การลุกขึ้น ‘สู้’ อีกครั้ง เพื่อโค่นรัฐบาลทหารเมียนมา

(Photo by Handout / KARENNI NATIONALITIES DEFENSE FORCE (KNDF) / AFP)

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในเมียนมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ถือเป็นการดับฝันการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ หลังปล่อยให้นางออง ซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ได้ขึ้นเป็นผู้นำการปกครองดูแลประเทศเมียนมาได้ไม่กี่ปี และต้องถูกจับกักตัวอีกครั้ง

ประเทศเมียนมา ก็ต้องเจอกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเรื่อยมา เนื่องจากมีบรรดากลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพเมียนมาตลอด

แต่ตลอด 3 ปี หลังการต่อสู้ นับตั้งแต่การรัฐประหาร ก็ดูเหมือนจะไม่มีวี่แววของชัยชนะแต่อย่างใด

หากแต่จู่ๆ สถานการณ์กลับดูเหมือนจะพลิกผันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวว่า กลุ่มกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา สามารถบุกยึดพื้นที่ต่างๆ ในเมียนมาได้กว่าครึ่งหนึ่งของดินแดนทั้งหมดในเมียนมา ตั้งแต่ดินแดนในป่าไปจนถึงดินแดนเชิงเขาหิมาลัย

 

นิวยอร์กไทม์ส ได้รายงานเรื่องการต่อสู้ในเมียนมาเอาไว้ พร้อมเปิดหัวได้เหมือนกับที่ใครหลายคนคิด คือ กลุ่มต่อต้านมีความเป็นไปได้ที่จะได้ชัยชนะ

รายงานระบุว่า การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านกับกองทัพเมียนมา ให้ความรู้สึกเหมือนการต่อสู้ในช่วงสงครามกลางเมือง ขณะที่ฝ่ายต่อต้าน ใช้วิธีการสู้รบแบบตามมีตามเกิด มีการขุดสนามเพลาะ การใช้ปืนไรเฟิลแบบทำเอง แต่ฟากรัฐบาลเมียนมา มีทั้งเครื่องยิงจรวด และเครื่องบินรบหลายลำที่ทันสมัย

และหากกลุ่มต่อต้านสามารถรุกเข้าไปถึงใจกลางของประเทศได้ ก็อาจจะสามารถโค่นล้มกองทัพเมียนมาได้

ทั้งนี้ กลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมา แบ่งออกเป็นกลุ่มติดอาวุธหลายร้อยกลุ่มที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในบางเขตก็มีการรวมตัวกันของกลุ่มหลายๆ กลุ่ม เพื่อผนึกกำลังกันต่อสู้กับกองกำลังของกองทัพเมียนมา

บางเขตก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีใครเป็นผู้นำกองกำลัง บางพื้นที่ก็นำโดยพวกทหารผ่านศึกจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมามาเป็นเวลายาวนาน

บางที่ก็จัดตั้งกองกำลังขึ้นโดยพวกนักการเมืองที่หันมาหยิบอาวุธ หลังจากการรัฐประหารได้ทำให้ชีวิตทางการเมืองของพวกเขาจบลง

โดยกลุ่มต่อต้านส่วนใหญ่จะได้รับเงินสนับสนุนผ่านการระดมทุนโดยชาวเมียนมาพลัดถิ่น ซึ่งตามข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ก่อนการรัฐประหารปี 2021 มีชาวเมียนมาพลัดถิ่นมากถึงกว่า 4 ล้านคน และหลังการรัฐประหารก็มีชาวเมียนมาที่หนีออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เงินที่อุดหนุนกลุ่มต่อต้าน ก็ยังมีมาจากแหล่งอื่นๆ โดยกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่มก็มีเงินมาจากการค้ายาเสพติด หรือเงินจากธุรกิจสีเทา

และแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเคยให้คำมั่นว่าจะให้เงินเพื่อสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมา และคว่ำบาตรทางการเงินของกลุ่มสมาชิกในระบอบทหารและพวกพ้อง แต่สหรัฐก็ไม่เคยมีการจัดสรรเงินอย่างเปิดเผยให้แก่พวกกลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมาแต่อย่างใด

 

หม่า ซูจี เด็กสาววัย 21 ปี ที่ตัดสินใจมาร่วมเป็นทหารกับกลุ่มต่อต้าน เพื่อโค่นรัฐบาลทหารเมียนมา บอกว่า เธอรู้ดีว่าเมื่อมาเข้าร่วมในกองกำลังปฏิวัติแล้ว โอกาสในการรอดชีวิตของเธอมีอยู่เพียง 50-50 แต่แม้ว่าเธอจะเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ก็มีความเชื่อในประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ซูจีบอกว่า กลุ่มกองกำลังป้องกันชาติกะเหรี่ยง หรือ เค.เอ็น.ดี.เอฟ. ซึ่งมีกำลังทหารถึงกว่า 8,000 นาย เปรียบเสมือนกับองค์กรที่เป็นร่มให้กับกลุ่มเยาวชนติดอาวุธในรัฐกะเหรี่ยง รัฐที่เล็กที่สุดในเมียนมา แต่เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบรุนแรงที่สุด

นักวิเคราะห์เชื่อว่า เค.เอ็น.ดี.เอฟ. และกลุ่มกองกำลังพันธมิตร จะสามารถควบคุมรัฐกะเหรี่ยงได้ทั้งหมดเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐแรกในเมียนมาที่เป็นอิสระจากการปกครองของทหาร

โดยจากปฏิบัติการสู้รบขับไล่กองทัพเมียนมาที่เริ่มอย่างจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมาทั่วประเทศ กลุ่มต่อต้านสามารถขับไล่กองทัพเมียนมาออกจากหลายพื้นที่ กินบริเวณกว้าง ตั้งแต่ตอนเหนือ ตะวันตก และตะวันออก และในเดือนเมษายนนี้ ก็สามารถยึดเอาเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเมืองค้าขายหลักที่อยู่ติดชายแดนไทยเอาไว้ได้

ที่น่าจับตามองก็คือ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา ที่พวกทหารสร้างขึ้นเป็นเหมือนป้อมปราการ ซึ่งน่าจะกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากอยู่ห่างจากรัฐของฝ่ายต่อต้านไม่ถึง 240 กิโลเมตร

 

แม้ว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ที่ทหารปกครองเมียนมา จะมีความพยายามของกลุ่มกองกำลังต่อต้านในการโค่นอำนาจเหล่าทหาร แต่ก็ประสบความล้มเหลวทุกครั้ง

แต่ในครั้งนี้ ฝ่ายต่อต้านบอกว่า “ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา” เพราะบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาทั่วประเทศ หันมาจับมือร่วมกันกับพวกชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายแดน

ขณะที่คนรุ่นใหม่ในเมียนมาเติบโตขึ้นมากับการเปิดประเทศ รับสารจากทั่วโลกมากขึ้น ได้เรียนรู้บทเรียนในอดีต ความโหดร้ายของการปกครองที่กดขี่ จึงมีความพยายามในการต่อต้านรัฐบาลทหารมากขึ้น

จนกลายเป็นที่มาของความร่วมมือร่วมใจกัน “สู้” อีกครั้ง เพื่อให้เมียนมากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริง