40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (2) รำลึก “พลเอกฉลาด หิรัญศิริ” | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน1

“การปฏิวัติครั้งนี้เราไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลแล้วทำการปฏิวัติ คือไม่ใช่เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบแล้วทำ แต่เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ เป็นฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่า ไม่มีอำนาจรัฐ กระแสไม่ให้เพราะเขาเพิ่งปฏิวัติกันไปใหม่ๆ”

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์
ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง (2545)

ในการเมืองไทยสมัยใหม่หลังจากยุคการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะทหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 แล้ว เราแทบไม่เคยเห็นความขัดแย้งของผู้นำทหารจนถึงขั้นมีการนำกำลังออกมาเผชิญหน้ากันบนท้องถนนเท่าใดนัก

ในอดีตอาจจะเห็นจากกรณี “กบฏแมนฮัตตัน” ที่นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะกู้ชาติ” ตัดสินใจใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 29 มิถุนายน 2494

ในเหตุการณ์ครั้งนี้มีการใช้กำลังต่อสู้กันโดยตรงระหว่างฝ่ายทหารเรือที่ต้องการการเปลี่ยนรัฐบาล กับฝ่ายทหารบกและทหารอากาศที่สนับสนุนรัฐบาล

เหตุการณ์นี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือ พ้นจากเหตุการณ์นี้แล้ว การใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้กันเองเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้แต่อย่างใด

รัฐประหารในไทยจึงเป็นแบบไม่นองเลือด

แต่เหตุการณ์ในวันที่ 26 มีนาคม 2520 แตกต่างออกไป กำลังทหารของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลออกมาปรากฏตัวอย่างชัดเจน และมีการทำ “สงครามข่าวสาร” ผ่านการแถลงในโทรทัศน์และวิทยุเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง…

40 ปีผ่านไปกับความพยายามที่ล้มเหลวของ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และคณะ จนเรื่องราวครั้งนี้กลายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของหน้าประวัติการเมืองไทย

เนื่องจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เนื่องจากได้มีโอกาสพบกับพลเอกฉลาดและคณะนายทหารผู้นำการยึดอำนาจ จึงอยากจะขอเล่าไว้เป็นบันทึกของเหตุการณ์นี้

อย่างน้อยเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ที่เกี่ยวข้องหลักทั้ง 3 ท่านที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว

ได้แก่ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และ อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง

ใครยึดก่อนชนะ!

 

กลุ่มทหารในชื่อของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากการ “ล้อมปราบ” ที่เกิดขึ้นในตอนเช้าของวันดังกล่าว เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการช่วงชิงเวลาของการยึดอำนาจ จนอดคิดตามความเชื่อแบบไทยๆ ไม่ได้ว่าเป็นการได้ “ฤกษ์เวลา” ในทางโหราศาสตร์ที่ต่างกันใช่หรือไม่

ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วในอดีต กล่าวคือ ในความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหารบกขณะนั้น คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ฝ่ายของจอมพล ป. ได้ฤกษ์ในการยึดอำนาจเวลา 03.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่จอมพลสฤษดิ์ได้ฤกษ์เวลา 24.00 น. ของวันดังกล่าว ซึ่งในทางการทหารก็ตอบได้ว่าใครชิงลงมือทำก่อนจนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน คนนั้นเป็น “ผู้ชนะ” และมีช่วงเวลาที่ต่างกันถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งมากพอที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ได้ (ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน : ประวัติการเมืองไทย, 2543)

ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากลุ่มที่ต้องการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ใครได้ “ฤกษ์เวลา” เท่าใด แต่เราพอทราบจากข้อมูลว่าคณะปฏิรูปฯ ได้ตัดสินใจ “ชิง” ยึดอำนาจก่อนในตอนค่ำของวันดังกล่าว จึงเป็นฝ่ายที่สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน

แน่นอนว่าการช่วงชิงเวลาในการยึดอำนาจรัฐเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชัยชนะในทางการเมือง อย่างน้อยก็เป็นไปตามหลักการของการรัฐประหารในไทยที่ว่า “ยึดก่อน ชนะก่อน” และหลายฝ่ายเชื่อว่า เวลาเคลื่อนกำลังของพลเอกฉลาดอยู่หลังจากช่วงค่ำไปแล้ว ซึ่งดูจะไม่แตกต่างกับกรณีของจอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ในรัฐประหารปี 2500

ในครั้งนั้นพลตำรวจเอกเผ่ายอมไปรายงานตัว แต่พลเอกฉลาดไม่ไปรายงานตัวตามประกาศของคณะปฏิรูปฯ และยังแสดงอาการท้าทายด้วยการเรียกประชุมผู้บังคับหน่วยที่บ้านพักในวันที่ 9 ตุลาคมอีกด้วย

เหตุการณ์เช่นนี้นำไปสู่การประกาศปลดพลเอกฉลาดทันทีในวันที่ 10 ตุลาคม

 

สะสมกำลัง-รอคอยโอกาส

แน่นอนว่าด้วยปัญหาความแตกแยกภายในกองทัพบก พลเอกฉลาดในฐานะ “นายทหารฝีมือดี” ที่เป็นหนึ่งในดาวรุ่งของกองทัพบกถูกกดดันอย่างหนัก เขาถูกโยกย้ายจากกองทัพบกไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด และต่อมาก็ถูกปลดออกจากราชการ

ทุกคนตอบได้ดีว่าการ “ปลดกลางอากาศ” คือการ “หัก” ทางการเมือง ซึ่งทำให้คิดหาทางออกอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากต้องตัดสินใจ “ล้มรัฐบาล”

และสำหรับผู้นำทหารแล้ว การล้มรัฐบาลไม่มีทางอื่นใดนอกจากตัดสินใจเคลื่อนกำลังและประกาศการยึดอำนาจ

แต่จะทำเช่นนั้นได้จริงก็ต้องเริ่มด้วยเข็มมุ่งที่ว่า “สะสมกำลัง รอคอยโอกาส” การรวบรวมกำลังจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมการยึดอำนาจรัฐในทุกกรณี

สำหรับพลเอกฉลาดนั้น ฐานกำลังหลักอยู่กับความสัมพันธ์ของเพื่อนลูก กล่าวคือ พันตรีอัศวินในฐานะนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 เป็นเพื่อนสนิทกับนายทหารระดับรองผู้บังคับกองพัน 2 นาย คือ พันตรีบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และ พันตรีวิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ (กองพันของ ร.19 พล.ร.9 และนายทหารทั้งสองท่านเกษียณราชการในอัตราพลเอก)

แต่การอาศัยกำลังหลักของทหารต่างจังหวัดแต่เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ได้แต่อย่างใด เว้นแต่จะต้องมีกำลังของหน่วยรบที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมโดยตรง เพื่อใช้ในการควบคุมจุดยุทธศาสตร์ในเมืองหลวง

พลเอกฉลาดตระหนักถึงปัญหาเช่นนี้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าหน่วยกำลังในกรุงเทพฯ พร้อมจะเคลื่อนเข้าร่วมด้วย

ดังที่พลตรีสนั่นบันทึกประเด็นนี้ไว้ว่า “ท่าน (พลเอกฉลาด) เอารายชื่อกองกำลังต่างๆ ที่จะเข้าร่วมในการปฏิวัติครั้งนั้นให้ดู ผมเห็นรายชื่อกองพันต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปราจีนบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี แต่ผมก็ยังไม่เชื่อใจคนบางคนได้เต็มร้อยนัก ส่วนที่ผมไม่มั่นใจคือส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผมไม่มั่นใจว่าเขาจะมีความกล้าพอ…” ความกังวลใจเช่นนี้มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จ

แต่ด้วยความเชื่อมั่นใน “คำสัญญา” ของทหารกรุงเทพฯ ดังที่พลเอกฉลาดได้กล่าวว่า “ขอให้ไว้ใจพวกเขาเถอะ” และพลตรีสนั่นยังอธิบายเพิ่มเติมถึงความมั่นใจเช่นนี้อีกว่า

“ท่าน (พลเอกฉลาด) เป็นคนวางแผนเอง ประสานกำลังส่วนต่างๆ เอง เมื่อแผนต่างๆ วางไว้เสร็จ กำลังส่วนทั้งหมดจัดวางตามแผนเรียบร้อย ถึงขั้นปฏิบัติการ ผม (พลตรีสนั่น) ต้องคอยประสานกำลังเหล่านั้นให้เข้ามาตามแผนให้ได้ตรงตามเวลาแต่ละจุด… แผนการยึดอำนาจครั้งนี้ กำหนดวันดีเดย์เอาไว้เป็นวันที่ 26 มีนาคม 2520 กำลังหลักจะเข้ายึดสวนรื่นฤดี เราจะใช้กำลังทหารจากกาญจนบุรี…”

ยุทธการยึดเมืองกำลังเริ่มแล้ว

สำหรับนายทหารที่ผ่านประสบการณ์การรบทั้งจากสงครามเกาหลีและเวียดนามอย่างพลเอกฉลาดตอบได้ดีว่า ความสำเร็จของแผนยุทธการในเบื้องต้นนั้นขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการเคลื่อนกำลังเข้ายึดที่หมายที่ถูกกำหนดไว้ในแผน

ยิ่งจู่โจมยึดได้โดยฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ตัวด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นหลักประกันของความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้น

ดังจะเห็นว่าประมาณช่วงตี 3 ของรุ่งสางของวันที่ 26 มีนาคม กำลังจากกาญจนบุรีก็เข้าถึงกรุงเทพฯ และต่อมาในช่วงตี 4 กำลังหนึ่งกองร้อยจาก ร.1 รอ. ก็เคลื่อนเข้าควบคุมสวนรื่นฯ

ทุกอย่างเป็นไปตามแผนยุทธการอย่างดี จนในเวลา 6 โมงเช้า พลเอกฉลาดจึงได้ฤกษ์ลาสิกขาและเดินทางจากวัดบวรนิเวศฯ สู่กองบัญชาการของคณะรัฐประหารที่สวนรื่นฯ

พลตรีสนั่นกล่าวว่า หลังจากได้ออกประกาศการยึดอำนาจแล้ว ได้มีบุคคลต่างๆ ทยอยเดินทางมารายงานตัวที่สวนรื่นฯ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารระดับสูง นายตำรวจระดับสูง ข้าราชการพลเรือนและนักหนังสือพิมพ์บางส่วนด้วย

ทุกอย่างดูจะเดินไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะนายทหารและนายตำรวจที่อยู่ร่วมกันในขณะนั้น ล้วนเป็นผู้บังคับหน่วยที่เป็นฝ่ายคุมกำลังทั้งสิ้น…

ความสำเร็จของการยึดอำนาจดูจะรออยู่เบื้องหน้าไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

ถึงตอนนี้พลตรีสนั่นถึงกับกล่าวอย่างมั่นใจว่า “ผมคิดไม่ผิดแน่ๆ” ใครเลยจะคิดว่าสถานการณ์ผกผันเกิดขึ้นเพียงชั่วพลิกฝ่ามือ

 

สถานการณ์พลิกกลับ

ในท่ามกลางชัยชนะที่ดูจะอยู่แค่เอื้อม สถานการณ์จริงกลับส่งสัญญาณไปอีกทิศทางหนึ่ง เพราะแม้จะมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่อยู่ใน บก. ของคณะผู้ก่อการ เช่น พลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ (ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก) และ พลตรีอรุณ ทวาทศิน (ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์) เป็นต้น

แต่คณะรัฐประหารกลับทำความผิดอย่างใหญ่หลวงที่พลาดในการเข้าควบคุมตัว พลเอกเสริม ณ นคร (ผู้บัญชาการทหารบก) ซึ่งสามารถหลบหนีจากบ้านพักหน้าสวนรื่นฯ ไปได้ เพราะกำลังที่ส่งไปเชิญตัวนั้นเป็นทหารจากกาญจนบุรี และไม่รู้จักตัว ผบ.ทบ. โดยตรง

ปัญหานี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดที่สำคัญ ที่บ่งบอกถึงการพลิกผันของสถานการณ์ เพราะพลเอกเสริมสามารถหลบออกไปได้ และเข้าร่วมกับรัฐบาลธานินทร์ในการต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว

ดังที่พลตรีสนั่นกล่าวในบันทึกว่า เมื่อกำลังจากกาญจนบุรีไปถึงบ้านพัก ผบ.ทบ. “พบชายสูงอายุผู้หนึ่ง นุ่งกางเกงแพรและใส่เสื้อผ้าป่านคอกลมเดินไปมาอยู่ในรอบหน้าบ้าน จึงตรงเข้าไปถามว่าพลเอกเสริมอยู่หรือไม่ พลเอกเสริมก็ตอบว่าอยู่ในบ้าน แล้วท่านก็เดินออกประตูเล็กไปทาง มทบ. 1…”

สถานการณ์ในสภาพเช่นนี้เริ่มบ่งบอกถึงความผิดปกติ เมื่อหน่วยทหารในกรุงเทพฯ ไม่นำกำลังออกมาตามที่นัดกันไว้ การตรึงกำลังในพื้นที่มีแต่หน่วยทหารจากกาญจนบุรี หน่วยอื่นๆ ไม่ว่าจะจากกรุงเทพฯ ลพบุรี และปราจีนบุรี ไม่ปรากฏว่ามีการเคลื่อนย้ายกำลังแต่อย่างใด ผู้นำส่วนหนึ่งรอเลือกอยู่กับผู้ชนะ

เค้าลางของความยุ่งยากเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อจุดที่ถูกกำหนดให้มีกำลังเข้าควบคุมตามแผน กลับพบว่าไม่มีกำลังอยู่แต่อย่างใด

พลตรีสนั่นกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างมีนัยสำคัญว่า คำสัญญาที่ “มีแต่เห็นด้วย แต่พอถึงเวลาไม่เอากำลังออกมาก็ล้มเหลว จุดที่ผิดพลาดจริงๆ (ของการรัฐประหาร) ก็น่าจะอยู่ตรงนี้แหละ คือที่นัดไว้ไม่มาตามนัด”

คำสัญญาที่ไม่เป็นจริงกลายเป็นจุดพลิกของการยึดอำนาจ ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มตั้งตัวได้มากขึ้น พร้อมกันนี้กำลังของทหารกรุงเทพฯ ก็เริ่มหันไปเข้าร่วมกับรัฐบาล… ใครหลอกใครในวันที่ 26 มีนาคม จึงยังคงเป็นปัญหาที่ไม่กระจ่างในเชิงข้อมูล

อีกทั้งสถานการณ์แทรกซ้อนที่สำคัญเกิดตามมาอย่างไม่คาดฝันเมื่อเกิดเหตุในห้องบัญชาการ จากหนังสือของพลตรีสนั่นกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญตอนนี้ว่า

“พลเอกฉลาด หิรัญศิริ นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ พลตรีอรุณ ทวาทศิน นั่งอยู่ข้างๆ เบื้องหลังที่พลตรีอรุณนั่ง มีร้อยโทชูชีพ นายทหารจากกองพล 9 กาญจนบุรี ถือปืนเอ็ม 16 รักษาการอยู่… พลตรีอรุณลุกขึ้นไปชงกาแฟ แล้วนำไปยื่นให้กับพลเอกฉลาด พลเอกฉลาดรับกาแฟแล้ววางถ้วยไว้ที่โต๊ะ ยังไม่ทันได้จิบกาแฟ ก็ลุกขึ้นเดินไปที่หน้าต่างเพื่อที่จะดูกำลังทหารรักษาการอยู่ในบริเวณสวนรื่นฯ

ระหว่างนั้นพลตรีอรุณก็เดินกลับมายังที่นั่งของตัวเอง แต่ฉับพลันอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด พลตรีอรุณตรงเข้าแย่งปืนเอ็ม 16 จากร้อยโทชูชีพ เกิดการยื้อยุดกันเป็นพัลวันระหว่างนายทหารทั้งสอง…” ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

สถานการณ์พลิกผันไปอย่างรวดเร็ว เพราะพลตรีอรุณสามารถแย่งปืนเอ็ม 16 มาได้ ในบันทึกของพลตรีสนั่นกล่าวว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็น “วินาทีแห่งความเป็นความตาย” อย่างแท้จริง เพราะไม่มีใครคาดว่าจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน

บันทึกกล่าวต่อไปอีกว่า “พลเอกฉลาดสั่งให้พลตรีอรุณวางปืน แต่พอสิ้นคำว่าวางปืน เสียงปืนก็ดังระเบิดขึ้นหนึ่งนัด…” และพลเอกฉลาดตัดสินใจยิงอีก เพราะพลตรีอรุณยังถืออาวุธอยู่ในท่าพร้อมยิง เสียงปืนที่ดังขึ้นบ่งบอกถึงการ “ผิดแผน” แล้ว

เมื่อรถพยาบาลเข้ามารับพลตรีอรุณไปโรงพยาบาลวชิระ สิ่งที่เกิดขึ้นใน บก. สวนรื่นฯ ไม่กลายเป็นความลับอีกต่อไป และจวบจนปัจจุบันก็ไม่มีใครตอบได้ว่าพลตรีอรุณคิดอะไรจึงตัดสินใจทำเช่นนั้น…

เมื่อความตายของพลตรีอรุณแพร่ออกไปสู่สาธารณะ สัญญาณของความพ่ายแพ้ก็เริ่มเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่แม้จะไม่มีเรื่องการเสียชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้น ความพ่ายแพ้ก็คงหลีกหนีไม่พ้น เพราะกำลังจากกรุงเทพฯ ที่สัญญาว่าจะเข้าร่วมกลับเคลื่อนเข้าปิดล้อมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่สวนรื่นฯ

ก่อนเย็นของวันดังกล่าว ฝ่ายยึดอำนาจก็ยอมวางอาวุธ รัฐประหาร 26 มีนาคม จบลงในช่วงค่ำ พร้อมกับคำสัญญาให้ 5 ผู้ก่อการลี้ภัยออกนอกประเทศ!

(ข้อมูลอ้างอิงมาจาก พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์, ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง, 2545)