วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์ : เขตธรณีสงฆ์สมัยใหม่ ภายใต้ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

เราจะเข้าใจปรากฏการณ์ “วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์” ในสังคมร่วมสมัยได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ผมอยากชวนย้อนกลับไปดูความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นลำดับแรก ซึ่งส่งผลมหาศาลต่อการบริหารจัดการพื้นที่วัดและเปลี่ยนนิยามของพื้นที่วัดไปอย่างสิ้นเชิง

วัดในบริบทจารีตเสมือนมีมิติซ้อนทับกันอยู่ 2 มิติ

โดยในแง่หนึ่งวัดคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (sacred space) ศิลปวัตถุตลอดจนสถาปัตยกรรมภายในวัดคือสัญญะของโลกอุดมคติ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง วัดคือการก่อรูปขึ้นจากอิฐหินปูนทราย ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่ต้องใช้เงินในการเข้ามาดูแล บำรุงรักษา สร้างเสริม จนถึงรื้อถอน

ซึ่งในมุมนี้ วัดคือพื้นที่สาธารณ์ (profane space) ที่ต้องการการบริหารจัดการในแบบทางโลก ต้องหาเงิน จ้างช่างก่อสร้าง ประเมินราคา ฯลฯ

ในอดีต อำนาจการบริหารจัดการวัดในด้านที่เป็นมิติสาธารณ์ไม่เคยเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ แต่จะเป็นหน้าที่ของ “เลกวัด” ซึ่งเป็นไพร่ประเภทหนึ่งที่รัฐแบบจารีตจะจัดส่งมาให้เป็นสมบัติแก่วัด ลูกหลานที่เกิดจากเลกวัดก็ต้องเป็นข้ารับใช้ของวัดนั้นๆ สืบต่อไป เช่นเดียวกับไพร่ที่ขึ้นกับมูลนาย โดยไพร่สังกัดวัดเหล่านี้ในบางวัดที่เป็นวัดหลวงขนาดใหญ่ อาจมีจำนวนมากเป็นพันคน

เลกวัดเหล่านี้คือแรงงานมหาศาลซึ่งคอยทำหน้าที่ดูแลกิจการทางโลกที่อยู่ในวัดแทนพระสงฆ์ โดยโครงสร้างการดูแลจะมีการตั้ง “เจ้ากรมวัด” ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลแรงงานเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง คอยทำหน้าที่สั่งการให้ทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดูแลศาสนสมบัติ ทำความสะอาด ก่อสร้าง จนถึงงานซ่อมแซม

แต่ถ้าในกรณีที่วัดจำเป็นต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ รัฐส่วนกลาง ที่นำโดย กษัตริย์ เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ หรือขุนนาง ก็จะเข้ามารับผิดชอบหน้าที่ในส่วนนี้เองทั้งในด้านเงินทุนและแรงงาน

ภาพมุมสูงแสดงตึกแถวและท่าเรือซอยหวั่งหลี พ.ศ.2489 ซึ่งสร้างอยู่ในเขตธรณีสงฆ์วัดยานนาวา (ปัจจุบันรื้อแล้ว) ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ส่วนพระสงฆ์ในสังคมจารีตจะมีบทบาทหน้าที่ในเชิงตัวแทนในอุดมคติทางศาสนาเท่านั้น และด้วยการแบ่งแยกบทบาทการบริหารจัดการเช่นนี้ ส่งผลทำให้พื้นที่วัดเกิดเส้นแบ่งระหว่างมิติศักดิ์สิทธิ์กับมิติสาธารณ์แยกออกจากกันชัดเจน

พระสงฆ์คือผู้ที่ปฏิบัติกิจทางศาสนา ทำหน้าที่เป็นสัญญะในเชิงอุดมคติของผู้ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ลอยพ้นไปจากสิ่งสาธารณ์

