ทัศนะของคาร์ล มาร์กซ์ เรื่องความแปลกแยก ในสังคมทุนนิยม

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาชาวเยอรมันได้แสดงทัศนะเรื่อง “ความแปลกแยก” (Alienation) ของมนุษย์ในสังคมทุนนิยม (Capitalism) เอาไว้ว่า คือการที่ผู้คนถูก “ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์” (Dehumanizing) ผ่านการทำงานในระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะที่แรงงานต้องประสบพบเจอกับชีวิตการทำงานตามโรงงานในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (Industrial Capitalism)

สภาพการณ์เช่นนี้เป็นผลพวงที่ตามมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในช่วงศตวรรษที่ 18-19

มาร์กซ์เกิดในปี ค.ศ.1818 หรือ พ.ศ.2361 ซึ่ง ณ ขณะนั้นสังคมทุนนิยมได้พัฒนาขึ้นอย่างเต็มที่ในหลายประเทศแล้ว ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และภูมิปัญญามากมาย

แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ปรากฏช่องว่างระหว่างชนชั้นขึ้นอย่างมาก

ซึ่งมาร์กซ์มองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยมอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง “นายทุน” (capitalist) ผู้กดขี่ กับ “แรงงาน” (labour) ผู้ถูกกดขี่ หรือระหว่างชนชั้น “กระฎุมพี” (bourgeoisie) ที่ยึดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ กับ “ชนชั้นกรรมาชีพ” (proletariat) ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบกับการที่ต้องทนรับค่าจ้างเพียงน้อยนิดเพื่อความอยู่รอด

เนื่องจากในระบบทุนนิยมนั้นผู้ที่ได้เปรียบคนอื่นอย่างแท้จริงก็คือนายทุนซึ่งเป็นผู้ควบคุม “วิถีการผลิต” (mode of production) และยึดครอง “ปัจจัยการผลิต” (means of production) เช่น วัตถุดิบ โรงงาน ฯลฯ และเป็นผู้กำหนดแทบทุกสิ่งทุกอย่างในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมว่าจะผลิตสินค้าอะไร เมื่อใด ด้วยวิธีการอย่างไร ด้วยต้นทุนเท่าไหร่ เป็นต้น

ตรงข้ามกับผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ จึงทำให้ไม่สามารถเลือกว่าจะผลิตหรือไม่ผลิตอะไรได้

สถานะที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องตกเป็นล่างนายทุนเช่นนี้ทำให้พวกเขาหมดโอกาสลืมตาอ้าปาก

เพราะการที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทำให้แข่งขันกับแรงงานคนอื่นๆ ด้วยการยอมลดค่าจ้างให้ต่ำลง

ในทางกลับกันนายทุนต้องการผลกำไรที่มากขึ้น ดังนั้น จึงลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มส่วนต่างระหว่างค่าจ้างกับยอดขาย ทำให้เกิด “มูลค่าส่วนเกิน” (surplus value) ซึ่งเป็นสิ่งที่นายทุนได้มามากกว่าที่เขาจ่ายค่าจ้างไป

และลักษณะเช่นนี้คือสิ่งที่มาร์กซ์มองว่าเป็น “การกดขี่ขูดรีด” (exploitation)

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นำไปสู่สภาวะอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นความแปลกแยก

คือแรงงานทำการผลิตสินค้าโดยไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงานที่ตัวเองทำ และไม่ผูกพันกับสิ่งที่ตัวเองผลิต

เนื่องจากนายทุนจะตัดสินผลิตโภคภัณฑ์หรือสินค้า (commodity) ขึ้นมาเพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไรในท้องตลาด ทว่า สินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับชีวิตของแรงงานเลย

บรรดาชนชั้นกรรมาชีพที่จำใจต้องทำงานแลกค่าจ้างไปเรื่อยๆ เช่นนี้จึงปราศจากความสุข และขาดการเติมเต็มชีวิตของตนให้สมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็น

มาร์กซ์มองว่าสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ก็คือสปีชีส์ (Species-Being) ที่ต้องการแปลงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อความอยู่รอดโดยการเลือกอย่างอิสระและมีสำนึก

สิ่งนี้คือเส้นแบ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่แม้จะแปลงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เช่นกัน แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นทำไปตามสัญชาตญาณเท่านั้น

ซึ่งการที่แรงงานในระบบทุนนิยมไม่สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะทำงานอะไร ผลิตสิ่งใด ทำให้พวกเขาสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปในที่สุด

ทั้งนี้ ลักษณะของความแปลกแยกในสังคมทุนนิยมนั้นมีสามลักษณะคือ

 

หนึ่ง มนุษย์แปลกแยกจากมนุษย์คนอื่น ในระบบทุนนิยมแรงงานจำเป็นต้องแก่งแย่งแข่งขันกันเองเพื่อให้ได้งานและได้เงิน พวกเขาไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ขาดความสมัครสมานสามัคคี ทั้งๆ ที่ต่างก็หัวอกเดียวกันทั้งนั้น

พวกเขามองกันเป็นศัตรู แทนที่จะเป็นมิตรสหายหรือพันธมิตร เกิดความไม่ไว้วางใจ อยู่ใครอยู่มัน

ท้ายที่สุดแล้วจึงโดดเดี่ยวและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนไปตลอด ตรงกันข้ามกับนายทุนที่ยิ่งทวีความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น

สอง มนุษย์แปลกแยกจากสินค้าที่ตนเองผลิต คือแทนที่แรงงานจะได้ผลิตสินค้าเพื่อตัวเองหรือผลิตให้แก่ตัวเอง พวกเขากลับต้องผลิตสินค้าเพื่อนายทุน เนื่องจากนายทุนเป็นผู้ยึดกุมปัจจัยการผลิตและวิถีการผลิตเอาไว้

แรงงานจึงไม่สามารถเลือกผลิตสินค้าเพื่อตัวเองได้แต่ต้องทำไปตามการจ้างงานเท่านั้น

นายทุนเหล่านี้ควบคุมทุกอย่างไว้ในมือแต่ไม่ลงมือทำงานด้วยตัวเอง อาศัยแรงงานเป็นเรี่ยวแรงในการผลิตสินค้าให้ แล้วนายทุนก็รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์

ดังนั้น สินค้าที่ผลิตขึ้นจึงอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของแรงงานเลยก็ได้ อาจไม่มีคุณค่าใดๆ ในชีวิตของแรงงานเลย

มิหนำซ้ำหากมีสิ่งใดที่พวกเขาต้องซื้อเขาก็ต้องจ่ายราคาสินค้าที่มากกว่าแรงงานที่ตนเองลงเรี่ยวลงแรงไป

และสาม มนุษย์แปลกแยกจากการทำงาน แทนที่งานจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ช่วยเติมเต็มคุณค่าของการใช้ชีวิตอยู่ให้สมบูรณ์และมีความหมาย แต่แรงงานกลับทำงานไปอย่างจำใจ ไม่สามารถกำหนดว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรได้ อาจต้องเพิ่มเวลาทำงาน เพิ่มความเสี่ยงในการทำงานต่างๆ ไปตามที่นายทุนต้องการ

พวกชนชั้นกรรมาชีพจึงไม่สามารถแสวงหาความสุขให้กับชีวิตผ่านการทำงานได้

แต่ต้องพยายามไขว่คว้าหาทางเติมเต็มสิ่งต่างๆ ของชีวิตนอกเวลางานเท่านั้น แต่ในเมื่อพวกเขาได้สูญเสียแรงงานและเวลาที่มีอยู่ไปกับการรับจ้างแล้ว

ฉะนั้น จึงได้แต่ทำงานไปวันๆ แทบไม่เหลือโอกาสใดในการแสวงหาชีวิตที่ดีได้อีก

 

ทัศนะที่วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตในระบบทุนนิยมของมาร์กซ์ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนมหาศาลรวมตัวกันเป็นสหภาพ สมาคม และพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อหาทางต่อสู้เปลี่ยนแปลงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายในอดีตทั้งการเกิดกองกำลังปฏิวัติและการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของมาร์กซ์แบบดั้งเดิมดูไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในยุคปัจจุบันมากนัก เนื่องจากความล้มเหลวของรัฐสังคมนิยมที่ผ่านมาในอดีต

รวมทั้งพัฒนาการของระบบทุนนิยมเองที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มาร์กซ์คาดการณ์เอาไว้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น สังคมโลกทุกวันนี้กลายมาเป็นสังคมดิจิทัล ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งกับวิถีการผลิตและปัจจัยการผลิตแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินโดยไม่ต้องผ่านการปฏิวัติจากชนชั้นกรรมาชีพหรือกองกำลังใดๆ

หากแต่เป็นการเปลี่ยนทัศนะ มุมมองความคิด ระบบงาน วิธีการทำงาน นวัตกรรม การผลิตสินค้า และการสร้างมูลค่าใหม่ๆ แบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy)

ตลอดจนเกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่าสตาร์ตอัพและยูนิคอร์น เป็นต้น

โลกสมัยใหม่นี้ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยหรือแม้กระทั่งคนอายุน้อยที่ไม่ได้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมาแต่เดิมสามารถก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีได้ภายในเวลาไม่กี่ปี

และการขูดรีดผูกขาดแบบเดิมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

ลักษณะของทุนนิยม นายทุน ผู้ใช้แรงงาน หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปมหาศาลเกินกว่าที่มาร์กซ์จินตนาการไว้จึงไม่สามารถนำแนวคิดทฤษฎีของมาร์กซ์แบบดั้งเดิมมาอธิบายได้

แต่ถึงแม้ว่าทฤษฎีของมาร์กซ์ไม่สามารถสวมเข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันได้ทั้งหมดก็ตาม

มรดกสำคัญที่แนวคิดนี้ได้ทิ้งเอาไว้ก็คือการฉายภาพให้เห็นถึงภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนที่ได้เปรียบกับเสียเปรียบในสังคม ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากระบบงาน โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำที่กดทับผู้คนเอาไว้ แก่นสารสาระของความเป็นมนุษย์ และเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกมองข้ามไปในสังคมทุนนิยม