มาร์กซิสต์ เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดหรือไม่ (1)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

แนวคิดสังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เป็นการมองสังคมภายใต้กรอบของการต่อสู้ทางชนชั้น (Class Struggle)

โดยอาศัยฐานคิดว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในสังคม (Economic Determinism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ และสภาพทางเศรษฐกิจอันเป็นพื้นฐานของสังคมนี้

คือโครงสร้างพื้นฐาน (Economic Base) ที่ไปกำหนดโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) อันได้แก่เรื่องที่เป็นสถาบันทางสังคมต่างๆ อย่างเช่น การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา สื่อ หรือแม้กระทั่งศาสนา เป็นต้น

โครงสร้างส่วนบนมีบทบาทอย่างยิ่งในสังคมเพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชนชั้นนายทุนใช้ในการควบคุมความคิดความเชื่อของชนชั้นกรรมาชีพไม่ให้เกิดการสำนึกทางชนชั้น (Class Consciousness) แต่กลายเป็นจิตสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness) ขึ้นมาแทน

เมื่อบรรดาแรงงานทั้งหลายไม่เกิดการตระหนักว่าตนเองถูกกดขี่ข่มเหงจึงทำให้พวกเขายอมรับความอยุติธรรมหรือการกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นนายทุนได้โดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข และทำให้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่ยุติธรรมดำเนินต่อไปได้

แนวคิดแบบมาร์กซิสต์ (Marxist View) เป็นการมองสังคมผ่านการวิเคราะห์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มาร์กซ์ทำร่วมกับฟรีดิช เองเกลส์ (Friedrich Engels) สหายร่วมอุดมการณ์คนสำคัญของมาร์กซ์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

และด้วยโลกทัศน์เช่นนี้ทำให้มาร์กซ์มองปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมว่าเป็นผลพวงจากการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมทุนนิยม (Capitalism) ที่มีนายทุน (Capitalist) หรือพวกกระฎุมพี (Bourgeoisie) อันเป็นคนกลุ่มน้อยซึ่งได้เปรียบกดขี่ผู้ใช้แรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) อันเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เสียเปรียบ

กลุ่มคนที่กดขี่สามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจากเป็นผู้ยึดกุมปัจจัยการผลิต (Means of Production) และควบคุมวิถีการผลิต (Mode of Production) เอาไว้ ทำให้ท้ายที่สุดผู้ถูกกดขี่หมดอำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิงและเกิดสภาวะแปลกแยก (Alienation) ซึ่งลดทอนความเป็นมนุษย์ลงเรื่อยๆ (Dehumanization)

(ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความของผมเรื่อง “ทัศนะของคาร์ล มาร์กซ์ เรื่องความแปลกแยก ในสังคมทุนนิยม” ทางลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_741229)

และเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม ดังนั้น ทางแก้จึงต้องทำลายระบบทุนนิยมทิ้งจึงจะสามารถสลายชนชั้นลงได้ ผ่านการผนึกกำลังกันของแรงงานทั้งปวงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solidarity) แล้วปฏิวัติ (Revolution) ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมาจากชนชั้นนายทุนให้ได้ เพื่อจัดสรรทรัพยากรใหม่ให้เกิดความเสมอภาค ขจัดการกดขี่ขูดรีด (Exploitation) และทำให้สังคมเกิดความยุติธรรม

(ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความของผมอีกชิ้นหนึ่งเรื่อง “มุมมองของมาร์กซ์และเองเกลส์ เรื่องการปฏิวัติ เพื่อสลายความขัดแย้งทางชนชั้น” ตามลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_743096)

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมจากพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเวียต (รัสเซีย) จีน คิวบา เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฯลฯ และผ่านเวลาในการได้มีโอกาสลองถูกลองผิดตามแนวคิดนี้อยู่ร้อยกว่าปี ก็มีทั้งเหตุผลในเชิงทฤษฎีและพยานหลักฐานมากมายในภาคปฏิบัติที่ยืนยันว่าแนวคิดแบบมาร์กซ์ไม่สามารถอธิบายสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นแบบในยุคปัจจุบันได้

ทำให้แนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยนจากนักคิดมาร์กซิสต์ในยุคหลัง เกิดเป็นแนวทางแบบมาร์กซิสต์ในเวอร์ชั่นใหม่ขึ้นมากมาย

เช่น นีโอมาร์กซิสต์ (Neo-Marxism) ไปจนถึงพวกซ้ายใหม่ (New Left)

