ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ : รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ได้ร่วมสนทนากับ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็นสำคัญของการพูดคุยกันในครั้งนี้คือเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อไทย เป็นความในใจจากคนที่เคยเชียร์ รวมไปถึงมองอนาคตของพรรคก้าวไกล
รศ.ดร.พิชิต ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาของเพื่อไทยซึ่งตอนนี้กำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือและเสียฐานเสียงไปพอสมควร หลังจากพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย และเขี่ยก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน ทั้งๆ ที่เป็นพรรคอันดับ 1
“สิ่งที่เพื่อไทยกำลังดำเนินอยู่ทุกวันนี้ คือพยายามจะฟื้นความนิยม ความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง หรือฐานเสียงที่สูญเสียไป เพื่อให้กลับมาเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับ 1 อีกครั้ง เพราะเชื่อว่ายังสามารถที่จะเอาชนะฝั่งก้าวไกล หรือจะเป็นพรรคอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นได้
“กรอบความคิดของเขาตลอด 20-30 ปี ไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งปี 2544 คือใช้ยุทธศาสตร์แบบเดิม เอาชนะทางการบริหารและทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าการบริหารที่ดี เป็นรัฐบาลแล้วสร้างผลงานตลอด 4 ปี จะสามารถกู้ความเชื่อมั่น เรียกความนิยมกลับคืนมา และกลับมาเป็นพรรคอันดับ 1
“ทุกวันนี้เพื่อไทยอยู่ในฝั่งที่ประนีประนอมกับอำนาจเก่า เพราะฉะนั้น อุปสรรรคแบบดั้งเดิมที่จะถูกเตะตัดขามันน้อยลง และการดำเนินนโยบายต่างๆ น่าจะราบรื่นกว่าในยุคของยิ่งลักษณ์ หรือในยุคของทักษิณ ชินวัตร ปลายๆ อย่างน้อยภัยคุกคามจากอำนาจเก่าน่าจะน้อยลง
“สิ่งที่พวกเขาจะต้องเจอคือจะจัดการยังไงกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีคะแนนนิยมเหนือกว่า ทั้งความนิยมในตัวบุคคล และตัวพรรค ทุกวันนี้เพื่อไทยยังเป็นรอง และเขาก็รู้ดี”
เมื่อชวนสนทนาถึงเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลและอำนาจทางการเมืองของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง รศ.ดร.พิชิตชี้ให้เห็นว่าเจ้าของฉายาเดอะเซลส์แมน ไม่ได้มีเสียงเด็ดขาดในพรรคเพื่อไทย และไม่ได้มีฐานอำนาจที่แข็งแกร่ง
“เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเศรษฐา เทียบไม่ได้เลยกับยุคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยไม่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้มีเสียงเป็นอันดับ 1 แต่มาเป็นอันดับ 2 แล้วก็ต้องอาศัยพรรคการเมืองอีก 7-8 พรรค ซึ่งมีน้ำหนักเยอะมากมารวมกัน
“เขา (เศรษฐา) ไม่ได้มีเสียงเด็ดขาด ไม่สามารถทุบโต๊ะ ตัดสินใจเรื่องใดๆ ได้ เหมือนสมัยไทยรักไทย และตัวเศรษฐาเองก็อาจจะบอกได้ว่าเขาไม่ได้มีฐานอำนาจที่แข็งแกร่งนัก ซึ่งต่างกับทักษิณ ถามว่าเศรษฐาเป็นเจ้าของพรรค หรือเป็นหัวหน้าพรรคหรือเปล่า ก็ไม่ใช่
“เศรษฐาพูดอะไรไป ส.ส.ในพรรคฟังไหม คนก็น่าจะรู้กัน คือไม่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันในพรรคได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้าของพรรค และเพื่อไทยก็มีอำนาจต่อรองกับพรรคอื่นๆ น้อยลง นอกจากนั้นยังต้องต่อรองกับอำนาจเก่าที่อยู่ข้างนอกอีก เพื่อไม่ให้มาขัดขา ไม่ให้มาเตะตัด เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
“โดยอาศัยว่ามีพรรคฝ่ายค้านที่ต้องไปรับมือ ถ้าอยากให้ผม (เพื่อไทย) ไปรับมือฝ่ายค้านได้อย่างเต็มที่ คุณ (อำนาจเก่า) ก็อย่ายุ่งกับผม นี่คือข้อจำกัดของรัฐบาลชุดนี้โดยทั่วไป และข้อจำกัดของเศรษฐาที่เป็นนายกฯ ทั้งเรื่องความแข็งแกร่ง และเสถียรภาพของอำนาจที่มันต่างกันมาก”
อาจารย์พิชิตวิเคราะห์การกลับมาของทักษิณไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “พรรคเพื่อไทยจะเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา หรือเรียกฐานคะแนนนิยมกลับคืนมาได้สักแค่ไหน ผมว่ายังต้องรอดู แต่ผลต่อตัวรัฐบาลไม่น่าจะเป็นทางบวกมากนัก
“กลายเป็นว่าตอนนี้เรามีนายกฯ อยู่กี่คน ฐานอำนาจของเศรษฐาอยู่ในพรรค หรือว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งถ้าฐานอำนาจในพรรคเพื่อไทยเป็นของทักษิณ ดังนั้น หากเศรษฐาจะอยู่หรือไป ก็ต้องขึ้นอยู่กับทักษิณหรือเปล่า
“และที่ผ่านมาก็เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าใครเป็นนายกฯ กันแน่ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของทักษิณในครั้งนี้ มันไม่ได้เป็นผลดีในระยะยาวกับภาพรวมของรัฐบาลมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวเศรษฐา”
เมื่อถามถึงอนาคตบนเส้นด้ายของพรรคก้าวไกล กับสัญญาณโดนเช็กบิลยุบพรรค รศ.ดร.พิชิตมองว่าเป็นหนทางที่แย่ที่สุดหากมีการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นจริง แต่ด้วยมาตรฐานการทำงานของก้าวไกลที่สูงกว่าพรรคอื่นๆ และเชื่อได้ว่าหากก้าวไกลถูกยุบ คะแนนนิยมก็คงจะไม่ลดลงอย่างแน่นอน
“พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ ผมเชื่อว่าเขาก็คงมีบทเรียนอยู่ว่าหนทางข้างหน้าคงไม่เรียบนัก และมีขวากหนามเยอะพอสมควร หนทางที่แย่ที่สุดคือการถูกยุบพรรค และผู้บริหารพรรคถูกตัดสิทธิ
“ผมเชื่อว่าเขา (ก้าวไกล) คงคิดไว้แล้วกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เขาคงคาดการณ์ไว้แล้ว และอาจจะมีการตระเตรียมไว้แล้ว ถ้าเกิดซีนาริโออะไรขึ้น จะต้องทำยังไง
“ตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ คนก็คาดกันว่าคงแย่แน่ เพราะจาก 80 คน เหลือ 50 คน มีงูเห่าอะไรด้วย คงยากที่จะฟื้นขึ้นมา แต่การที่เขากลับมาได้ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการยุบพรรคอนาคตใหม่
“คนที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ ก็เจ็บแค้น ไม่พอใจ เสียใจ เขาก็ตามมาเลือกพรรคก้าวไกล ผมมองว่าพรรคก้าวไกลที่กลับมาได้เมื่อปีที่แล้ว เกิดจากผลงานในสภาของพรรคเอง ที่ค่อยๆ อภิปรายชี้ประเด็น กล้าที่จะแตะต้องปัญหาต่างๆ
“ซึ่งปกติตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองอื่นเขาไม่พูดกัน มีแต่ก้าวไกลที่กล้าพูด กล้าเอาเรื่องการชุมนุมของเยาวชนไปพูดในสภา การที่เขาพยายามทำสิ่งเหล่านี้ และพยายามพิสูจน์ตัวเองตามแนวทางนี้ ช่วยทำให้ก้าวไกลสามารถกลับมาได้
“ถ้าหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วหลังจากนั้นพรรคก้าวไกลทำงานไม่เอาไหนเลย ทำงานไม่เข้าตาเลย ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ เพลย์เซฟ รับรองได้ว่าเลือกตั้งปีที่แล้วไม่มีทางชนะหรอก ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้น คราวนี้ถ้าจะเกิดการยุบพรรคขึ้น ปัจจัยแวดล้อมจะแตกต่างจากตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ บริบทจะต่างกันพอสมควร
“เพราะอนาคตใหม่ตอนนั้น ยังไม่ใช่พรรคอันดับ 1 แต่ทุกวันนี้ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 ซึ่งนอกจากผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว เขาก็พยายามแสดงออกว่ายังคงยืนในจุดเดิม ถึงแม้จะมีอุปสรรคขวากหนาม ก็ยังพยายามจะทำในแนวทางของตัวเอง”
“ผมเชื่อว่าเขาพยายามรักษาฐานเอาไว้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังยืนอยู่ตรงนี้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่เลือกเขา ยังคงคิดว่าถ้าก้าวไกลถูกยุบ ก็จะเลือกพรรคใหม่อีก จะเห็นได้ว่าตามโซเชียลก็ยังมีคนที่คอยเชียร์อยู่ และผมเชื่อว่าการไปยุบพรรค อาจจะทำให้คะแนนความนิยมมันไม่ได้ลดน้อยลงอย่างแน่นอน
“และที่สังเกตเห็น 2 ปีที่ผ่านมา เขาก็พยายามสร้างคน พยายามไม่ให้ไฟไปส่องที่ใครคนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป ดูเหมือนว่าก็จะมีคนหลากหลาย มีคนนั้นคนนี้ขึ้นมา เด่นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าเขาก็ยังมีคน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเกิดถูกยุบจริง ถามว่าจะทำให้เขาถดถอยลงแค่ไหน ก็ต้องตามดูอีกทีหนึ่ง
“ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเขาทำยังไงด้วย แล้วที่สำคัญเมื่อถูกยุบจะเกิดงูเห่าอีกหรือเปล่า ต้องคอยดูตรงนี้เหมือนกัน และหลังจากที่ถูกยุบแล้วผู้บริหารชุดใหม่จะเป็นใคร เรื่องนี้สำคัญ แล้วหลังจากนั้นเขายังคงดำเนินแนวทางทางการเมืองในลักษณะไหนอย่างไร
“ถ้าเขาเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ไปเป็นแนวทางประนีประนอม และกลับไปสู่พรรคการเมืองแบบรุ่นเก่า เลือกเส้นทางแบบพรรคเพื่อไทย เขาก็คงจบแน่นอน ถ้าเป็นแบบพรรคเพื่อไทย เขาก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป และถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็ต้องมาอธิบายว่าแล้วคุณต่างจากพรรคเพื่อไทยตรงไหน ถ้าคุณเดินทางแบบนั้น”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022