คุยกับทูต ‘เปียร์ก้า ตาปีโอลา’ เมื่ออียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย

คุยกับทูต เปียร์ก้า ตาปีโอลา อียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย (1)

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามมาก ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมาที่นี่อีก ด้วยความที่คุ้นเคยกับประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะเคยมาประจำการที่นี่ถึงสามปี”

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา (H.E. Mr Pirkka Tapiola) เคยดำรงตำแหน่ง “อัครราชทูตของสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย” ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมประเทศพม่า กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998-2001

หลังจากนั้น ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเดียวกันที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

ท่านทูตเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2017 และวันที่ 10 ธันวาคมปีเดียวกัน จึงเข้ารับตำแหน่งเป็น “เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ

ส่วนตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะย้ายมาทำงานในปัจจุบัน คือ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำสาธารณรัฐมอลโดวา ระหว่างปี ค.ศ.2013-2017

ด้านการศึกษา ท่านทูตจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

ทั้งยังมีทักษะในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารถึง 8 ภาษา คือ ภาษาฟินแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ยูเครน สวีเดน และโรมาเนีย

ปัจจุบันกำลังเรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่ 9 กับครูภาษาไทยอย่างขะมักเขม้นเมื่อโอกาสอำนวย

เริ่มต้นทำงานด้านการทูตที่องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ในรัฐบอลติก

หลังจากนั้น จึงได้เข้าทำงานกับกระทรวงต่างประเทศของประเทศฟินแลนด์

ส่วนงานด้านการทูตในอียู ท่านทูตเปียร์ก้า เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องยุโรปตะวันออกในแผนกการวางแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EEAS)

และที่ปรึกษาอาวุโสให้กับ ดร.ฮาเวียร์ โซลานา (Dr. Javier Solana) ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของอียูในขณะนั้น

“อียูและไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกันมากกว่าสามสิบปีแล้ว ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ของเราสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปได้อีก โดยไทยมีบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอาเซียน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทวีปเอเชียโดยรวม ผมจึงมุ่งหวังจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอียูและประเทศไทยให้เข้มแข็งมากขึ้นอีกในทุกๆ ด้าน โดยให้มีความร่วมมือกันทั้งด้านการเมือง การค้า ด้านสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และวัฒนธรรม ตลอดจนการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในระดับโลก” ท่านทูตกล่าว

คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป (Delegation of the European Commission) ประจำประเทศไทย เปิดตัวในปี ค.ศ.1979 และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.2009 เมื่อสนธิสัญญาลิสบอนมีผลบังคับใช้ “คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย” ดำเนินงานครอบคลุมประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า

คณะผู้แทนสหภาพยุโรปในกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสหภาพยุโรปกว่า 130 แห่งทั่วโลก มีภารกิจในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างไทยและอียู การรักษาสัมพันธภาพที่ครอบคลุมกว้างขวางกับหน่วยงานของรัฐและการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอียู รวมทั้งการรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับพัฒนาการของอียู

ตลอดจนอธิบายและตอบข้อโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของอียู

“ผมเติบโตจากครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศ คุณพ่อของผมเคยเป็นนักข่าวอยู่ช่วงหนึ่งและในที่สุดก็กลับไปอยู่ในสายงานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนคุณปู่เป็นนักการทูต แม้ครอบครัวจะไม่กดดันผมโดยบอกให้ผมลองไปทำอาชีพอื่นดูบ้าง ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเดียวกัน แต่ในที่สุดเรื่องก็จบลงด้วยการทำในสิ่งที่เขาทำกัน เพราะผมรักงานทางการทูต และคิดว่าเป็นงานหนึ่งที่ดีที่สุดที่คนคนหนึ่งสามารถทำได้ในโลกใบนี้ เพราะคุณจะได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่น่าสนใจมาก หากมองย้อนกลับไปเมื่อผมได้รับแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเสมอไป บางแห่งมีประเด็นของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ หรือประเด็นเกี่ยวกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย”

“ครอบครัวเราไม่เคยโต้แย้งกันในเรื่องธรรมดาสามัญ แต่เราโต้แย้งถกเถียงกันอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า การเมืองระหว่างประเทศ เป็นประเด็นสำคัญที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ เมื่อผมจบการศึกษาจากโรงเรียนแล้วย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย อันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นในประวัติศาสตร์โลกซึ่งสงครามเย็นกำลังจะจบลง เราคาดว่าจะมีโลกใหม่ ตอนนั้นผมทำงานแล้วและก็เรียนไปด้วย”

“ครั้งแรกทำงานให้รัฐบาลแห่งประเทศฟินแลนด์ จากนั้น ผมเริ่มเป็นนักการทูตในระดับยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 จึงสามารถพูดได้ว่า ผมมีความรู้เกี่ยวกับการทูตมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กชาย จนเติบโตเป็นหนุ่ม ทุกอย่างจึงเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อได้มาทำงานด้านนี้และด้วยความรู้ความสามารถของผมเอง”

ความสามารถในการสื่อสารได้หลายภาษา

“น่าจะเริ่มจากครอบครัว ผมไปเรียนที่นิวยอร์กเมื่ออายุเพียง 5 ขวบ เพราะคุณพ่อทำงานที่องค์การสหประชาชาติในสมัยนั้น และถ้าคุณมาจากส่วนหนึ่งของยุโรปที่ภาษาพูดเป็นภาษาที่ใช้น้อยมากในถิ่นใหม่ที่คุณมาอยู่ สิ่งหนึ่งที่คุณควรเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ ไม่ต้องคาดหวังให้ใครมาพูดภาษาแม่ของคุณ แต่เป็นคุณที่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอื่นๆ จึงเป็นจุดที่ผมเริ่มต้นเก็บเกี่ยวความรู้ทางด้านภาษา ทำให้ผมพูดได้หลายภาษาต่อมา”

แม้กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จะเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านทูตก็ตาม แต่ด้วยตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันคือ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย

ท่านทูตจึงถือว่า กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของประเทศเบลเยียมและเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงอย่างไม่เป็นทางการของสหภาพยุโรป คือบ้านของท่านทูตเช่นกัน

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา สมรสกับนางโอลก้า ตาปิโอลา และเป็นคุณพ่อของลูกๆ ที่น่ารักสามคน

“เรารู้สึกยินดีและตื่นเต้นมากที่จะได้ค้นพบและสัมผัสกับความงดงามของประเทศไทย บ้านใหม่ของเรา อีกวาระหนึ่ง”

Stitched Panorama