ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
รากเหง้าสภาอาชีพ (2)
ในปลายศตวรรษที่สิบเก้าต่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ อันตรงกับรัชกาลที่ห้าและหกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ค.ศ.1868-1910 & 1910-1925) นี่เองที่ระบอบศักดินาหรือราชูปถัมภ์ หรือรัฐราชสมบัติเดิมของไทย (patrimonial state ตามศัพท์วิเคราะห์ของจิตร ภูมิศักดิ์-อ.เสน่ห์ จามริก-อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตามลำดับ) เผชิญกับความทันสมัยทางการเมือง (political modernity) ที่มหาอำนาจอาณานิคมตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศสนำเข้ามา ก่อนอื่นใดคือรูปแบบชุมชนการเมืองการปกครองของโลกสมัยใหม่อันได้แก่รัฐ-ชาติ (nation-state)
ชนชั้นนำสยามยุคนั้นจึงปรับตัวรับความทันสมัยทางการเมืองดังกล่าวโดยเปลี่ยนรูปแบบชุมชนการเมืองการปกครองเดิมไป
ทว่า มิใช่สวมรับของใหม่เข้ามาทั้งแท่งแบบทื่อๆ หากปรับแต่งดัดแปลงมันให้ผลักดันโต้ตอบกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมทั้งภายนอกและภายใน ตามโครงการยุทธศาสตร์ที่อิงฐานะอำนาจ ผลประโยชน์และความเชื่อของหมู่คณะตนและบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง
ตัวแบบรัฐ-ชาติสมัยใหม่แบบตะวันตกที่ชนชั้นนำสยามนำเข้ามาจึงถูกปรับแปลงทางปฏิบัติไปเป็น (ดูแผนภูมิ) :
-> รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist state) ดังปรากฏในงานศึกษาค้นคว้าโดยพิสดารล้ำลึกของรองศาสตราจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย (พากย์อังกฤษ The Rise and Decline of Thai Absolutism ตีพิมพ์ 2004) และ
-> ราชาชาตินิยม (royal-nationalism) ดังปรากฏในงานศึกษาค้นคว้าแบบเบิกตาสว่างและบุกทะลวงเพดานความรู้ใหม่ของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เรื่อง กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (พากย์อังกฤษ Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation ตีพิมพ์ 1994)
ก็แลเมื่อถูกนำเข้าสู่สยามประเทศ รัฐ-ชาติถูกปรับแปลงไปฉันใด ระบอบประชาธิปไตยก็ย่อมถูกปรับแปลงไปบ้างฉันนั้น
ดังที่ Michael Mann ศาสตราจารย์สังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลิส ผู้เขียนหนังสือ The Dark Side of Democracy : Explaining Ethnic Cleansing (2005 ดูภาพประกอบ) ได้วิเคราะห์ไว้เกี่ยวกับความพยายามปรับตัวรับกระแสประชาธิปไตยของบรรดาชนชั้นนำเก่าในกลุ่มประเทศยุโรปกลาง, ยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า :
“…ความทะยานอยากใฝ่หาประชาธิปไตยปรากฏขึ้นในบรรดาประเทศล้าหลังกว่าเหล่านี้ทีหลัง (เมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป เช่น อังกฤษ) ฉะนั้น มันจึงอุบัติขึ้นในยุคสมัยที่ทฤษฎีการเมืองที่ ‘ก้าวหน้า’ ที่สุดได้แก่ทฤษฎีประชาธิปไตยซึ่งสุกงอมแล้ว อันถือคติเป็นเจ้าเรือนว่าประชาชนทั้งมวลต้องได้ปกครอง
พูดอีกอย่างก็คือทั้ง ‘ราษฎร’ และ ‘ไพร่ราบ’ ชาวอังกฤษแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต้องได้ปกครองนั่นเอง ในภูมิภาคตอนกลาง, ทางตะวันออกและใต้ของยุโรป การให้สิทธิเลือกตั้งอย่างจำกัดตามชนชั้นแบบอังกฤษ-อเมริกันนั้นมิช้านานก็ถูกตีตกไปโดยหลักความชอบธรรมที่อิงประชาชนมากกว่า
