ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 เมษายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ผมเริ่มเห็นปัญหาของเราแล้วว่ากำลังเราน้อย ดังนั้น จุดต่างๆ ที่วางแผนจะวางกำลังไว้ จึงไม่มีกำลังออกไปอยู่ ผมจึงได้ความรู้ครั้งใหญ่ว่า การปฏิวัติหรือรัฐประหารสำคัญที่ใจของเพื่อนร่วมงานมีแต่เห็นด้วย แต่พอถึงเวลาไม่เอากำลังออกมาก็ล้มเหลว จุดที่ผิดพลาดจริงๆ ก็น่าจะอยู่ตรงนี้แหละ คือนัดไว้ไม่มาตามนัด”
.
พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์
ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง (2545)
การตัดสินใจทำรัฐประหารของ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และคณะนายทหารในวันที่ 26 มีนาคม 2520 แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยขณะนั้นที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะเป็นความพยายามที่ล้มเหลว
แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในท่ามกลางความล้มเหลวที่เกิดขึ้น กลับบ่งบอกถึงปมปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ใต้พรมการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างน่าสนใจ
ปรากฏการณ์ “ทหารชนทหาร” ในวันดังกล่าวเป็นตัวอย่างของปัญหาทางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบการเมืองในภาคพลเรือนยังไม่มีความเข้มแข็งเท่านั้น
หากยังบ่งบอกถึงความเข้มแข็งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปในการเมืองไทยก็คือ พลังของกองทัพในเวทีการเมือง
จุดเริ่ม
หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดของการยึดอำนาจในวันที่ 26 มีนาคม นั้น เราจะเห็นได้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน
ไม่ว่าแผนยุทธการของฝ่ายอำนวยการจะถูกร่างขึ้นอย่างดีเพียงใดก็ตาม
แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริงที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แผนดังกล่าวก็อาจกลายเป็นเพียง “ความฝัน” ได้ไม่ยากนัก
อย่าว่าแต่ในบริบททางการเมืองเลย ปัญหาเช่นนี้เป็นสิ่งที่นักการทหารทุกคนเรียนรู้อย่างดีจากทุกสนามรบ
ดังคำกล่าวของผู้นำทหารเยอรมนีที่เคยเตือนใจผู้นำหน่วยรบในสนามทุกคนว่า แผนยุทธการจะล้มลงทันที เมื่อกระสุนนัดแรกดังขึ้น
แต่ดังได้กล่าวในตอนก่อนแล้วว่า พลเอกฉลาดมั่นใจอย่างมากกับ “คำสัญญา” ของผู้นำทหารระดับสูงในกรุงเทพฯ แม้พลตรีสนั่นเคยกล่าวในบันทึกไว้ว่า เขาไม่ค่อยมั่นใจกับคำสัญญาดังกล่าว แต่พลเอกฉลาดก็คลายความกังวลเช่นนั้นด้วยคำตอบว่า “ขอให้ไว้วางใจพวกเขาเถอะ”
แล้วในที่สุดก็พิสูจน์ด้วยสถานการณ์จริงจากบันทึกของพลตรีสนั่นในวันยึดอำนาจว่า “มีแต่กำลังจากเมืองกาญจน์ (ของพลเอกฉลาด) เท่านั้น หน่วยลพบุรี ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ทั้งทหารราบ ปืนใหญ่ ไม่ออกกันมาเลย”
แต่หากมองจากมุมของนายทหารอีกฝ่ายหนึ่ง จากข้อเขียนของอดีตนายทหารกลุ่มยังเติร์กอย่างพันโทรณชัยที่กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่าคำเตือนใจที่นักรัฐประหารทุกคนต้องใส่ใจก็คือ “ในการรัฐประหารทุกครั้ง รัฐบาลถือฝ่ายได้เปรียบทุกประตู มีอำนาจทางกฎหมาย มีกลไกที่จะทุบหัวฝ่ายก่อการได้ตั้งแต่มีการเริ่มคิด” (พันโทรณชัย ศรีสุวรนันท์, ยุทธการยึดเมือง, 2529)
ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากความเห็นของพลตรีสนั่นว่า “การปฏิวัติครั้งนี้เราไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลแล้วทำการปฏิวัติ คือไม่ใช่เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบแล้วทำ แต่เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ”
แต่พลตรีสนั่นก็อยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องตัดสินใจ แม้จะตระหนักว่า “เราเริ่มจากการเสียเปรียบ จะต้องเสี่ยง”
สำหรับพลเอกฉลาดแล้ว ข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ “พร้อมที่จะปฏิวัติ” แต่ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นคือ “ความมั่นใจ” ในคำสัญญา เพราะเชื่อว่าผู้สัญญาตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการรัฐประหารด้วยอย่างเต็มที่
ว่าที่จริงแล้วจะโทษแต่ความมั่นใจของพลเอกฉลาดก็คงไม่ได้ทั้งหมด เพราะ “คำสัญญา” ของนายทหารระดับสูงที่คุมกำลังในกรุงเทพฯ คงจะทำให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากความมั่นใจ
ดังบันทึกของพันโทรณชัยที่กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า “…รับรู้กันว่ามี 2 พลโทที่จะปรากฏตัวเป็นฝ่ายร่วมก่อการรัฐประหารในวันนั้น และอีก 1 พันโทในกรุงเทพฯ ที่ถือเป็นกุญแจในการยึดทำเนียบ…”
และในความเป็นจริงก็คือนายทหารทั้งสามนายไม่ปรากฏตัว อีกทั้งกำลังในความรับผิดชอบของพวกเขาก็ไม่ได้ถูกสั่งให้เคลื่อนออกสู่ถนนในกรุงเทพฯ แต่อย่างใด
ในสภาพเช่นนี้ ประสบการณ์จากสนามรบในเวียดนามและลาว กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย ทั้งที่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในมุมมองของพันโทรณชัยแล้ว “อำนาจของพลเอกฉลาดในขณะนั้นมีมากพอที่จะทำลายรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ไม่ยาก” และในวันนี้มีความมั่นใจว่าจะมีกำลังหลักอีกส่วนของหน่วยในกรุงเทพฯ เคลื่อนออกมาสนับสนุน
จุดพลิก
หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์รัฐประหารครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า จุดพลิกผันในทางยุทธศาสตร์ก็คือ ความมั่นใจในคำสัญญาของนายทหารระดับสูงในกรุงเทพฯ ดังได้กล่าวแล้ว สุดท้ายแล้วกลายเป็นเพียง “คำหลอก” เพราะกำลังไม่ได้ถูกเคลื่อนออกมา
มีแต่เพียงกำลังพลจากกาญจนบุรีประมาณ 300 นายที่เข้าควบคุมพื้นที่ของกรุงเทพฯ
ซึ่งทุกคนตอบได้ดีว่า รัฐประหารในไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของกำลังหลักในกรุงเทพฯ
แต่ที่จะพลิกกลับทันทีก็คือ เมื่อหน่วยกำลังในกรุงเทพฯ ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล และเปิดปฏิบัติการ “ปิดล้อม” กำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลแล้ว เมื่อนั้นก็คือสัญญาณบ่งบอกถึงจุดจบของความพยายามในการยึดอำนาจ
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว กำลังของฝ่ายพลเอกฉลาดก็ตกอยู่ในสภาพเช่นที่กล่าวนี้
จุดพลิกผันสำคัญอีกประการก็คือ ความผิดพลาดในการส่งนายทหารจากหน่วยกำลังจากกาญจนบุรีเข้าควบคุมตัว พลเอกเสริม ณ นคร (ผู้บัญชาการทหารบก) แต่ด้วยความไม่รู้จักรูปร่างหน้าตาของบุคคลเป้าหมาย ทำให้พลเอกเสริมสามารถหลบออกจากบ้านไปได้ เพราะผู้บังคับหน่วยดังกล่าวตอบในภายหลังว่า
“จำไม่ได้ เพราะไม่เคยพบมาก่อน เห็นแต่รูป เมื่อมาพบท่านใส่กางเกงแพร และเพิ่งตื่นนอน เลยจำไม่ได้ จึงถูกหลอกว่ายังอยู่บนบ้าน”
ผลเช่นนี้ทำให้ตัวบุคคลหลักของฝ่ายกำลังที่ควรจะอยู่ใน “มือ” ของฝ่ายก่อการ กลับกลายเป็นโอกาสที่หลุดลอยไปอย่างไม่หวนคืน คงต้องยอมรับกับการพลาดในการควบคุมตัว ผบ.ทบ. กลายเป็นหนึ่งในความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ในกรณีนี้
เพราะเมื่อพลเอกเสริมประกาศเข้าร่วมกับรัฐบาลในเวลาต่อมา ก็ส่งผลให้ความชอบธรรมของฝ่ายรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างมาก เพราะเท่ากับบอกว่ารัฐบาลมีกองทัพบกให้การสนับสนุนโดยตรง
อีกหนึ่งในจุดพลิกที่สำคัญก็คือ ปัญหาการเสียชีวิตของ พลตรีอรุณ ทวาทศิน ใน บก. สวนรื่นฯ
แน่นอนว่าประเด็นนี้ไม่อยู่ในแผนแต่อย่างใด และไม่อยู่ในความคิดของผู้ก่อการคนใดด้วย
แต่เมื่อข่าวการเสียชีวิตดังกล่าวแพร่กระจายออกไปแล้ว
พลตรีสนั่นกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “สถานการณ์ของฝ่ายเรายิ่งตกเป็นรองอย่างสิ้นเชิง… ฝ่ายรัฐบาลเมื่อเห็นกำลังของเรานิ่งเฉยอยู่ในที่ตั้ง ก็เดาได้ว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน พวกเขาจึงโหมรุกทางประชาสัมพันธ์…”
และในสถานการณ์เช่นนี้ฝ่ายรัฐบาลก็ยิ่งเร่งออกอากาศโจมตีทางการเมืองเพื่อทำลายความชอบธรรมของฝ่ายรัฐประหาร ด้วยการสร้างภาพให้พลเอกฉลาดกลายเป็น “ผู้ทะเยอทะยาน” จนถึงขั้นใช้อาวุธกับนายทหารระดับสูงที่ไม่เห็นด้วย
ซึ่งว่าที่จริงแล้วในขณะนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในห้องประชุมดังกล่าว กล่าวคือ ฝ่ายรัฐประหารถูกระบายสีให้เป็น “ผู้ผิด” ไปเรียบร้อยแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับสามเหตุการณ์ในข้างต้น แต่ก็ส่งผลในเวลาต่อมาก็คือ การส่งกำลังเข้าควบคุมกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อกำลังของหน่วยในกรุงเทพฯ ไม่ออกมาตามคำสัญญา ผู้ก่อการจึงต้องใช้กำลังจากกาญจนบุรีเข้าปฏิบัติการ
แต่ปัญหาที่คาดไม่ถึงก็คือด้วยความเป็นกำลังจากต่างจังหวัด ทำให้ชุดปฏิบัติการนี้ไม่คุ้นเคยกับถนนในกรุงเทพฯ
ดังนั้น ชุดปฏิบัติการดังกล่าวแทนที่จะไปยึดกรมประชาสัมพันธ์ พวกเขากลับยึดโลลิตาไนต์คลับที่อยู่บนถนนราชดำเนินแทน (เรื่องนี้กลายเป็นเรื่อง “ขำๆ” กันในวงคุยในบางขวาง!)
ซึ่งก็คือความผิดพลาดในการเข้าควบคุม “ศูนย์สื่อสาร” ที่จะสื่อสารการเมืองกับสังคม
จนฝ่ายรัฐประหารออกแถลงการณ์หลักได้เพียง 1 ฉบับในเช้าวันดังกล่าวเท่านั้นเอง
สภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะรัฐประหารของพลเอกฉลาดขาดแผนงานที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ แผนการประชาสัมพันธ์ในการทำ “สงครามข่าวสาร” ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ที่ยึดได้จึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย
จุดพลิกผัน 4 ประการหลักเช่นนี้ส่งผลให้คณะผู้ก่อการกลายเป็นรองในทางยุทธศาสตร์ไปโดยทันที แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในเบื้องต้นด้วยการเคลื่อนกำลังจู่โจมเข้ายึดกรุงเทพฯ ได้อย่างไม่มีใครคาดคิด
พันโทรณชัยประเมินปัญหานี้ว่า “ในแง่ของการรัฐประหารแล้ว การปล่อยให้บุคคลสำคัญที่เป็นกุญแจแห่งความล้มเหลวหรือความสำเร็จของการรัฐประหารเล็ดลอดออกไปได้ นับเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์…”
และความเป็นรองเช่นนี้ก็เป็นเส้นทางไปสู่ความพ่ายแพ้นั่นเอง!
จุดจบ
การชิงความได้เปรียบของรัฐบาล ไม่แต่เพียงการเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อสื่อสารทางการเมืองกับประชาชนด้วยการออกแถลงการณ์ของ “กองอำนวยการรักษาพระนคร” แต่ยังตามมาด้วยการประชุมนายทหารที่เป็นผู้คุมหน่วยกำลังในกรุงเทพฯ ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า และหนึ่งในนายทหารที่เข้าร่วมการประชุมก็คือ พันโทมนูญ รูปขจร (ผู้บังคับกองพันทหารม้ายานเกราะที่ 4 หรือ ม.พัน 4) โดยเขาได้รับภารกิจสำคัญจากรัฐบาลก็คือ การนำกำลังรถถังเข้าปิดล้อมกองบัญชาการของฝ่ายรัฐประหารที่สวนรื่นฯ
คำสั่งจาก ผบ.ทบ. ในขณะนั้นก็คือจะต้องยุติปัญหาให้ได้โดยไม่เกิดการปะทะจากกำลังของทั้งสองฝ่าย ซึ่งพันโทมนูญได้เล่าในเวลาต่อมาถึงความพยายามในการยุติศึกครั้งนี้ว่า ด้านหนึ่งก็คือการขอให้นายทหาร 2 ท่านที่เป็นรุ่นเดียวกับพันตรีอัศวิน (นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1) คือ พันตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พันตรีธวิช เกศอังกูร เป็นคนเจรจา
กับอีกด้านหนึ่งก็คือการทำตาม พันตรีวิชาญ ภักดีชุมพล ผู้บังคับกองร้อยรถถังที่ 1 ในขณะนั้น ดังที่ปรากฏในบันทึกของพลตรีสนั่นว่า “เขาจะขึ้นไปถอดคอยล์สปริงที่เข็มแทงชนวนของปืนติดรถถังให้กลับหัวลง หากต้องยิงปืน ปืนก็จะไม่ทำงาน และให้ผมหาวิธีแจ้งข่าวอันนี้เข้าไปยังคณะปฏิวัติข้างในให้ทราบ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องปะทะเสียเลือดเนื้อกัน”
น่าสนใจว่ากำลังจากกาญจนบุรีมีอาวุธต่อสู้รถถังแบบเอ็ม 79 เป็นจำนวนถึง 150 กระบอก หากเกิดการต่อสู้กันขึ้นจริงๆ แล้ว ก็คงเกิดความเสียหายมากพอสมควร โดยเฉพาะแก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณสวนรื่นฯ
พันโทมนูญสื่อสารให้พันโทสนั่น (ยศในขณะนั้น) ทราบถึงการทำให้ปืนรถถังยิงไม่ได้ พันโทสนั่นจึงมีคำสั่ง “ห้ามไม่ให้ยิงออกไปเด็ดขาด”
พันตรีบุญเลิศกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ถ้าเรายิงออกไปโดยขัดขืนคำสั่งของ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ มีหวังบรรลัยแน่”
ถึงตอนนี้คงต้องให้เครดิตแก่นายทหารทั้ง 3 ท่าน คือ พันโทสนั่น พันโทมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพันตรีวิชาญ เจ้าของความคิดที่เสนอให้ถอดเข็มแทงชนวนปืนใหญ่รถถัง จนมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ภารกิจการยุติศึกของพันโทมนูญประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด
ต้องถือว่าเป็นการปราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างละมุนละม่อมของการเมืองไทย และมีเสียงปืนดังขึ้นแค่ใน บก. ที่สวนรื่นฯ เท่านั้น
โมเมนตัมของสถานการณ์ที่เป็นรองนั้น ส่งผลต่อสถานการณ์ในแต่ละช่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในผลสำคัญก็คือในเวลา 13.30 น. ของวันดังกล่าว รัฐบาลมีคำสั่งให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งถ่ายทอดแถลงการณ์รัฐบาล โดยมีช่อง 5 เป็นแม่ข่ายแต่เพียงแห่งเดียว
และเพียงชั่วอึดใจในเวลา 13.35 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายรัฐประหารก็ยุติการถ่ายทอด
ต่อมาในเวลาประมาณ 14.10 น. ทหารจากกาญจนบุรีที่สนามเสือป่าและที่ถนนราชดำเนินกลางก็เริ่มออกมานั่งกลางสนามและวางอาวุธ… สถานการณ์รัฐประหารเดินมาถึงจุดจบ
พลตรีสนั่นกล่าวไว้ว่า “สักบ่ายสามโมง ผมเห็นลางแห่งความพ่ายแพ้เต้นระยับไปหมด” ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ความพ่ายแพ้เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นพัฒนาการมาตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว เมื่อกำลังในกรุงเทพฯ ไม่ได้เคลื่อนออกมาสนับสนุน
พลตรีสนั่นขอร้องให้พลเอกฉลาดออกนอกประเทศไปทางเมืองกาญจน์ โดยมีพันตรีบุญเลิศและพันตรีวิศิษฐ์นำกำลังดูแล แต่ด้วยความเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี พลเอกฉลาดตัดสินใจขออยู่กับลูกน้อง โดยกล่าวว่า “เป็นตายอย่างไรก็จะอยู่กับลูกน้อง”
แล้วความพยายามในวันที่ 26 มีนาคม 2520 ก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ เป็นอีกรัฐประหารหนึ่งที่ถูกตีตราว่าเป็น “กบฏ”!