ธงชัย วินิจจะกูล : ‘ตามหาลูก’ จดจำและหวังด้วยความเงียบ (5)

อ่านย้อนหลัง ตอน1 ตอน2 ตอน3 ตอน4

 

บันทึกที่ค้างเติ่ง กับศพที่หายไป

เรื่องของจินดากับจารุพงษ์น่าจะจบแค่นี้

แต่สำหรับผม กลับมีคำถามสองข้อที่ยังไม่มีคำตอบ

ข้อหนึ่ง เป็นเรื่องของตัวบท

อีกข้อหนึ่ง เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์

คำถามเกี่ยวกับตัวบทก็คือ ทำไมบันทึกของจินดาจึงค้างเติ่งไม่จบ ทำไมจินดาจึงหยุดลงแค่ตรงนั้น

ครั้งแรกที่ผมอ่านบันทึกของจินดาในปี 2539 นั้นผมรู้สึกกระวนกระวายอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่ของจารุพงษ์หลังจากที่บันทึกหยุดลงเฉยๆ เพราะบันทึกสะเทือนใจที่เล่าไม่ตลอดจนจบย่อมรบกวนใจผู้อ่าน แม้รู้ดีว่าความพยายามตามหาลูกชายของเขาไม่สำเร็จ

กระนั้นก็ตาม ผมก็ยังอยากจะเข้าใจอยู่ดีว่าการตามหาลูกชายเป็นอย่างไรต่อจากนั้น ยุติลงเมื่อไหร่ ทำไม จินดาคิดยังไง เกิดอะไรขึ้นระหว่างปี 2519 ถึงปี 2539 ซึ่งบันทึกตีพิมพ์สู่สาธารณะในแบบค้างเติ่งอย่างนั้น ฯลฯ

ณ ปี 2539 เรารู้แล้วว่าจินดายังคงตามหาต่อมาอีกหลายปีหลังจากบันทึกหยุดลง ข้อมูลเพิ่มเติมเหล่านี้ไม่ใช่คำอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมบันทึกจึงหยุดลงเฉยๆ

บางทีจินดาอาจจะหมดแรงจะเขียน หรือหมดความสนใจในบันทึกของตนเอง ซึ่งก็น่าจะเข้าใจได้อยู่

ครั้นปี 2543 ผมพบจินดาในพิธีเปิดอนุสรณ์ 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ ผมขออนุญาตจากท่านว่าจะแปลบันทึกการตามหาลูกชายของท่าน ท่านอนุญาตด้วยวาจาแต่ไม่มีทีท่าสนใจนักว่าผมจะทำอะไรกับบันทึกฉบับนั้น

ผมถามท่านต่อไปอีกว่า ในเมื่อบันทึกยังไม่จบ ท่านอยากหรือตั้งใจจะเขียนต่อให้จบไหม

ท่านมองหน้าผม แต่ไม่ได้กล่าวอะไรสักคำ

ณ วินาทีนั้น ผมตระหนักว่าเป็นคำถามที่น่าเกลียดและโหดร้าย

เป็นคำถามเลวๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตของผม

 

เราอาจอธิบายว่าถ้าท่านจะเขียนบันทึกต่อในปี 2519 หรือ 2539 ก็ตาม ท่านต้องจมอยู่กับความเจ็บปวดอีก นี่อาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องและพอเพียงว่าทำไมท่านไม่อยากบันทึกต่อจนจบ

แต่ความอยากรู้อย่างไร้หัวใจของผมทำให้ผมคิดว่า อาจจะมีคำอธิบายมากกว่านั้น

อย่าลืมว่าจินดายอมทนอยู่กับความเจ็บปวดอีกหลายปีต่อมา เพื่อติดตามไปทุกป่าทุกตำบลที่มีข่าวว่ามีคนเห็นจารุพงษ์

คำอธิบายด้วยความเจ็บปวดจึงอาจจะไม่พอเพียงว่าทำไมท่านจึงไม่บันทึกต่อให้จบ

ส่วนคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ก็คือ ร่างของจารุพงษ์อยู่ที่ไหน?

ปริศนาที่มีต่อร่างของเขาที่หายไปเป็นปัจจัย (หรือเป็นสาเหตุ?) ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและข่าวลือมากมาย แต่ข่าวสารผิดๆ เหล่านั้นบวกกับปริศนาว่าไม่เคยมีใครพบร่างของเขารวมกันกลับทำให้จารุพงษ์ยังไม่ตาย นี่กลับเป็นปัจจัยที่ความหวังแก่จินดาและลิ้มว่าลูกชายอาจกลับมาสักวันหนึ่ง

แม้การยืนยันของเพื่อนๆ ของจารุพงษ์จะน่าเชื่อสักแค่ไหนก็ตาม ก็เป็นแค่รูปและคำพูด แต่ไม่มีร่าง

ตราบใดที่ไม่มีร่างหรือหลักฐานว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างของเขา ความหวังว่าเขายังไม่ตายก็มีความเป็นไปได้

การตามหาลูกชายจะจบลงได้อย่างไรกันตราบเท่าที่ยังไม่มีร่างไร้ชีวิตมายืนยัน

การที่มีคนหายหรือศพหายภายหลังเหตุการณ์ปะทะกันขนานใหญ่ทางการเมืองระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กับประชาชนคงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในประเทศไทยก่อนหน้านั้นและหลังจากปี 2519 แต่ช่างน่าเศร้าที่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่สาธารณชนรู้จักดีอย่างจารุพงษ์ กลับไม่มีใครตอบแก่พ่อแม่ของเขาได้ว่าร่างของเขาอยู่ที่ไหน

ทำไมแม้แต่ร่างของเขาก็ไม่ได้กลับบ้าน

ในช่วงที่ผมทำวิจัยเกี่ยวกับความทรงจำของเหตุการณ์ 6 ตุลา ระหว่างปี 2543-2545 แหล่งข้อมูลสำคัญแหล่งหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์อัยการที่สำนักอัยการสูงสุด

เอกสาร 73 กล่องจากการสอบสวนของตำรวจภายหลังจากเหตุการณ์ ซึ่งส่งต่อให้พนักงานอัยการทหารเพื่อประกอบการฟ้องคดี 6 ตุลา เก็บรักษาอยู่ที่นี่ 14

รายงานการชันสูตรศพทั้งหมดจากเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นส่วนหนึ่งของเอกสาร 73 กล่องนั้น

รายงานการชันสูตรแต่ละรายมีแบบแผนมาตรฐานเหมือนกันหมด ยกเว้นเพียงไม่กี่รายที่ต่างออกไปบ้าง

นั่นคือ หน้าแรกเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคนตาย ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ อายุ และอื่นๆ รวมถึงเวลาที่เสียชีวิต เวลาที่พบศพ เป็นต้น

หน้าสองเป็นรายงานการชันสูตรของแพทย์ผู้ทำการสอบสวนร่างนั้นๆ อย่างละเอียดโดยเฉพาะบาดแผลบนร่างกาย และระบุลงความเห็นของแพทย์ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนคนนั้นเสียชีวิต เช่น โดนกระสุนปืน หรือโดนสะเก็ดระเบิด หรือตายด้วยวิธีการอื่นๆ

มีรูปถ่ายของแต่ละศพตามที่ส่งมาถึงโรงพยาบาลตำรวจอยู่ในกระดาษอีกแผ่น 15

รายงานชันสูตรศพทั้งหมดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ปรากฏว่ามี “ชายไทยไม่ทราบชื่อ” รวมอยู่ด้วย 6 คน หมายถึงศพที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร ไม่มีหลักฐานระบุชื่อเสียงเรียงนาม และไม่มีญาติมิตรมาระบุตัวเพื่อรับศพไปประกอบพิธีตามประเพณี

ตามรายงานของ 6 คนนี้ มีคนหนึ่งที่น่าจะเป็นจารุพงษ์ ทั้งรูปร่าง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตามที่ผมจำได้ รวมทั้งคาดเข็มขัดหัวธรรมศาสตร์ด้วย

รูปภาพก็ดูเหมือนจารุพงษ์ แต่ใบหน้าของเขาบวมและบิดเบี้ยว

ศพของ “ชายไทยไม่ทราบชื่อ” คนนี้
มีผ้าพันรอบคอและรายงานระบุว่ามีร่องรอยถูกรัดคอ

ทั้งผมและธนาพลไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเฝ้าเวียนดูรูปภาพนั้นครั้งแล้วครั้งเล่าก่อนที่ผมมั่นใจพอที่จะระบุว่า ชายไทยไม่ทราบชื่อใส่เสื้อสีดำมีผ้ารอบคอคนนั้นคือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์

รายงานชันสูตรสรุปว่าร่างนี้เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนเข้าที่ปอด อย่างน้อยเราก็ทราบว่า จารุพงษ์ไม่ได้ถูกลากไปตามสนามฟุตบอลจนกระทั่งเสียชีวิต

