คุยกับทูต เปียร์ก้า ตาปีโอลา อียูพร้อมช่วยไทยกลับคืนสู่’ประชาธิปไตย’

คุยกับทูต เปียร์ก้า ตาปีโอลา อียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย (2)

ย้อนอ่าน ตอน 1

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ของเรามีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าต่อไป อย่างที่คุณทราบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 เป็นต้นมาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากเกิดรัฐประหารในประเทศไทย เราชาวยุโรปมีความสอดคล้องกันในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยอย่างมากและรู้สึกไม่สบายใจในกรณีที่คณะทหารไทยเข้ายึดอำนาจ สหภาพยุโรป (อียู) จึงตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย”

เป็นคำกล่าวของนายเปียร์ก้า ตาปีโอลา (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

สืบเนื่องจากสหภาพยุโรป มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.2014 จากการประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ ณ ประเทศลักเซมเบิร์ก โดยออกแถลงการณ์ประณามการก่อรัฐประหารในไทย และออกมาตรการลงโทษเพื่อกดดันให้ไทยเร่งฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

รวมทั้งระงับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีจากประเทศในสหภาพยุโรป และระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือและหุ้นส่วน (PCA) ระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยด้วย

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ได้แสดงความวิตกอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความเป็นไปในไทย และเห็นว่า กองทัพควรรื้อฟื้นกระบวนการประชาธิปไตยอันชอบธรรมและรัฐธรรมนูญ ผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ รวมถึงทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ ควรปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังทางการเมือง รวมทั้งการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จะทบทวนความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย โดยระบุว่า มีเพียงโรดแม็ปที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ที่จะเปิดทางสู่การปรับความสัมพันธ์ในระดับปกติได้

“มาถึงวันนี้ ผมขอย้ำว่า ข้อกังวลของอียูที่ได้แสดงในขณะนั้นไม่ได้ลบเลือนหายไป แต่ตอนนี้ เวลาแห่งการรัฐประหารได้ผ่านพ้นไปแล้ว อียูตระหนักดีว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราน่าจะพูดคุยกันได้ในเรื่องของความสัมพันธ์ทุกระดับอย่างแข็งขัน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน และยังคงเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตย”

“การเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในนโยบายทั้งหมด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านยุทธวิธี โดยดูจากพัฒนาการในเชิงบวกบางอย่าง นั่นคือ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยทั่วไป อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ยืนยันหลายครั้งว่า จะมีการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ ซึ่งเราก็รอคอยอยู่” ท่านทูตอียูแสดงความคิดเห็น

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า หากมีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป ก็จะมีผลให้โรดแม็ปเลือกตั้งถูกเลื่อนตามไปด้วย

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา กล่าวว่า

“อียูเข้าใจดีถึงความแตกต่างระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเป็นฝ่ายอำนาจที่จำเป็นและเป็นอิสระในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่อียูสนับสนุนการกลับคืนสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“ท่ามกลางความท้าทายที่ยังคงเหลืออยู่สำหรับการจัดเตรียมการเลือกตั้งอย่างทันท่วงที แต่ยังคงมีข้อจำกัดมากมายต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสงบ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม ดังที่กล่าวไว้ในผลสรุปการประชุมของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2017 ซึ่งเราขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้โดยเร็วที่สุด”

“เราเข้าใจว่ายังคงเป็นไปได้ที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้ความเคารพต่อโรดแม็ปเพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยตามที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน อียูพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในความพยายามนี้”

“นอกจากนี้ ยังต้องมีความชัดเจนในกระบวนการยุติธรรม กรณีที่ควรอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือต้องมาขึ้นศาลพลเรือนซึ่งก็คือศาลยุติธรรม หากไม่เกี่ยวกับวินัยทหารหรือภาวะสงคราม ตลอดจนกฎหมายพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง”

เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้มีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยประธาน กมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงความจำเป็นการเลื่อนเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ 90 วันว่า เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมือง ศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้าจะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคน ปฏิบัติหน้าที่ไม่ผิดพลาด จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลา 90 วัน

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า

“ผมไม่อาจจะพิจารณาสถานการณ์ที่เป็นสมมติฐาน จุดยืนของเราเกี่ยวกับการเลือกตั้งและระยะเวลาของการเลือกตั้งในประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นที่ชัดเจนแล้วในการประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2017 ซึ่งได้ยืนยันถึงความสำคัญในความสัมพันธ์กับประเทศไทยและ EU พร้อมช่วยไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย”

“ในเวลาเดียวกัน สหภาพยุโรปขอยืนยันว่า จะพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพด้านต่างๆ เช่น เสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม การยกเลิกข้อจำกัดในกิจกรรมของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม การจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

“ดังนั้น เราจึงคิดว่าในขณะนี้ อียูสามารถส่งข้อความที่ชัดเจนมายังประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับความสำคัญของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในส่วนนี้ของโลก และแม้แต่ในระดับโลกอย่างเช่นอียู ซึ่งในความเป็นจริง อียูให้ความสำคัญในความสัมพันธ์กับประเทศไทย และซาบซึ้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอียู โดยเห็นถึงคุณค่าของบทบาทที่ประเทศไทยมีในฐานะประเทศผู้ประสานการเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอียู-อาเซียน ถึงแม้จะมีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างเรา แต่การประสานงานและการพัฒนาที่ว่านี้ มีความก้าวหน้าและมีพัฒนาการที่เป็นบวก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก”

“ผมจึงอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ รวมถึงการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด อันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องการให้ความสนับสนุนประเทศไทย อียูได้เริ่มต้นการเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีกับประเทศไทยแล้วเมื่อปี ค.ศ.2013 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยปี ค.ศ.2014 ทำให้การเจรจาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงทันที อียูจึงต้องการส่งข้อความที่ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนี้มีความสำคัญมากสำหรับเราทั้งสองฝ่าย”

“แต่อียูจะไม่สามารถเจรจาต่อรองได้อย่างเป็นทางการก่อนจะมีรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งในราชอาณาจักรไทย”

“พูดถึงความสัมพันธ์ไทยกับสหภาพยุโรปหรืออียูในรูปแบบทางการเมือง เป็นความสัมพันธ์ที่นานมากกว่า 30 ปี แต่หากเป็นความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศในยุโรป คุณรู้หรือไม่ว่า ในปีนี้จะมีการเฉลิมฉลอง 500 ปีนับจากข้อตกลงแรกระหว่างประเทศในยุโรปในด้านความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีกับราชอาณาจักรสยาม ประเทศในยุโรปที่ว่านี้ คือ โปรตุเกส”

“ผมคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียู เป็นความสัมพันธ์ที่เก่าแก่มาก เพราะโปรตุเกสเป็นหนึ่งในสมาชิกอียู ถ้ามองไปที่ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ เรามีความใกล้ชิดกันมากทางการเมืองและเศรษฐกิจ”

“ต่อไป ผมกำลังจะพูดถึงตัวเลขในอันดับที่ 3 สำหรับไทย เพราะอียูเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย อียูเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของไทย อียูเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย อียูเป็นแหล่งการลงทุนอันดับที่ 3 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของอียูในอาเซียน ซึ่งไม่น่าเชื่อสำหรับตัวเลขที่ 3 ผมคิดว่าจีนและญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่นและจีน มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทยเหนืออียู”

“ดังนั้น ถ้าคุณมองไปที่ความสัมพันธ์ของเราระหว่างไทยกับอียู จะเห็นได้ว่ามีศักยภาพที่ใหญ่โตมโหฬารมาก”

“ผมมาประเทศไทยด้วยความหวังว่า ในช่วงระยะเวลาสี่ปีแห่งการทำงานของผมที่นี่นับจากวันนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะซับซ้อน แต่ก็จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจะทำให้ความเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อจะได้มีการลงนามในความเป็นหุ้นส่วนและข้อตกลงความร่วมมือ อันจะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีระหว่างกัน มีความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ในสายเลือดของคนไทยจากศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งในอาเซียนและในนโยบายต่างประเทศ”

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา ย้ำว่า

“ดังนั้น เมื่อประเทศไทยมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ผมจึงหวังว่า ไม่เพียงแต่จะทำให้ความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปกับประเทศไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติเท่านั้น หากแต่จะเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วและโดดเด่นในปีต่อๆ ไปด้วย”