คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ ในความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย (2)

“ผมมาประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2003 ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ และยังได้กลับมาอีกหลายครั้งขณะเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ช่วงปี ค.ศ.2004 -2008”

“ระหว่างการเดินทางกลับบ้านในวันหยุดหรือไปปฏิบัติภารกิจยังภูมิภาคอื่น ผมมักจะถือโอกาสแวะพักที่กรุงเทพฯ ด้วย ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2010 เพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF)”

เอกอัครราชทูตรัสเซีย นายคีริลล์ บาร์สกี้ (His Excellency Kirill Barsky) เล่าถึงความเป็นมาและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย

“ผมค่อนข้างคุ้นเคยกับประเทศไทยซึ่งมีวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ถึงกระนั้น ก็ยังต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น”

“หลังจากหมดวาระหน้าที่ที่อินโดนีเซีย ผมได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้อำนวยการกรม ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศ สหพันธรัฐรัสเซีย ณ กรุงมอสโก”

“ต่อมาในปี ค.ศ.2011 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียสำหรับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งเป็นองค์การระดับภูมิภาคที่สำคัญมาก ประกอบด้วย รัสเซีย จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน”

“ในที่สุด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี ดิมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) แห่งสหพันธรัฐรัสเซียเป็นครั้งแรก และเมื่อ นายวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก ผมก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นครั้งที่สอง”

“สถานเอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยนักการทูตและเจ้าหน้าที่ชาวรัสเซีย 50 คน มีคนไทยซึ่งทำหน้าที่เป็นคนขับรถ คนสวน และแม่บ้านอีก 7 คน นอกจากนี้ เรายังมีผู้แทนทางการค้าที่แยกสำนักงานออกไปตั้งอีกแห่งหนึ่ง โดยทุกคนทำงานร่วมกันภายใต้การกำกับดูแลของเอกอัครราชทูต หากรวมสมาชิกในครอบครัวของนักการทูตรัสเซียซึ่งพำนักในประเทศไทยด้วย ก็จะมีจำนวนประมาณ 160-170 คน”

“นอกจากนี้ ยังมีชาวรัสเซียที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สายการบินแห่งชาติรัสเซีย แอโรฟลอต (Aeroflot Russian Airlines) สายการบินของเอกชน ทรานแซโร (Transaero Airlines) บริษัทส่งออกยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลรัสเซีย รอสโซโบโรเนกซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) และบริษัทนำเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพัทยา ภูเก็ต และสมุย”

“รวมทั้งผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรัสเซียคือ Russia Today News Agency และ Itar-Tass เป็นต้น”

พันธกิจ

ของเอกอัครราชทูตสหพันธ์รัฐรัสเซีย

ประจำประเทศไทย

“ผมมาเมืองไทยโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนมาก เพื่อเชื่อมโยงให้ประเทศของเราทั้งสองได้มีความใกล้ชิดกันแม้จะอยู่ห่างไกลกันมากก็ตาม ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์หรือระบอบการเมืองการปกครองได้ แต่เราสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างประชาชนต่อประชาชน และนี่คือความท้าทายอันยิ่งใหญ่สำหรับนักการทูตทุกคน”

“ตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานของการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการและความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างราชสำนักรัสเซียกับราชสำนักสยาม นับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาความร่วมมือของทั้งสองประเทศนี้ตั้งแต่เริ่มต้น รัสเซียและไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาจนถึงปัจจุบันครบรอบ 120 ปี ในปีนี้ ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศจะสามารถรักษามิตรภาพที่มั่นคงและยืนยาวเช่นนี้ได้ อันเริ่มต้นจากผู้นำประเทศของเรา คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2”

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ของเราให้อยู่ในระดับที่เจริญงอกงามอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น อันที่จริง ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลและประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ซึ่งให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มที่ ด้วยการเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจของเรา อันเป็นความพยายามในการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ตะวันออกไกล”

“ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งกับอาเซียน”

“ผมมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน เพียงสี่เดือนหลังเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.2014 รัฐบาลของเราได้วางบทบาทต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมองว่า เรื่องนี้เป็นกระบวนการภายในที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รัสเซียให้ความสนใจและให้ความเคารพในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่ารัสเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ทุกประเทศที่มีอธิปไตย ต้องแก้ไขปัญหาภายในด้วยตัวเอง และสำหรับประเทศไทย มีเพียงคนไทยเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของตนเอง”

“แต่ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่รัสเซียมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับไทย โดยพร้อมพัฒนาในทุกมิติ และทุกระดับ”

“และนั่นก็คือ ความแตกต่างจากนโยบายของประเทศอื่นๆ ที่มีต่อประเทศไทย เพราะรัสเซียไม่มีนโยบายเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไทย จึงได้รับความชื่นชมจากนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล ซึ่งรวมถึงคนไทยด้วย นี่คือสิ่งที่ผมได้ยิน และทุกฝ่ายได้กล่าวเหมือนกันว่า ขอขอบคุณรัสเซียสำหรับการสนับสนุนประเทศไทยในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก”

“คําว่าเพื่อนจะสำคัญที่สุด ก็เมื่อเพื่อนมีปัญหา ต้องการแรงใจ แรงหนุนจากเพื่อน วันนี้นายกฯ รัสเซียและประเทศรัสเซียให้ความเป็นเพื่อนกับเรา จะรักษามิตรภาพเหล่านี้ให้ยั่งยืนมากที่สุด ขอบคุณทุกอย่างในความเข้าใจ” เป็นคำกล่าวต้อนรับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อครั้งที่ นายดิมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.2015

เอกอัครราชทูตบาร์สกี้ กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า

“ผมปลื้มใจและดีใจที่ประเทศของเรามีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นตอนนี้ หรือเมื่อ 120 ปีก่อน ครั้งที่สยามกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ล่อแหลมต่อเอกราชของชาติอย่างยิ่ง มิตรภาพระหว่างไทยกับรัสเซียนั้น เหมือนไทยมีเพื่อนแท้ที่ยืนอยู่เคียงข้าง คอยช่วยเหลือในยามยาก เป็นการถ่วงดุลอำนาจกับประเทศตะวันตกที่เข้ามาแสวงหาอาณานิคมในแถบสุวรรณภูมิแห่งนี้ ในขณะที่ประเทศรายรอบต่างก็ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติโดยทั่วกัน”

“ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นับเป็นมรดกตกทอดของเรา จึงควรเห็นคุณค่าร่วมกันและจดจำรำลึกไว้เสมอ เวลานี้ ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับปัญหาได้โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก จึงนับว่าผมโชคดีมากที่ได้มารับตำแหน่งในเวลาที่เหมาะสม เพราะตรงกับความประสงค์ของรัฐบาลไทยปัจจุบัน ซึ่งต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ ได้แสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อประเทศรัสเซียมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน”