เลือก ส.ว.ชุดใหม่… รวดเร็ว และปิดลับ ประชาชน ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องเป็นพยาน

มุกดา สุวรรณชาติ

เกมเริ่มแล้ว

ในวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบพระราชกฤษฎีกา เลือก ส.ว.ตามที่ กกต.เสนอ โดยมีกรอบเวลาการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ดังนี้

1. วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เมื่อ ส.ว.แต่งตั้ง หมดอายุ มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก ส.ว.ชุดใหม่

2. เพราะมาตรา 12 กำหนดว่าภายใน 5 วันหลังมีพระราชกฤษฎีกา กกต.ก็จะต้องประกาศ เกี่ยวกับการเลือก ส.ว. จะประกาศในวันที่ 13 หรือ 14 หรือ 15 พฤษภาคม ก็ได้เพราะไม่เกิน 5 วัน

3. ประกาศกำหนดวันรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ต้องไม่เกิน 15 วันหลังมีพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น กกต.อาจจะประกาศเริ่มการรับสมัครอยู่ในระหว่างวันที่ 16-25 พฤษภาคม แต่กฎหมายยังบังคับว่าจะต้องมีเวลารับสมัคร 5-7 วัน กกต.จึงน่าจะประกาศวันรับสมัครอยู่ที่ประมาณ 20-26 พฤษภาคม แล้วแต่ความพร้อม เพราะทุกจุดในระดับอำเภอต้องมีความพร้อม ต้องมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของ กกต.ครบทั้ง 928 แห่ง

4. กฎหมายกำหนดว่าการเลือกตั้งระดับอำเภอต้องไม่เกิน 20 วันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567 จึงอยู่ในกรอบกฎหมาย

5. กฎหมายกำหนดว่าการเลือกตั้งระดับจังหวัดต้องไม่เกิน 7 วันนับจากวันเลือกตั้งระดับอำเภอ ก็จะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2567

6. การเลือกตั้งระดับประเทศไม่เกิน 10 วันจากระดับจังหวัด ก็จะตรงกับวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567

 

จำนวนผู้สมัครอาจไม่มาก

รัฐบาลคงไม่อยากให้ ส.ว.ชุดเก่ารักษาการนานไป ดังนั้น เมื่อ กกต.เสนอก็คงเลือกเอารูปแบบที่เลือกอย่างรวดเร็วเท่าที่ทำได้ตามกฎหมาย คงไม่มีเร็วกว่านี้อีกแล้ว ถ้าประเมินจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าผู้สมัครไม่น่าจะมากเท่าที่คาดไว้แต่เดิม เพราะหลายคนอาจเตรียมตัวไม่ทัน

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 เคยประเมินไว้ว่าผู้สมัคร ส.ว.ปี 2567 จะมากถึง 200,000 คนโดยมีสมมุติฐานว่า

การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้เริ่มที่ระดับอำเภอ รวมแล้ว 928 เขตเลือกตั้งขั้นต้น ในแต่ละอำเภอจะมีกลุ่มอาชีพให้สมัคร 20 กลุ่ม ถ้าเพียงแต่ละกลุ่มอาชีพมีคนไปสมัครกลุ่มละ 10-12 คน ยอดผู้สมัครรวมก็จะมีประมาณ 200,000 คน

แต่ดูจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันพบว่า การประชาสัมพันธ์ หรืออธิบายความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ มีน้อยมาก

ความซับซ้อนของวิธีการเลือกตั้งกันเอง ทำให้เข้าใจยากมาก

ความเข้มข้นของการต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้ยกระดับขึ้นจนคนอยากเข้าร่วมสมัคร ส.ว. ซึ่งจะใช้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง

เพราะการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ผู้ที่ลงสมัครเท่านั้นที่จะได้เลือก ซึ่งจะต้องเสียเงินถึง 2,500 บาท และเสียเวลาพอสมควรในขณะที่ประชาชนที่เข้าร่วมทางการเมืองในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาไม่ต้องเสียเงิน แค่เดินทางไปลงคะแนนแถวหมู่บ้านของตนเองก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว

 

หลายกลุ่มอาชีพมีคนสมัครน้อย

ที่คาดว่าจะมีคนสมัครเกินกลุ่มอาชีพละ 10 คน จึงน่าจะมีความเป็นไปได้เฉพาะเขตเมืองใหญ่ และในบางกลุ่มอาชีพจะมีคนสมัครมาก ในขณะที่หลายกลุ่มอาชีพจะมีผู้สมัครน้อยมาก บางอำเภอจะน้อยจนไม่ต้องคัดเลือก

การคัดเลือกตัวแทนกลุ่มอาชีพในระดับอำเภอ หลายอาชีพอาจจะไม่มีหรือมีน้อยกว่า 3 คน ดังนั้น หลายอำเภอจะส่งมาไม่ครบ 60 คน

แต่ในระดับประเทศ จะมีประมาณ 3,000 คนจากทุกจังหวัด กลุ่มละ 2 คน น่าจะส่งมาครบเพราะบางอาชีพแม้ไม่มีในบางอำเภอ แต่ก็จะมีอำเภออื่นทดแทนกันไปตามสภาพท้องถิ่น

กลุ่มอาชีพที่คาดว่าจะมีผู้สมัครน้อยในหลายอำเภอคือ

(13) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

(16) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ

(17) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ

(18) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ

 

ควรสมัครแบบกระจายตามพื้นที่ต่างๆ

เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันคนมีความรู้ความสามารถหลายอาชีพไปกระจุกตัวทำงานหรืออยู่อาศัยตามเมืองใหญ่

แต่การสมัครครั้งนี้เปิดช่องให้ผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ทั้งหลายสามารถย้อนกลับไปสมัครได้หลายแห่งทั้งถิ่นเก่าบ้านเกิด หรือที่เคยเรียนอยู่ไม่ว่าจะเป็นชั้นประถม มัธยม มหาวิทยาลัยที่อยู่เกิน 2 ปี แม้แต่ที่เคยทำงานเกิน 2 ปีก็ใช้ได้

ดังนั้น การไปสมัครในต่างจังหวัดหรือในต่างอำเภอที่ไกลๆ ก็เป็นสิทธิที่ทำได้และไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด

แต่เป็นการกระจายตัวของผู้สมัคร มิฉะนั้นผู้สมัครที่มีความสามารถอาจจะถูกตัดตกตั้งแต่รอบแรกเพราะส่วนมากกระจุกตัวกันในเมืองใหญ่ ในบางเขตกลับไม่มีผู้มีความสามารถเฉพาะทางมาสมัครเลย

อาจมีความยุ่งยากเล็กน้อยตรงที่การหาหลักฐาน ว่าเคยอยู่ หรือเรียน ย้อนไปในอดีตประมาณ 30-50 ปี

แต่ด้วยระบบทะเบียนราษฎรสมัยใหม่น่าจะค้นหาได้ไม่ยาก

 

ป้องกันความผิดพลาด
ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ

ก่อนวันรับสมัครรับเลือก ต้องไปขอรับเอกสารการสมัครด้วยตนเอง โดยนำบัตรประจําตัวประชาชน เพื่อขอรับเอกสารการสมัคร ประกอบด้วย (1) แบบใบสมัคร (ส.ว.2) (2) แบบข้อมูลแนะนําตัวของผู้สมัคร (ส.ว.3) (3) แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ (ส.ว.4) และให้ผู้สมัครทําการกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมจัดเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครที่เกี่ยวข้องเพื่อนํามาใช้ในวันสมัคร

วันสมัครรับเลือก นําเอกสารการสมัครและหลักฐานประกอบมายื่นด้วยตนเอง ณ สถานที่ที่กําหนด ภายในระยะเวลาการรับสมัคร

อย่าลืม สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของผู้สมัคร สําเนาทะเบียนบ้าน ใบรับรองแพทย์ รูปถ่ายหน้าตรง คนละ 2 รูป

เอกสารหลักฐานซึ่งแสดงความเกี่ยวของกับอําเภอที่จะสมัครอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สําเนาสูติบัตร สําเนาทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองการทํางาน ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร หนังสือรับรองจากสถานศึกษา เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 2,500 บาท

หนังสืออนุมัติให้ลาออกจากราชการ

เอกสารทุกอย่างต้องรับรองสําเนาถูกต้อง

กรณีเอกสารและหลักฐานการสมัครไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะคืนเอกสารให้นำไปแก้ไขและมาสมัครใหม่ภายในระยะเวลาการรับสมัคร

ถ้าการสมัครถูกต้องเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะออกใบรับใบสมัคร ตามแบบ สว.อ.10 แก่ผู้สมัคร

 

การสมัคร ส.ว. เป็นแบบปิดลับ
ประชาชนจะไม่รู้จักผู้สมัคร ส.ว

25 เมษายน กกต.ได้ออกระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว.

1. กกต.กำหนดให้การแนะนำตัวผู้สมัครสามารถพิมพ์ใส่เอกสารขนาด A4 ได้ไม่เกิน 2 หน้า และห้ามแจกเอกสารนั้นในสถานที่เลือกตั้ง

ถ้าจะเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องทำตามเอกสารแนะนำต้นฉบับเท่านั้น ไม่ให้เพิ่มเติม และให้เผยแพร่แก่ผู้สมัคร ส.ว.เท่านั้น ห้ามแจกแก่คนทั่วไป

เอกสารแนะนำตัว จะนำไปแจก หรือติดประกาศตามที่สารธารณะ (แบบ ส.ส.) ไม่ได้

2. ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องในการแนะนำตัว

3. ห้ามผู้สมัครที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการสื่อสาร การแสดง ดนตรี นักร้อง ฯลฯ ใช้ความสามารถและหน้าที่ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัวเอง

4. ห้ามผู้สมัครแนะนำตัวเองทางวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์หรือสื่อสารทางแพลตฟอร์มใดๆ

แบบนี้ประชาชนทั่วไปก็จะไม่รู้เลยว่าผู้สมัครคนไหนเป็นอย่างไร ยกเว้นผู้สนใจจริงๆ จะไปดูประกาศที่ว่าการอำเภอ ซึ่งจะไม่เปิดเผยจนใกล้วันเลือก คนนอกห้ามเข้าไปดูการนับคะแนน

ยุคเผด็จการแต่งตั้ง ส.ว. มีคนเกี่ยวข้องหลักร้อย ยุคนี้มีคนร่วมหลายหมื่น แต่สำหรับประชาชนอีก 60 ล้าน ไม่เพียงไม่ให้เลือก แต่ยังไม่ให้รู้อีกด้วย ไม่มีโอกาสแม้แต่เป็นคนดู