ขณะเดียวกันก็มีนักเคลื่อนไหวต่อสู้ตามแนวทางแบบมาร์กซ์บางส่วนที่หมดความเลื่อมใสศรัทธาในแนวทางของมาร์กซ์แล้วหันไปหาทางปรับปรุงระบบทุนนิยมให้มีจุดบกพร่องน้อยลง

และพัฒนาจุดเสริมด้านต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนในสังคมทุนนิยมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บทความนี้จะหยิบยกมุมมองของคาร์ล ทอมป์สัน (Karl Thompson) ที่รวบรวมข้อโจมตีที่มีต่อทฤษฎีทางการเมืองและสังคมของมาร์กซ์ว่ามีความผิดพลาดอย่างไรบ้าง ผ่านบทความชื่อ “Eight Criticisms of the Traditional Marxist View of Society” หรือ “ข้อวิจารณ์แปดประการต่อทัศนะทางสังคมของแนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม” ทางเว็บไซต์ “ReviseSociology” ตามลิงก์ revisesociology.com

ซึ่งเป็นการประมวลคำอธิบายว่าเหตุใดแนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมที่ครั้งหนึ่งทรงอิทธิพลต่อโลกอย่างมากถึงได้พ่ายแพ้แก่โลกทุนนิยมในปัจจุบัน โดยแยกออกมาเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

 

1.โครงสร้างทางชนชั้นในวันนี้มีความสลับซับซ้อนกว่าในอดีตมาก จึงไม่สามารถวิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมว่าเป็นแค่ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับแรงงานหรือกระฎุมพีกับชนชั้นกรรมาชีพได้

เพราะในสังคมสมัยใหม่ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน

เห็นได้จากชาติตะวันตกส่วนใหญ่ที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของทุนบางส่วน ในขณะเดียวกันก็ทำงานรับจ้างไปด้วย

คนเหล่านี้คือชนชั้นกลาง (middle class) ในปัจจุบัน ซึ่งตามการนิยามแบบมาร์กซ์พวกเขานับเป็นชนชั้นนายทุนหรือนายทุนน้อย (petit-capitalist) ไม่ใช่ชนชั้นกรรมาชีพ

ประชากรกลุ่มนี้มีมากถึง 70% ในอังกฤษ ดังนั้น จึงเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม พวกเขาถือครองกรรมสิทธิ์ต่างๆ มีสินทรัพย์ มีทรัพย์สินส่วนบุคคล มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีชนชั้นทางสังคมอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ได้มีเพียงแค่สองชนชั้นแบบมุมมองของมาร์กซ์เท่านั้น โดยมีตัวอย่างอ้างอิงจากข้อมูลของ The Great British Class Survey (GBCS) ที่เก็บรวบรวมมาในปี ค.ศ.2011 ซึ่งระบุว่ามีชนชั้นจำนวนมากภายในสังคมอังกฤษอย่างน้อยเจ็ดชนชั้นที่มีความแตกต่างหลากหลาย และแยกผู้คนออกจากกันผ่านการถือครองทุนทางสังคมกับทุนทางวัฒนธรรม อันมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทุนทางเศรษฐกิจ

GBCS พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสังคมทุนนิยมสมัยปัจจุบันมีชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า “ชนชั้นนำธรรมดา” (Ordinary Elite Class) คือกลุ่มคนที่มีรายได้ส่วนตัวสูง มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง โดยเฉลี่ยแล้วเป็นวัยกลางคน มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่มีจำนวนน้อย หรือราวๆ 6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีลักษณะโดยทั่วไปไม่เหมือนกับ “กระฎุมพี” ที่มาร์กซ์บรรยายไว้

ไม่เพียงแต่ทุนทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดว่าแต่ละคนอยู่ในชนชั้นไหนในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน แต่ “อายุ” ก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแยกคนออกเป็นชนชั้นต่างๆ ด้วย

เช่น ผู้สูงวัยดูเหมือนจะเป็นชนชั้นของคนทำงานแบบดั้งเดิมตามขนบและอยู่เหนือกว่าคนหนุ่มสาว

ในขณะที่คนหนุ่มสาวแยกตัวอยู่ในอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งเป็นชนชั้นทางสังคมกลุ่มใหม่โดยใช้ชีวิตอยู่กลางๆ หรือต่ำกว่ากลุ่มผู้อาวุโส

กล่าวสรุปโดยสังเขปก็คือชนชั้นทางสังคมทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนกว่าในอดีตมาก จึงไม่อาจแยกชนชั้นของมนุษย์ออกจากกันได้อย่างชัดเจนและเรียบง่ายแบบในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมเช่นสมัยอดีต

ตอนที่ 1