ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด
Facebook : @Pitsanuofficial
การจูงสุนัข
เป็นการออกกำลังกาย
สมัยนี้ คนเลี้ยงสุนัข ไม่ได้เลี้ยงเป็นหมาเฝ้าบ้าน แต่เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว
สุนัขเป็นสัตว์ที่ให้ทั้งความรัก มิตรภาพ และยังเป็นสัตว์ที่ตื่นตัว รักความสนุกสนาน ชอบให้เจ้าของพาออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน
การพาสุนัขออกไปเดินเล่นก็เหมือนเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง
ได้ประโยชน์ทางสุขภาพทั้งตัวสุนัขและเจ้าของ
ดร.อลิซาเบธ เฟรตส์ (Dr. Elizabeth Frates) ผู้อำนวยการฝ่ายโปรแกรมการมีสุขภาพที่ดี ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูสปอลดิ้ง (Spaulding Rehabilitation Hospital) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือของ ฮาร์เวิร์ด เมดิคัลสกูล (Harvard Medical School) ได้ทำการศึกษากับกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 86 คน
โดยครึ่งหนึ่งมีสุนัขอยู่ที่บ้าน ทุกคนได้สวมอุปกรณ์ติดตามการทำกิจกรรมในแต่ละวัน
จากนั้นทีมงานก็คอยเฝ้าดู การทำกิจกรรมของกลุ่มคน 86 คนอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน
หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ ก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์
พบว่าคนที่เลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้าน จะได้เดินเยอะกว่าคนทั่วไปเฉลี่ย 20 นาทีต่อวัน
และก้าวเท้าเดินมากกว่าคนที่ไม่เลี้ยงสุนัขถึง 2,700 ก้าว
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการก้าวเดินด้วยความเร็วมากกว่า 100 ก้าวต่อนาที ซึ่งเป็นระดับความเร็วที่วงการสุขภาพแนะนำเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการเดิน
ทางการชี้แนะให้ผู้ใหญ่ทุกคนออกกำลังกายระดับกลางถึงเข้มข้นให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
ซึ่งผู้ร่วมศึกษาที่เลี้ยงสุนัขจำนวน 87% สามารถออกกำลังกายได้ตามเป้า
ส่วนคนที่ไม่เลี้ยงสุนัขมีเพียงแค่ 47% ที่ออกกำลังกายได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์
การศึกษาดังกล่าวยังได้ตีพิมพ์ลงในรายงานสุขภาพฉบับพิเศษของ Harvard Medical School ชื่อ Get Healthy, Get a Dog : The health benefits of canine companionship ซึ่งลงลึกถึงประโยชน์ของการเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้าน ซึ่งสุนัขสามารถช่วยพัฒนาชีวิตให้กับเจ้าของได้หลายด้าน
การเดินจูงสุนัขยังให้มากกว่าแค่เรื่องสุขภาพร่างกาย
เพราะการออกจากบ้านทำให้เรามีโอกาสได้พบปะเพื่อนบ้านและผู้คนมากหน้าหลายตา ได้เชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคม
ซึ่ง ดร.อลิซาเบธ บอกว่าความรู้สึกโดดเดี่ยว และการปลีกตัวอยู่คนเดียว มีความเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ
การได้พาสุนัขออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ในป่า หรือพื้นที่สีเขียว จะผ่อนคลายความเครียดเมื่อกลับมาถึงบ้าน การได้เล่น สัมผัส และจ้องตากับสุนัขช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ความผูกพัน
มีการศึกษาพบว่าฮอร์โมนชนิดนี้ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียด กลายเป็นคนที่มีจิตใจเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ช่วยลดอาการปวด และทำให้แผลหายเร็ว
นอกจากนี้ ยังทำให้รู้สึกหลับสบาย และตัวสุนัขเองก็ได้รับประโยชน์จากฮอร์โมนชนิดนี้ด้วย
ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่เลี้ยงสุนัขมักจะมีระดับความดันเลือดต่ำกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัข
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022