้ หรือที่ภาษาคนคุกเรียกว่า “เยี่ยมญาติ” คือ เราไปเยี่ยมญาติได้ตอนเวลาบ่ายสองโมงเพื่อไม่ให้ชนกับตารางของนักโทษทั่วไป

แต่ในตอนนั้น ทางรัฐบาลไม่อนุญาตให้พลเอกฉลาดมีโอกาสออกไปเยี่ยมญาติ ทำได้เพียงแต่การส่งอาหารมาให้

สำหรับพวกเราเมื่อออกไปเยี่ยมญาติก็กลับเข้าแดนด้วยการมีอาหารและของฝากจากญาติ ส่วนอาหารจากญาติของพลเอกฉลาด ก็ถูกส่งเข้ามา ทำให้เรามีเสบียงเก็บไว้ไม่ลำบากมากนักในเรื่องของอาหารการกิน

ซึ่งผมก็จะจัดว่าอะไรที่เก็บไว้ไม่ได้ก็จะต้องรับประทานเป็นมื้อเย็น

ส่วนอะไรที่พอจะจัดเก็บได้ก็จะเป็นอาหารมื้อเช้าและมื้อกลางวันของวันรุ่งขึ้น และพอบ่ายไปเยี่ยมญาติอีกก็จะมีเสบียงกลับมาเพิ่มเติม วัฏจักรชีวิตของผู้ต้องขังเป็นเช่นนี้

ในฐานะที่เป็นคนที่ต้องไปชวนพลเอกฉลาดมาทานข้าวทุกวัน ทำให้ผมเริ่มเกิดความคุ้นเคย ท่านทานอาหารไม่ค่อยได้เท่าใดนัก ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ ต่อให้อาหารจะอร่อยเท่าใดก็ไม่อร่อยดังใจ

โดยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ตอบได้ไม่ยากเลยว่า อาหารจะจากภัตตาคารหรูหรืออร่อยจากที่ใดก็ตาม แต่เมื่อต้องมานั่งรับประทานในคุกแล้ว ความอร่อยดูจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ เริ่มคุ้นชินกับชีวิตในบางขวางแล้ว ตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็คือพวกเราสามารถรับประทาน “ข้าวแดง” และอาหารคุกได้เหมือนกับนักโทษโดยทั่วไป โดยไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรที่แปลกแยก

ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผู้มาใหม่ที่มีวัยวุฒิ และทั้งเป็นนายทหารระดับสูงด้วยแล้ว การปรับตัวกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

จากอดีตผู้บังคับหน่วยรบ อดีตนายทหารระดับสูงผู้คุมกำลัง แต่ต้องตกอยู่ในสภาพของการถูกคุมขัง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะให้พลเอกฉลาดทำ “ใจว่างๆ” คงเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น ในฐานะของผู้ร่วมชะตากรรมในแดนพิเศษ พวกเราจึงบอกกับท่านว่า ถ้ามีอะไรที่พวกเราจะพอทำให้ได้บ้างแล้วก็ขอให้บอก

และพวกเราตกลงกันว่าเราจะเรียกพลเอกฉลาดว่า “ลุง” และพลเอกฉลาดเรียกพวกเราว่า “หลาน”…

ชีวิตในแดนพิเศษระหว่างผู้นำนักศึกษา 6 ตุลาฯ กับ “ลุงฉลาด” จึงเริ่มขึ้นในสภาพเช่นนี้ และขณะเดียวกันก็เริ่มมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่าชะตากรรมทางการเมืองส่งผลให้นักศึกษาผู้อ่อนวัยกับนายพลผู้สูงวัยต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันหลังกำแพงสูง

ในท่ามกลางความคุ้นเคยเช่นนี้ ลุงหลาดเริ่มคุยกับพวกเรามากขึ้น บางทีในช่วงสายๆ ที่ผมขึ้นไปบนชั้น 2 ก็มักจะขอให้ผมช่วยบีบนวดไหล่ให้บ้าง และบางทีก็คุยถามถึงชีวิตนิสิตนักศึกษาของพวกเรากับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ บ้าง

ลุงหลาดยอมรับว่าถ้าจะพัฒนาประเทศ จะต้องพึ่งพลังของเยาวชนและนักศึกษา

และบอกกับผมว่าสิ่งที่อยากทำคือการจัดตั้งองค์กรของคนหนุ่มสาวให้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับบันทึกของพลตรีสนั่นที่กล่าวว่า พลเอกฉลาดเคยให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 มาก่อน

ดังปรากฏในบันทึกว่า “ความผูกพันของท่าน (พลเอกฉลาด) กับนิสิตนักศึกษาเมื่อตอน 14 ตุลา 16 มีอยู่มาก เพราะท่านช่วยนักศึกษา ให้การสนับสนุนอาหารการกิน ตัวแทนนักศึกษาก็เข้ามาพบท่าน มาขอคำปรึกษา…”

เสียดายว่าในขณะนั้น ผมยังไม่ได้สวมวิญญาณนักวิชาการเท่าที่ควร หลายเรื่องที่คุยกันจึงกลายเป็นเรื่องที่ปล่อยผ่านเลยไปโดยไม่ได้ทำการบันทึกไว้ ลุงหลาดเองเล่าให้ฟังด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นใน บก. สวนรื่นฯ และทำไมต้องตัดสินใจใช้อาวุธ

คำบอกเล่าที่ชัดเจนของลุงก็คือเพื่อป้องกันชีวิตของนายทหารคนอื่นๆ ในห้องนั้น

หลายครั้งที่ผมขึ้นไปชั้น 2 แล้วพบว่า ลุงหลาดมักจะเหม่อมองออกไปข้างนอกด้วยความครุ่นคิดเสมอ เพราะอย่างน้อยที่ชั้น 2 นั้น มองออกไปก็จะเห็นแนวตึกแถวที่ใกล้กับกำแพงบางขวาง

เส้นกั้นระหว่างอิสรภาพและการไร้อิสรภาพมองเห็นได้ชัดเจนทั้งที่เป็นฟ้าผืนเดียวกัน

 

วันสุดท้าย!

ลุงหลาดพูดเสมอว่า “ถ้าลุงออกไปก่อนแล้ว ก็จะหาทางเอาพวกหลานออกไปด้วย”

คำสัญญาของผู้ไร้อิสรภาพร่วมกันนั้นมีค่าเสมอ และเมื่อลุงหลาดเริ่มมีความคุ้นชินกับชีวิตในแดนพิเศษ ก็เริ่มคุยกับพวกเรามากขึ้น หรือบางที สุธรรม แสงประทุม ก็แวะขึ้นไปคุยที่ชั้น 2 และบางช่วงบางเวลาก็เริ่มเห็นรอยยิ้มอยู่บ้าง

ที่สำคัญก็คือ ลุงเชื่อว่าแม้จะไร้อิสรภาพ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นอาจจะเป็น “ภาวะชั่วคราว” และอาจจะใช้เวลาอยู่ในแดนพิเศษไม่นานนักก็อาจจะมีโอกาสได้รับอิสรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความเป็นนายทหารระดับสูงเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบารมีทั้งในการเมืองและในกองทัพที่น่าจะยังมีอยู่พอสมควร แม้จะต้องถูกคุมขังในข้อหา “กบฏ” ก็ตาม แต่ก็คงจะไม่นานนัก

ในวันที่ 21 เมษายน 2520 เป็นวันที่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ตอนสายๆ ผมขึ้นไปหาลุงหลาดตามปกติและตอนใกล้เที่ยงก็มาชวนไปรับประทานอาหารกลางวัน ลุงดูอารมณ์ดีพอสมควร

พอตอนบ่ายก็มีคำสั่งบอกให้ไปเยี่ยมญาติ ลุงหลาดเปรยกับผมว่า “แปลกดี” ราวกับจะรู้ถึงความผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมได้แต่พูดไปแบบเด็กๆ ว่า “ลุงแต่งตัวได้แล้ว” จากนั้นนายพลผู้สูงวัยจึงเปรยอีกประโยคว่า “เราพูดกับ (ชื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง) แล้ว” และนั่นเป็นคำพูดสุดท้ายที่พูดกับผม ลุงหลาดแต่งตัวออกไปด้วยชุดซาฟารีอย่างตอนที่เข้ามา

พวกเราไม่ได้รู้สึกถึงความผิดปกติอะไรเช่นกัน ลุงหันมายิ้มและโบกมือให้กับพวกเรา แล้วเดินออกประตูแดนพิเศษไป

สิ่งที่นึกไม่ถึงเลยก็คือ ก่อนที่คำสั่งเบิกตัวจะมาถึงนั้น ผมยังนั่งคุยเล่นและนวดไหล่ของลุงหลาดอยู่ โดยไม่ได้คิดว่าจะเกิดอะไรเลย

ไม่มีใครคาดคิดว่า การออกไปครั้งนี้ไม่ใช่การไปพบญาติ แต่เป็นไปเพื่อรับฟังคำตัดสินตามมาตรา 21 ของรัฐบาล

โดยคำสั่งแรกเป็นประกาศให้ถอดยศพลเอก และคำสั่งที่สองเป็นคำตัดสินประหารชีวิตในบ่ายวันนั้นเลย

คิดถึงเรื่องนี้ครั้งใดก็อดคิดถึงชีวิตของลุงหลาดไม่ได้ นึกแล้วก็ใจหาย… ผมกลายเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับพลเอกฉลาดก่อนถูกนำตัวออกไปจากแดน

แล้วความผิดปกติก็เกิดขึ้น สักพักใหญ่หลังจากลุงหลาดออกไป พวกเราถูกนำตัวขึ้นขังเร็วกว่าปกติ ซึ่งพวกเราก็พอรับรู้ได้บ้างว่าคงจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่กล้าคาดเดา

และสำหรับผมแล้วไม่คาดคิดเลยว่า การเดินออกไปของลุงหลาดครั้งนั้นจะเป็นการเดินทางที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีก!