มาร์กซิสต์เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดหรือไม่ (2)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ในปัจจุบันแนวคิดมาร์กซิสต์ถูกโจมตีว่าไม่สามารถอธิบายสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ได้

ทำให้แนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยนจากนักคิดมาร์กซิสต์ในยุคหลัง

ขณะที่ผู้นิยมมาร์กซิสต์บางส่วนหมดความเลื่อมใสศรัทธาในแนวทางของมาร์กซ์แล้วหันไปหาทางปรับปรุงระบบทุนนิยมให้ดีขึ้น

บทความนี้หยิบยกมุมมองของคาร์ล ทอมป์สัน (Karl Thompson) ที่รวบรวมข้อโจมตีที่มีต่อทฤษฎีของมาร์กซ์ว่ามีความผิดพลาดอย่างไรบ้าง ผ่านบทความชื่อ “Eight Criticisms of the Traditional Marxist View of Society” หรือ “ข้อวิจารณ์แปดประการต่อทัศนะทางสังคมของแนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม” ทางเว็บไซต์ https://revisesociology.com ซึ่งประมวลเหตุผลว่าทำไมแนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมที่ครั้งหนึ่งทรงอิทธิพลต่อโลกอย่างมากถึงได้พ่ายแพ้แก่ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน

โดยบทความในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงเฉพาะข้อที่ 1 ส่วนฉบับนี้จะเล่าต่อในข้อที่ 2-5 ดังนี้

 

2.ระบบทุนนิยมในปัจจุบันมีการกดขี่ขูดรีดน้อยลง

ทอมป์สันยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ขึ้นมา 2 กรณีคือ

(1) “ระบบการทำงานแบบฟอร์ด” ซึ่งเฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ริเริ่มนำมาใช้ในสายพานการผลิตรถยนต์ ทำให้เกิดการเพิ่มค่าจ้างให้กับแรงงานโดยอิงกับปริมาณการผลิต ส่งผลให้แรงงานถูกเอาเปรียบน้อยลง และหันมายอมรับระบบทุนนิยมมากขึ้น

(2) การเกิดขึ้นของ “เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์” (Keynsian Economics) ซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุมระบบทุนนิยมไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไป และกำกับดูแลความเหลื่อมล้ำกับความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งระบบทุนนิยมดั้งเดิมไม่ได้ให้หลักประกันไว้

นอกจากนี้ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ยังมีรูปแบบของรัฐที่ปรับปรุงระบบทุนนิยมให้ดีขึ้น ด้วยการนำแนวทางสังคมนิยมเข้ามาผสม เกิดเป็น “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) ในยุโรปหลายประเทศ

ส่วนอังกฤษก็ใช้ “ระบบดูแลสุขภาพถ้วนหน้า” (universal health care) การศึกษาอย่างทั่วถึง การจ่ายค่าชดเชย ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางสังคมด้านต่างๆ

โดยนำงบประมาณมาจาก “ระบบการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า” (progressive taxation system) ตามหลักที่ว่า “ได้รับมามากเท่าไหร่ก็จ่ายกลับไปเท่านั้น” (the more you earn, the more you pay) ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดผลประโยชน์นี้ตกแก่คนทุกคน (everyone benefits)

อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ทุนนิยมสูญเสียพลังในการกดขี่ขูดรีดลงไปมากก็คือการออกกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ้างงานภายใต้ “อัตราค่าแรงขั้นต่ำ” (minimum wage) โดยเริ่มจากอังกฤษช่วงปี ค.ศ.1998 และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางตามภาวะเงินเฟ้อ จนกระทั่ง ค.ศ.2023 ก็ขึ้นไปถึง 10.42 ปอนด์ หรือประมาณ 472.55 บาทต่อชั่วโมงในปัจจุบัน

ทำให้มีหลักประกันว่าโดยภาพรวมแล้วชีวิตการทำงานในระบบทุนนิยมจะไม่เลวร้ายจนเกินไป และการกูดขี่ขูดรีดแบบในอดีตจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

 

3.การควบคุมฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าจะสามารถควบคุมโครงสร้างส่วนบนได้

มาร์กซ์อ้างว่าใครก็ตามที่สามารถควบคุม “ฐานทางเศรษฐกิจ” (economic base) ได้ ก็ควบคุม “โครงสร้างส่วนบน” (superstructure) ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา การศึกษา สื่อ ฯลฯ

ซึ่งแม้ว่าทุกวันนี้สถาบันทางสังคมต่างๆ มากมายจะขึ้นกับนายทุนอยู่จริงๆ ก็ตาม แต่ก็มีสื่อจำนวนมากที่เป็นอิสระจากการควบคุมของนายทุน

และมีหลายสื่อที่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล บรรษัทข้ามชาติ และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจระดับโลกอย่างแข็งขัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นมหาศาลในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น ศิลปินดนตรีป๊อปจำนวนมากรังสรรค์ผลงานโดยวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ และการที่มีกลุ่มผู้ฟังคอยติดตามอยู่นับร้อยนับพันล้านคนทั่วโลกก็ยิ่งเป็นการควบคุมระบบทุนนิยมไปโดยปริยายด้วย

เช่นเดียวกับระบบการศึกษาในปัจจุบันที่เป็นอิสระจากนายทุนและรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าหลักสูตรกลางจะมาจากรัฐบาลก็จริง แต่ก็มีหลักสูตรและสื่อการศึกษาในโลกออนไลน์เกิดขึ้นมหาศาลโดยไม่ได้ถูกควบคุมจากรัฐบาลหรือทุนใหญ่ หากแต่อยู่ภายใต้ชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย

สรุปโดยย่อก็คือ สังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนสู่สังคมหลังสมัยใหม่ไปแล้ว ซึ่งโครงสร้างส่วนบนไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือการศึกษานั้นมีขนาดที่เติบโตขึ้นอย่างมโหฬารและถูกควบคุมแบบกลับด้าน คือแทนที่จะถูกชักใยโดยนายทุนและรัฐบาลตามแนวคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิม แต่กลับถูกควบคุมโดยผู้บริโภคหรือลูกค้า และการที่ปัจเจกชนมีความหลากหลายก็ทำให้สื่อและการศึกษามีความแตกต่างมากไปด้วย เพราะฉะนั้น โครงสร้างส่วนบนในปัจจุบันจึงมีขนาดที่โหญ่โตโอฬาร แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกควบคุมโดยคนกลุ่มน้อยที่แยกย่อยและมีขนาดเล็ก

 

4.แนวคิดเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาดถูกตั้งคำถาม

มาร์กซ์เชื่อว่าโครงสร้างส่วนบนถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จจากนายทุน ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเกิด “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” (false consciousness) ขึ้นตามมา

แต่จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างส่วนบนไม่ได้ถูกควบคุมจากนายทุนโดยสิ้นเชิง ดังนั้น นายทุนจึงไม่สามารถใช้โครงสร้างส่วนบนไปทำให้เกิดจิตสำนึกที่ผิดพลาดแก่ชนชั้นกรรมาชีพได้

บรรดานักคิดหลังสมัยใหม่จำนวนหนึ่งแย้งว่าวัฒนธรรมและสื่อต่างๆ ดำรงอยู่อย่างอิสระจากการกำกับของนายทุน และถูกใช้โดยเจ้าของสื่ออันหลากหลายภายใต้จุดประสงค์ที่แตกต่างกัน

ฉะนั้น ถ้าหากสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโครงสร้างส่วนบนไม่ได้ขึ้นต่อนายทุนเสียแล้ว จิตสำนึกที่ผิดพลาดอย่างที่มาร์กซ์คิดก็เกิดขึ้นไม่ได้

