Greta Gerwig ‘ยอดหญิงแห่งปี’ นิตยสาร TIME

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
(Photo by Michael TRAN / AFP)

นิตยสาร TIME ประกาศรายชื่อ “บุคคลแห่งปี” ในช่วงต้นปี ส่วน “ยอดหญิงแห่งปี” จะมาประกาศใกล้ๆ “วันสตรีสากล”

ปีนี้มีหลายรายชื่อที่น่าสนใจ หากแต่ชื่อที่ผู้เขียนสนใจมากที่สุดก็เห็นจะเป็น Greta Gerwig

เมื่อปีกลาย Greta Gerwig โด่งดังสุดขีดจากบทบาทผู้กำกับภาพยนตร์ลือลั่นสนั่นโลก Barbie ที่นับเป็นผลงานการกำกับการแสดงเรื่องที่ 4 ของเธอ

เรื่องราวในภาพยนตร์ Barbie เริ่มต้นที่จู่ๆ Barbie ก็นึกถึงความตายขึ้นมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่พาเธอออกเดินทางไปผจญภัยในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ Barbie ได้ประสบอาการ Culture Shock เมื่อต้องเจอกับมนุษย์จริงๆ ที่ไม่ได้มองเธอว่าเป็นตุ๊กตาอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ Ken แฟนหนุ่มของ Barbie ที่จู่ๆ ก็เกิดรับรู้ถึงพลังอำนาจของผู้ชายใน “สังคมชายเป็นใหญ่” ทำให้ Ken ยึดอำนาจจาก Barbie เปลี่ยน Barbie Dreamland บ้านเกิด Barbie จาก “สังคมหญิงเป็นใหญ่” ให้กลายเป็น “สังคมชายเป็นใหญ่”

Greta Gerwig ได้เติมบทพูดในเชิง “สตรีนิยม” ให้กับ Barbie ในระหว่างการผจญภัยสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของ Greta Gerwig ที่มักนำเสนอความอัตคัดของการเกิดเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงในกระแสหลัก หรือผู้หญิงนอกกระแสก็ตาม

จุดเด่นของ Barbie คือการย่อยประเด็นใหญ่ๆ หนักๆ ให้กลายเป็นเรื่องราวที่เข้าใจง่าย วิพากษ์ “ระบบทุนนิยม” และวิจารณ์ “สังคมชายเป็นใหญ่” ผ่าน Ken ที่สุดจะงี่เง่า คล้ายการวิพากษ์วิจารณ์ฮอลลีวู้ด ที่มักมอบบทปีศาจร้ายให้ตัวละครหญิง

ขณะเดียวกันก็เสียดสีโลกของ Barbie ไปด้วย ว่าการที่ Barbie อยู่ใน “โลกที่สมบูรณ์แบบ” แต่ทุกอย่างกลับเป็นพลาสติกปลอมๆ จน Barbie เริ่มค้นพบว่า ชีวิตไร้ความหมาย และแท้ที่จริงแล้ว เธอไม่มีตัวตน นำไปสู่การตื่นรู้ในพลังอำนาจของตัวเอง

ภาพยนตร์เรื่อง Barbie เป็นตัวแทนสไตล์การทำหนังของ Greta Gerwig ที่มักสอดแทรกแนวคิดแบบ “สตรีนิยม” ในทุกเรื่องที่เธอทำ

Barbie ทำรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

ส่งผลให้ Greta Gerwig เป็นผู้กำกับหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่สามารถกวาดทั้งรายได้ กระแสสังคม และคำวิจารณ์ด้านบวก

จุดร่วมที่น่าสนใจในงานของ Greta Gerwig ก็คือ การค้นหาตัวตนของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหาที่ยืนในสังคมของผู้หญิง

ไม่ว่าจะเป็น Nights and Weekends ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอกำกับในปี ค.ศ.2008 เรื่องราวของคู่รักที่ระยะทางเป็นอุปสรรคในความรักของทั้งคู่

หนังตั้งคำถามผ่านสัมพันธภาพที่เปราะบางของทั้งสอง ผ่านมุมมองของฝ่ายหญิงที่ดูจะเสียเปรียบในสายตาสังคม

หรือจะเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของ Greta Gerwig นั่นคือ Lady Bird หนังปี ค.ศ.2017 ภาพยนตร์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว ที่ค้นหาตัวเอง และที่ยืนในสังคม แม้เธอจะมีแม่ที่คอยสนับสนุนให้เธอได้เป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด แต่ลูกสาวก็ยังขบถกับแม่ และทุกๆ เรื่องในโลก

เช่น การเปลี่ยนชื่อของตัวเองเป็น Lady Bird เนื่องจากไม่ชอบชื่อที่พ่อแม่ของเธอตั้งให้ เป็นต้น

 

Greta Gerwig เคยให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ Lady Bird ทำในโรงเรียน แทบจะไม่มีส่วนไหนคล้ายชีวิตของเธอเลย ยกเว้นเรื่องการแสดงละครเวทีที่เป็นความชอบ และความสนใจในแบบเดียวกันกับเธอ

“ชั้นไม่เคยย้อมผมสีแดง และไม่เคยตั้งชื่อแปลกๆ เพื่อให้คนอื่นเรียกในสมัยที่เธอเรียนเหมือน Lady Bird” Greta Gerwig บอก

“ชีวิต Lady Bird เป็นขั้วตรงข้ามกับชั้นอย่างสิ้นเชิง เพราะชั้นเป็นนักเคารพกฎตัวยง ไม่เคยทำตัวออกนอกลู่นอกทาง แถมยังเคยได้ตำแหน่งนักเรียนดีเด่นอีกด้วย” Greta Gerwig กล่าว และว่า

Lady Bird เป็นตัวละครที่เธอสร้างขึ้นมาเพื่อให้มี “จุดด่างพร้อยอย่างชัดเจน”

แม้ว่าในตอนแรก Lady Bird ถูกสร้างขึ้นจากบางสิ่งที่คล้ายกับตัวตนของ Greta Gerwig แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัวละครตัวนี้กลับดีดตัวเองออกมา และสร้างแคแร็กเตอร์ของมันเอง

“สรุปก็คือ Lady Bird เป็นตัวแทนของเด็กสาวที่ชั้นไม่สามารถเป็นอย่างเธอได้เลย” Greta Gerwig สรุป

 

ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง Little Women ในปี ค.ศ.2019

Little Women ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของ Greta Gerwig ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิคผลงานการเขียนของ Louisa May Alcott ที่นักอ่านชาวไทยรู้จักกันดีในชื่อ “สี่ดรุณี”

เรื่องราวของการข้ามผ่านช่วงวัยของ “สี่ดรุณี” พี่น้องหญิง 4 คน “โจ” ผู้มีความฝันอยากเป็นนักเขียน “เม็ก” ฝันอยากเป็นนักแสดง “เอมี่” อยากเป็นจิตรกร และ “เบ็ธ” น้องนุชสุดท้องที่ยังเล็ก โดยทั้ง 4 สาวต้องร่วมกันต่อสู้กับมายาคติ และกรอบของสังคมที่ถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้ “สังคมชายเป็นใหญ่”

ที่มีดัชนีชี้วัด “ความสำเร็จของผู้หญิง” ว่าคือ “การแต่งงาน” ทำให้ “สี่ดรุณี” ต้องพิสูจน์ตัวตน และสำรวจที่ยืนของพวกเธอในสังคมอย่างเข้มข้น

“แค่เพราะว่าเธอมีความฝันต่างจากฉัน ไม่ได้หมายความว่าความฝันของฉันไม่สำคัญ” สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีความฝันอันหลากหลาย และเพศสภาพไม่ใช่กรอบที่ถูกจำกัดเอาไว้

จะเห็นได้ว่า ตัวละครหลักในภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่องที่ผ่านมาของ Greta Gerwig ล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครหญิง ที่กำลังค้นหาตัวตน และหาที่ยืนในสังคมให้กับตัวเองทั้งสิ้น

 

Greta Gerwig เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี ค.ศ.1983 ที่เมือง Sacramento รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นนักเขียนบท นักแสดง และผู้กำกับ โด่งดังจากการสร้างภาพยนตร์ในแนว Mumblecore

Mumblecore คือแนวทางของหนังแบบเน้นสุนทรียภาพการเล่าเรื่อง เน้นบทพูด และเน้นฝีไม้ลายมือทางการแสดง เช่น สีหน้าท่าทาง มากกว่าความหวือหวาด้านโปรดักชั่นแบบอลังการงานสร้าง ดังนั้น Mumblecore จึงเข้าถึงคนดูได้แค่ผู้ชมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในวงการภาพยนตร์ ว่า Mumblecore เป็นหนังที่มีงบประมาณจำกัด จึงไม่สามารถเรียกใช้งานดาราใหญ่ๆ ได้ ทำให้เกือบทุกเรื่อง ผู้กำกับฯ จะต้องทำเอง-เล่นเองอยู่เสมอ

Greta Gerwig ผ่านการแสดงภาพยนตร์ในแนว Mumblecore มาแล้วหลายเรื่อง ก่อนที่จะลงมือกำกับหนัง Mumblecore เองในเรื่อง Nights and Weekends ทำให้ฝีไม้ลายมือของเธอเข้าตาสตูดิโอยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวู้ด

นำไปสู่การได้รับโอกาสกำกับหนังเรื่อง Lady Bird ซึ่งทำให้เธอติดเข้าใน List รายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี ค.ศ.2018 โดยนิตยสาร TIME หรือ 2018 TIME 100

ก่อนที่ Greta Gerwig จะเริ่มทำหนังฟอร์มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่ Little Women มาจนถึง Barbie ที่ส่งให้ชื่อเสียงของเธอโด่งดังในระดับโลก จนนำมาสู่การที่นิตยสาร TIME ได้ประกาศรายชื่อ Greta Gerwig ให้เป็นหนึ่งใน “ยอดหญิงแห่งปี” หรือ Women of the Year ประจำปี 2024

Greta Gerwig จบมัธยมปลายจากโรงเรียน St. Francis เข้าเรียนต่อปริญญาตรีสาขาละครเพลงแต่ไม่จบ แต่ Greta Gerwig มาจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาและภาษาอังกฤษที่ Barnard College

Greta Gerwig เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการแสดงที่ Columbia University Varsity Show ร่วมกับ Kate McKinnon เพื่อนร่วมหอพักของเธอ ซึ่งเป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Barbie ด้วย