คุยกับทูต เปียร์ก้า ตาปีโอลา อียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย – ปรารถนาให้ระบอบประชาธิปไตยไทยประสบความสำเร็จ

คุยกับทูต เปียร์ก้า ตาปีโอลา อียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย (3)

ย้อนอ่าน ตอน  (2)  (1)

“มาถึงตอนนี้ อียูกำลังรอคอยให้ไทยจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ และคลายความเข้มงวดในกฎเกณฑ์เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ อันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราปรารถนาให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยประสบความสำเร็จ โดยประชาชนและพรรคการเมืองต่างกระตือรือร้นต้องการเข้ามามีส่วนร่วม”

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปหรืออียู ประจำประเทศไทย นายเปียร์ก้า ตาปีโอลา (H.E. Mr Pirkka Tapiola) กล่าวถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศไทยทางด้านการเมือง ภายใต้เงื่อนไขต้องยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิมนุษยชน ปลดล็อกพรรคการเมือง และจัดการเลือกตั้งตามที่ได้ประกาศไว้ นั่นคือการคืนเสียง คืนพื้นที่ให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล

“เราต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยประสบความสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปและมีศักยภาพในการเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องการส่งเสริมและสนับสนุน”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ประเทศดำรงความเป็นอิสระไม่เคยตกเป็นอาณานิคม”

“สำหรับชาวยุโรปนั้น เรื่องความเป็นประชาธิปไตยมีอยู่สูงมากในตัวบุคคลเช่นเดียวกับชาวไทย ซึ่งไทยแปลว่า อิสระ ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความอิสระเสรี นั่นก็หมายถึงคนไทยมีความเป็นประชาธิปไตยในตัวบุคคลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีวิธีการของตนเอง เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นต่อไปอีก”

เมื่อสหภาพยุโรปประกาศฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้เงื่อนไข 14 ข้อและโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้กรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดนั้น

ทำให้หลายฝ่ายจับตาในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเป็นพิเศษ รวมทั้งนักวิชาการที่เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นสัญญาณบวก และเป็นการสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลเดินตามโรดแม็ปประชาธิปไตยหรือแผนที่นำทางไปสู่ประชาธิปไตย อีกทางหนึ่ง

ท่านทูตสหภาพยุโรป ให้คำตอบว่า

“เรามาเป็นหุ้นส่วนกันมากกว่าเป็นการกดดัน เพราะประเทศไทยมีโรดแม็ปนำทางไปสู่ประชาธิปไตย เรามาเพื่อช่วยสนับสนุนและทำงานร่วมกันกับประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนกันไม่ใช่เป็นตัวแสดงที่อยู่ห่างไกลเพื่อคอยสั่งสอนหรือกดดัน”

“เพราะคนไทยเท่านั้นที่จะรู้ดีว่าอะไรที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยที่สุด”

เมื่อคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ ได้มีการตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทย

หลายคนมีความเห็นต่างๆ กัน เช่น เป็นการแสดงท่าทีที่อ่อนแอของสหภาพยุโรปในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

หรือโลกตะวันตกมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจทำให้ความคืบหน้าในระบอบประชาธิปไตยล่าช้า

แต่หากคิดในเชิงบวกว่า เป็นความพยายามของสหภาพยุโรป ที่ต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลทำตามคำมั่นสัญญาที่โลกรอคอยอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นด้วยดีก่อนสิ้นปีนี้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเลื่อนมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม โรดแม็ปนำทางไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ รวมทั้งกรอบเวลาการเลื่อนเลือกตั้งยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ชัดเจน และตราบเท่าที่ยังคงมีการห้ามการชุมนุมทางการเมืองต่อไป การเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเริ่มต้นได้

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันอีกด้านหนึ่งจากประเทศจีนและสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความสนใจทางเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยอย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป จึงอาจเป็นเหตุผลที่สหภาพยุโรปมองข้ามเรื่องนี้ไปและเป็นกลุ่มสุดท้ายที่หันมาปรับสัมพันธ์กับไทย

“แต่ผมกลับคิดว่า อียูแสดงให้เห็นชัดเจนตลอดมาว่ายังไม่ได้ออกไปจากเวทีใดๆ อียูยังคงอยู่กับประเทศไทย และสามารถใช้ศักยภาพแห่งความสัมพันธ์ของเราในรูปแบบที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่อียูได้ทำไปก่อนหน้านี้เนื่องจากสภาพการณ์ในขณะนั้นและความกังวลของเราอยู่ที่นั่น ซึ่งเทียบกับตอนนี้ที่ผมคิดว่าเรากำลังก้าวไปพร้อมกันในทิศทางที่ถูกต้อง”

“และผมจะไม่ให้คะแนนกับตัวแสดงของประเทศอื่นๆ เพราะตัวแสดงหลายประเทศเป็นพันธมิตรของเรา และถึงแม้พวกเรามีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในบางเรื่อง แต่เราก็มีความสัมพันธ์กันด้านใดด้านหนึ่ง”

“หากคุณได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของยุโรป ก็จะช่วยเชื่อมโยงกับเรื่องที่ผมกำลังจะพูดได้อย่างดี เพราะเรามีความเกี่ยวพันกันอย่างเหนียวแน่นในหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ เนื่องจากไม่มีทวีปใดที่ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากการล่มสลายของกฎและหลักการด้านประชาธิปไตยได้เท่าทวีปยุโรป ซึ่งทวีปยุโรปยังไม่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและปัญหาความรุนแรง นี่คือโครงการหลักของทวีปยุโรป”

“โครงการเหล่านี้เป็นโครงการของสหภาพเหนือชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยม ซึ่งค่านิยมเหล่านั้นไม่ได้เป็นนามธรรม แต่ค่านิยมเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับยุโรปเป็นอย่างมาก เรารับรู้ได้จากประสบการณ์การบริหารจัดการบ้านของเรา หากเราไม่ได้สร้างสังคมโดยมีองค์กรคอยตรวจสอบ คานอำนาจและดำเนินการตามหลักการประชาธิปไตย เราอาจจะไม่ได้เป็นทวีปที่ร่ำรวยที่สุด ไม่ได้เป็นทวีปที่มีความเสมอภาคมากที่สุด หรือไม่ได้เป็นทวีปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด”

“ผมมาประเทศไทยเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรกว่า 500 ล้านคน และเป็นตัวแทนของตลาดการค้าที่รวยที่สุดในโลก ซึ่งประชาชนยังคงมองว่า อียูเป็นความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่อียูเป็นมากกว่านั้น เนื่องจากประเทศในอียูมีความเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางด้านการเมืองมากขึ้น” ท่านทูตกล่าวถึงพัฒนาการของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

“ในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา อียูได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศสมาชิกจะผลัดกันทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป วาระ 6 เดือน โดยมีผู้แทนระดับสูงของอียูด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ”

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา ชี้แจง

สนธิสัญญาลิสบอนได้กำหนดให้มีตำแหน่งผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ) เพิ่มเติมด้วย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีหน้าที่ดูแลเรื่องนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่มาจากการตัดสินใจร่วมกันของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และเป็นประธานในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอีกตำแหน่งหนึ่ง

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและร่ำรวยที่สุดในโลกที่บูรณาการเอาตลาดของประเทศสมาชิก 28 ประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยจำนวนผู้บริโภคกว่า 500 ล้านคน เป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงที่สุดในโลก

สหภาพยุโรปจึงเป็นยักษ์ใหญ่ในเวทีการค้าโลก ที่มีอำนาจต่อรองสูงและมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นผู้นำด้านกฎระเบียบและนโยบายด้านการค้าและที่มิใช่การค้าที่สำคัญของโลก จึงกล่าวได้ว่า สหภาพยุโรปเป็นอภิมหาอำนาจปัจจุบันหรืออภิมหาอำนาจในอนาคต

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา กล่าวต่อว่า

“นอกจากนี้ อียูยังมีหน่วยงานทางการทูต 140 แห่งทั่วโลกนำโดยเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นผู้ประสานงานทางการเมืองในระหว่างสถานทูตของรัฐสมาชิกอียูทุกแห่ง การดำเนินงานของอียูในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นการทำให้อียูแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ และมีอำนาจมากขึ้น”

ดังนั้น ไทยควรรื้อฟื้นและหันมาเดินหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เพื่อผลักดันและส่งเสริมโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดยุโรป ให้ทันกับประเทศเพื่อนบ้านของเราซึ่งก้าวแซงหน้าเราไปแล้ว

แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจะกลับมาสู่จุดไม่แน่นอนอีกวาระหนึ่ง รวมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของไทยที่สหภาพยุโรปและทั่วโลกต่างให้ความสนใจและติดตามมาโดยตลอด

หมายเหตุ : ขอแก้ไขข้อความในบทที่ 2 จาก”ทูตอียู ยืนยันเลือกตั้ง พ.ย. 61 คือ พันธกรณีต่อสาธารณชน”เปลี่ยนเป็น “อียูพร้อมช่วยไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย”