ธงชัย วินิจจะกูล : ‘ตามหาลูก’ จดจำและหวังด้วยความเงียบ (จบ)

อ่านย้อนหลัง ตอน1 ตอน2 ตอน3 ตอน4 ตอน5

ความจริงที่โหดร้าย

ในระหว่างที่ผมสืบค้นหาความจริงนั้น ผมทราบว่าจินดากับลิ้มฝากฝังเพื่อนๆ ของจารุพงษ์ให้ช่วยกับสืบหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างของเขา

ถึงเวลานั้นผมรู้แล้วว่าเขาตายอย่างไรและรู้แล้วว่าร่างของเขาไปไหน

ผมมีคำตอบพร้อมบอกกับพ่อแม่ของเขา แต่พร้อมๆ กันความอยากรู้อยากเห็นของผมก็ก่อให้เกิดคำถามต่อมาขึ้นอีกข้อหนึ่งก็คือ ในระหว่างการตามหาลูกชายนั้น จินดาได้เห็นร่างหรือรูปของชายไทยไม่ทราบชื่อคนนั้นหรือไม่

ถ้าไม่ได้เห็น เป็นไปได้อย่างไรกัน ถ้าเขาได้เห็น ทำไมเขาไม่รับศพนั้นไป

จินดาไม่ได้ระบุในบันทึกว่าได้แวะไปโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแสดงรูปถ่ายของคนเสียชีวิตทั้งหมดเพื่อให้ญาติมาระบุตัวแล้วรับศพไป

ทำไมเขาไม่ได้ไป หรือว่าเขาไปแต่ไม่ได้เห็นศพ หรือว่าเขาไปและได้เห็นร่างเหล่านั้นแต่ดูไม่ออกว่าคนไหนเป็นจารุพงษ์ หรือว่าเขาไปแต่… หรือว่า… ฯลฯ

ผมพบจินดากับลิ้มอีกครั้งในปี 2544 ในการอภิปรายเพื่อรำลึก 25 ปี 6 ตุลา ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

ผมขออนุญาตพบพูดคุยกับท่านทั้งสองเป็นการส่วนตัวในห้องเล็กๆ ที่ไม่มีคนอื่นร่วมการสนทนา

ผมอธิบายแก่ท่านถึงสิ่งที่ผมพบและเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างของลูกชายท่าน

ผมกล่าวในท้ายที่สุดว่า ผมอยากจะนำร่างของจารุพงษ์มาให้กับพ่อแม่แต่คงทำไม่ได้แล้ว

ผมยังจำได้ชัดติดตาจนถึงทุกวันนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากผมอธิบายจบลง เราทั้งสามคนนั่งร้องไห้

ผมถามจินดาว่าได้แวะไปดูที่โรงพยาบาลตำรวจหรือเปล่า ท่านเคยเห็นรูปของชายไทยไม่ทราบชื่อหรือไม่

ทันใดนั้นลิ้มก็ร้องออกมาลั่นห้อง พร้อมชี้นิ้วใส่หน้าจินดา

“บอกแล้วว่านั่นแหละลูกเกี๊ยะ บอกแล้วว่าคนนั้นแหละลูกเกี๊ยะ”

จินดาร้องไห้พรั่งพรูออกมาทันที ร่างของท่านห่อไหล่ลง ซุกตัวลงกับเก้าอี้ นั่งก้มหน้า ไม่รู้ว่าจินดาร้องไห้ให้กับลูกชายหรือร้องไห้เพราะโกรธกับความล้มเหลวของตนเองที่ไม่สามารถระบุตัวลูกชายได้

…หรือเพราะอะไรก็ตาม

ผมไม่รู้จนทุกวันนี้ว่าจินดากับลิ้มได้เห็นอะไรจึงคิดว่านั่นแหละจารุพงษ์ เห็นรูปหรือเห็นร่าง เห็นที่ไหน เท่าที่พอจะปะติดปะต่อได้ผมเข้าใจเพียงว่า จินดาไม่เคยไปโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจรูปหรือศพผู้ตาย แต่ผมอาจจะเข้าใจผิด

ผมเข้าใจว่าในช่วงที่ท่านตามหาลูกหลังเหตุการณ์จินดายังไม่ได้เห็นรูปของลูกชายที่ถูกลากคอกลางสนาม

แต่ภายหลังจากนั้น เมื่อไหร่ผมไม่ทราบ จินดากับลิ้มได้ไปที่วัดดอนน่าจะหลังจากที่ชายไทยไม่ทราบชื่อจากธรรมศาสตร์ถูกเผารวมๆ กันและรวมกับศพไม่มีญาติอื่นๆ ไปเรียบร้อยแล้ว เขาอาจจะได้เห็นรูปศพของชายไทยไม่ทราบชื่อที่นั่น 16

ทั้งสองเห็นอะไรเมื่อไรที่ลิ้มคิดว่าเป็นลูกของท่านแต่จินดาไม่เห็นด้วย เราไม่ทราบ รูปที่ท่านเห็นที่วัดดอนเป็นรูปเดียวกับที่อยู่ในรายงานชันสูตรศพหรือเปล่า เราก็ไม่ทราบเช่นกัน

ท่านทั้งสองตามหาลูกชายมาได้ไกลเหลือเกิน ใกล้จะพบร่างของเขาแล้ว ท่านคงคิดชั่วขณะหนึ่งเหมือนกันว่าร่างหรือรูปที่ท่านเห็นนั้นคือจารุพงษ์ แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามจินดากลับคิดว่าไม่ใช่

บางทีใบหน้าที่ถูกทุบตีจนบวมบูดเบี้ยวคงยากที่จะระบุตัวได้จากรูปภาพ

บางทีใจของจินดาเองอาจไม่ต้องการจะเห็น ไม่ต้องการยอมรับว่าลูกชายของท่านอยู่ในภาวะเช่นนั้น

บางที…

แต่ผมอยากจะรู้คำตอบเหล่านี้ไปทำไมกัน ผมไม่น่าถามจินดากับลิ้มเลยว่าได้เห็นรูปหรือเห็นศพหรือไม่ จริงมั้ย? ผมอยากจะได้คำอธิบายชี้แจงต่างๆ ไปเพื่ออะไรกัน ผมช็อก รู้ตัว ณ ขณะนั้นทันทีว่า ตัวเองทำร้ายท่านขนาดไหน

ไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบ ไม่ว่าในเวลานั้นหรือเวลานี้ ผมอยากรู้ความจริงไปทำไมกัน

ลิ้มยังคงร้องไห้พร้อมกับพึมพำกับตัวเองว่า “บอกแล้วว่านั่นแหละลูกเกี๊ยะ” ผมไม่ได้กล่าวอะไรอีกเลย ในขณะที่จินดากับลิ้มยังคงร้องไห้ต่อไป ผมปลีกตัวออกมาเงียบๆ

จนถึงวันนี้นัยน์ตาผมคลอทุกครั้งที่หวนนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น และผมคงลืมไม่ลง ผมให้อภัยตัวเองไม่ได้ที่ทำสิ่งโหดร้ายแก่ท่านทั้งสอง การบอกความจริงช่างโหดร้ายต่อจินดาและลิ้มเหลือเกิน

เราจะรู้ความจริงไปทำไมกัน

ความทรงจำในความเงียบ

ผมเชื่อว่าผมรู้คำตอบแล้วว่าทำไมจินดาไม่บันทึกให้จบ

แม้ว่าจินดาจะทำได้เขาคงไม่ต้องการทำ ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครพบร่างของจารุพงษ์ ไม่มีใครระบุได้ว่าชายไทยไม่ทราบชื่อคนนั้นคือจารุพงษ์ ความหวังของท่านกลับยังคงอยู่ สำหรับหลายๆ คน การที่ไม่มีชื่อของเขาในบรรดาคนที่ถูกจับหรือคนที่บาดเจ็บ อาจก่อให้เกิดความกระวนกระวาย

จินดาก็เป็นเช่นนั้นในช่วงต้น แต่ภายหลังจากนั้นอีกไม่นาน ข่าวลือสับสนทั้งหลาย บวกกับการไม่พบร่างของจารุพงษ์กลับให้ความหวังแก่จินดาและลิ้ม

ตราบเท่าที่ยังมีความหวัง จารุพงษ์ก็ยังไม่ตาย ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงให้พ่อกับแม่มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วย

ตามความเข้าใจโดยทั่วไป บันทึกความทรงจำทำหน้าที่บันทึกสิ่งที่ต้องการจำ สิ่งที่ไม่ถูกบันทึกแปลว่าสิ่งนั้นจบหายสิ้นไปก็ได้

กล่าวอีกอย่างก็คือในความเข้าใจทั่วๆ ไป ชั่วขณะที่บันทึกหยุดลงหมายถึงการลืม หมายถึงความทรงจำที่ยุติหรือหายไป

แต่เราแน่ใจหรือว่าในกรณีนี้การหยุดลงและความเงียบ หมายถึงการลืม

บันทึกของจินดาที่หยุดลงไม่ใช่การยุติเรื่องลงฉับพลัน ตรงข้าม การหยุดบันทึกเป็นการหยุดเวลาไว้ ไม่ให้เดินต่อไปจนถึงการรับรู้แน่ชัดว่าจารุพงษ์เสียชีวิตไปแล้ว

เป็นการหยุดประวัติศาสตร์เพื่อรักษาความหวัง และเพื่อรักษาชีวิตที่ยังมีอยู่ให้อยู่ในเวลาที่หยุดนิ่งซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ความทรงจำ”

