เพจตรวจวัดอากาศ คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

ปริญญา ตรีน้อยใส

ช่วงเวลานี้ไปไหนไหนใครก็บ่นว่าร้อน ร้อนมาก ยิ่งมีสื่อต่างๆ ออกมาประโคมข่าวเภทภัยที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น รวมทั้งคาดการณ์ว่าจะทวีความรุนแรงต่อไป

ทำให้หลายคนสติสั่นคลอน

เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงมากนัก และไม่กังวลกับภาพหน้าจอมือถือ ที่ไวรอลในกระแสโซเชียล

จึงขอนำเสนอตัวเลข ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือวัดบนชั้นดาดฟ้า อาคารศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมกายภาพสู่สังคม ที่เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ตั้งอยู่ริมถนนพญาไท

แม้ว่าจะเป็นสถานีภายในมหาวิทยาลัย ที่จะบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการเรียนการสอน และการวิจัย ของนิสิตและคณาจารย์ แต่ด้วยทำเลที่ตั้ง จึงเป็นสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ที่น่าจะมีสภาพแวดล้อมต่างไปจากสถานีวัดอากาศที่ดอนเมือง หรือบางนา ซึ่งที่ตั้งอยู่ชานเมือง

สถานีตรวจวัดอากาศนี้ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยโตเกียวเมโทโปลิแตน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน คือเดือนเมษายน พ.ศ.2567 อุปกรณ์เครื่องวัดต่างๆ จะทำงานตลอดเวลา

และรายงานผลแบบเรียลไทม์ บนเว็บเพจ รายงานสภาพอากาศกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ของนิสิต คณาจารย์ และนักวิจัย

 

จากการวิเคราะห์ตัวเลขอุณหภูมิที่รวบรวมไว้ พบว่า อุณหภูมิร้อนที่สุดที่วัดได้ คือวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลา 14:30:00 อยู่ที่ 40.00 องศาเซลเซียส

รองลงมาคือวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2567 เวลา 14:35:00 อยู่ที่ 39.60

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 16:31:00 อยู่ที่ 39.50

วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2564 อยู่ที่ 38.40

และวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2563 อยู่ที่ 38.20

จากตัวเลขชุดดังกล่าว แสดงว่า สำหรับปีนี้ จนถึงเวลานี้ (เขียนต้นฉบับในช่วงกลางเดือนเมษายน 2567) อากาศยังไม่ร้อนเท่าปีที่แล้ว ที่ขึ้นไปถึงเลข 4

แต่ดูเหมือนว่า ตั้งแต่เริ่มสำรวจตรวจวัดอากาศ อุณหภูมิดูจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนเมษายน ที่ว่าเป็นเดือนที่ร้อนมากนั้น ของปี พ.ศ.2563 จนถึง 2567 มีค่าดังนี้ 30.50 29.64 30.28 31.21 และ 31.66 องศาเซลเซียส ตามลำดับ

เช่นเดียวกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี เท่ากับ 29.35 28.87 29.08 30.00 และ 30.06 องศาเซลเซียส

จึงเห็นได้ว่า ในปีปัจจุบันจนถึงวันที่สำรวจ ตัวเลขอุณหภูมิไม่ได้สูงกว่าปีก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าสูงสุด หรือค่าเฉลี่ยต่อเดือน หรือต่อปี

ตัวเลขชุดนี้ อาจขัดแย้งกับความรู้สึกของผู้คน และที่แน่ๆ ขัดแย้งกับตัวเลขที่ปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ นั่นเป็นเพราะว่า ตำแหน่งที่ตรวจวัดอุณหภูมิความร้อนต่างกัน

ด้วยตำแหน่งของสถานีนั้น อยู่สูง กลางแจ้ง มีลมพัด จึงต่างไปกับตำแหน่งเจ้าของโทรศัพท์มือถือ ที่อาจอยู่กลางแจ้ง และได้รับความร้อนที่สะท้อนจากสิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลานคอนกรีต ถนน กำแพง ผนังอาคาร ประตูหน้าต่างกระจก ฯลฯ ที่สำคัญได้รับลมร้อนจากเครื่องระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ ที่ดูดความร้อนจากภายในห้องหรืออาคาร มาปล่อยข้างนอก

นอกจากตัวเลขอุณหภูมิอากาศแล้ว สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ยังรายงานตัวเลขความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ ความเร็วลม ความเข้มแสงอาทิตย์รวม ความเข้มแสงอาทิตย์ตรง และความเข้มแสงอาทิตย์กระจาย แบบเรียลไทม์

ผู้สนใจโปรดเยี่ยมชมเพจได้ตลอดเวลา •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส