คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ ในความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย (4)

ตอน  3  2  1

ในระหว่างสงครามเย็น ไทยกับรัสเซียซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน และขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ได้กลับสู่ภาวะปกติ และไม่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองที่อาจนำไปสู่ความบาดหมางระหว่างกัน

ไทยต้องการเห็นรัสเซียเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองที่สร้างสรรค์ในเวทีการเมืองของอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รวมทั้งพร้อมที่จะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาข้ามชาติต่างๆ อาทิ ปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และการต่อต้านการก่อการร้าย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไทยกับรัสเซียได้มีความพยายามในการร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัตยิ่งขึ้นตามลำดับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่เป็นไปในรูปแบบของ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” อันนำมาซึ่งการกระชับความสัมพันธ์ โดยมีกลไกความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการเมืองเป็นเครื่องผลักดันและนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่ลึกและรอบด้านมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับไทยถึงจุดที่แข็งแกร่งที่สุด โดยครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว และในปีนี้เราก็จะได้เห็นบริบทระหว่างประชาชนเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 120 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-รัสเซีย”

เอกอัครราชทูตรัสเซีย นายคีริลล์ บาร์สกี้ กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประเทศไทยในปัจจุบัน บทบาททางการทูตและความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ

“รัฐบาลทั้งฝ่ายไทยและรัสเซียได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจและความร่วมมือทางด้านการลงทุนอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่ยังรวมถึงระดับสังคมทางธุรกิจระหว่างสองประเทศด้วย ข้อตกลงที่สำคัญระหว่างรัฐบาลและระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้มีการลงนามกัน ยกตัวอย่างในระหว่างการมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) แห่งรัสเซียเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2015”

“มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยกับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย, การวางแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับรัสเซียในปี ค.ศ.2015-2017, บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมสหพันธรัฐรัสเซีย, บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ของไทย กับสำนักงานกลางเพื่อการควบคุมยาเสพติดแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยกับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย นอกจากนี้แล้วยังมีการลงนามความตกลงระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนรัสเซียอีก 5 ฉบับ”

ในภาพรวมนั้น รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และอันดับที่ 24 ของไทยในตลาดโลก

ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ในอาเซียนของรัสเซีย (รองจากเวียดนาม) และอันดับที่ 35 ของโลก

โดยระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2009-2013) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าเฉลี่ย 4,329 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และในปี ค.ศ.2014 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าระหว่างไทย-รัสเซีย มีมูลค่า 4,662 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 9

“ผมคิดว่าเรามีความก้าวหน้าในหลายๆ เรื่องที่เป็นความสำเร็จและผมมีความภาคภูมิใจมาก โดยตอนนี้จะขอนำมาเล่าเพียงสองเรื่องก่อน”

“เรื่องแรก คือการพบปะกันระหว่างผู้นำ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ที่เมืองโซชิ (Sochi) ตอนใต้ของประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม ค.ศ.2016 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) แห่งรัสเซีย นี่คือจุดเริ่มต้นของการเจรจาทางการเมืองรอบใหม่ระหว่างสองผู้นำ ผลของการประชุมครั้งนี้ คือการตัดสินใจที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันในอนาคต แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้น เรายังมีเรื่องสำคัญที่ต้องทำกันมากมายหลายอย่าง”

“เรื่องต่อมาที่ผมเชื่อว่าเราได้ประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยได้หันมาให้ความสนใจประเทศรัสเซียโดยเริ่มที่จะมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับรัสเซียมากขึ้น อันเป็นผลจากการไปเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยและการมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีแห่งรัสเซีย ดังนั้น จึงมีหลายคน หลายหน่วยงานในประเทศไทยเริ่มต้นที่จะพูดถึงรัสเซีย ตลอดจนการไปดูงานในโครงการและการลงทุนต่างๆ ของรัสเซีย ส่วนผมก็ได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับวิธีการและธุรกิจที่ควรเข้าไปลงทุนในรัสเซีย”

จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย ในปี ค.ศ.2016 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมากกว่าหนึ่งล้านแปดหมื่นเก้าพันคน (1,089,000) ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพิ่มมากขึ้นเป็น 23.3% ซึ่งมากกว่าในปี ค.ศ.2015

สถิตินี้ได้แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ตั้งใจที่จะเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อน และเป็นจุดหมายในการเดินทาง

“ผมทราบมาว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นยังมีปัญหา เพราะคนต่างชาติอาจยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย แต่ตรงกันข้ามกับคนรัสเซียที่พากันเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยกันเป็นจำนวนมากทีเดียว ผมมีโอกาสได้เดินทางไปพบบริษัทนำเที่ยวซึ่งดำเนินกิจการโดยคนรัสเซียทั้งในพัทยา ภูเก็ต และสมุย ต่างก็เล่าว่า จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ไปที่นั่นมีมากที่สุด คือสูงเป็นอันดับหนึ่ง นี่คือโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะคนรัสเซียไม่ได้เป็นแต่เพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังได้มาสร้างงานในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้คนไทยได้ทำธุรกิจกับคนรัสเซียด้วย นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเทศรัสเซีย สามารถไปศึกษาหาความรู้ตามหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง”

“ตอนแรก ผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่คนไทยมักชอบนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ทั้งที่พวกเขาอาจจะส่งเสียงดังบ้าง คำตอบคือ คนรัสเซียมีความเป็นมิตรเหมือนคนไทย จึงได้รับการต้อนรับจากคนท้องถิ่น ร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมทั่วไป ซึ่งต่างกล่าวกันว่า คนรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่มีรสนิยมดี และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับการบริการที่สะดวกสบายและมีคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะไม่มีความขัดแย้งกับคนท้องถิ่นแล้ว คนรัสเซียยังรักประเทศไทยด้วย”

“ที่สำคัญ ทั้งคนรัสเซียและคนไทยต่างมีความชื่นชมในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของกันและกัน ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถชักชวนคนไทยให้ไปเยือนรัสเซียได้มากขึ้น”

“ระหว่างไทยกับรัสเซียยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป และอีกหลายเรื่องที่ยังคงอยู่ในโครงการ นี่คือการเริ่มต้น แม้หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล แต่เป็นหนทางเดียวในการพัฒนาความสัมพันธ์ของเราให้ขึ้นสู่ระดับสูงสุด โดยมิอาจจะย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้อีก มีแต่จะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียวเท่านั้น”