เขาเสียชีวิตไปแล้วก่อนที่ร่างของเขาจะถูกทารุณกรรมอย่างน่าขยะแขยงเช่นนั้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจพบและเก็บร่างของจารุพงษ์ไว้ในความดูแลตลอดเวลานับจากเช้าวันนั้น แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าร่างนั้นคือจารุพงษ์ จึงเข้าใจผิดว่าเขายังหลบหนีอยู่

จารุพงษ์คงโยนบัตรประชาชนและบัตรนักศึกษาทิ้งไปก่อนที่พยายามจะหลบออกจากตึก อมธ. และถูกยิงเสียชีวิต

น่าเศร้าที่เขาคงถูกทุบตีที่ร่างและใบหน้าจนบวมบิดเบี้ยวถึงขนาดที่ใบหน้าดูผิดไปจากเดิมพอสมควรดังที่ปรากฏในรูปภาพตามรายงานการชันสูตรศพ

ดังนั้น จนถึงวันนี้ร่างของเขาจึงยังคงเป็น 1 ใน 6 ของชายไทยไม่ทราบชื่อในรายชื่อผู้เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลา 2519

ผมต้องการรู้ว่าถึงที่สุดแล้วเกิดอะไรขึ้นกับร่างของจารุพงษ์ ผมจึงติดต่อกับสารวัตรตำรวจผู้ลงชื่อท้ายรายงานการชันสูตรศพของชายไทยไม่ทราบชื่อ

ผมถามสารวัตรว่าตำรวจทำอะไรกับศพที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร ซึ่งหมายความว่าไม่มีญาติมารับศพไป สารวัตรตอบว่าทางตำรวจจะเก็บศพไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นศพทั้งหลายที่ไม่มีญาติมารับ ไม่ว่าในกรณีใดๆ จะถูกนำมารวมกัน กรมตำรวจจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ตามเหมาะสมแก่ร่างเหล่านั้นแล้วเผารวมกันในฐานะศพไม่มีญาติที่วัดดอน ยานนาวา

สารวัตรสรุปยืนยันชัดเจนว่าร่างจาก 6 ตุลา ที่ระบุไม่ได้ ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในแบบเดียวกัน

นั่นคือนำมารวมกับศพที่ไม่มีญาติอื่นๆ ประกอบพิธีทางศาสนาให้และเผารวมกันไป

ผมใจหาย จารุพงษ์มีพ่อแม่และน้องๆ คอยเขาอยู่ ใครๆ ก็รู้ว่าเขาชื่อ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์”

 


14ดูรายละเอียดในท้ายบทความธงชัย 2558. ผู้ช่วยวิจัยของผมในขณะนั้นคือ ธนาพล อิ๋วสกุล ซึ่งอยู่ในทีมของสินิทธ์มาตั้งแต่ปี 2539 เป็นผู้พบเอกสารชุดนี้.

15ปัญหาอย่างหนึ่งของรายงานการชันสูตรฉบับจริงก็คือ ตัวรายงานสองหน้าแรกของกับรูปภาพอยู่แยกกัน ลำดับของรายงานชันสูตรศพที่ระบุชื่อได้ เรียงตรงกับลำดับของหมายเลขที่ปรากฏในรูปถ่ายศพ เราสามารถจับคู่รายงานชันสูตรกับรูปภาพแต่ละศพได้ไม่ยาก แต่ลำดับหมายเลขที่ปรากฏในรูปถ่ายศพของ “ชายไทยไม่ทราบชื่อ” ทั้ง 6 คน เรียงไม่ตรงกับลำดับของรายงานชันสูตรศพของ “ชายไทยไม่ทราบชื่อ” กล่าวอีกอย่างก็คือถ้าเราเรียงรูปภาพตามหมายเลขตามที่ปรากฏในรูป จะไม่ตรงกับรายงานชันสูตรของศพนั้นๆ

ผมเสียเวลาไปหลายปีกว่าที่จะเข้าใจปัญหานี้ซึ่งมีส่วนทำให้ผมสับสนปวดหัวไม่แน่ใจกับการระบุศพของจารุพงษ์ตลอดหลายปีนั้นเพราะรูปที่เหมือนจารุพงษ์กับรายงานชันสูตรศพที่น่าจะเป็นของจารุพงษ์ไม่ได้อยู่ด้วยกัน การใช้เอกสารรายงานการชันสูตรจึงต้องระวัง ตรวจให้ดีว่าหมายเลขกำกับรายงาน (xxx/ 2519) ตรงกับหมายเลขใต้รูปที่ระบุว่าเป็นรูปของรายงานฉบับไหน (ไม่ใช่หมายเลขที่ปรากฏในรูปถ่ายศพ)