ความสามารถแข่งขันกับชาติอื่น แค่ ‘ข้าว’ ก็ชวนสยอง! | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

กิจวัตรประจำวันของผมที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ เช้าวันจันทร์ถึงเช้าวันศุกร์ คือการตื่นนอนในราว 7 โมง

ระหว่างปรนนิบัติตัวเองก่อนที่จะลงไปกินข้าวเช้า ผมจะเปิดทีวีเพื่อดูข่าวและฟังเสียงคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา และผู้ร่วมจัดรายการ เล่าข่าวเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง

พอได้เวลา 08:00 น. เคารพธงชาติในโทรทัศน์แล้ว ผมก็ย้ายตัวเองลงไปนั่งกินข้าวเช้าพร้อมกับอ่านหนังสือพิมพ์สองฉบับ

บางวันถ้ามีการประชุมออนไลน์ตอนเช้า 8 โมงตรง ผมก็ต้องเร่งนาฬิกาตัวเองให้เร็วขึ้นอีกครึ่งชั่วโมง

ถ้ามีการประชุมนอกบ้าน ผมมักจะออกจากบ้านเวลา 8 โมงครึ่งนี่แหละครับ

 

ในวันที่ผมนั่งเขียนเรื่องนี้ ข่าวที่ผมฟังจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ คือ ข่าวเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ดูจะตกต่ำถดถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ฟังข่าวที่ว่านี้จบ ลงมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ก็พบข่าวเดียวกัน มีสาระอย่างเดียวกัน

เนื้อข่าวเป็นการแถลงข้อมูลจากผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านบอกว่าประเทศไทยของเรากำลังมีปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่อถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งการตลาดโลกในเรื่องกุ้ง จากเดิมที่เรามีพื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ร้อยละ 15 ในปี 2555 ถัดมาอีกสิบปีคือในปี 2565 ส่วนแบ่งการตลาดของเราเรื่องเดียวกันลดลงมาเหลือเพียงแค่ 4%

นั่นแปลว่าชาวโลกทุกวันนี้กินกุ้งจากประเทศอื่นมากกว่ากินกุ้งจากประเทศไทย

เหลียวมาดูตลาดการค้าเรื่องสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มบ้าง แต่เดิมมาสัดส่วนของเราในตลาดโลกก็น้อยมากอยู่แล้ว แต่นานวันผ่านไป สัดส่วนของเราก็ถอยลงไปอีกโดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือจีนและเวียดนาม ปัจจุบันเราเหลือส่วนแบ่งในตลาดโลกด้านนี้อยู่เพียงแค่ร้อยละ 0.8

นอกจากส่งออกได้น้อยแล้วมูลค่าการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าจากจีนเฉพาะปี 2566 นี้ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงเกือบหนึ่งในสาม

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ดูเรื่องกางเกงช้างที่เป็นความภาคภูมิใจของเรา เวลานี้จีนก็ทำกางเกงช้างเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเสียแล้ว

 

ฟังข้อมูลมาแค่สองเรื่องแล้ว รู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ

ผมเป็นคนไทยกินข้าวมาแต่อ้อนแต่ออก และตั้งใจว่าจะกินข้าวไปจนกว่าจะตาย เพราะฉะนั้น เรามาดูเรื่องข้าวกันดีไหมครับ

ในปี 2546 คือเมื่อ 20 ปีก่อน เรามีส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวไทยในเวทีโลกอยู่ที่ร้อยละ 25 หมายความว่าชาวโลกที่ต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศกิน กินข้าวเมืองไทยอยู่หนึ่งในสี่ของจำนวนทั้งหมด แต่ล่าสุดคือเมื่อปี 2565 นี้ ส่วนแบ่งการตลาดข้าวไทยในเวทีโลกลดลงเหลือเพียงแค่ร้อยละ 13

ลดลงไปในราวครึ่งครับ

พูดถึงอันดับในการส่งออกข้าว ประเทศไทยของเราที่เคยยืนอันดับหนึ่งได้เหรียญทองมาตลอด ล่าสุดเราเสียแชมป์ไปแล้วครับ ตอนนี้เราได้ที่สอง ต้องคล้องเหรียญเงินด้วยความชอกช้ำเอาการ

ยังไม่จบครับ ขอว่าเรื่องข้าวต่ออีกสักนิด ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกให้เรารู้ว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยทรงตัวมานานกว่า 20 ปีแล้ว เคยผลิตได้เท่าใดก็ผลิตได้เท่านั้น ในขณะที่อีกหลายประเทศ พื้นที่เพาะปลูกเดิมเคยผลิตเท่าไหร่ ด้วยขนาดพื้นที่เท่าเดิม เขากลับผลิตข้าวได้เพิ่มมากขึ้น

ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เรามุ่งหวังจะครองเหรียญทองแดงได้เลยครับ

 

ข่าวแบบนี้ถ้าฟังแล้วปล่อยให้ผ่านเลยไปก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่มันไม่สบายใจครับ

เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก เรียนหนังสือชั้นประถม สินค้าขาออกสำคัญของเมืองไทยวันนั้นที่ต้องท่องเอาไว้ตอบข้อสอบของคุณครูตอนปลายภาค มีข้าว ไม้สักและดีบุก ผ่านมาถึงทุกวันนี้ที่ไม่ต้องสอบอะไรแล้ว ไม้สักก็หมดป่า ดีบุกก็ขุดมาขายจนเหี้ยนเต้ไปแล้ว เหลือก็แต่ข้าวนี่แหละที่ยังพอเชิดหน้าชูตาอยู่ได้ แต่ฟังข่าววันนี้ อ่านข่าวนี้แล้ว ผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเราจะภูมิใจไปได้อีกสักกี่น้ำ

เฉพาะประเด็นแต่เพียงเรื่องผลผลิตข้าวต่อไร่ของเราไม่ขยับเพิ่มขึ้นเลยตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ย่อมชวนให้ตั้งคำถามแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น

ในขณะที่เทคโนโลยีด้านการเกษตรของเราไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ บ่อยครั้งที่เราพูดคุยด้วยความภาคภูมิใจว่าเรามีความก้าวหน้า เรามีนวัตกรรม เรามีพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ และเรามีอีกสารพัดอย่างที่เกื้อกูลสนับสนุนการปลูกข้าว แต่สิ่งที่เรามีทั้งหลายเหล่านั้นเดินทางจากห้องประชุมของกระทรวงทบวงกรมที่เป็นส่วนราชการไปไม่ถึงท้องนาท้องไร่หรืออย่างไร

ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกรที่เป็นเหมือนดินพอกหางหมูเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ เรื่องหนี้นอกระบบที่ว่าทารุณโหดร้ายและกำลังแก้ไขกันอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง ชาวนาจะได้อานิสงส์จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวบ้างหรือไม่

ลูกหลานชาวนามีกี่คนที่อยากมีอาชีพทำไร่ไถนาอย่างพ่อแม่ หรือเห็นแล้วว่าพ่อแม่ลำบากเลือดตาแทบกระเด็นเพราะเป็นชาวนา ลูกหลานจึงไม่อยากอยู่ในฐานะเช่นว่านั้นอีกต่อไป

รายได้จากการทำงานหลังขดหลังแข็ง หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ชาวนาสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควรได้จริงหรือไม่ หรือว่าระบบการตลาดที่มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทุกคนรวยหมดยกเว้นชาวนา

 

ดูภาพรวมแล้วคล้ายกับว่าทุกประเด็นที่ผมว่ามาข้างต้นเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง เนื่องถึงกันไปหมด ผมเป็นคนที่คุ้นเคยอยู่กับระบบราชการ อดไม่ได้เลยที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้กับชาวนาชาวไร่หรือพูดให้ใหญ่โตกว้างขวางกว่านั้นก็คือปัญหาเรื่องการผลิตข้าว การขายข้าวของประเทศไทย มีใครเป็นธุระรับผิดชอบโดยตรงแบบเป็นเจ้าของเรื่องไหมครับ

บ่อยครั้งที่ผมเคยได้ยินคนบอกว่ากระทรวงเกษตรก็ใส่ใจกับการผลิต กระทรวงพาณิชย์ก็อุตลุดกับการขาย แต่สองกระทรวงไม่ค่อยได้คุยกัน

ได้ยินอย่างนี้แล้วผมก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้เป็นข่าวโคมลอย เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงแต่ประการใดเถิด

มหาวิทยาลัยที่มีอยู่ร่วมร้อยมหาวิทยาลัย มีสติปัญญากองเป็นภูเขาเลากาอยู่ที่นั่น มีการเรียนการสอนการวิจัยและการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวนาชาวไร่บ้างหรือไม่

ย่อหน้าข้างบนนี้ไม่ได้บอกใครเลยนอกจากบอกตัวผมเองซึ่งยังทำงานอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย ว่าถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ได้แล้ว

 

เรื่องข้าวนี้มีเรื่องให้คิดให้ทำไม่รู้จบ ตั้งแต่การแสวงหาพันธุ์ข้าวที่ดีเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ทนทานต่อโรคพืช เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศ น้ำท่วมก็อยู่รอด น้ำแล้งก็พออยู่ได้

เราควรปลูกข้าวอะไรบ้างถึงจะเหมาะสำหรับผู้บริโภคและตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในประเทศหรือต่างประเทศ

ต้นทุนในการผลิตของชาวนามีความคุ้มทุนและมีกำไรแค่ไหน

เทคโนโลยีการผลิตทำอย่างไรจึงจะก้าวหน้าและเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ระบบสหกรณ์ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นสหโกง

ทำนาต้องใส่ปุ๋ย (จริงหรือไม่) ถ้าต้องใช้ปุ๋ย ปุ๋ยนั้นต้องมีราคาคุณภาพที่เหมาะสม

แรงงานที่ทำงานในท้องไร่ท้องนามาจะเป็นใครมาจากที่ไหน สัดส่วนแรงงานกับเครื่องจักรควรจะเป็นเช่นไร

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทำอย่างไรจึงจะเป็นการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ได้ครึ่งเสียครึ่ง

ระบบโลจิสติกส์ตั้งแต่ท้องนาไปจนถึงปลายทางคือผู้บริโภคต้องผ่านอะไรบ้าง

ผู้เกี่ยวข้องแต่ละขั้นตอนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร

โรงสีข้าวเป็นของใครอย่างไร สิ่งที่ได้จากโรงสีมีอะไรบ้าง และเป็นกระบวนการผลิตที่คุ้มค่าที่สุดแล้วใช่ไหม

มาตรการทางภาษีที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองอาชีพนี้มีอะไรบ้างไหม

บทบาทของบริษัทขนาดยักษ์กับสินค้าข้าวควรเป็นเช่นไร

การเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว กล่าวคือ แทนที่จะขายข้าวเป็นกระสอบเป็นถุง เรานำข้าวไปแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง

สินค้าแปรรูปจากข้าวมีอะไรเป็นของใหม่ที่นำเสนอแล้วถูกใจตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

นอกจากข้าวตังไว้กินกับหน้าตั้งอย่างที่บรรพบุรุษของผมกินมา 200 ปีเศษแล้ว

และปัญหาหรือคำถามอื่นอีกร้อยแปด

 

ที่พึมพำมายืดยาวตั้งแต่ต้นนี้ ไม่ได้แปลหรือตั้งใจจะบอกว่าผมเก่งในเรื่องข้าวเลยแม้สักนิดเดียว

และไม่ได้บอกด้วยว่าที่พึมพำมานี้ครบถ้วนแล้วทุกข้อทุกประการ

ผมเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ตกสำรวจดูอีกหลายประเด็น ซึ่งรัฐบาลรวมถึงส่วนราชการควรเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ในฐานะคนเดินดินกินข้าวแกง ผมมีหน้าที่เพียงแต่ตั้งโจทย์เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยกันตอบคำถาม แต่รับสารภาพหน้าชื่นเลยครับว่าตัวเองไม่มีปัญญาตอบคำถามเหล่านี้แน่

ความรู้ผมมีอยู่แค่กินข้าวแล้วอร่อยหรือไม่อร่อยเท่านั้น

ข้าววันนี้หุงขึ้นหม้อดีหรือหุงแฉะ

ข้าวต้มถ้าจะให้อร่อยควรใช้ข้าวเก่าหรือข้าวใหม่

ถามเรื่องแบบนี้ตอบกันสุดใจขาดดิ้นเลยครับ

ขออ้างความอ้วนของตัวเองเป็นวัตถุพยาน อิอิ

ช่วยกันคิดหาคำตอบในเรื่องข้าวนี้ให้ครบมุมเถิดครับ ก่อนที่เราจะไม่มีข้าวกิน

แค่คิดก็สยองแล้ว!