กระนั้นก็ตามชนชั้นนำในประเทศเหล่านี้ก็ยังพยายามกันท่ามวลชนโดยพัฒนาสังคมการเมืองขั้นกลางอย่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่ค่อยจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา
ผู้ชายทั้งหมดอาจได้ออกเสียงเลือกตั้ง แต่บรรดาผู้แทนของพวกเขาต้องแบ่งปันอำนาจนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง – ซึ่งมักจะเป็นสถาบันกษัตริย์ ราชอาณาจักรไกเซอร์เยอรมนีนับเป็นต้นแบบ กล่าวคือ รัฐสภาไรช์สแต็กมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรเพศชายผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นสากล แต่ต้องแบ่งปันอำนาจกับพระเจ้าไกเซอร์และเสนาบดีของพระองค์
“นี่หมายความว่าพวกชนชั้นนำสามารถใช้อำนาจของพวกเขาภายในรัฐคอยชักใยปลุกปั่น ‘ราษฎร’ จากเบื้องบน สมรรถนะของพวกเขาที่จะทำเช่นนั้นถูกต่อเติมเพิ่มพูนโดยความล้าหลังทางเศรษฐกิจของดินแดนส่วนใหญ่ในภูมิภาคดังกล่าว ที่นี่ ‘ราษฎร’ ส่วนมากยังอยู่ชนบทหรือทำงานช่างฝีมือรายย่อยหรือรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ จิปาถะ ตามตรอกซอกซอย ซึ่งองค์การจัดตั้งของชนชั้นคนงานเอื้อมไปไม่ถึง…
“กรณีอย่างเดียวกันก็เกิดขึ้นทั่วไปหลายที่ในโลกในระยะใกล้ๆ นี้ด้วยเช่นกัน การจะมาจำกัดสิทธิเลือกตั้งในบรรดาประเทศ ‘ซีกโลกใต้’ (หมายถึงประเทศที่พัฒนาล้าหลังกว่า – ผู้แปล) ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วทุกวันนี้ ถ้าไม่ให้ทุกคนได้โหวต ก็ต้องไม่มีใครหน้าไหนได้โหวตเลย – ถึงแม้เสียงโหวตนั้นจะเป็นของเก๊ของปลอมบางส่วนหรือ ส่วนใหญ่ก็ตามที ด้วยการเพิ่มขยายอำนาจบริหาร ระบอบการเมืองขั้นกลางในยุโรปกลาง, ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ จึงแตกต่างจากระบอบเสรีประชาธิปไตยของยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือในประการแรกตรงที่มันเพิ่มขยายคตินิยมอำนาจรัฐ (statism) จนพ้นเกินระดับเสรีนิยมออกไป”
(อ้างจาก Michael Mann, “The Dark Side of Democracy : The Modern Tradition of Ethnic and Political Cleansing”, New Left Review, 235 (May/June 1999), 27-28, เน้นโดยผู้เขียน)
แง่มุมหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งทั่วไปอันค่อยคลี่คลายขยายตัวระลอกใหม่หลังการปฏิวัติของมวลชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 มาเป็นระบอบประชาธิปไตยครี่งใบในทศวรรษที่ 2520 จนกลายเป็นระบอบเลือกตั้งธิปไตย (electocracy) ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อเนื่องมาถึงการลุกฮือพฤษภา-ประชาธรรม 2535 นั้นก็ได้แก่ลักษณะเอกนิยม (monism หรือองค์เดียว หรือผูกขาดอธิปัตย์)
ดังที่ศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ระบุชี้บุคลิกลักษณะสำคัญ 2 ประการของรัฐไทยสมัยใหม่ที่ตกทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า ผ่านการปฏิวัติ 2475 มาจนถึง “ทุกวันนี้” (ทศวรรษที่ 2530) ไว้ใน สองนัคราประชาธิปไตย : แนวทางการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจเพื่อประชาธิปไตย, 2538, น.42 ว่า :