ส่วนเจ้ากรมวัดและเลกวัดคือสัญญะทางโลกของบุคคลที่ดำรงอยู่ในพื้นที่สาธารณ์ภายในวัด

แต่เส้นแบ่งดังกล่าวจะถูกทำลายลงเมื่อสยามก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นำมาซึ่งการปฏิรูปทางสังคมครั้งใหญ่และเปลี่ยนสยามไปสู่ความศิวิไลซ์ตามมาตรฐานยุโรป (เปลี่ยนจากรัฐจารีตสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ภายใต้กระบวนการนี้ ชนชั้นสยามได้ทำการปฏิรูปคณะสงฆ์ รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ยกเลิกระบบไพร่ทุกรูปแบบ รวมถึงเลกวัด (ซึ่งเป็นไพร่ของวัด) ก็ถูกยกเลิกออกไปจนหมดสิ้นเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างมิติศักดิ์สิทธิ์กับสาธารณ์ในพื้นที่วัดพร่าเลือน

กล่าวคือ เมื่อยกเลิกระบบเลกวัดแล้ว การดูแลถาวรวัตถุตลอดจนเรื่องทางโลกในวัดย่อมเกิดปัญหา

วัดขาดแรงงานในการทำกิจการทางโลกจนหมดสิ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าไปแก้ไขด้วยการตัดสินใจใช้ “ระบบเงินช่วยเหลือ” แทนแรงงานที่หายไป โดยการพิจารณาเงินช่วยเหลือจะมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของวัดนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การให้เงินช่วยเหลือเกือบทั้งหมดมักไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ระบบใหม่นี้ไม่สามารถทดแทนระบบเลกวัดแบบเดิมได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตัดสินใจทางนโยบายครั้งสำคัญ โดยเสนอแนวคิดว่า วัดควรจะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น “คอมปะนี” (Company) แบบหนึ่งที่จะต้องสามารถหารายได้มาดูแลวัดอย่างเพียงพอได้ด้วยตัวเอง

(อ้างถึงใน สจช., ร.5 ศ.29/2, จดหมายจากกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 25 เมษายน ร.ศ.118)

แผนที่กรุงเทพฯ ราวปลายทศวรรษ 2490 แสดงพื้นที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ที่ตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร

ทัศนะอย่างใหม่ที่มองว่าวัดควรทำหน้าที่เป็น “คอมปะนี” ได้เปลี่ยนนิยามและความหมายของพื้นที่วัดไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อวัดถูกผลักให้กลายเป็นคอมปะนีที่ต้องหารายได้ แต่ขณะเดียวกัน วัดก็ขาดเลกวัดและเจ้ากรมวัดที่เป็นฆราวาสซึ่งควรจะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้

จึงช่วยไม่ได้ที่พระสงฆ์จะต้องเข้ามารับบทบาทหน้าที่แทน กล่าวให้ชัดคือ พระสงฆ์ต้องสวมหมวกอีกใบที่ไม่ต่างมากนักจากพ่อค้าที่ต้องคอยระดมทุนเข้ามาในวัดให้มากเพียงพอต่อการบริหารจัดการมิติสาธารณ์ทั้งหลายในพื้นที่วัด

จุดเปลี่ยนนี้ได้ทำให้ “พื้นที่ธรณีสงฆ์” ซึ่งในสังคมจารีตไม่มีความสำคัญมากนัก กลายมาเป็นพื้นที่หารายได้หลักของวัดในยุคสยามศิวิไลซ์ และนำมาสู่กระบวนการหาผลประโยชน์จากการเช่าที่ธรณีสงฆ์ในรูปแบบต่างๆ โดยรูปแบบที่นิยมมากที่สุดในช่วงแรก คือ การสร้างตึกแถวเพื่อให้เช่า และการปล่อยเช่าพื้นที่เพื่อสร้างเป็นโรงเรียน (แม้ว่าการสร้างตึกแถวในพื้นที่ธรณีสงฆ์จะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เช่น กรณีของวัดราชประดิษฐ์ แต่อย่างไรก็ตาม กระแสที่ชัดเจนของการหาผลประโยชน์แบบนี้จะเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา)

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้วัดปล่อยเช่าพื้นที่ให้มาก และเก็บค่าเช่าให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยได้มีการออกพระราชบัญญัติสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งระบุชัดถึงการให้อำนาจเจ้าอาวาสในการดูแลเรื่องเหล่านี้โดยตรง

 

แม้ว่าในระบบใหม่จะมีการตั้ง “มัคนายก” เพื่อเข้ามาทำหน้าที่เป็นเสมือนคนกลางคอยถ่วงดุลในการเข้ามาดูแลเรื่องเงินรายได้ต่างๆ ของเจ้าอาวาส เสมือนหนึ่งว่าจะเป็นตัวกลางที่ไม่ทำให้เจ้าอาวาสและพระสงฆ์มีภาพลักษณ์เป็นพ่อค้าหรือดูเป็นนายทุนมากจนเกินไป

แต่ในเวลาต่อมา ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงเลือกที่จะขยายอำนาจของพระสงฆ์ในการเข้ามาบริหารจัดการเงินรายได้ของวัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการผลักพระสงฆ์ให้มารับบทบาทนายทุนมากขึ้น

และในที่สุด เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ตำแหน่งมัคนายกก็ถูกลดบาทบาทและอำนาจลงจนแทบจะไร้ความหมาย เจ้าอาวาสได้ก้าวเข้ามามีอำนาจจัดการผลประโยชน์วัดอย่างเบ็ดเสร็จแทน จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มใน ดูใน วรสิทธิ์ ตันตินิพันธุ์กุล, “อำนาจรับเหนือที่วัด : สิ่งที่หายไปจากสังคมไทย,” หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 5 (กันยายน 2550) : 86-95.)

หากมองในเชิงโครงสร้าง นี่คือการผลักเจ้าอาวาสให้เข้ามารับผิดชอบการบริหารจัดการเรื่องการหารายได้แบบทางโลกซึ่งเป็นมิติสาธารณ์ด้วยตัวเอง (เป็นนายทุนโดยสมบูรณ์)

ซึ่งแน่นอน ย่อมส่งผลกระทบทำให้บทบาทของพระและวัดในแง่ที่เป็นสัญญะของความศักดิ์สิทธิ์พร่าเลือน

 

ยังไม่หมดแค่นั้น ผลจากการรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์เข้าส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทำให้ “ระบบเกียรติยศ” ขององค์กรสงฆ์ถูกรวมศูนย์เข้าส่วนกลางเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นที่ยอมรับของสังคม การขึ้นเป็นพระอุปัชฌาชย์ การเลื่อนสมณศักดิ์ ฯลฯ

จากแต่เดิมเกียรติยศเหล่านี้ชุมชนหรือท้องถิ่นเคยเป็นผู้มอบให้แก่พระ ก็ต้องมาขึ้นอยู่กับรัฐ ขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคมแทน

ประเด็นที่น่าตกใจจากการสร้างระบบเกียรติยศดังกล่าว คือ มีการกำหนดว่าการเลื่อนสมณศักดิ์จะใช้เกณฑ์การพิจารณาสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

หนึ่ง คุณสมบัติส่วนตัวของพระรูปนั้นๆ (ความอาวุโส ระยะเวลาในการเป็นเจ้าอาวาส เป็นต้น)

และสองคือ คุณสมบัติด้านสาธารณูปการ โดยพิจารณาผลงานของพระรูปนั้นๆ ในการสร้างตึก อาคาร รั้ว ป้าย ฯลฯ ตลอดจนผลงานในการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างภายในวัด โดยการพิจารณาจะคำนึงถึงยอดงบประมาณการก่อสร้างเป็นสำคัญ

หรือพูดให้ชัดก็คือ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เชื่อมโยงการเลื่อนสมณศักดิ์เข้ากับศักยภาพของพระรูปนั้นๆ ในการหารายได้เข้าวัด

ผลจากความพยายามเปลี่ยนวัดให้เป็น “คอมปะนี” และการสร้างระบบสมณศักดิ์สมัยใหม่ที่มีเงินเป็นหนึ่งในตัวกำหนด คือ จุดเริ่มต้นของการหลอมรวมเข้าหากันระหว่าง ศาสนาพุทธในไทยและระบบทุนนิยม ซึ่งจะเป็นรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์ “วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์” ในเวลาต่อมา