40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (1) รำลึก “พลเอกฉลาด หิรัญศิริ” | สุรชาติ บำรุงสุข

“ผมเตรียมใจเอาไว้นานแล้วที่จะได้ยินท่านเอ่ยคำว่า พร้อมที่จะปฏิวัติ… แต่การทำอะไรที่เราเริ่มจากการเสียเปรียบนี่จะต้องเสี่ยง”

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์
ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง (2545)

ความพยายามในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 เป็นหนึ่งในหมุดหมายของการเมืองไทยที่มีนัยสำคัญต่อความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารหลังจากความสำเร็จของการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว

รัฐประหารครั้งนี้ไม่แต่เพียงสะท้อนถึงความแตกแยกภายในกลุ่มผู้นำไทย หากแต่ยังบ่งบอกถึงปัญหาเอกภาพภายในกองทัพด้วย และว่าที่จริงแล้ว เหตุรัฐประหารดังกล่าวก็เป็นสภาวการณ์สืบเนื่องจากการล้อมปราบใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาฯ ด้วย

บทความนี้จึงอยากจะชวนท่านผู้อ่านย้อนกลับไปสู่อดีตแห่งความขัดแย้งจากปี 2519-2520 และในวันที่ 26 มีนาคม ก็เป็นวาระครบรอบ 40 ปีของความพยายามในการยึดอำนาจครั้งนี้

แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะ “ตัวละครหลัก” ของเหตุการณ์ครั้งนี้จะเสียชีวิตกันไปบ้างแล้ว

และข้อมูลบางส่วนก็อาจจะไม่เป็นที่กระจ่างทั้งหมด

แต่ข้อมูลที่เปิดเผยในทางสาธารณะก็พอจะทำให้เราสามารถประเมินสถานะของรัฐประหาร 26 มีนาฯ ได้บ้าง ในฐานะของความต่อเนื่องของเหตุการณ์การเมืองหลังปี 2519

เมฆหมอกแห่งความยุ่งยาก

หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็คือ การเสียชีวิตของ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา กล่าวคือ เมื่อนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตัดสินใจประกาศยุบสภา และเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 4 เมษายน 2519 ผลที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาที่ถูกแอบซ่อนไว้อย่างชัดเจน

เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ลงสมัครในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และพ่ายแพ้ให้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

การแพ้การเลือกตั้งในเขตดุสิตของผู้สมัครที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สะท้อนถึงปัญหาความสัมพันธ์กับผู้นำกองทัพโดยตรง เพราะเขตดุสิตซึ่งเป็น “เขตทหาร” ว่าทหารไม่ลงเสียงให้นายกฯ

ความขัดแย้งดังกล่าวมีเสียงลือว่า ผู้นำทหารอยากสนับสนุนให้ ทวิช กลิ่นประทุม เป็นนายกฯ และอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับทัศนะด้านความมั่นคงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต่อต้านการส่งกำลังของสหรัฐจากโอกินาวามายังอู่ตะเภา เพื่อใช้เป็นฐานส่งกำลังเข้าช่วยเหลือตัวประกันในกรณี “มายาเกวซ” และนโยบาย “ปิดฐานทัพ” ที่รัฐบาลต้องการให้สหรัฐยุติการใช้ฐานทัพในไทยในวันที่ 20 มีนาคม 2519

ซึ่งนโยบายความมั่นคงเช่นนี้ไม่เป็นที่พอใจของผู้นำทหารอย่างมาก หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจของรัฐบาลคึกฤทธิ์ในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ และการยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน ก็เป็นประเด็นที่ผู้นำทหารสายอนุรักษนิยมในขณะนั้นไม่พอใจ

ผลจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาล และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 เมษายน 2519 พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้พลเอกกฤษณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แต่ยังไม่ทันจะได้ทำงาน ในอีกไม่กี่วันถัดมา พลเอกกฤษณ์ก็เสียชีวิตในขณะที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

การเสียชีวิตของพลเอกกฤษณ์ครั้งนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการเมืองไทยอย่างมาก และผลประการสำคัญก็คือทำให้ขาดผู้นำทหารที่จะเป็นผู้ควบคุมกองทัพให้แก่รัฐบาลพลเรือนที่เกิดขึ้นในยุคหลัง 14 ตุลาฯ อีกทั้งยังมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ภายในกองทัพเองอีกด้วย

กล่าวคือ การเสียชีวิตครั้งนี้ทำให้เอกภาพภายในของทหารมีปัญหา อันส่งผลให้เกิดการแข่งขันและช่วงชิงอำนาจภายในกองทัพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของกองทัพบกมากยิ่งขึ้น

พลตรีสนั่นถึงกับกล่าวถึงปัญหานี้ว่า “กองทัพสูญเสียผู้นำคนสำคัญที่คอยทำหน้าที่ประคับประคองความสามัคคีภายในกองทัพไปด้วย ทางสังคมเองก็ยอมรับว่าได้สูญเสียนายทหารที่เคยค้ำจุน หรือให้การประกันลมหายใจระบอบประชาธิปไตยไปเสียแล้ว” (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์, ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง, 2545)

หลังจากการเสียชีวิตของพลเอกกฤษณ์เพียงวันเดียว ใบปลิวว่าด้วยการจัดลำดับอาวุโสของนายทหารระดับสูงก็แพร่กระจายไปทั่วทั้งกองทัพบก และทุกสำนักพิมพ์ของสื่อต่างๆ…

สัญญาณของความขัดแย้งภายในกองทัพเริ่มขึ้นแล้ว และถูกสำทับด้วยการลาออกของรองผู้บัญชาการทหารบก พลเอกโชติ หิรัณยัษฐิติ

ปัญหาดูจะยุ่งยากมากขึ้นเมื่อ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกย้ายจากกองทัพบกไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2519

ปรากฏการณ์ “ย้ายกลางอากาศ” เช่นนี้บ่งบอกชัดถึงความยุ่งยากที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

AFP PHOTO

 รอยร้าวในกองทัพ

ต่อมาในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2519 ทหารกลุ่มหนึ่งประมาณ 20 กว่าคนก็เข้าพบนายกฯ เสนีย์ ที่บ้านพัก หนึ่งนายทหารที่เข้าพบครั้งนี้คือ ร้อยเอกอัศวิน หิรัญศิริ (ยศในขณะนั้น) บุตรชายของพลเอกฉลาด ซึ่งก็ทำให้การพบนายกฯ ของทหารกลุ่มนี้ถูกจับตามองอย่างมาก และกองทัพบกก็ได้แถลงว่าได้ทำการสอบสวนนายทหารกลุ่มนี้แล้ว และเตรียมโยกย้ายทหารเหล่านี้ไปประจำชายแดนเพื่อเป็นการลงโทษ

ผลในทางการเมืองจากปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดการจับขั้วเป็น 2 กลุ่มโดยปริยาย คือ กลุ่มที่อยู่กับรัฐบาล และกลุ่มที่ยืนกับพลเอกฉลาด

สถานการณ์บ่งบอกอย่างชัดเจนถึง “รอยร้าว” ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงภายในกองทัพบก

ปัญหาก็คือความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงด้วยการรัฐประหารหรือไม่

แต่ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งภายในกองทัพบกทวีความเข้มข้นขึ้นนั้น กระแสขวาจัดที่พยายามจะ “ปิดเกม” การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษา-ประชาชนก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการจัดชุมนุมของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเมื่อครบกำหนดการถอนฐานทัพสหรัฐออกจากไทยตามคำประกาศในนโยบายของรัฐบาลคึกฤทธิ์ ในวันที่ 20 มีนาคม 2519 นั้น เพราะนโยบายให้สหรัฐปิดฐานทัพในไทยเป็นเสมือนการ “ถอนใบประกันชีวิต” ของผู้นำทหารสายอนุรักษนิยมและกลุ่มการเมืองปีกขวาโดยตรง

กลุ่มปีกขวาทั้งหลายมีความกลัวคอมมิวนิสต์เป็นพื้นฐาน และเชื่อว่าปัจจัยที่จะคุ้มครองไทยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ก็คือการคงอยู่ของฐานทัพสหรัฐในไทยในฐานะของการเป็น “ร่มคุ้มครอง” ภัยความมั่นคงในยุคสงครามเย็น และฐานทัพจะเป็นดังพันธกรณีที่ชัดเจนในนโยบายความมั่นคงของสหรัฐที่จะปกป้องไทยไม่ให้กลายเป็น “โดมิโน” ดังเช่นที่โดมิโนล้มไปแล้ว 3 ตัวในอินโดจีน

นอกจากนี้ ผลจากสถานการณ์การเมืองใหม่หลัง 14 ตุลาคม 2516 ทำให้กลุ่ม “นายทหารระดับกลาง” ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นกลุ่มการเมืองภายในกองทัพอย่างชัดเจน

ซึ่งก่อนเหตุการณ์ในปี 2519 นั้น ได้เห็นถึงการกำเนิดของ 2 กลุ่มคือ กลุ่มทหารระดับกลางในสายของพลเอกฉลาด และอีกส่วนคือกลุ่มของ พันโทมนูญ รูปขจร หรือ “กลุ่มยังเติร์ก”

ถ้ากลุ่มของพลเอกฉลาดมีท่าทีถอยห่างออกไปจากรัฐบาลเสนีย์ กลุ่มของพันโทมนูญกลับส่งสัญญาณถึงความต้องการที่จะสนับสนุนรัฐบาล

และว่าที่จริงแล้วกลุ่มนี้ได้เข้าพบนายกฯ เสนีย์ก่อนกลุ่มของพลเอกฉลาดเสียอีก

โดยกลุ่มยังเติร์กพบกับนายกฯ ในวันที่ 13 เมษายน 2519 เพื่อสนับสนุนให้นายกฯ เสนีย์ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

พันโทรณชัยบันทึกไว้ว่า “ท่านไม่รับปาก แต่ก็ตกลงยอมรับข้อเสนอไว้พิจารณา” (พันโทรณชัย ศรีสุวรนันท์, ยุทธการยึดเมือง, 2529)

ในที่สุด นายกฯ เสนีย์ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อ พลเอกทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 27 สิงหาคม 2519 ซึ่งการนั่งสองตำแหน่งเช่นนี้จะเป็นผลมาจากข้อเสนอของกลุ่มยังเติร์กหรือไม่อาจจะไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การรับตำแหน่งนี้ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ เป็น “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” คนแรกในการเมืองไทย

แทบไม่น่าเชื่อว่าจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามในปี 2475 แล้ว การเมืองไทยต้องใช้เวลาถึง 44 ปี จึงมีรัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นพลเรือนได้จริงในปี 2519 แม้จะไม่มีอำนาจทางทหารอย่างแท้จริงก็ตาม

ในที่สุด สถานการณ์การเมืองไทยก็เดินมาถึงจุดหักเหที่สำคัญเมื่อปีกขวาจัดตัดสินใจเปิดยุทธการ “ล้อมปราบ” เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษา-ประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

คณะรัฐประหารในชื่อของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ได้ประกาศการยึดอำนาจในตอนค่ำของวันดังกล่าว อาจจะมีความหวังในหมู่ผู้นำทหารว่า รัฐประหารครั้งนี้นอกจากจะจัดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายในเมืองได้แล้ว

ก็อาจจะสามารถสร้างเอกภาพจากปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพได้อีกด้วย

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

พลเอกฉลาดไม่รายงานตัว

หลังจากคณะปฏิรูปฯ ได้ยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว ในวันถัดมาได้มีคำสั่งให้นายทหารไปรายงานตัวต่อคณะปฏิรูปฯ พลเอกฉลาดตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการปฏิเสธทางการเมืองต่อการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาฯ

แต่นอกจากจะไม่ไปรายงานตัวแล้ว ในวันที่ 9 ตุลาคม พลเอกฉลาดได้เรียกนายทหารคุมกำลังระดับผู้บังคับหน่วยไปประชุมกันที่บ้านลาดพร้าว ในการประชุมครั้งนี้ เขาได้แสดงความชัดเจน พลตรีสนั่นกล่าวถึงการประชุมในวันนั้นว่า “ท่าน (พลเอกฉลาด) ตัดสินใจต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติ” (ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง, 2545)

คณะปฏิรูปฯ ได้แสดงการตอบโต้อย่างชัดเจนด้วยการประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในเช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2519 ปลดพลเอกฉลาดออกจากราชการทหาร เป็นการปลด “กลางอากาศ” หรือใช้ภาษาทหารก็คือเป็นการ “จู่โจม” ตอบโต้ทางการเมืองแบบทันที

สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ความหวังว่ารัฐประหารจะช่วยสร้างเอกภาพภายในกองทัพได้นั้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงแต่อย่างใด

พลตรีสนั่นกล่าวถึงการถูกปลดครั้งนี้ว่า “เมื่อแรกที่ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ทราบคำสั่งถูกปลดออกจากราชการนั้น ผมเห็นท่านมีอาการสงบนิ่ง แต่คิดว่าท่านคงต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองอย่างหนักหน่วงเหมือนกัน ในที่สุดท่านคงต้องการทำใจและเพื่อให้เกิดเป็นผลดีกับทุกๆ ฝ่าย จึงได้ตัดสินใจไปบวชพระที่วัดบวรฯ โดยได้ฉายาว่า “ศิริหิรัญโญ”” (ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง, 2545)

AFP PHOTO / STF

พลเอกฉลาดเป็นใครจึงกล้าตัดสินใจเดินหน้าชนกับคณะปฏิรูปฯ อย่างไม่เกรงกลัว เพราะเราแทบไม่เคยเห็นนายทหารปฏิเสธการรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารในประวัติการเมืองไทย

พลเอกฉลาดสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปี 2483 เริ่มรับราชการในตำแหน่งรองผู้บังคับกองร้อย (ชั้นยศร้อยตรี) ที่จังหวัดอุดรธานี โดยมี ร้อยเอกประภาส จารุเสถียร เป็นผู้บังคับกองร้อย

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีจึงได้อาสาสมัครไปรบในตำแหน่ง ฝอ. 3 ของกองกำลังทหารไทยในเกาหลี

และต่อมาในปี 2506 เขาได้รับตำแหน่งเสนาธิการ กรมยุทธศึกษาทหารบก อัตรายศพลตรี

จนในปี 2511 จึงได้รับยศพลโท ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังทหารไทยในเวียดนาม

พลเอกฉลาดปฏิบัติราชการสนามในสงครามเวียดนามได้อย่างดี จนได้รับหนังสือสดุดีวีรกรรมจากประธานาธิบดีเวียดนามใต้

หลังกลับจากราชการสงครามในเวียดนาม ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสถาบันวิชาทหารบกชั้นสูง และก้าวสู่ตำแหน่งราชการในระดับสูงของกองทัพบกในระยะเวลาต่อมา

ในสมัยของรัฐบาลคึกฤทธิ์ เขาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่สุดท้ายก็ผิดหวังเพราะรัฐบาลคึกฤทธิ์ประกาศยุบสภาในเดือนมกราคม 2519

และหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ ม.ร.ว.เสนีย์ แล้ว เขาจึงถูก “เตะโด่ง” ออกจากกองทัพบกไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด

ถ้ามองในมุมของทหารแล้ว คงต้องยอมรับว่าพลเอกฉลาดเป็น “ผู้นำทหาร” ที่มีประวัติการรบอย่างดีเยี่ยมทั้งจากสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม

แต่ในสนามรบทางการเมืองแล้ว ความหนักหน่วงของการต่อสู้อาจจะรุนแรงและโหดร้ายอีกแบบ จนความพ่ายแพ้จากการทำรัฐประหารในวันที่ 26 มีนาคม 2520 กลายเป็นสิ่งที่นายทหารผู้เก่งกล้าจากสนามรบท่านนี้ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงที่สุดคือ “ชีวิต” ของเขาเอง!