บันทึกหยุดลงเฉยๆ ก็เพื่อเก็บความทรงจำไว้ เป็นการเริ่มต้นของความทรงจำและความหวังที่บรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือไม่ได้ต่างหาก

การปิดฉากหรือตอนจบหมายถึงการสิ้นสุด ซึ่งในกรณีนี้ย่อมหมายถึงจบสิ้นความหวังและไม่ยอมให้ชีวิตของลูกชายดำรงอยู่แม้กระทั่งในความทรงจำของพ่อแม่ ความเงียบนับจากขณะที่หยุดบันทึกในกรณีนี้กลับเต็มไปด้วยความทรงจำและความหวังเพื่อรักษาชีวิตไว้ เป็นความทรงจำที่ดำเนินต่อไม่มีตอนจบ

บันทึกที่ไม่จบเพื่อให้จารุพงษ์มีโอกาสกลับมา ตราบเท่าที่ยังมีหวังว่าจารุพงษ์จะกลับมา บันทึกจึงต้องไม่จบ

ความทรงจำนิรันดร์แสดงออกด้วยบันทึกที่ไม่จบหรือด้วยความเงียบ ความทรงจำไม่ได้อยู่ในความจริงเสมอไป อยู่ในความเงียบก็ได้

แต่ความเงียบของความทรงจำชนิดนี้ช่างเปราะบางเหลือเกิน เมื่อความจริงที่โหดร้ายเข้ากระทบ ก็ทำลายความเงียบลง เวลาและประวัติศาสตร์ที่หยุดลงเพื่อหล่อเลี้ยงใจให้ทั้งจารุพงษ์และพ่อแม่ของเขามีชีวิตต่อไปก็ปิดฉากลง

เสียงร้องไห้เกิดจากความจริงทำลายความเงียบซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ความทรงจำ”

ผมทำอะไรลงไป ผมพยายามหาความจริงเกี่ยวกับร่างของจารุพงษ์ และหาคำตอบเกี่ยวกับบันทึกที่หยุดลง ถึงที่สุดผมเชื่อว่าผมพบคำตอบ แต่คำตอบที่ผมพบกลับทำลายความหวังและส่วนหนึ่งของชีวิตของครอบครัวนี้ด้วย

พ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตยังคงเก็บความทุกข์ของตนไว้เงียบๆ ส่วนมากยังไม่ต้องการเผยตัวจนทุกวันนี้

แต่คงไม่ยากเลยที่เราจะเข้าใจพวกเขาเหล่านั้นซึ่งผ่านประสบการณ์ไม่ต่างกับจินดา และ ลิ้ม ทองสินธุ์ รวมทั้ง เล็ก วิทยาภรณ์ ผู้สูญเสียลูกสองคนในเหตุการณ์เดือนตุลาสองครั้งและยังฝันถึงลูกทุกๆ เดือนตุลา 17

จินดามาร่วมงานรำลึก 6 ตุลาทุกปีนับจากปี 2539 ดูเหมือนเขาทำใจได้กับการจากไปชั่วนิรันดร์ของลูกชาย แม้ว่าคงไม่มีทางเยียวยาบาดแผลจนหายสนิท

ลิ้มให้สัมภาษณ์ครั้งหลังสุดเมื่อปี 2545 ว่าท่านยังรับไม่ได้ว่าลูกชายจากไปไม่มีวันกลับ นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่สาธารณชนได้ยินจากลิ้ม

ลิ้ม ทองสินธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนธันวาคม 2545

จินดา ทองสินธุ์ ไม่ได้มาร่วมงานรำลึก 6 ตุลาในปี 2558 ท่านถึงแก่กรรมในเดือนมกราคม 2559

อ้างอิง

กุลวดี ศาสตร์ศรี และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บ.ก., เราไม่ลืมจารุพงษ์, กรุงเทพฯ : กลุ่มเพื่อนจารุพงษ์, 2539

จินดา ทองสินธุ์ “บันทึก 6 ตุลา : พลิกแผ่นดินตามหาลูก” ใน เราไม่ลืมจารุพงษ์, 2539, หน้า 48-72.

ธงชัย วินิจจะกูล “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549” ใน 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2558, หน้า 87-203

ยุวดี มณีกุล, “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ บาดแผลที่ไม่จางหาย” ใน เราไม่ลืมจารุพงษ์, 2539, หน้า 16-23 (พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์จุดประกาย, กรุงเทพธุรกิจ, 21-22 สิงหาคม 2539)

วันดี สันติวุฒิเมธี, “คำให้การของคนรุ่น 6 ตุลา 2519” ใน สารคดี ฉบับที่ 140 (ปีที่ 12 เดือนตุลาคม 2539).


เชิงอรรถ

16 ยุวดี 2539 : 20
17 “Silenced Memories” (2014) นาทีที่ 17:40 และ 23