ปิยบุตร แนะ 2 ทางปลอดภัย แก้รัฐธรรมนูญ ไม่แตะหมวด 1-2 ไม่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ลดความเสี่ยง ประหยัดงบ 3,200 ล้าน

ปิยบุตร แนะ 2 ทางปลอดภัย แก้รัฐธรรมนูญ ไม่แตะหมวด 1-2 ไม่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ลดความเสี่ยงไม่ผ่านประชามติรอบแรก ประหยัดงบ 3,200 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยการทำประชามติครั้งแรกจะใช้คำถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 โดยใช้งบประมาณในการทำประชามติครั้งแรก 3,200 ล้านบาทนั้น

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า “ถ้ารัฐบาลอยากทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แตะหมวด 1,2 ก็ไม่ควรเสี่ยงกับประชามติ 3 ครั้ง”

จุดยืนผม สนับสนุนการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ การทำใหม่ทั้งฉบับ ก็คือ การทำใหม่ทุกหมวด ทุกมาตราอยู่แล้ว มีข้อห้ามแค่เพียงห้ามเปลี่ยนรูปของรัฐและระบอบการปกครองเท่านั้น

ในอดีต รัฐธรรมนูญปี 40 50 60 ก็มีการปรับปรุงสองหมวดนี้มาโดยตลอด ผมเองก็เห็นว่า ในหมวด 1 และหมวด 2 มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุง และเคยยกร่างเป็นแบบไว้แล้ว

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ ที่ร่วมรัฐบาล ประสงค์จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ก็ไม่ควรเดิน “เกมเสี่ยง” ใช้ประชามติ 3 ครั้ง แต่ควรเลือกทางที่ปลอดภัยกว่า ทางใด ทางหนึ่ง ดังนี้

1.ดำเนินการตามมติคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงที่สภาเมื่อวันที่ 22 ม.ค.67 ที่ยืนยันทำประชามติ 2 ครั้ง กล่าวคือ สส.เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อผ่านรัฐสภา ก็ต้องมาประชามติ (ครั้งที่ 1) เมื่อผ่าน ก็เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) มาทำใหม่ เมื่อได้ร่างใหม่ ก็เอามาประชามติ (ครั้งที่ 2)

หากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ให้ดี ศาลไม่ได้บอกว่าต้องทำ 3 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง หากแก้ในรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้ มี ส.ส.ร. ก่อน ก็ต้องไปจบที่ประชามติ ตามมาตรา 256 อยู่แล้ว เมื่อมี ส.ส.ร. มาร่างใหม่ โดย ส.ส.ร นี้ ก็ต้องไปจบที่ประชามติ เช่นนี้ ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ

แต่ถ้ายังกังวลกันอีก ก็สามารถอธิบายได้ว่า การทำใหม่แบบไม่แก้ หมวด 1,2 ย่อมไม่ใช่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในความหมายที่ปรากฏในคำวินิจฉัย 4/64

2.ใช้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่ มาตรา 25 – มาตรา 279 ไปเลย เว้น มาตรา 1-24 ในหมวด 1 และ 2 ไว้

อาจบอกกันว่า แก้รายมาตรา จะไปติดสว.อีก แต่สภาพดุลอำนาจตอนนี้ พรรคเพื่อไทยน่าจะคุยกับสว.รู้เรื่องกว่าแต่ก่อน และเดือนหน้า สว. 250 คน ก็จะพ้นไปแล้ว

การใช้วิธีนี้ จะเป็นการไม่แก้ หมวด 1,2 โดยไม่ต้องพูดชัดแจ้งว่าจะไม่แก้หมวด 1,2 ให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา

การใช้วิธีนี้ เป็นการยกประเด็นการแก้เรื่องหมวด 1 หมวด 2 ออกไปจากรัฐสภาโดยปริยาย สมาชิกและประชาชน ก็ต้องมาโฟกัสหมวดอื่นๆ แทน

“ทั้ง 2 วิธีนี้ ทำให้ได้ผลลัพธ์ตามที่รัฐบาลต้องการ (ไม่แตะหมวด 1,2) โดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับประชามติรอบแรกว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน (เพราะถ้าไม่ผ่าน พวกสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 60 จะยิ่งอ้างความชอบธรรมมากขึ้น) ไม่ต้องเสียเวลา และประหยัดเงิน 3,200 ล้านบาท” นายปิยบุตร ระบุ

ทีี่มา

https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/1047956246690433?ref=embed_post