“(1) รวมศูนย์ (Centralism) หมายความว่ารัฐส่วนกลางไปปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นโดยตรง
“(2) ผูกขาดอธิปัตย์ (Monism) หมายความว่ารัฐไม่ยอมแบ่งอำนาจให้สังคมหรือกลุ่มเอกชนในสังคม แสดงออกด้วยการไม่ยอมรับสิทธิ ความริเริ่ม การปกครองตนเอง และความเป็นเอกเทศของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เว้นเสียแต่เมื่อรัฐเองอนุญาตหรือรับรอง”
สถานการณ์ความสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่งคลี่คลายไปในทางเป็นจริงของการเมืองไทยในทศวรรษที่ 2530 โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ก็คือสถาบันการเมืองที่เข้าผูกขาดอธิปัตย์ในรัฐได้แก่สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไปนั่นเอง อย่างที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคมแหวกแนวในคำให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2556 ว่า :
“ผมมองว่าตั้งแต่ช่วง 20 ปีหลังมานี้ได้เกิดพัฒนาการของอำนาจ 2 รูปแบบที่คู่กันมา
“รูปแบบหนึ่งคืออำนาจการเลือกตั้งที่รัฐสภากลายเป็นศูนย์กลาง
“ต่อไปนี้ใครยึดครองการเลือกตั้งได้ก็กุมอำนาจรัฐส่วนอื่นได้ รวมทั้งอำนาจรัฐในแง่ที่เป็นทหารและตำรวจด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี เพราะต่อให้คุณเลือกตั้งเข้ามาได้ กว่าคุณจะได้เป็นนายกฯ ต้องมีการต่อรองกับนักการเมือง ทหาร…(ฯลฯ)
“แต่หลังปี 2530 เป็นต้นมา ถ้าไม่นับช่วงสะดุดของ รสช. แค่ปีเดียว คนที่เป็นนายกฯ ได้ก็กุมส่วนอื่นได้…
“พูดง่ายๆ ว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐไทยมีลักษณะที่เป็นเหมือนรัฐสมัยใหม่ที่มีการรวมศูนย์โดยผ่านกลไกการเลือกตั้ง…ดูเหมือนว่ารัฐไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ เป็นรัฐที่รวมศูนย์เป็นเอกภาพ แล้วก็รวมศูนย์อยู่ที่กลไกการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างทันสมัย และอยู่ภายใต้ร่มเงาของสถาบันกษัตริย์”
(สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “Mass Monarchy”, ชัยธวัช ตุลาธน, บก., ย้ำยุค รุกสมัย เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, 2556, น. 114-115)
เอนกชี้ไว้ว่าทางแก้ลักษณะรวมศูนย์และผูกขาดอธิปัตย์ของรัฐไทยก็คือการกระจายอำนาจรัฐไปสู่ “สิทธิในการปกครองตนเองของกลุ่มต่างๆ ในสังคมและของรัฐบาลท้องถิ่น” (น.43)
เ
มื่อประยุกต์เข้ากับข้อสังเกตของสมศักดิ์ข้างต้นที่สรุปได้ว่ารัฐสภาจากการเลือกตั้งทั่วไปนั่นแหละที่กลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐและผูกขาดอธิปัตย์ของไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ปมเงื่อนจึงอยู่ตรงต้องหาทางกระจายอำนาจให้แตกตัวออกจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป (หรือนัยหนึ่งสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไป) นั่นเอง โดยกระจายไปให้กลุ่มต่างๆ ในสังคมและองค์การปกครองท้องถิ่น
สภาอาชีพจึงเป็นคำตอบสุดท้าย!
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022