Power Shift#4 การเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่ 4 | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ผมฟังการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2567 ของรัฐบาลพิเศษสลายขั้ว @ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ช่วงต้อนรับปีใหม่สัปดาห์แรกแล้ว มีข้อสังเกตใหญ่ๆ 2 ประการ คือ :

1) น่าสังเวชใจที่บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องมาอภิปรายสนับสนุนและยกมือเห็นชอบร่างงบประมาณฯ พิมพ์นิยมเดียวกันโดยแก่นสารและวิธีการคิดหลักกับร่างงบประมาณฯ ที่ตัวเองเคยอภิปรายคัดค้านและยกมือไม่เห็นชอบสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา @ คสช. ซึ่งทำขึ้นภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านเช่นกัน ชั่วแต่รอบนี้แปะยี่ห้อนายกฯ เศรษฐา @ พรรคเพื่อไทยแค่นั้นเอง

2) พรรคฝ่ายค้านหลัก อันได้แก่ พรรคก้าวไกลทำการบ้านสำรวจตรวจสอบร่างงบประมาณฯ ของรัฐบาลอย่างเข้มข้นจริงจังและสามารถรวบยอดข้อมูลความคิดมาอภิปรายจ่อจี้วิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อน ข้อบกพร่องทางฐานคติ เป้าหมายและโครงสร้างได้เข้าใจชัดเจนดี

ดาวสภาหน้าใหม่แจ้งเกิดหลายคน เช่น ชยพล สท้อนดี ส.ส.กรุงเทพฯ, พนิดา มงคลสวัสดิ์ ส.ส.สมุทรปราการ, ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส.เชียงใหม่, ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, เอกราช อุดมอำนวย ส.ส.กรุงเทพฯ เป็นต้น

สมดังที่รายการ The Politics ที่คุณอ๊อกสนทนากับคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ทางช่อง YouTube เมื่อ 5 มกราคม ศกนี้ ตั้งชื่อตอนว่า “ก้าว(ที่)ไกลจากเพื่อไทย” (https://www.youtube.com/watch?v=47AfxSk8BWU)

ตารางแสดงการเปลี่ยนผ่านสู่การเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่ 4

ผมมีข้อสังเกตในใจต่อการเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shifts) ของการเมืองไทยสมัยใหม่หลัง 2475 อยู่ว่าในแต่ละรอบการเปลี่ยนย้ายที่อำนาจค่อยเคลื่อนหลุดจากมือกลุ่มสังคม/ชนชั้นผู้กุมอำนาจเดิม ไปสู่มือกลุ่มสังคม/ชนชั้นผู้กุมอำนาจใหม่ ตามตารางคร่าวๆ นี้นั้น (ดูตารางการเปลี่ยนย้ายอำนาจ-Power Shifts)

ในการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบหนึ่งๆ (#1, 2, 3, 4) สถาบันและกลุ่มพลังหลักทางการเมืองการปกครองใดไหลตามกระแส power shifts ไปร่วมกับกลุ่มสังคม/ชนชั้นที่ผงาดขึ้น สถาบันและกลุ่มพลังหลักนั้นจะเรืองอำนาจ

ตรงกันข้าม หากสถาบันและกลุ่มพลังหลักทางการเมืองการปกครองใดขัดขืนฝืนทวนกระแส power shifts ยึดติดอยู่กับกลุ่มสังคม/ชนชั้นที่เสื่อมถอย สถาบันและกลุ่มพลังหลักนั้นจะลดทอนอำนาจลง

อาทิ กองทัพเป็นสถาบันการเมืองการปกครองที่เรืองอำนาจขึ้นใน power shift#1 หลังการปฏิวัติ 2475 เพราะเป็นกลไกหลักในการผลักดันอำนาจให้หลุดจากเจ้านายขุนนางแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม ไปสู่ชนชั้นนำข้าราชการอันมีคณะราษฎรเป็นตัวแทนในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่

ทว่า ใน power shifts#2 ท่าทีกองทัพกลับตาลปัตร คือกลายเป็นกลไกหลักในการขัดขืนฝืนทวนไม่ยอมให้อำนาจหลุดจากมือชนชั้นนำข้าราชการ ไปสู่กระฎุมพีชาวเมือง ทำให้กองทัพค่อยๆ เสื่อมถอยอำนาจลงตามลำดับ จนการเมืองไทยเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และประชาธิปไตยเต็มใบหลังการลุกฮือพฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ.2535

