คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ ในความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย (3)

ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวของชีวิต ของประเทศชาติ และมนุษยชาติ เราจึงต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อการเข้าใจสังคมในอดีต ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด แล้วนำมาเสริมสร้างความเข้าใจในสังคมปัจจุบัน

“อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่สั้นกว่าหลายประเทศในยุโรป แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างจากประเทศยุโรปอื่นๆ โดยสิ้นเชิง เพราะต้นสายปลายเหตุแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ในระดับรัฐ เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย”

เอกอัครราชทูตรัสเซียนาย คีริลล์ บาร์สกี้ (His Excellency Kirill Barsky) กล่าวถึงความสัมพันธ์อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

 

จุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสยามและรัสเซีย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1863 เมื่อเรือรบรัสเซียสองลำ ชื่อ “กายดามัก” (Gaydamak) และ “โนวิก” (Novik) ได้ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจอดเทียบ ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ ในโอกาสที่มาสำรวจดินแดนในภูมิภาคนี้

ผู้บัญชาการเรือนำโดย พลเรือเอกอเล็กเซ เปสชูรอฟ (Admiral Alexi Petchurov)ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากฝ่ายไทย ทั้งยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รัสเซียได้ส่งคณะนายทหารเรือเข้ามากระชับความสัมพันธ์อีกสองครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ.1873 และครั้งที่สองในปี ค.ศ.1882

ครั้งนี้นำโดย พลเรือตรีอา.แว. อัสลัมเบคอฟ (Rear Admiral A.B. Aslambekov) ซึ่งได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและร่วมเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปีด้วย

ปี ค.ศ.1888 นักดนตรีและคีตกวีชาวรัสเซียคือ นายปโยตร์ ซูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) แต่งทำนองเพลงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปี ค.ศ.1932 เพลงนี้จึงได้กลายมาเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน

พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Tsar Nicholas II) เมื่อครั้งทรงเป็นมกุฎราชกุมาร

นิโคลัส ได้เสด็จเยือนและพำนัก ณ กรุงสยาม ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม ค.ศ.1891โดยเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะเสด็จวางศิลาฤกษ์ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway : Transsib) ณ เมืองวลาดิวอสต็อก (Vladivostok) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดในโลกจากทวีปยุโรปผ่านเอเชียและสิ้นสุดที่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

การต้อนรับมกุฎราชกุมารนิโคลัสเป็นไปอย่างอลังการ ณ พระบรมมหาราชวัง ด้วยขบวนปิกนิกทางเรืออันยิ่งใหญ่ มีพระราชพิธีคล้องช้างป่าถึง 300 เชือกที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เพนียด ณ พระราชวังบางปะอิน

นับเป็นการคล้องช้างครั้งสุดท้ายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสองราชวงศ์

เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1891 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนรัสเซีย ทรงได้รับพระราชทานพระวโรกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Emperor Alexander III)

และได้ถวายจดหมายพระราชไมตรีจากพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1896 พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนรัสเซียเพื่อร่วมฉลองในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (จักรพรรดินิโคลัสที่ 2) ในฐานะพระราชอาคันตุกะ

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ณ ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 3-10 กรกฎาคม ค.ศ.1897 แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกันจะเริ่มต้นมานานแล้ว แต่ได้ถือเอาวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1897 เป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย อย่างเป็นทางการเพราะเป็นวันที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้เสด็จเข้าสู่แผ่นดินรัสเซียอย่างแท้จริง

สมเด็จพระพันปีหลวงของรัสเซีย (พระราชมารดาของพระเจ้าซาร์) ทรงรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชบุตร (ตามพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)

ด้านที่สำคัญประการหนึ่งของการผนึกความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ ได้แก่ การจัดการศึกษาของชนชั้นสูงของสยามในรัสเซีย โดยสมาชิกราชวงศ์และข้าราชการไทยได้เดินทางไปเยือนรัสเซีย พร้อมทั้งส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโก

โดยเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เป็นคนไทยพระองค์แรกและเป็นพระราชโอรสองค์เดียวของพระมหากษัตริย์ไทยที่เสด็จไปศึกษาในประเทศรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.1898 ที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก (Corps des Pages) และศึกษาต่อที่โรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการ (General Staff Academy)

ต่อมา ทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพบกรัสเซีย โดยประทับที่พระราชวังฤดูหนาวในฐานะพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งได้พระราชทานพระเกียรติแต่งตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถให้เป็นราชองครักษ์พิเศษประจำพระองค์ด้วย

ในปี ค.ศ.1906 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถได้อภิเษกสมรสกับสตรีรัสเซียนามว่า อีคาเทอรีนา “แคทยา” เดนิสกายา (Ekaterina “Katya” Desnitskaya)

ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ รวมทั้งวางรากฐานการบินในเมืองไทย จึงได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”

 

รัสเซียได้แต่งตั้ง นายเล็กซานเดอร์ โอลารอฟสกี (Mr. Alexander Olarovsky) เป็นอุปทูตและกงสุลใหญ่ของรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1897 โดยเปิดสถานกงสุลรัสเซียในกรุงเทพฯ วันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1898 และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1917

นายโอลารอฟสกี ได้เสนอรายงานกลับไปที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ความว่า สถานทูตรัสเซียได้รับหนึ่งในผืนที่ดินที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ สำหรับเป็นที่ตั้งของสถานทูตเพราะไม่มีสถานทูตของประเทศใดเลยที่จะได้รับโอกาสตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังเหมือนของรัสเซีย

นอกจากนั้น ราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sports Club) ก็ได้รับการริเริ่มจัดตั้งโดยนายโอลารอฟสกี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานของราชกรีฑาสโมสรถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยชื่อของกงสุลผู้นี้ได้ถูกจารึกลงบนแผ่นหินแกรนิต บริเวณใกล้กับทางเข้าของสโมสรด้วย

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1897 รัฐบาลสยามได้แต่งตั้งพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ให้เป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบครอบคลุมถึงรัสเซีย

ต่อมาปี ค.ศ.1899 พระยามหิบาลบริรักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตคนแรก ที่มีถิ่นพำนักประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนับเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่มีราชวงศ์เป็นศูนย์กลาง ได้ดำเนินจนถึงปี ค.ศ.1917 เมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติ และสถาปนาสหภาพโซเวียตขึ้น ไทยจึงได้ถอนการมีผู้แทนทางการทูตที่ดูแลรัสเซีย และยุติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันลงชั่วคราว

แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยความระมัดระวัง จัดได้ว่ามีลักษณะ “แม้จะไม่เป็นพันธมิตรกัน แต่ก็ไม่เคยเผชิญหน้ากัน”

เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังการปฏิวัติเมื่อปี ค.ศ.1932 ไทยเลือกสหภาพโซเวียตเป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตก

โดยริเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1939 และประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1941

ไทยจึงเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต

และมีการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางการทูตในปี ค.ศ.1947

แต่ความสัมพันธ์อยู่ในภาวะหยุดนิ่งในระหว่างสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายามรักษาช่องทางการติดต่อทางการทูตระหว่างกันไว้

 

การเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 21-27 มีนาคม ค.ศ.1979 เป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลครั้งแรกของไทย นับตั้งแต่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ก่อให้เกิดการสร้างมิตรภาพไทย-รัสเซียอีกครั้งด้วยการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย-รัสเซีย (Soviet-Thai Friendship Society) และเมื่อการเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ความสัมพันธ์ทวิภาคีจึงค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น

จวบจนสมัยของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ได้ไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16-22 พฤษภาคม ค.ศ.1988 เป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคีในมิติต่างๆ อย่างทั่วด้าน และนำมาซึ่งการเสด็จเยือนของราชวงศ์ไทย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม ค.ศ.1989 และตามด้วยการเสด็จเยือนของเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสรานครินทร์ในปีเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี นิโคลาย รีซคอฟ (Nikolai Ryzhkov) แห่งสหภาพโซเวียต มาเยือนไทย ถือเป็นการเยือนครั้งแรกในระดับหัวหน้ารัฐบาล ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990

 

เมื่อสหภาพโซเวียตได้สลายตัวลงในปี ค.ศ.1991 ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองเอกราชของสหพันธรัฐรัสเซียและยอมรับสถานะทางกฎหมายแห่งรัฐของรัสเซีย ในฐานะประเทศผู้สืบสิทธิ์อำนาจและพันธกรณีของสหภาพโซเวียต โดยไทยยืนยันความตั้งใจในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีร่วมกัน เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

การเสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 13-24 มีนาคม ค.ศ.1993 ได้ทรงบันทึกเรื่องราวในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “รอยยิ้มหมีขาว” และมีรับสั่งให้แปลจดหมายเหตุ (จากภาษารัสเซียโบราณเป็นภาษาไทย พร้อมตรวจสอบความถูกต้อง) จากหอจดหมายเหตุของรัสเซียซึ่งเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการติดต่อทางการทูต ระหว่างอุปทูตรัสเซียประจำสยามคนแรก และกระทรวงต่างประเทศรัสเซียในรัชสมัยของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2

ซึ่งผลจากการแปลเอกสารได้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีและความจริงใจของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ต่อราชอาณาจักรสยามและชาวสยาม

 

ความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ คือ การเยือนไทยของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.2003

นับเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่พระประมุขและประมุขทั้งสองประเทศได้พบกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ได้ทรงพบกันที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นเวลากว่า 105 ปีล่วงมาแล้ว

ต่อมา วันที่ 2-11 กรกฎาคม ค.ศ.2007 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซียในฐานะผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีปูติน เพื่อทรงร่วมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 110 ปี

และล่าสุด นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน ค.ศ.2015

 

การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำประเทศ นับเป็นการจุดพลังความร่วมมือระหว่างกันให้ก้าวหน้าในทุกด้านและทุกมิติของความสัมพันธ์โดยไม่มีข้อจำกัด บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ดังที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวถึงระดับความสัมพันธ์ของไทยกับรัสเซียภายหลังการเยือนเมื่อปี ค.ศ.2003 ว่า

“รัสเซียพึงพอใจที่ความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้พัฒนาไปอย่างมีพลวัตยิ่ง โดยเฉพาะด้านการเมือง และเศรษฐกิจ-การค้า ในขณะที่ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และการศึกษาก็มีอนาคตที่สดใส”