คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ ในความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย (1)

“สําหรับปีนี้ เป็นปีที่ไม่ธรรมดาและพิเศษมาก เพราะเป็นปีที่เราจะร่วมกันเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย ครบรอบ 120 ปี ซึ่งจะเกิดกิจกรรมและโครงการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดำรงอยู่แล้วระหว่างประเทศของเรา ให้สนิทแน่นแฟ้น ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะถูกจารึกอยู่ในความทรงจำของประชาชนทั้งสองชาติต่อไปอีกตราบนานเท่านาน”

“ตามความเชื่อของโลกตะวันออก ปีนี้เป็นปีระกา อันเป็นปีแห่งความสุขสำหรับทุกครอบครัวทั่วโลก ไก่ตัวผู้นี้เป็นสัญลักษณ์ของครอบครัว ของความสัมพันธ์ที่ดี ขนบธรรมเนียมที่ดีของชีวิตครอบครัว ก็หวังว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพ ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการดำรงอยู่อย่างมีความสุข”

“สำหรับผมและครอบครัว มีความสุขมากที่ได้มาอยู่ที่ประเทศไทย เพราะคนไทยใจดีและน่ารัก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เรามีความปรารถนาที่จะอยู่ในประเทศไทยให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้”

นั่นเป็นคำกล่าวของเอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน นายคีริลล์ บาร์สกี้ (His Excellency Kirill Barsky) ซึ่งนอกจากเป็นนักการทูตที่มีประสบการณ์สูงแล้ว ยังเป็นนักภาษาศาสตร์ นักเขียน นักประพันธ์ นักกวี นักดนตรี นักแต่งเพลง นักสะสมที่วางตะเกียบมากกว่า 400 ชิ้น สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาจีนกลางได้เป็นอย่างดี

ด้านการศึกษา ได้รับปริญญาเกียรตินิยมจาก Moscow State University of International Relations เมื่อปี ค.ศ.1989 และปริญญาเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์จากประเทศจีนในเวลาต่อมา

หน้าที่การงาน เริ่มจากตำแหน่งในส่วนกลางของกระทรวงต่างประเทศ จากนั้นได้ไปประจำสถานทูตสหภาพโซเวียต/รัสเซีย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นผู้แทนถาวรสหพันธรัฐรัสเซียภายใต้องค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก และได้เข้าศึกษาต่อจนได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ขณะที่อยู่ในจีน

มีประสบการณ์เป็นผู้อำนวยการกองอาเซียน 1 กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย, อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, รองอธิบดีกรมความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย, ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซียในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ผู้ประสานงานประจำชาติสหพันธรัฐรัสเซียใน SCO เอกอัครราชทูตพิเศษของคณะผู้แทน และหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลในขั้นตอนการก่อตั้งกฎหมายพื้นฐาน SCO

เป็นผู้เขียนบทความจำนวนมากทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นโยบายภายในและภายนอกของจีน รวมถึงประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน-แปซิฟิกและประวัติศาสตร์ทางการทูตรัสเซีย

รวมทั้งเป็นนักประพันธ์บทโคลงกลอนและเรื่องสั้นหลายเล่ม

ล่าสุด ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย และเป็นผู้แทนถาวรสหพันธรัฐรัสเซียภายใต้คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก-เอสแคป (ESCAP) ที่กรุงเทพมหานคร ควบคู่กัน ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.2014

 

ชีวิตครอบครัว เอกอัครราชทูตบาร์สกี้ สมรสแล้วกับนางโอลก้า บาร์สกายา (Mrs. Olga Barskaya) มีบุตรและธิดา สองคน

เอกอัครราชทูตผู้มีพรสวรรค์หลายด้านให้การต้อนรับผู้เขียนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ขณะพาชมสถานที่ จนกระทั่งมานั่งสนทนากัน ณ สวนอันร่มรื่น เงียบสงบ นานๆ ครั้งจะได้ยินเสียงนกร้องอยู่ไกลๆ ภายในอาณาบริเวณสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ย่านถนนสุรวงศ์

“ผมเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1964 ณ เมืองเรอูตอฟ ในเขตมอสโก เคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ.1985 สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเกียรตินิยมจาก Moscow State University of International Relations ในปี ค.ศ.1989 ด้วยเหตุที่ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนและพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อเข้าร่วมงานในกระทรวงต่างประเทศ ภายในปีเดียวกันจึงถูกส่งไปประจำที่ประเทศจีน อันเป็นปีที่สหภาพโซเวียตได้วางแผนที่จะปรับความสัมพันธ์กับจีน”

เอกอัครราชทูตบาร์สกี้เล่าถึงความเป็นมาและความคิดเห็นในแต่ละช่วงชีวิตของการเป็นนักการทูตที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

“เมื่อ นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำสหภาพโซเวียตในขณะนั้นไปเยือนประเทศจีน ผมซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่นและอยู่ในระหว่างการเขียนวิทยานิพนธ์ ได้รับโทรศัพท์จากกระทรวงต่างประเทศ ขอให้ไปร่วมทีมของล่ามที่มาพร้อมกับคณะผู้แทนของสหภาพโซเวียต”

“ล่ามแต่ละคนได้รับมอบหมายให้เป็นล่ามประจำตัวของผู้แทนทุกคนในคณะนี้ ซึ่งนอกเหนือจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟแล้ว ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากพรรคคอมมิวนิสต์ กระทรวงต่างประเทศ และรัฐบาลโซเวียตทั้งนั้น”

“สำหรับชายหนุ่มวัย 25 ปีอย่างผม นับว่าเป็นเกียรติอย่างแท้จริงที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับคณะผู้แทนซึ่งนำโดยประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ หลังจากนั้น ผมจึงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานทางด้านการทูตควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานเป็นล่าม”

“ในปี ค.ศ.1998 ได้ถูกส่งไปประจำที่นครนิวยอร์ก ต่อมาในปี ค.ศ.2001 จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกนโยบายต่างประเทศจีนที่กระทรวงต่างประเทศในกรุงมอสโก แต่ยังคงทำหน้าที่การแปลในการประชุมระดับสูง”

 

“ผมเดินทางมากรุงเทพฯ พร้อมกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) แห่งสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งมาร่วมในการประชุมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC) เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม ปี ค.ศ.2003 ในระหว่างการประชุม ผมนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างประธานาธิบดีปูติน และประธานาธิบดี หู จิ่น เทา (Hu Jintao) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่แปลและบันทึกการสนทนาระหว่างประมุขของรัฐทั้งสอง ผมปฏิบัติหน้าที่นี้มาโดยตลอดเป็นระยะเวลานานกว่าสิบปี”

“ประธานาธิบดีปูตินใช้เวลาสี่วันเพราะไม่เพียงแต่มาร่วมประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เป็นการมาเยือนประเทศไทยในแบบทวิภาคีด้วย”

“ภายหลังการประชุมดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ผมจึงได้มีเวลาว่างพอที่จะทำตัวให้คุ้นเคยกับประเทศไทย ด้วยการเดินเล่นไปตามท้องถนนตั้งแต่เช้าจนค่ำ ได้ไปชมพระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ พิพิธภัณฑ์จิมทอมป์สัน และล่องเรือไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ”

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมเกิดความหลงใหลในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับชาวรัสเซียอีกหลายคนที่ได้มาตกหลุมรักประเทศไทย แต่ตอนนั้นเป็นปี ค.ศ.2003 ไม่เคยคิดเคยฝันเลยว่า ในวันหนึ่ง ผมจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ ประเทศที่สวยงามแห่งนี้”