ตารางแสดงการเปลี่ยนผ่านสู่การเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่ 4

กําเนิดและการเปลี่ยนแปลงผกผันในชะตากรรมของคนชั้นกลางไทยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ผมคิดว่าอาจมองคร่าวๆ หยาบๆ ได้ว่าคนชั้นกลางไทยยุคแรกเกิดจากการสร้างของรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2535 ซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจการเมืองเข้าสู่ส่วนกลางคือเมืองหลวงบางกอกและสถาบันกษัตริย์ และสร้างระบบราชการขึ้นเป็นเครื่องมือกลไกในการแผ่ขยาย-รวบรวมเข้ามา-และรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั้น

ก็แลในกระบวนการนั้นเอง โดยจงใจแต่ไม่บรรลุผลดังเจตนา รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้สร้างชนชั้นกระฎุมพีข้าราชการ (the bureaucratic bourgeoisie) ขึ้นมา และเพิ่มจำนวนแผ่ขยายไปจนรับรวมเอาไพร่ข้าสามัญชนชาวนา ลูกเจ๊กจีนและเชื้อสายขุนนางชั้นผู้น้อยเข้ามาเป็นส่วนข้างมากของข้าราชการ จนเหลือวิสัยจะควบคุมข้าราชการทั้งสิ้นราว 7-8 หมื่นคนให้จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และราชาชาตินิยมด้วยลำพังพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวอีกต่อไป จนเกิดความคิดชาตินิยมหลากหลายกระแส (ราชาชาตินิยม, ชาตินิยมไพร่, ชาตินิยมชนชั้นนำเจ้านายขุนนาง, ชาตินิยมกระฎุมพีข้าราชการ เป็นต้น) และเกิดเครือข่ายไม่เป็นทางการของมูลนายเสนาบดีและเครือข่ายพวกเก๊กเหม็ง ขึ้นในหมู่ข้าราชการ แล้วคลี่คลายขยายตัวจนเป็นคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จในที่สุด (ดูรายละเอียดใน Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and decline of Thai Absolutism, 2004)

ทรัพยากร สิทธิประโยชน์ และงบประมาณเงินเดือนสวัสดิการที่รัฐหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองทุ่มให้กับการบ่มเพาะอบรมเลี้ยงดูและธำรงรักษาข้าราชการทั่วประเทศนี่แหละเป็นที่มาของคนชั้นกลางในระบบราชการกลุ่มก้อนเขื่องที่เป็นฐานทางสังคมของรัฐราชการ/อำมาตยาธิปไตยสืบเนื่องมาหลังจากนั้น แม้ว่าจะมีคนชั้นกลางนอกระบบราชการในวงธุรกิจการค้าและสังคมอยู่บ้าง ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ

 

การขยายตัวของคนชั้นกลางออกไปนอกระบบราชการในภาคเอกชนขนานใหญ่เกิดหลังเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสมัยเผด็จการสฤษดิ์ในปี 2504 โดยแรงอุดหนุนทางการเงินการลงทุนและความช่วยเหลือมหาศาลจากจักรวรรดินิยมอเมริกาและพันธมิตรในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เพื่อสร้างไทยเป็นปราการต้านภัยคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคในช่วงกว่าทศวรรษถัดมา รวมทั้งแรงหนุนส่งทางเศรษฐกิจการเงินและพลังงานจากการขุดพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โครงการลงทุนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอีสเทิร์นซีบอร์ด และเงินเยนที่แข็งค่าแล้วทะลักเข้ามาลงทุนขนานใหญ่ในไทยในทศวรรษ 2520 (เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา, 2558, โดยเฉพาะบทที่ 2 บ้านเมืองเราลงแดง & บทที่ 3 ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคใหม่)

คนชั้นกลางนอกระบบราชการที่ขยายตัวรวดเร็วมหาศาลทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองควบคู่ไปกับทุนนิยมธนาคารและอุตสาหกรรมซึ่งเชื่อมต่อกับทุนนิยมโลกนี่แหละเป็นฐานทางการเมืองให้การลุกฮือของมวลชนเมื่อ 14 ตุลา 2516, รัฐประหารและการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519, การเอาชนะภัยคอมมิวนิสต์ทั้งในไทยและภูมิภาค, ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย พล.อ.เปรม, รวมทั้งฉันทมติและพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังแสดงออกในการยุติการปะทะนองเลือดทั้งในคราวกบฏยังเติร์ก 2524 และเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย 2535 ด้วย

(ประมวลข้อถกเถียงและข้อมูลจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “Mass Monarchy”, ชัยธวัช ตุลาธน, บ.ก., ย้ำยุค รุกสมัย : เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, 2556, น.107-118; อาสา คำภา, กว่าจะครองอำนาจนำ : การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทยทศวรรษ 2490-2530, 2564, โดยเฉพาะบทที่ 11 & 12)

 

คนชั้นกลางไทยทั้งในและนอกระบบราชการมาแตกแยกกันขนานใหญ่ในลักษณะแบ่งแยกแตกขั้วเพราะความขัดแย้งอันเนื่องมาจากระบอบทักษิณและสถานการณ์อันเปราะบางช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล จนกลายเป็นสงครามเสื้อสีระหว่างคนชั้นกลางระดับบน-กลาง (เสื้อเหลือง) กับคนชั้นกลางระดับล่าง (เสื้อแดง) โดยที่ไม่อาจเป็นฐานค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้พระราชอำนาจนำและฉันทมติภูมิพลให้คงอยู่ต่อไปได้ นำไปสู่ช่วง 10 กว่าปี (2549-2564) แห่งอภิมหาโกลาหลทางการเมืองที่สังคม การเมืองไทยประสบพบผ่านนายกรัฐมนตรี 6 คน (ไม่นับรักษาการนายกฯ 2 คน), รัฐประหาร 2 ครั้ง, รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ, ม็อบใหญ่ต้านรัฐบาล 9 ระลอก, การปะทะปราบปรามสลายม็อบ 5 ยก คนล้มตายเรือนร้อย บาดเจ็บเรือนพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท (ดู Kasian Tejapira, “Disguised Republic and Virtual Absolutism : Two Inherent Conflicting Tendencies in the Thai Constitutional Monarchy,”, Southeast Asian Studies, Vol. 12, Supplementary Issue, December 2023, pp.105-126, https://www.jstage.jst.go.jp/article/seas/12/SupplementaryIssue/12_105/_article)

ขณะเดียวกัน คนชั้นกลางไทยก็ประสบอุปสรรคในการผลิตซ้ำตัวเองแบบขยายเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่ถูกนำเข้ามาโดยเงื่อนไขเงินกู้ IMF นับแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ส่งผลให้เหล่าสถาบันรัฐและเอกชนที่เคยเป็นฐานพึ่งพิงเติบโตไต่เต้าทางฐานะการงานอาชีพอย่างมั่นคงพอควรของคนชั้นกลางทั้งในและนอกระบบราชการสลัดเปลี่ยนแนวทางจ้างงาน คนชั้นกลางทยอยหลุดลอยเข้าสู่ตลาดแรงงานชั่วคราว กลายเป็นชนชั้นเสี่ยง (the precariat) มากขึ้น รวมทั้งผู้จบการศึกษารุ่นใหม่ๆ ด้วย (ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน เกษียร เตชะพีระ, “จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (4)”, มติชนสุดสัปดาห์, https://www.matichonweekly.com/column/article_733062)

การที่รัฐบาลพิเศษสลายขั้วของนายกฯ เศรษฐา @ พรรคเพื่อไทยเป็นแกน ย้ายไปรอมชอมเกาะเกี่ยวกับขั้วระเบียบอำนาจเดิม ขณะที่พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักยืนหยัดอยู่กับกลุ่มพลังสังคมที่ท้าทายระเบียบอำนาจเดิมนั้น กลายเป็นเงื่อนไขที่อาจทำให้คนชั้นกลางระดับกลางและล่างกลับมาร่วมเป็นพันธมิตรกับชนชั้นเสี่ยงที่มีการศึกษาได้ และทำให้ชะตาทางการเมืองของก้าวไกลกับเพื่อไทยปลีกแยกห่างจากกันออกไปมากขึ้นทุกที