มุมมองของมาร์กซ์และเองเกลส์ เรื่องการปฏิวัติ เพื่อสลายความขัดแย้งทางชนชั้น

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ในหนังสือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto) ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) กับเฟรเดอริก เองเกลส์ (Friedrich Engels) เปิดเรื่องด้วยข้อความอันเลื่องลือว่า

“ปีศาจตนหนึ่ง-ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังวนเวียนอยู่ในยุโรป อิทธิพลทั้งปวงของยุโรปเก่าทั้งสันตะปาปาและพระเจ้าซาร์ ทั้งเมตเตร์นิซ และกีโซต์ ทั้งชาวพรรคราดิกัลป์ของฝรั่งเศสและสายลับ ตำรวจของเยอรมัน ได้รวมกันเข้าเป็นพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อกำจัดปีศาจตนนี้”

(สำนวนแปลของไฟลามทุ่ง เนื้อความในต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า A spectre is haunting Europe — the spectre of communism. All the powers of old Europe have entered into a holy alliance to exorcise this spectre : Pope and Tsar, Metternich and Guizot, French Radicals and German police-spies.)

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานขนาดสั้นแต่ทรงอิทธิพลมากที่สุดชิ้นหนึ่งในโลก ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ.1848 ในขณะที่มาร์กซ์มีอายุ 30 ปีพอดี ในขณะที่เองเกลส์กำลังเป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุเพียง 28 ปีเท่านั้น

เนื้อความของคำแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์กล่าวถึงที่มาของความขัดแย้งในสังคมซึ่งมาร์กซ์มองว่าเป็นผลลัพธ์ที่มาจากเงื่อนไขพื้นฐานของโครงสร้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดยช่วงต้นของหนังสือในบทที่ 1 “นายทุนกับชนกรรมาชีพ” (Bourgeois and Proletarians) ตามสำนวนแปลของไฟลามทุ่งกล่าวเอาไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น”

(The history of all hitherto existing society is the history of class struggles.)

 

มาร์กซ์กับเองเกลส์มองประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ว่าคือความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ โดยเปลี่ยนแปลงรูปโฉมไปตามบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นๆ ซึ่งนำมาสู่การเผชิญหน้ากันในท้ายที่สุด

ดังที่กล่าวว่า

“เสรีชนกับทาส ผู้ดีกับสามัญชน เจ้าผู้ครองแคว้นกับทาสกสิกร นายช่างในสมาคมอาชีพกับลูกมือ สรุปแล้วก็คือผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ ต่างอยู่ในฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันตลอดเวลาดำเนินการต่อสู้ที่บางครั้งซ่อนเร้น บางครั้งเปิดเผยอยู่มิได้ขาด และการต่อสู้แต่ละครั้งก็ล้วนจบลงด้วยสังคมทั้งสังคมถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติ หรือไม่ก็ชนชั้นที่ต่อสู้กันสูญสลายไปด้วยกัน” (Freeman and slave, patrician and plebeian, lord and serf, guild-master and journeyman, in a word, oppressor and oppressed, stood in constant opposition to one another, carried on an uninterrupted, now hidden, now open fight, a fight that each time ended, either in a revolutionary reconstitution of society at large, or in the common ruin of the contending classes.)

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าลักษณะที่มนุษย์ในสังคมถูกแบ่งแยกออกจากกันเป็นชนชั้นนั้นเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว ซึ่งภายในชนชั้นเดียวกันเองก็ยังมีการแบ่งระดับชั้นอยู่ภายในอีกด้วย

โดยกล่าวว่า

“ในยุคประวัติศาสตร์แต่ละยุคที่ผ่านมา เราจะเห็นได้แทบทุกแห่งว่าสังคมได้แบ่งออกเป็นชั้นวรรณะต่างๆ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเห็นถึงการลดหลั่นเป็นขั้นๆ ซึ่งประกอบขึ้นตามฐานะทางสังคมต่างๆ กัน ในโรมสมัยโบราณมีผู้ดี อัศวิน สามัญชน และทาส ในสมัยกลางมีเจ้าผู้ครองแคว้นศักดินา เจ้าครองนคร นายช่างในสมาคมอาชีพ ลูกมือ และทาสกสิกร และภายในชนชั้นเหล่านี้ก็ยังมีการแบ่งชั้นโดยเฉพาะของตนแทบทุกชนชั้น” (In the earlier epochs of history, we find almost everywhere a complicated arrangement of society into various orders, a manifold gradation of social rank. In ancient Rome we have patricians, knights, plebeians, slaves; in the Middle Ages, feudal lords, vassals, guild-masters, journeymen, apprentices, serfs; in almost all of these classes, again, subordinate gradations.)

ในอดีตมนุษย์ถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยระบบศักดินา แต่ครั้นสังคมศักดินาล่มสลายลงก็ยังคงมีชนชั้นอยู่เหมือนเดิม คือเปลี่ยนจากชนชั้นแบบเก่ามาสู่แบบใหม่ เมื่อมีชนชั้นก็ย่อมมีความขัดแย้งและกดขี่ ดังนั้น จึงนำมาสู่การต่อสู้แข็งขืนแบบใหม่ด้วย

โดยกล่าวว่า

“สังคมชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ซึ่งเกิดขึ้นจากการสูญสลายของสังคมศักดินาหาได้ทำลายความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นไปไม่ มันเพียงแต่นำเอาชนชั้นใหม่ เงื่อนไขการกดขี่ใหม่ และรูปแบบการต่อสู้ใหม่มาแทนที่อันเก่าเท่านั้น”

(The modern bourgeois society that has sprouted from the ruins of feudal society has not done away with class antagonisms. It has but established new classes, new conditions of oppression, new forms of struggle in place of the old ones.)

 

อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์และเองเกลส์เห็นว่าสภาพสังคมแบบใหม่ซึ่งในที่นี้คือสังคมทุนนิยมนั้นสามารถมองเห็นคู่ขัดแย้งได้อย่างเด่นชัด

ตามที่บรรยายว่า

“แต่ยุคของเรา ยุคชนชั้นนายทุนมีลักษณะพิเศษอยู่ประการหนึ่ง คือมันทำให้ความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นไม่สับสน สังคมทั้งสังคมนับวันแต่จะแยกออกเป็นสองค่ายใหญ่ที่เป็นศัตรูกันแยกออกเป็นสองชนชั้นใหญ่ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยตรง คือชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ” (Our epoch, the epoch of the bourgeoisie, possesses, however, this distinct feature : it has simplified class antagonisms. Society as a whole is more and more splitting up into two great hostile camps, into two great classes directly facing each other — bourgeoisie and proletariat.)

มาร์กซ์และเองเกลส์กล่าวปิดท้ายไว้ในหนังสือว่า “ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!” (Workers of all countries, unite!) ปลุกเร้าให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกผนึกกำลังรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solidarity) ร่วมกันสร้างพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อทำการ “ปฏิวัติ” โค่นล้มเผด็จการจากนายทุน ช่วงชิงอำนาจรัฐ และแม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีเงื่อนไขแวดล้อมที่ต่างกันออกไปทำให้ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปที่แน่นอน แต่เมื่อยึดกุมอำนาจรัฐได้สำเร็จ

มาร์กซ์และเองเกลส์เห็นว่าโดยทั่วไปแล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ

 

1.เลิกล้มกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอาค่าเช่าที่ดินไปใช้เป็นรายจ่ายของรัฐ (Abolition of property in land and application of all rents of land to public purposes.)

2. เรียกเก็บภาษีเงินได้ในอัตราเพิ่มตามจำนวนรายได้ (A heavy progressive or graduated income tax.)

3. ยกเลิกสิทธิในการสืบมรดก (Abolition of all rights of inheritance.)

4. ริบทรัพย์สินของพวกหลบหนีไปต่างประเทศและพวกกบฏทั้งปวง (Confiscation of the property of all emigrants and rebels.)

5. รวมศูนย์สินเชื่อไว้ในมือของรัฐโดยผ่านธนาคารแห่งชาติซึ่งเป็นผู้กุมทุนของรัฐและมีสิทธิผูกขาดแต่ผู้เดียว (Centralization of credit in the banks of the state, by means of a national bank with state capital and an exclusive monopoly.)

6. รวมศูนย์กิจการคมนาคมขนส่งทั้งหมดไว้ในมือของรัฐ (Centralization of the means of communication and transport in the hands of the state.)

7. เพิ่มโรงงานและเครื่องมือการผลิตที่เป็นของรัฐบุกเบิกที่รกร้างและปรับปรุงเนื้อดินตามโครงการทั่วไป (Extension of factories and instruments of production owned by the state; the bringing into cultivation of waste lands, and the improvement of the soil generally in accordance with a common plan.)

8. ดำเนินระบอบใช้แรงงานตามหน้าที่โดยทั่วหน้า ตั้งกองทัพอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตรกรรม (Equal obligation of all to work. Establishment of industrial armies, especially for agriculture.)

9. ประสานเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างเมืองกับชนบทหมดไปทีละขั้น (Combination of agriculture with manufacturing industries; gradual abolition of all the distinction between town and country by a more equable distribution of the populace over the country.)

10. ให้เด็กทั้งปวงได้รับการศึกษาในโรงเรียนสาธารณะโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ยกเลิกการใช้เด็กทำงานตามโรงงานในรูปแบบปัจจุบัน ประสานการศึกษาเข้ากับการผลิตทางด้านวัตถุ ฯลฯ

(Free education for all children in public schools. Abolition of children’s factory labor in its present form. Combination of education with industrial production, etc.)

 

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เดินทางผ่านกาลเวลามาได้ 176 ปีแล้ว

แนวทางดังที่กล่าวมานี้บางข้อกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในปัจจุบัน

เช่น การศึกษาฟรี การห้ามใช้แรงงานเด็ก การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เป็นต้น

ในขณะที่บางข้อก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงมาตลอด เช่น ยกเลิกสิทธิในการสืบมรดก เลิกล้มกรรมสิทธิ์ที่ดิน ฯลฯ

คำประกาศในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และเองเกลส์หลายเรื่องถูกมองว่าเป็นแนวทางที่รุนแรงและน่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนายทุนและอำนาจเก่า

ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์และทฤษฎีมาร์กซิสต์แม้ยังคงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายก็ตาม

แต่ทว่า น่าหวาดกลัวและสั่นประสาทชนชั้นนำในสังคมได้ไม่ต่างอะไรกับ “ปีศาจ” ที่มาร์กซ์และเองเกลส์กล่าวไว้ในประโยคแรกของหนังสือนั่นเอง