คุยกับ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด นักเขียนคนแรก ผู้ผ่านเข้ารอบประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ด 2022

ข่าวเด่น

 

คุยกับ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด

นักเขียนคนแรก ผู้ผ่านเข้ารอบ

ประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ด 2022

 

หลังจากเปิดรับต้นฉบับเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022 มานานกว่า 2 เดือน ในตอนนี้ก็เข้าสู่การประกวดเรื่องสั้น-กวีนิพนธ์คัดสรรค์กันแล้ว ซึ่งเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ก่อนที่จะประกาศผลรางวัลในช่วงปลายปีนี้

มติชนสุดสัปดาห์ชวนสนทนากับ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด นักเขียนคนแรกผู้ผ่านเข้ารอบประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ด 2022 ที่ได้ตีพิมพ์เรื่องสั้น “ไพลินไม่กินทุเรียน” ลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันศุกร์ที่ผ่านมา (ประจำวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 ฉบับที่ 2185)

มาทำความรู้จักนักเขียนและผลงานของเขาให้มากขึ้นกันดีกว่า

 

แนะนำตัวให้ผู้อ่านรู้จัก

ชื่อประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริดครับ อายุสามสิบต้นๆ ตอนนี้รับราชการอยู่จังหวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งทางภาคอีสานตอนบน

ทุเรียนในเรื่องตั้งใจให้เป็นตัวแทนอะไร

เนื่องจากธรรมชาติของทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีหนามแหลม ปอกยาก มีกลิ่นเหม็นฉุนเป็นเอกลักษณ์ แถมยังสร้างความรู้สึกสุดขั้วให้เกิดขึ้นในหลายๆ คน ทั้งคนที่ชอบและเกลียดไปเลย ทุเรียนในเรื่องนี้จะเป็นตัวแทนของบางสิ่งที่เข้าถึงยาก แต่ดันทำให้คนบางกลุ่มยกย่องเทิดทูน ในขณะที่ทำให้คนอีกหลายคนเบือนหน้าหนี

สัญลักษณ์ในเรื่องที่ใส่เข้ามา ตั้งใจเปรียบเปรยกับเรื่องอะไรในสังคม

เรื่องนี้ตั้งใจใส่สัญลักษณ์หลายอย่าง เพื่อให้ผู้อ่านตีความได้หลากหลาย อย่างเช่น ตอนที่แม่กับไพลินจะปอกทุเรียน แม่ปอกด้วยมือเปล่าอย่างชำนิชำนาญด้วยความเคยชิน ปอกไปทั้งที่มือตัวเอกถูกหนามจนเลือดออก เพราะแม่ปอกมาอย่างนั้นทั้งชีวิต และคิดว่าวิธีนี้คือการปอกที่ถูก การเข้าถึงทุเรียนของแม่ต้องยอมเสียเลือดเนื้อให้ทุเรียน ต้องเจ็บปวด แต่ในขณะที่ไพลินไม่ใช่ ไพลินใส่ถุงมือป้องกันอย่างดี มันอาจเปรียบเป็นการเข้าถึงเรื่องยากๆ ของ gen ต่างๆ

การป้อนทุเรียนเปื้อนเลือดของแม่เข้าปากไพลิน อาจแสดงถึงการยัดเยียดความคิดของคนรุ่นก่อน, ต้นทุเรียนซึ่งไม่ใช่ไม้ผลัดใบ แต่ต้องผลัดใบ เพราะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว, การแปรรูปทุเรียนที่กินยากให้กินง่ายขึ้น สื่อถึงการปรับตัวตามยุคสมัย, รวมไปถึงการจัดตั้งสหกรณ์กำหนดราคาเองโดยชาวสวน ไม่ก็เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการแก้ปัญหาด้วย ประขาธิปไตยของประชาชน

ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ อีกมาก เรื่องนี้ตั้งใจใช้สัญลักษณ์ ในขณะที่ใช้โทนการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา มันย้อนแย้ง สื่อนัยยะ ถึงสังคมที่ไม่สามารถพูดถึงเรื่องบางเรื่องได้อย่างเต็มที่ ต้องอ้อม ต้องซ่อน ต้องอุปมา ซึ่งสังคมทุกวันนี้หลายเรื่องเป็นแบบนั้น

คาดหวังว่าเรื่องสั้นนี้จะไปไกลแค่ไหนในการประกวดรางวัลมติชนอวอร์ด

ส่วนตัวยังใหม่กับการเขียนมากๆ เลยไม่หวังว่าจะไปไกล ตอนแรกรู้สึกตกใจและดีใจที่ได้รับเลือกเป็นเรื่องแรก รู้สึกว่าแค่ได้เข้าร่วมโครงการก็ดีใจแล้ว ตอนนี้ยังรออ่านเรื่องสั้นของพี่ๆ เพื่อนๆ นักเขียนท่านอื่นๆ เรื่องที่เหลือต้องมหัศจรรย์มากแน่ๆ แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว

อยากให้ฝากอะไรถึงนักอ่าน

อยากฝากให้ติดตามมติชนสุดสัปดาห์ทุกเล่มต่อจากนี้นะครับ ยังมีเรื่องสั้น และบทกวีอีกหลายเรื่องที่ผ่านเข้ารอบมติชนอวอร์ดปีนี้ให้ผู้อ่านได้อ่านกัน หากมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อะไรเกี่ยวกับเรื่องสั้น ไพลินไม่ชอบกันทุเรียน หรือเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ สามารถคอมเมนท์ได้เลย เพราะเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและรับฟังกันโดยไม่อคติ มันจะช่วยให้สังคมเติบโตขึ้นได้ครับ

 

อ่านเรื่องสั้น “ไพลินไม่ชอบกินทุเรียน” ได้ที่นี่

ไพลินไม่ชอบกินทุเรียน / ประกวดเรื่องสั้น : ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด