แนวรบชิง อบจ. เดือด! บ้านใหญ่ ‘สีแดง’ สกัด ‘ก้าวไกล’ ‘สีส้ม’ หวังยึดท้องถิ่น เพื่อชนะศึกเลือกตั้งใหญ่ ปี 2570

นับถอยหลังอีกไม่กี่เดือนนับจากนี้ ประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่น อย่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั่วประเทศ หลังชุดเดิมจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ธันวาคม 2563 กำลังจะหมดวาระในช่วงปลายปี 2567 ที่จะถึงนี้

ซึ่งตามกฎหมายจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ระหว่างนี้จึงได้เห็นการขยับของพรรคการเมือง ที่เตรียมส่งขุนพลของตนเองลงชิงเก้าอี้การเมืองท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานที่มั่นต่อยอดไปสู่การเมืองระดับประเทศ

โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ที่กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในสนามเลือกตั้ง หลังพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา

 

เริ่มจากก้าวไกล ที่ขอรุกคืบในสนามการเมืองท้องถิ่น ในนาม “ก้าวไกล” เต็มตัวมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 ประกาศชัดผ่านเพจพรรคก้าวไกล – Move Forward Party “พร้อมส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ เริ่มต้นที่นายก อบจ. ต้นปี 2567”

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยพูดไว้ในงานบรรยายหัวข้อ “ความสำคัญของท้องถิ่นในการเมืองระดับชาติ” งานสัมมนาท้องถิ่นก้าวหน้า ประจำปี 2566 โดยกล่าวว่า การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติอย่างยิ่ง การเมืองท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ปัญหาที่สุดย่อมแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่า ส.ส. ที่ทั้งไม่มีงบประมาณและอยู่ไกลจากปัญหา แต่สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้คือการที่ ส.ส.ต้องนำปัญหาในพื้นที่มาปรึกษาหารือในที่ประชุมสภาทุกครั้งเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะคนใกล้ปัญหาไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ ดังนั้น การกระจายอำนาจ คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับประชาชน เพื่อทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการแก้ปัญหาของประชาชน ส่วน ส.ส.จะได้มีเวลามากขึ้นในการทำหน้าที่จริงๆ คือ การออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

“ผมเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่า การปลดล็อกท้องถิ่น และการกระจายอำนาจเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ชัยชนะของทุกท่าน และความสำเร็จของทุกท่าน ก็คือชัยชนะของผมเช่นกัน” นายพิธากล่าว

ก่อนประเดิมเปิดตัว “นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล” เป็นว่าที่ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.ภูเก็ต ในนามพรรคก้าวไกลเป็นคนแรกและครั้งแรก

ด้าน นพ.เลอศักดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ก็มีดีกรีไม่ธรรมดา ด้วยความที่เป็นคนท้องถิ่นจริงๆ รับรู้ปัญหาและเป็นที่รู้จักของชาวภูเก็ตถ้วนหน้า จึงหวังกับชัยชนะในครั้งนี้ เพื่อจะได้เชื่อมการบริหารท้องถิ่นภูเก็ตขึ้นไปสู่นิติบัญญัติระดับประเทศ ให้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงหวนมาถึงภูเก็ต และทำให้ภูเก็ตดีขึ้นกว่าเดิม

จากภูเก็ตที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ส้มทั้งจังหวัด ขึ้นเหนือไปกับพื้นที่ที่เคยเป็นแดงทั้งจังหวัดอย่าง จ.เชียงใหม่ อดีตฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย บ้านเกิดของอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่พรรคก้าวไกลได้ฤกษ์เปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ อย่าง “นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และกรรมาธิการวิสามัญพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โดยกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้นายพันธุ์อาจผ่านการคัดเลือกเป็นผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่

ปาดหน้า “กุ้ง ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ที่เสนอตัวลงสมัครนายก อบจ.ในนามพรรคก้าวไกล หลังลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะรับไม่ได้กับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

โดยที่นายพันธุ์อาจนั้น หลังดำรงตำแหน่งสองสมัยและหมดวาระจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในปี 2566 ก็หันมาทำงานด้านการส่งเสริมสตาร์ตอัพในไทย และตัดสินใจลงสู่สนามเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ ไม่ใช่เพราะเป็นจังหวัดบ้านเกิดและเมืองที่เขากับครอบครัวใช้ชีวิตอยู่เท่านั้น แต่เพราะเล็งเห็นว่าการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาเมือง คือคำตอบของการบริหารท้องถิ่นยุคใหม่

เขามีเป้าหมายจะสร้างเชียงใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยศักยภาพด้านงานคราฟต์และไลฟ์สไตล์ที่เป็นต้นทุนดั้งเดิมของเชียงใหม่ โดยไม่ได้ทำเพียงเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเชียงใหม่ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ก้าวไกลยังได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี อย่าง “นายคณิศร ขุริรัง” ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี 2 สมัย

และที่ จ.ตราด ได้ “นายชลธี นุ่มหนู” นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี น้องชาย “นายศักดินัย นุ่มหนู” ส.ส.ตราด พรรคก้าวไกล ลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.ตราด

 

ด้านพรรคเพื่อไทยเองก็เริ่มเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครแล้วเช่นกัน แม้จะออกตัวช้ากว่าก้าวไกล แต่ใช้เกม “บ้านใหญ่” ลุยศึกนายก อบจ. สู้กับพรรคก้าวไกลที่มาแรงด้านกระแสความนิยม โดยใช้กลยุทธ์เป็นคนจากบ้านใหญ่ในพื้นที่ เพื่อให้ง่ายต่อการคว้าชัยชนะมาจากก้าวไกล

โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีการจัดงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” แสดงวิสัยทัศน์และความคืบหน้านโยบายต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเข้าสู่เดือนที่ 9 พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต ขณะเดียวกันก็ประกาศเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. และเปิดนโยบายที่ดีให้กับประชาชนได้เลือกตั้งนายก อบจ.ในต้นปี พ.ศ.2568 ไปพร้อมๆ กัน

ประกอบด้วย “นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ทายาท “พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ” บ้านใหญ่แห่งเมืองแพร่ ที่ปัจจุบันเป็นนายก อบจ.ลำพูน พร้อมลงสนามป้องกันแชมป์ในนามเพื่อไทย

พร้อมกับน้องชาย “นายอนุวัธ วงศ์วรรณ” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นนายก อบจ.แพร่ มา 3 สมัย และคราวนี้ขอสวมเสื้อเพื่อไทยลงสนาม

“น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ลูกสาว “ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร” อดีต ส.ส.ลำปาง เตรียมหนุนลูกสาวคว้าแชมป์ อบจ.อีกสมัย

“นายอนุชิต หงษาดี” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม มือขวาของ “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม ก็ขอลงชิงนายก อบจ.นครพนม ด้วยตัวเอง

“นายพลพัฒน์ จรัสเสถียร” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม น้องชาย “โจ้ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” อดีต ส.ส.มหาสารคาม ที่ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” ถึงกับเดินทางไปเปิดตัวด้วยตนเอง

“นายวิเชียร สมวงศ์” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร น้องชาย “บุญแก้ว สมวงศ์” ส.ส.ยโสธร เขต 2 พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเครือข่าย 3 พรรคร่วมอย่าง ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และไทยสร้างไทย ในพื้นที่สนับสนุนสุดตัว

“นายสราวุธ เพชรพนมพร” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ลูกเขย “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” ก็เตรียมลงชิงชัยด้วยตัวเองอีกคน

“นายมนู พุกประเสริฐ” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย พี่ชายภรรยาของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข ที่ว่ากันว่าคงไม่พลาดเก้าอี้นายก อบจ.สุโขทัย เป็นแน่

และที่น่าจับตาก็คือ “นายอัครา พรหมเผ่า” ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา น้องชาย “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่ครั้งนี้ลงในนามพรรคเพื่อไทย แม้พี่ชายจะอยู่พลังประชารัฐ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า ร.อ.ธรรมนัสมีสายสัมพันธ์อันดีกับเพื่อไทย คราวนี้จึงหวังปั้นน้องชายมาคุมนายก อบจ.พะเยา เป็นสมัยที่ 2

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อไทยกล่าวว่าได้มีการกลั่นกรองและพิจารณาโดยทีมงานของพรรคอย่างเข้มข้น เพราะการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดครั้งนี้สำคัญมากกับพรรค การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องทำงานควบคู่กับนโยบายหลักของส่วนกลาง มั่นใจอย่างยิ่งว่าการพัฒนาในจังหวัดนั้นๆ จะราบรื่น ทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ศึกการเมืองท้องถิ่นในครั้งนี้ จึงกลายเป็นศึกเดือดระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย ที่สูสีและชวนติดตามไม่ใช่น้อย

เนื่องจากพรรคหนึ่งมีบ้านใหญ่ในพื้นที่เป็นอาวุธสำคัญ

ส่วนอีกพรรคมีกระแสและความนิยม ผลพวงจากเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 เป็นตัววัดทั้งชัยชนะและเรตติ้ง

ซึ่งต่างฝ่ายต่างหวังได้เก้าอี้สำคัญในท้องถิ่นมาเป็นของตน

เพื่อเอาไว้เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในศึกใหญ่เลือกตั้งทั่วไป ปี 2570 ที่จะกลับมาในอีก 3 ปีข้างหน้านั่นเอง!