พวกนักคิดหลังสมัยใหม่เห็นว่าสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยปัจเจกชนที่เป็นอิสระซึ่งไม่แยแสอะไรกับเรื่องชนชั้นและไม่รู้สึกว่าตนถูกกดขี่ขูดรีด มิหนำซ้ำยังเพลิดเพลินไปกับการแสดงอัตลักษณ์ผ่านการบริโภคสินค้าอันเป็นผลผลิตจากกลไกในระบบทุนนิยม

นอกเหนือไปจากนั้นก็คือแนวคิดเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาดของมาร์กซ์ยังมีปัญหาในฐานทางปรัชญาอีกด้วย เพราะการที่มาร์กซ์คิดว่ามีจิตสำนึกที่ผิดก็ย่อมแสดงว่ามีจิตสำนึกที่ถูก

ดังนั้น สถานะของความจริงจึงมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งตรงข้ามกับทัศนะของนักคิดหลังสมัยใหม่ที่เชื่อว่าความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ทว่าสามารถตีความออกไปได้อย่างมากมายหรือมีความแตกต่างหลากหลายนั่นเอง

 

5.ความแปลกแยกลดน้อยลงในปัจจุบัน

มาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมมองว่าการทำงานในระบบทุนนิยมทำให้มนุษย์เกิด “ความแปลกแยก” (alienation) แต่ทุกวันนี้โลกของการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมาก ทำให้โดยทั่วไปแล้วคนทำงานมีความแปลกแยกน้อยลงกว่าช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างเทียบกันไม่ติด

กล่าวอีกแบบก็คือโลกทุนนิยมในสมัยของมาร์กซ์เป็นโลกคนละใบกับสมัยปัจจุบัน

ทอมป์สันยกตัวอย่างภาพรวมของตลาดงานในอังกฤษขึ้นมา โดยระบุว่ามีอย่างน้อย 45% เป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะหรือเป็นวิชาชีพที่ต้องผ่านการฝึกฝนอบรม ลักษณะการจ้างงานประเภทนี้ทำให้แรงงานมีฝีมือเป็นอิสระกว่าแรงงานไร้ฝีมือที่พบเห็นเป็นจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรม

ซึ่งแรงงานไร้ฝีมือเหล่านี้คือกลุ่มที่มาร์กซ์มองว่าจะเกิดความแปลกแยกขึ้นจากการทำงาน

แต่ในเมื่อแรงงานเกือบครึ่งในตลาดงานเป็นแรงงานมีฝีมือ พวกเขาจึงมีอำนาจต่อรอง มีทางเลือกในชีวิต และไม่เกิดความแปลกแยกแบบที่มาร์กซ์อธิบาย

นอกจากนี้ ยังมีคนที่เป็น “นายของตัวเอง” (self employed people) อยู่ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนซึ่งควบคุมการทำงานของตัวเองอย่างอิสระว่ามีเงื่อนไขอย่างไร ทำงานกี่ชั่วโมง คิดค่าจ้างเท่าไหร่ รับงานชิ้นไหน จะทำหรือไม่ทำอะไร ฯลฯ ซึ่งใครที่สามารถกำหนดเงื่อนไขในการทำงานให้กับตัวเองได้ ชีวิตของคนผู้นั้นก็ย่อมไม่เกิดความแปลกแยก

ภาพนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งทำให้เกิด “การทำงานที่บ้าน” (work from home) และชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น แสดงให้เห็นว่านายจ้างต้องปรับตัวตามความจำเป็นของลูกจ้างด้วย และการทำงานที่บ้านก็ไม่ได้แยกออกจากการใช้ชีวิตส่วนตัวในครัวเรือน ฉะนั้น จึงยากจะเกิดความแปลกแยก อีกทั้งคุณภาพชีวิตของคนทำงานยุคปัจจุบันก็ได้รับสิ่งต่างๆ มากกว่าอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องจากการรวมตัวกันเป็นสหภาพ อีกส่วนหนึ่งก็มาจากเทคนิคการบริหารจัดการที่ก้าวหน้ากว่าในสมัยก่อน

อ่านต่อฉบับหน้า